1.

ตุลาคม 2560 ศิลปินสาว แอนนี คลาร์ก (Annie Clark) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ St.Vincent เข็นอัลบัมล่าสุดออกมาในชื่อว่า ‘Masseduction’ ถือเป็นผลงานชิ้นที่ 5 หลังจากอัลบัมที่ใช้ชื่อเดียวกันกับชื่อของเธอ ‘St.Vincent’ ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ดเมื่อปี 2005

จากที่เคยเป็นที่รักใคร่ของนักฟังดนตรีอินดี้กลุ่มเล็ก แอนนี่ค่อยๆ ถูกจับจ้องและอยู่ในความสนใจในสื่อวงกว้าง ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวครั้งก่อนกับนางแบบ คารา เดเลวีน (Cara Delevingne) และศิลปินสาว คริสเทน สจ๊วต (Kristen Stewart) แม้สิ่งฉาบฉวยเหล่านั้นอาจจะทำให้เธอถูกมองเป็นเพียงแค่ ‘ของหวานหลังมื้อหลัก’ บนหน้าหนังสือพิมพ์ซุบซิบ แต่มันกลับไม่ได้ลดทอนสิ่งบางสิ่งที่เธอเป็นมาตลอด นั่นคือ การได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินที่ไม่ได้มาจากโชคช่วยและฝีมือเล่นกีตาร์ชั้นยอด

2.

ส่วนประกอบในกระแสนิยมอันหลากหลายในอัลบั้มล่าสุดของแอนนี่ ช่วยให้มันอยู่ในความสนใจของมวลชนได้ไม่ยาก นับจากกีตาร์ผาดเสียงแปร่งหูสลับกับเพลงบัลลาดที่เหงาจับใจ ท่อนเพลงติดหูที่อาจจะกลายเป็นคำเท่ๆ ในการ์ดวันวาเลนไทน์ หรือเสื้อยืดที่คุณใส่ในสักวันอย่าง “You’re the only motherfucker in the city who can stand me.” รวมทั้งผงชูรสอย่าง Jack Antonoff ที่มาช่วยโปรดิวซ์อัลบัมให้ เขาเป็นโปรดิวเซอร์คนเดียวกันที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัยให้แก่นักร้องหญิงอเมริกันอย่าง เทยเลอร์ สวิฟต์ และ ลอร์ด หรือแม้แต่อดีตคนรัก คารา เดเลวีน ที่มาช่วยร้องเพลงประกอบในอัลบัมล่าสุดให้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ Masseduction คล้ายเป็นอัลบัมรวมเพลงป็อปที่คนฟังเพลงรุ่นใหม่ๆ จะยอมโอบกอดความเป็นกระแสนิยม หรือ Massculture ที่แอนนีสร้างขึ้นมา เพลงป็อปที่เริ่มแรกโชติช่วงเหมือนดาวหาง ก่อนดับสลายไปตามเวลา

3.

Masseduction บรรจุเพลงทั้งช้าและเร็ว กระจัดกระจายเป็นส่วนๆ ตลอดทั้งอัลบัม

ในบรรดาเพลงเร็วที่เต็มไปด้วยความร่าเริง กระฉับกระเฉง และมีชีวิตชีวา แอนนี่หยิบยกเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาพูด

เริ่มต้นจากเพลง ‘Pills’ ท่วงทำนองที่รีบเร่งคล้ายเพลงมาร์ชสำหรับเดินสวนสนาม ก่อนจะจบเพลงด้วยจังหวะที่คลายช้าลง แอนนี่ออกมาพูดเกี่ยวกับการใช้ ‘ยา’ ซึ่งอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เธอเขียนเพลงนี้ขึ้นจากประสบการณ์การใช้ยานอนหลับของเธอเอง

“Pills to wake, pills to sleep / Pills, pills, pills every day of the week,” ในขณะเดียวกัน เพลง “Young Love” ทำหน้าที่เหมือนเป็นภาคต่อเพลง ‘Pills’ แอนนี่พูดถึงการเสพ ‘ยา’ เกินขนาด ทำให้คนรักของใครคนหนึ่งไม่ได้สติอยู่ในอ่างอาบน้ำ ไม่มีการตัดสินหรือวิพากษ์ เขาหรือเธอคนนั้นได้แต่ตกอกตกใจและขอร้องให้คนรักตื่นขึ้นมา “No, I, young lover, I’m begging you please to wake up / Young lover, I wish that I was your drug.”

‘Masseduction’ ชื่อเพลงเดียวกับชื่ออัลบัม เอ่ยถึงผู้คนมากมายที่อยู่ในห้วงภวังค์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวพังค์ที่ล้มแผ่บนพื้นครัว ใครคนหนึ่งกำลังร้องเพลงของ นิค เคฟ (Nick Cave) จากอัลบัม Boatman’s Call โลลิตาหรือตัวละครในหนังสือของ วลาดีมีร์ นาโบคอฟ กำลังร้องไห้ และนักสูญนิยม (Nihilist) ที่กำลังเปรยยิ้ม แต่ละห้วงเหตุการณ์ปนเปกัน จนแยกระหว่างสิ่งที่เรียกว่าความสุขสมกับความเจ็บปวดจากกันไม่ออก “I can’t turn off what turns me on.”

เพลง ‘Sugarboys’ เริ่มเพลงด้วยการตะโกน “Boys” และ “Girls” ชัดถ้อยชัดคำ ก่อนจะเกริ่นถึงประโยคเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว “I am a lot like you (Boys) / I am alone like you (Girls) / I am a lot like you (Boys) / I am the one like you.” ซึ่งยิ่งย้ำเตือนบทบาทระหว่างชายหญิงประหนึ่งฉลากที่ติดไว้ข้างขวดสินค้า บางครั้งมันทำให้เจตจำนงเสรี หรือ free will ของใครหลายคนถูกลบและเลือนหายไป

เรื่องเพศยังถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในเพลง ‘Savior’ เมื่อใครบางคนถูกขอร้องให้แต่งตัวสวมบทบาทต่างๆ เพื่อเติมเต็มแฟนตาซีทางเพศของคนรัก เธอหรือเขาคนนั้นได้แต่ตามใจ ถึงแม้ว่าชุดเหล่านั้นมันจะใส่ไม่สบายเอาเสียเลย “But that’s still not it. None of this shit fits.” แต่ในขณะที่เธอหรือเขาพยายามลื่นไหลไปตามความต้องการของคนรักครั้งแล้วครั้งเล่า  คนอื่นๆ ต่างจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์ ในท้ายเพลง แอนนี่ทวนคำว่า Please ที่เต็มไปด้วยพลังและการเรียกร้อง ในขณะเดียวกัน ก็อดไม่ได้ที่จะพูดงึมงำเสียงเบาๆ สลับกันไป เสียงที่อยากพูดออกมาดังๆ แต่ก็กลัวว่าจะไม่มีใครสนใจ

“Please.” (They call me a strange girl) / (And they speak to me in bruises) / “Please.” (I got ’em tryin’ to save the world) / (They said, “Girl, you’re not Jesus.”)

ทั้งเพลง ‘Los Ageless’ และ ‘New York’ ต่างพูดถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองทั้งสอง บรรจุด้วยเรื่องราวของความโดดเดี่ยว การสูญเสีย และความรู้สึกแปลกแยกของผู้อาศัยในเมือง

เพลง ‘Los Ageless’ พูดถึงเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของคนที่พยายามมีชื่อเสียง เป็นใครคนหนึ่งในสังคมใหญ่ เมืองที่พยายามเก็บกอดผู้อยู่อาศัยไว้ด้วยมนต์ แต่มันคงเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักและชัง ที่เธอในฐานะผู้อยู่อาศัยเอาแต่โอดครวญถึงข้อเสียของมันและอยากจะจากเมืองแห่งนี้ไป  “How can anybody have you and lose you / And not lose their minds, too?”

ในขณะที่เพลง ‘New York’ ขึ้นด้วยเสียงเปียโน ท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งได้ โทมัส บาร์ตเลตต์ (Thomas Bartlett) หรือ Doveman ที่เคยทำงานร่วมกับศิลปินอย่าง ซุเฟียน สตีเวนส์ (Sufjan Stevens) และ The National มาเล่นเปียโนให้ แอนนี่พูดถึงนิวยอร์กว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ถึงในปัจจุบันชีวิตจะก้าวต่อไป แต่อดีตก็คอยปรากฏตามมุมถนนที่เดินผ่าน “New York isn’t New York. Without you, love.” เธอบอกว่า ‘New York’ เป็นเพลงที่แต่งจากประสบการณ์ของเธอเอง เกี่ยวกับผู้คนที่เธอรัก ซึ่งตัวเธอเองก็อาศัยอยู่ที่นิวยอร์กตั้งแต่ช่วงปี 2000

เพลง ‘Fear The Future’ และท่วงทำนองเอาจริงเอาจังพูดถึงวันสิ้นโลก แอนนีตั้งคำถามถึงใครสักคน ใครที่มีอำนาจพอจะชี้เป็นหรือชี้ตาย “Come on, Sir, just give me the answer / I fear the future.” เราจะไปอยู่ตรงไหน เมื่อวันหนึ่งแผ่นดินแยกออกจากกัน จู่ๆ กำแพงก่อตัวสูงขึ้น มหาสมุทรเอ่อจนล้นปริ่ม ลูกอันเป็นที่รักกลายเป็นของสังเวยให้ปิศาจ เมื่อวันหนึ่งสงครามเข้ามาถึงในห้องนอน แต่ก็ดูเหมือนไม่มีใครสนใจจะตอบ และคำถามนั้นก็จบด้วยการลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศ

4.

เพลงช้าเพื่อพูดถึงเรื่องที่ยากที่สุด ความสัมพันธ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ‘Hang on Me’ เอ่ยถึงการล่มสลายของความรัก เปรียบเทียบกับหายนะที่เกิดในชีวิตประจำวัน เครื่องบินชนกันจนหมุนเคว้งลงมาจากท้องฟ้า รถแท็กซี่เฉี่ยวชนกันตามท้องถนน สิ่งหนึ่งที่ทำได้เมื่อความรักดับสูญ ได้เพียงแต่ปลอบใจตัวเอง “‘Cause you and me, we’re not meant for this world.”

ความเศร้าสร้อยในความสัมพันธ์ยังปรากฏในเพลงช้าเพลงอื่นในอัลบั้ม อย่าง ‘Happy Birthday, Johnny’ ตัวละครปริศนาในเพลงของแอนนี ที่เคยปรากฏในอัลบั้มปี 2014 อย่าง Prince Johnny หรือในเพลง ‘Marry Me’ ในอัลบั้มแรกปี 2007 ตัวละครตัวนี้กลับมาอีกครั้ง ทั้งล่องลอยและว่างเปล่า เรื่องราวต่อเนื่องเผยถึงช่วงเวลาในอดีตที่ใช้กับจอห์น “One Christmas / I gave you Jim Carrol.” “One Summer / we walk in Times Square.”  ความสัมพันธ์ห่างไกลที่เธอเอาใจช่วยให้เขาลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง “When you get free, Johnny. I hope you find peace.”

หรือเพลงบัลลาดช้าอย่าง ‘Slow Dance’ ที่แอนนีเขียนร่วมกับ จอย วิลเลียมส์ (Joy Williams) เพื่อนร่วมวงการจากคณะ The Civil Wars มันเริ่มจากท่อนเนื้อเพลงสั้นๆ ที่แอนนีตั้งใจแต่งไว้ให้อัลบั้มเดี่ยวของจอย “I’m so glad I came but I can’t wait to leave.” เธออธิบายถึงเพลงนี้ไว้ว่า มันเป็นเพลงเกี่ยวกับโลกคู่ขนาน โลกหนึ่งสะท้อนชีวิตที่เราต้องการจะมีและจะเป็น ในขณะที่อีกโลกเผยชีวิตที่เราใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งสองโลกต่างดำเนินไปพร้อมๆ กัน และคอยหลอกหลอนกันและกัน

หลังจากที่เธอบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ในชีวิต แอนนีจบอัลบัมด้วยเพลง ‘Smoking Section’ พูดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด นั่นคือความสัมพันธ์กับตัวของเธอเอง ทั้งดำดิ่งและมืดมน จนบางครั้งเธออยากกระโดดลงมาจากหลังคา ทิ้งตัวลงบนหลังคารถแท็กซี่ที่อยู่ข้างล่าง “Sometimes I go to the edge of the roof / and I think I’ll jump just to punish you.” แต่แล้วก็มีแสงจากปลายอุโมงค์ที่ทำให้เธอนึกถึงสิ่งที่สำคัญ “What could be better than love, than love, than love?”

“—it’s not the end. It’s not the end.” แอนนีกล่าวซ้ำไปซ้ำมาในตอนท้ายเพลงอย่างอาดูร

ยืดอก มองไปข้างหน้า แล้วชีวิตก็ดำเนินต่อไป

5.

แอนนีบอกกับสื่อว่า อัลบั้มนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่พูดถึงเรื่องราวส่วนตัวของเธอมากที่สุดที่เคยทำมา

ทั้ง 13 เพลงในอัลบั้ม Masseduction พูดถึงเรื่องเพศสภาพ ความเป็นผู้หญิง ยาเสพติด ภาวะบริโภคนิยม รวมถึงเรื่องส่วนตัวของแอนนีเอง มาพร้อมหน้าปก Artwork สีฉูดฉาดพื้นแดง นางแบบ Carlotta Kohl ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเพื่อนของ Annie เอง ยืนก้มหันหลังในชุดรัดรูปลายเสือ ใส่เลกกิ้งมันวาวสีชมพูกับรองเท้าส้นสูง มิหนำซ้ำ มิวสิควิดีโอล่าสุดของเธอ ‘Los Ageless’ แอนนีเผยให้เห็นอีกมุมของเมืองอมรสีสดใต้แสงนีออนที่เต็มด้วยผู้หญิงที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้เห็นไปตามภาพลักษณ์สมัยนิยมแอนนียืนอยู่ข้างเครื่องทำลายกระดาษสีส้มคล้ายเนื้อสดที่มีคำว่า “No – ไม่” พิมพ์เด่นหราอยู่บนนั้น หรือในมิวสิควิดีโอ ‘New York’ ที่พูดถึงผู้หญิงในแมนฮัตตันว่ามีชีวิตน่าเศร้าเพียงใด แอนนีนั่งหน้าเรียบเฉยบนโซฟาที่ถูกหั่นครึ่ง พร้อมหงส์สีขาวที่นั่งอยู่อีกฝั่ง มันคอยใช้ปากจิกเสื้อสีดำมันวาวของเธอ ก่อนที่เธอค่อยๆ ยกลำคอยาวระหงของมันขึ้น

อัลบัม Masseduction ไม่ได้เป็นป็อปสุดขั้ว ไม่ได้เป็นป็อปคอร์นรสหวานเคี้ยวง่ายในกล่องกระดาษ หากรูปแบบการนำเสนอและส่วนประกอบของวัฒนธรรมกระแสนิยมถูกนำใช้เพื่อนำเสนอความคิด เรื่องราวจากวัฒนธรรมย่อย หรือ subculture ในสังคม รวมทั้งความรู้สึกส่วนตัวของศิลปินในระดับปัจเจก ความพยายามในการยั่วยวนมวลชนด้วยวัฒนธรรมป็อปในครั้งนี้ของแอนนี คลาร์ก หรือ St.Vincent จึงน่าสนใจและน่าชื่นชมยิ่ง