ผู้เขียนห่างหายกับการอ่านนวนิยายไทยไปนานทีเดียว แต่ก็รีบซื้อ ‘ร่างของปรารถนา’ ของอุทิศ เหมะมูล มาเตรียมตัวอ่านทันทีเมื่อทราบว่าหนังสือจะถูกดัดแปลงเป็นละครเวที นำแสดงโดยนักแสดงรวม 11 ชีวิต แถมยังมีกำหนดการไปแสดงที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติจอร์จ ปงปีดู กรุงปารีสในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นความตั้งใจของอุทิศตั้งแต่แรกอยู่แล้วที่จะทำให้ ‘ร่างของปรารถนา’ แตกแขนงไปสู่ศิลปะสาขาอื่นๆ อย่างเมื่อปีที่แล้วก็มีนิทรรศการภาพวาดที่ต่อยอดมาจากหนังสือ

สำหรับ ‘ร่างของปรารถนา’ ฉบับหนังสือมีทั้งจุดที่ผู้เขียนชอบและไม่ชอบ ช่วงแรกของหนังสือที่มีลีลาการเขียนแบบไม่ได้ระบุชัดเจนถึงตัวละคร ช่วงเวลา สถานที่ก็ออกจะชวนสับสนและเรียกร้องความตั้งใจ แต่เมื่ออ่านไปสักพักก็จะพบว่าหนังสือทั้งหกบทคือแต่ละช่วงชีวิตของชายคนหนึ่งตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยไปจนถึงการกลายเป็นชายวัยกลางคนช่วงต้น มีช่วงที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบรับน้องที่ออกจะทื่อมะลื่อและเหมือนฟังเสียงพร่ำบ่น แต่ช่วงท้ายที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์รักสามเส้านั้นสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย

สองสิ่งที่ปรากฏวนเวียนอยู่ในนวนิยาย ‘ร่างของปรารถนา’ คือ เซ็กซ์และการเมือง สำหรับองค์ประกอบแรกผู้เขียนนำเสนอชนิดถึงลูกถึงคน ระยะแรกก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ท้ายสุดกลับกลายเป็นการความล้นแบบซ้ำอยู่กับที่ ส่วนเรื่องการเมืองมีหลายเสียงติว่ามันช่างดูเบาบางเหลือเกิน แต่ผู้เขียนก็ชอบที่การเมืองถูกทำให้เป็นบรรยากาศปกคลุมชีวิต บางครั้งเราไม่ได้พุ่งกระโจนไปยังการเมืองโดยตรง แต่มันมีผลกับตัวเราแน่นอน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

‘ร่างของปรารถนา’ ฉบับละครเวทีถูกผลิตภายใต้ชื่อ ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง’ กำกับโดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น โทชิกิ โอกาดะ เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลมาแล้วว่าละครจะมีความยาวถึง 4 ชั่วโมง (มีพักครึ่ง 20 นาที) ผู้เขียนเลยเตรียมตัวไปอย่างดี ทั้งการนอนเต็มอิ่ม รับประทานอาหารแต่พอดี และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอย่างเสื้อกันหนาวและลูกอมรสเปรี้ยว แต่ขอชิงเฉลยก่อนเลยว่าผู้เขียนสามารถผ่านละครเรื่องนี้มาได้อย่างไม่ได้ยากลำบากและออกจะสนุกไปกับมันเสียด้วย

จุดเด่นที่อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำคนดูบางคนมึนงงหรือตีตัวออกห่างจากละครออกไปคือการแสดงในเรื่อง ที่ไม่ค่อยจะเหมือนการแสดง (แบบที่เราคุ้นชิน) สักเท่าไร บ้างว่ามันเหมือนการอ่านหนังสือให้ฟัง แต่ก็น่าสนใจที่นักแสดงอาจไม่ใช่ ‘นักแสดง’ แต่ในที่นี้พวกเขาดูราวกับเป็น ‘สื่อ’ (Medium) ที่นำพาสารเสียมากกว่า อีกทั้งสถานะของนักแสดงบางครั้งก็กลายเป็น ‘คนดู’ เพราะในขณะที่นักแสดงส่วนหนึ่งทำการแสดง อีกส่วนกลับไปนั่งดูอยู่รอบๆ บางครั้งก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายด้วยซ้ำ ซึ่งตรงกับคีย์เวิร์ดที่ปรากฏบ่อยครั้งในละครนั่นคือ ‘ผู้จ้องมองและผู้ถูกมอง’

ลักษณะความลื่นไหลแปรเปลี่ยนยังมีอีกหลายประการ เช่น นักแสดงหลายคนสับเปลี่ยนกันมาเป็นตัวละครก็ตัวเดียวกัน นักแสดงชายอาจรับบทเป็นหญิง และนักแสดงหญิงอาจเป็นชาย อีกทั้งยังมีการตัดเปลี่ยนผ่านเวลาสลับระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (แต่ก็มีป้ายไฟบอกปีคอยชี้นำทางในบางช่วง) ผู้เขียนสงสัยอยู่เหมือนกันว่าหากไม่อ่านหนังสือมาก่อนจะตามเรื่องราวทันหรือไม่ แต่ดูเหมือนว่าการเข้าใจทุกฉากทุกตอนของละครจะไม่ใช่ความต้องการของผู้กำกับ

อีกสิ่งที่มีความลื่นไหลอย่างยิ่งมาตั้งแต่ฉบับหนังสือจนถึงละครก็คือเรื่องการเมือง เรื่องราวไล่เรียงตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ – ทักษิณ – ม็อบพันธมิตร – รัฐประหาร 2549 – ม็อบเสื้อแดง – การสลายการชุมนุม – ม็อบนกหวีด – รัฐประหาร 2557 ไปจนถึงวันแห่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์เหล่านั้นตัวละครหลักมีความเปลี่ยนแปลงในความเชื่อทางการเมืองอยู่เสมอ

อีกข้อเด่นของ ‘ปรารถนา’ คือการใช้เทคนิคเสริมเติมแต่งมากมาย ทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากจำนวนมากที่ดูเหมือนจะรุงรังแต่ก็มีความแม่นยำในการใช้งาน หรือการฉายภาพเคลื่อนไหวเข้าสู่เวที ทั้งด้านหลังและพื้น บางฉากก็มีตากล้องคอยถ่ายวิดีโอเหล่านักแสดงและฉายภาพแบบสดๆ หรือบางครั้งก็เป็นการเอาภาพนิ่งที่เพิ่งถ่ายด้วยกล้องโพราลอยด์ฉายขึ้นจอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ละครมีหลาย ‘ชั้น’ (Layer) อย่างน่าพิศวง ซึ่งก็โยงใยไปถึงเรื่องการ ‘จ้องมอง’ เช่นกัน ไม่แปลกนักหากหลายคนจะรู้สึกว่านี่คือละครเวทีที่มีความเป็นภาพยนตร์อยู่สูง

ดังนั้นแล้วสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบใน ‘ปรารถนา’ จึงเป็นเรื่องของรูปแบบการนำเสนอหรือ Form ที่ช่างแปลกพิสดาร แต่หากพูดถึงในแง่เนื้อหา (Content) ในฐานะคนที่เคยอ่านหนังสือก็จะมีความรู้สึกเสียดายอยู่บ้าง เช่นว่าเนื้อหาในช่วงบทหลังๆ ดูเหมือนจะรวบรัดมาก (เดิมทีละครเรื่องนี้จะมีความยาว 6 ชั่วโมง) หรือเรื่องราวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ก็ดูจะถ่ายทอดออกมาค่อนข้างแห้งแล้งเย็นชา แต่ชัดเจนว่าผู้กำกับไม่ต้องการจะเร้าอารมณ์ผู้ชมหรือทำให้เรื่องความรักกลายเป็นสิ่งฟูมฟาย

อย่างไรก็ดี เนื้อหาบางส่วนของละครถูกทำให้เด่นชัดขึ้นมา เช่น ฉาก ‘อมตัวเอง’ กลายเป็นฉากตลกหลุดโลกที่ผู้ชมหัวเราะครืนกันทั้งโรง ฉากเซ็กซ์หลายฉากที่กลายเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ชวนอึดอัด หรือฉาก “ฉันไม่รู้สึกอะไรอีกต่อไปแล้ว” ช่วงท้ายเรื่องที่ถูกเน้นย้ำซ้ำๆ จนประโยคที่อ่านผ่านตาในหนังสือกลายเป็นภาพจำหลอกหลอนของละครเรื่องนี้

เมื่อมองภาพรวมสรุปของ ‘ปรารถนา’ ผู้เขียนนึกถึงคำว่า ‘ร่าง’ ตามชื่อต้นฉบับนิยายว่า ‘ร่างของปรารถนา’ ร่างนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่ร่างเชิงกายภาพหรือ Body หรืออาจเป็นลักษณะของภาพร่าง (Sketch) เพราะละครเวที ‘ปรารถนา’ เป็นภาพร่างคร่าวๆ ของชีวิตชายคนหนึ่ง – ผู้คน – และมวลการเมืองที่ล้อมรอบเขา ละครเรื่องนี้จึงมีลักษณะเหมือนภาพแบบอิมเพรชชั่นนิสม์ที่เน้นเพียงเค้าโครง มันนำเสนอเสี้ยวส่วนฉากของชีวิตและเหตุการณ์สำคัญ

หากเราถอยห่างตัวเองออกมาและมองกลับไปยังภาพอิมเพรชชั่นนิสม์ชิ้นนี้ สิ่งที่เห็นและรับรู้ก็คงเป็นความรู้สึกท่วมท้นจากสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์แห่งชีวิตและประวัติศาสตร์ทางการเมือง ความท้วนท่มเหลือทนมากพอที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง ‘ไม่รู้สึกอะไร’ อีกต่อไป

ภาพโดย: Tananop Kanjanawutisit

*ละครเวที “ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิง” แสดงถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/340892659782470/

 

 

Tags: , , , , , ,