จากเชิงสะพานนวรัฐ เมื่อหันหลังให้ตัวเมืองเชียงใหม่ เยื้องไปทางด้านซ้ายมือไม่ไกล คือย่านที่ผู้คนในแถบนี้เรียกกันว่า ‘ย่านศรีประกาศ’ ชื่อนี้ไม่ได้ปรากฏในแผนที่ แต่เป็นคำเรียกที่คนเมืองรู้กันว่า มีแลนด์มาร์กเก่าแก่คือ ‘โรงแรมศรีประกาศ’ ซึ่งอยู่ระหว่างชายขอบของสามชุมชน คือสันป่าข่อย วัดเกต และท่าสะต๋อย ที่เคยผ่านการทิ้งร้างเพราะปิดกิจการลงเมื่อปี พ.ศ. 2545 ก่อนจะได้รับการต่อลมหายใจอีกครั้งโดยทายาทรุ่นหลัง เพื่อหวังให้อาคารเก่าแก่หลังนี้กลับมามีชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วไป โดยความร่วมใจของคนที่เห็นค่าในอาคารเก่า ที่ช่วยกันกอบชิ้นส่วนขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
บ้านหลังประวัติศาสตร์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสถานะ
จากหลักฐานที่มีบันทึกพร้อมคำบอกเล่าของทายาท กิ่งแก้ว สุจริตพานิช สตรีวัยกว่าหกสิบที่เราเรียกเธอว่า ‘ป้าอ้อ’ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สาม เรี่ยวแรงสำคัญของกลุ่มลูกหลานที่ร่วมกันพลิกฟื้น ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาคารหลังนี้เอาไว้ว่า สร้างขึ้นโดยพ่อสีโหม้ วิชัย (หรือศรีโหม้ วิชัย ตามบันทึกในหนังสือ ‘ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา’ ของบุญเสริม ศาตราภัย ช่างภาพประวัติศาสตร์ชาวเชียงใหม่) เพื่อใช้อาศัยอยู่กับครอบครัว เมื่อปี พ.ศ.2447 ในชุมชนคริสเตียนรุ่นแรกของเชียงใหม่
“ลักษณะของบ้านจะเป็นการผสมผสาน เพราะย่านนี้เป็นย่านที่เจ้าหลวง กษัตริย์ของเชียงใหม่สมัยยังไม่ได้รวมกับสยาม ได้ให้ชาวต่างชาติซึ่งเป็นชาวตะวันตกทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน และคนจีนมาอาศัยอยู่ เนื่องจากที่นี่เป็นเขตนอกเมือง ส่วนตัวเมืองจะอยู่ในเกาะคูเมือง ซึ่งอยู่คนละฟากของแม่น้ำปิง โดยช่างที่ก่อสร้างนั้น อาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมซึ่งเคยพานักศึกษาเข้ามาชมได้บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นช่างชาวจีน ซึ่งเป็นช่างที่ก่อสร้างโรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงพยาบาลแมกคอร์มิก อาคารคริสตจักร และความที่พ่อสีโหม้เป็นชาวคริสเตียนด้วย การสร้างบ้านจึงเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างคริสเตียนกับล้านนา”
ตัวอาคารแบบล้านนาโคโลเนียลสองชั้น ใส่เอกลักษณ์ของการสร้างบ้านแบบล้านนาเอาไว้ในรายละเอียด อาทิ ‘ฝาไหล’ หรือหน้าต่างที่ไม่มีวงกบและบานหน้าต่าง หากเป็นแผ่นไม้ที่เลื่อนปิดเปิดได้เพื่อให้แสงเข้าหรือป้องกันแสง ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนทั่วตัวบ้าน ‘หลังคาดินขอ’ หรือกระเบื้องดินเผามุงหลังคาแบบดั้งเดิม มีลักษณะเป็นแผ่นเหลี่ยม ด้านล่างทำขอเกี่ยวเอาไว้เพื่อเกี่ยวกับระแนงที่รองรับ เดิมมีหน้ามุขที่ยื่นออกมาบนชั้นสอง ปัจจุบันย้ายลงมาอยู่ชั้นล่างเพื่อแก้ปัญหาหลังการซ่อมแซม
บ้านหลังนี้ผ่านการใช้ประโยชน์มาหลายรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ด้านหลังเคยเป็นโรงเรียนพัฒนาวิทยา เคยเป็นสวนสัตว์เอกชนยุคแรก เป็นสำนักพิมพ์สหายชาวสวน ก่อนพ่อสีโหม้จะขายบ้านหลังนี้ให้กับหลวงศรีประกาศ ส.ส.รุ่นแรกของเมืองเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดสาธารณูปโภคในเชียงใหม่ ทั้งโรงไฟฟ้า โรงพยาบาลสวนดอก สนามกีฬาเทศบาล แผนกดับเพลิงประจำเมืองเชียงใหม่ ครั้งอยู่ในฐานะนายกเทศมนตรี
เมื่อเปลี่ยนมือมาสู่หลวงศรีประกาศในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทของอาคารหลังนี้จึงเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยการปล่อยให้เช่าเป็นสถานพยาบาลในระหว่างสงคราม ก่อนจะปรับปรุงใหม่ให้เป็นโรงแรมศรีประกาศ แบ่งพื้นที่ด้านหน้าและอาคารด้านหลังที่ต่อเติมขึ้นเป็นห้องพัก 24 ห้อง เป็นโรงแรมยุคแรกของเชียงใหม่ที่นับลำดับได้ลำดับที่ 4 ที่รับรองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพ่อค้าต่างเมือง และปิดกิจการลงเมื่อดำเนินมาได้ 72 ปี ด้วยเริ่มมีธุรกิจสถานบันเทิงเข้ามาเปิดกิจการริมแม่น้ำปิง และโครงสร้างโรงแรมซึ่งเป็นไม้ไม่อาจกันเสียงอึกทึกได้ และไม่เหมาะสำหรับแขกที่ต้องการพักผ่อนค้างแรมอีกต่อไป
“เวลามองภาพอาคารหลังนี้ ดิฉันจะนึกถึงครอบครัวของเราในอดีต ที่นี่เคยเป็นโรงแรม เป็นกิจการของที่บ้าน คุณตาที่เป็นนายกเทศมนตรีก็จะเข้ามาตรวจโรงแรม มาทำบัญชี คุณยายก็มาอยู่เป็นเพื่อน ส่วนแม่ก็เป็นผู้จัดการโรงแรม เราใช้ชีวิตกันอยู่ในนี้ ยังมีรูปเก่าๆ ที่แม่ป้อนข้าวเราอยู่หน้าโรงแรมอยู่เลย ดิฉันไม่ได้มองว่าบ้านหลังนี้สวย แต่มันเป็นความทรงจำที่สะสมมายาวนาน”
โรยราและหยัดยืน
โรงแรมนี้เคยตระหง่านอยู่หน้าลำน้ำปิง ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่กลางผืนดินที่บริเวณโดยรอบเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ภัตตาคารศรีประกาศซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นภัตตาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดในเชียงใหม่ที่อยู่ในรั้วเดียวกันปิดตัวและถอนรื้อออกไป ป้าอ้อเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างใคร่ครวญ ว่าจะทำอย่างไรกับบ้านที่มีความทรงจำฝังแน่นอยู่
“พื้นที่ตรงนี้ถ้ารื้อแล้วจะสร้างอาคารใดๆ ขึ้นมาไม่ได้เพราะมีเรื่องของกฎหมายผังเมือง ที่ให้เก็บโซนนี้เป็นที่โล่ง คือถ้าอาคารยังอยู่แบบนี้ อยู่ได้ แต่รื้อเพื่อสร้างใหม่ไม่ได้ แต่ถึงรื้อได้ก็ไม่อยากรื้อ หัวใจสลายเหมือนกัน แต่คงสลายกว่าถ้าอาคารทั้งหลังจะกลายเป็นที่จอดรถอย่างเดียว”
ลูกหลานของศรีประกาศพยายามช่วยกันประคับประคองอาคารหลังนี้เอาไว้ทั้งที่ไม่ง่ายนัก ในระหว่างนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 นิตยสารแจกฟรี Chao ได้ขอใช้พื้นที่จัดนิทรรศการ ‘Chiangmai Now and Then’ หรือ ‘เชียงใหม่ไม่ลืมกำพืด’ แสดงภาพเก่าของเชียงใหม่ในระยะเวลา 100 ปี ของโมริโนะสึเกะ ทานากะ ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่เปิดห้องภาพในเชียงใหม่ กับบุญเสริม ศาสตราภัย ซึ่งเป็นหลานของหลวงศรีประกาศ และได้รับความสนใจอย่างมาก
เมื่อเห็นว่าอาคารหลังนี้ยังสร้างประโยชน์ได้ในรูปแบบนี้ ประกอบกับได้เห็นว่าในต่างประเทศก็มีการใช้หลัก ‘adaptive reuse’ ปรับอาคารเก่าให้ใช้กับกิจกรรมใหม่ๆ เช่น ในเยอรมนีที่นำโบสถ์เก่ามาปรับเป็น co-working space แคนาดาปรับใช้ค่ายทหารเก่าให้เป็น business park อเมริกาใช้โรงงานเก่าเป็นมอลล์ขนาดเล็ก หรือในญี่ปุ่นใช้โรงเรียนเก่าเป็นอาคารกิจกรรม และเมื่อเทียบดูแล้วศรีประกาศเองก็เคยปรับใช้อาคารแบบ adaptive reuse มาแล้วหลายสมัย การจะปรับเปลี่ยนอีกครั้งเพื่อการใช้งานใหม่ๆ โดยไม่มุ่งหมายในเชิงพานิช ก็ย่อมเป็นเรื่องสมควรทำ
ปีถัดมา ศรีประกาศจึงจัดงานอีกครั้งในช่วงประเพณียี่เป็ง โดยมีสล่ามาสาธิตทำโคมตุงกระดาษล้านนา มีนิทรรศการภาพเก่าเกี่ยวกับประเพณีนี้ และโอกาสนี้ทำให้ป้าอ้อได้รู้จักกับเครือข่ายคนทำงานอนุรักษ์ และคิดหาหนทางฟื้นฟูบ้านอย่างจริงจัง แต่ก็เกิดพายุเข้าเสียก่อนในปีพ.ศ.2556 ตัวอาคารได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนเกือบจะถึงทางแยกอีกครั้งว่าจะตัดสินใจให้อาคารหลังนี้อยู่หรือไป กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็สร้างพลังใจให้ผู้เป็นเจ้าของอย่างมหาศาล
“ศรีประกาศได้รับความเมตตาจากผู้คนจำนวนมากตอนหลังคาโดนพายุ ทุกคนไม่ใช่คนร่ำรวย เขาเป็นคนธรรมดาที่ช่วยเต็มที่ ใจเต็มร้อย คนที่บ้านอยู่สันกำแพงก็รื้อไม้ไผ่นั่งร้านมาให้เราไว้ซ่อมหลังคา ช่างจากสันป่าตองก็มาช่วยโดยไม่คิดกำไร เราได้รับกำลังใจและความช่วยเหลือตามอัตภาพจากคนทั่วไปมากมาย เราจึงมาสู่แนวใหม่ของการอนุรักษ์อาคาร ด้วยหลักการ ‘ช่วยใช้ ช่วยซ่อม’ ใครที่มาใช้อาคารเราไม่คิดค่าเช่า แต่จะให้เขาช่วยซ่อมเป็นส่วนๆ ตามลำดับความจำเป็นให้อาคารแข็งแรง”
ช่วยกันใช้ ช่วยกันซ่อม
เมื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ ลูกหลานศรีประกาศก็คิดเห็นตรงกันว่าอาคารนี้ต้องให้ประโยชน์กับคนอื่นด้วย
“เราเลยทำเป็นอาคารกิจกรรมที่ค่อนข้างยืดหยุ่นว่า กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ดีและเป็นประโยชน์ เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่าอาคารจะอยู่ต่อไปแล้วสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ที่จริงแล้วเชียงใหม่มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่หลายที่ แต่ก็ยังไม่พอสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ หรือคนหนุ่มคนสาวที่มีความคิดใหม่ๆ ซึ่งยังไม่มีเวที หรือมูลนิธิต่างๆ ที่ไม่มีสถานที่จัดกิจกรรมก็มาใช้ที่นี่ ทุกปีเราจะมีโควต้าจำนวนหนึ่งสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำหรับแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ ให้พื้นที่เกื้อกูลกันระหว่างมูลนิธิที่เป็นประโยชน์ต่อคนเชียงใหม่เช่นมูลนิธิชัมบาลา ที่มาเผยแพร่อาหารสุขภาพญี่ปุ่นได้ใช้พื้นที่”
Studio3 AeeeN works ของมูลนิธิชัมบาลา ใช้พื้นที่โถงด้านล่างเป็นส่วนบริการอาหารสุขภาพและสินค้าทุกวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้บำรุงรักษาอาคาร เช่นเดียวกับเวิร์กช็อปสอนทำเต้าหู้ญี่ปุ่นที่จัดขึ้นทุกวันอังคารที่หนึ่งของเดือน กิจกรรมเหล่านี้จัดขึ้นภายในอาคารชั้นล่างที่อดีตห้องพักโรงแรมถูกทุบออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้เชื่อมถึงกัน เสาทุกต้นมีโครงเหล็กเสริมเอาไว้เพื่อความแข็งแรง
“เสาเหล็กที่เสริมความแข็งแรงชั้นล่างทั้งหมดได้มาจากการจัดงานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยรังสิต การแก้ปัญหาฝ้าเพดานชั้นบนและระบบไฟบางส่วนมาจากมูลนิธิญี่ปุ่น ส่วนด้านหน้าอาคารจะได้รับการปรับปรุงจากโครงการพอแล้วดี การทาสีห้องต่างๆ ก็มาจากผู้ที่มาขายของในงานศรีประกาศอิชิ งานประจำปีที่เราจัดติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ห้าแล้ว และกำลังจะซ่อมแซมพื้นชั้นบนด้วยการยาร่องพื้นไม้จากทีซีดีซี เพื่อไม่ให้เศษผงอะไรหล่นลงมารบกวนพื้นที่ที่มีการใช้งานด้านล่าง รวมทั้งมีคนรุ่นหนุ่มสาวที่มาจัดงานหรือเวิร์กช็อปเพื่อหาทุนซ่อมเฉพาะจุด ก็มีค่ามากมายสำหรับเรา มันแสดงถึงความรู้สึกที่เชื่อมต่อระหว่างกันในการรักษาอาคารแห่งนี้เพื่อให้ทำประโยชน์ได้ยาวนานขึ้น”
ศรีประกาศค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะซ่อมจุดนี้ ก็ยังมีจุดนั้นที่กำลังชำรุดให้ทำต่อ แถมบางครั้งจุดที่ซ่อมไปก็เกิดปัญหาให้ย้อนกลับมาซ่อมอีก
“อาคารเก่านี่การซ่อมเหมือนการด้นถอยหลัง อย่างผนังชั้นบนทางด้านตะวันออก เราแก้ปัญหามาปีหนึ่ง พอเจออีกฝนหนึ่งเราก็ต้องมาทำใหม่ซ้ำรอยเดิมเพราะว่าลมหรือฝนจะเป็นตัวทำลายได้เรื่อยๆ เราต้องเริ่มแก้ปัญหาในจุดที่เป็นจุดเสี่ยงมากที่สุดก่อน ซึ่งก็ทำได้เป็นลำดับสำหรับอาคารหลังใหญ่ แต่ยังมีอีกหลังหนึ่งที่อยู่ด้านหลังซึ่งแต่เดิมเคยเป็นโรงเรียนสมัยคุณสีโหม้เป็นเจ้าของ อันนั้นเราไม่ได้ไปแตะเลยก็แย่มาก ฝนที่แล้วทำให้หลังคาหักลงมา แต่มันเป็นโซนที่ไม่ทำอันตรายต่อข้างหน้า ก็คิดว่างานศรีประกาศอิชิครั้งนี้อาจจะมีซ่อมส่วนนี้ด้วย แต่ครั้งเดียวคงยังไม่สำเร็จเพราะเสียหายค่อนข้างเยอะ เมื่อวานชายคาก็เพิ่งหลุดลงมา ฝาไหลชั้นบนก็หลุดจนหมด คงค่อยๆ รวบรวมทีละเล็กทีละน้อย ทำส่วนที่กำลังถล่มลงมาก่อน”
เรื่องราวใหม่ในอาคารเก่า
‘ศรีประกาศอิชิ’ หรือ ‘ตลาดศรีประกาศ’ ตามความหมาย ‘อิชิ’ ซึ่งแปลว่า ‘ตลาด’ จัดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้งใน 4 ปีติดต่อกัน โดยเลือกจัดในเดือนธันวาคมที่เมืองเชียงใหม่มีชีวิตชีวาที่สุด และกำลังจะมีครั้งที่ 5 ในวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ ซึ่งแต่ละปีจะจัดในธีมที่แตกต่างกันออกไป นอกจากมีตลาดที่เป็นที่พบปะของคนรักงานสร้างสรรค์ กาแฟ และอาหารสุขภาพ ในบรรยากาศที่โอบล้อมบ้านหลังนี้เอาไว้แล้ว ยังมีกิจกรรมให้ผู้สนใจได้เข้าร่วม
ดังเช่นครั้งนี้ซึ่งใช้ชื่องานว่า ‘Weaving Our Homeland’ ชวนให้มาร่วมถักทอคนรักอาคารเก่า คนรักชุมชนเก่าเข้าด้วยกัน ที่นอกจากจะมีตลาดที่นำเสนองานทำมือ สินค้าและอาหารเพื่อสุขภาพ ยังมีกิจกรรม ‘รางไม่เลือน’ ที่ชวนผู้เข้าร่วมได้เดินทางผ่านคำบอกเล่าจากนายสถานีรถไฟเชียงใหม่ แล้วใช้เส้นทางเดินลัดเลาะมายังโรงแรม ณ สราญ โดยระหว่างทางจะได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนและฟังเรื่องเล่าจากผู้คนในชุมชน ร้านค้า และอาคารดั้งเดิมในละแวก ชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อาทิ ร้านกาแฟขจี ร้านกรีนทัวร์ โบสถ์คริสต์หลังแรกของเชียงใหม่ และได้ชมสาธิตงานถักทอของเด็กๆ ออทิสติกแห่งมูลนิธิสมานใจ ซึ่งจะนำสินค้าที่ถักทอขึ้นเองมาจำหน่ายในงานร่วมกับร้านค้าอื่นๆ ด้วย
“ที่นี่มีคนต่างประเทศเข้ามาเยอะ และแต่ละคนก็เก่งทั้งนั้น เราสามารถที่จะเชิญเขามาสอนมาอะไรใหม่อยู่เรื่อยๆ เราก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากเขาไปด้วย ส่วนเรื่องการซ่อมอาคาร ก็หวังจะให้แข็งแรงให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากได้อยู่ต่อเราก็มีความชัดเจนว่าอยากจะให้เป็นสถานที่ที่ให้อะไรดีๆ ที่ในหลายที่ให้ไม่ได้
“แม้เราเองจะไม่ได้รับการสนับสนุนการอนุรักษ์อาคารแบบประเทศญี่ปุ่น ที่ประกาศเขตอนุรักษ์และห้ามขาย ห้ามให้เช่า และห้ามรื้อถอนทำลาย แต่ช่วยสนับสนุนให้คนเข้ามาชม ซึ่งในระยะยาวอาจจะได้เงินมากกว่าขายหรือให้เช่า เราเป็นคนไทยก็ต้องปรับตัวหาทางที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง ทีมลูกหลานศรีประกาศก็อยากจะเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่อยากรักษาอาคารเก่า ที่ไม่ได้มีงบประมาณมากมายว่า อาคารที่อยู่มายาวนาน การจะรักษาไว้ต้องใช้เวลา แต่หากมุ่งมั่นค่อยเป็นค่อยไป ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการเสริมความแข็งแรงจากจุดเล็กๆ ไปเรื่อยๆ”
- ภาพโรงแรมศรีประกาศ โดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
- ภาพกิ่งแก้วและงานศรีประกาศอิชิ โดย สรณัฐ สุจริตพานิช