เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกระจายเสียงอินโดนีเซียได้ส่งจดหมายเตือนไปยังสถานีโทรทัศน์ GTV ที่การออกอากาศภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง ‘สพันจ์บ๊อบ สแควร์แพนท์ส’ (SpongeBob SquarePants) โดยอ้างว่าการออกอากาศภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดจรรยาบรรณและมาตรฐานรายการโทรทัศน์จาการ์ตา เพราะมีการกระทำที่รุนแรง
‘สพันจ์บ๊อบ สแควร์แพนท์ส’ ออกอากาศเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ภายใต้รายการ ‘Big Movie Family’ ของ GTV ในอินโดนีเซีย และได้รับการเตือนว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง เช่น การตีใบหน้าด้วยบอร์ด การทิ้งลูกโบว์ลิ่งลงบนศีรษะ โยนค้อนใส่ใบหน้าตัวละคร โยนกระถางต้นตะบองเพชร ฯลฯ แม้ว่าทั้งหมดจะกระทำไปด้วยความสนุกสนานขำขัน แต่ก็แฝงไว้ซึ่งการใช้ความรุนแรง
ในจดหมายแจ้งเตือนครั้งนี้กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจละเมิดมาตรา 14 อันว่าด้วยจรรยาบรรณของคณะกรรมการกระจายเสียงอินโดนีเซีย ซึ่งระบุว่าสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศต้องปกป้องรักษาผลประโยชน์ของเด็กในทุกด้านของการผลิตรายการโทรทัศน์ รวมไปถึงมาตรา 37 ของมาตรฐานรายการของคณะกรรมาธิการ ซึ่งระบุว่า รายการที่ออกอากาศที่มีเรต R อันหมายถึงมีสิ่งต้องห้ามในเนื้อหาที่อาจกระตุ้นให้เด็กและวัยรุ่นเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
สพันจ์บ๊อบ เป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ออกอากาศครั้งแรกในปี 1999 และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง SpongeBob Squarepants ในปี 2004 ตามมาด้วย The SpongeBob Movie: Sponge Out of Water ในปี 2015 และเรื่องที่สามที่มีกำหนดออกฉายในปี 2020 นี้
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกระจายเสียงอินโดนีเซีย ในเขตชวาตะวันตกสั่งงดออกอากาศเพลงจำนวน 17 เพลง ทั้งในวิทยุและโทรทัศน์ในชวาตะวันตกเนื่องด้วยมีเนื้อหาทางเพศ และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีการวางแผนกำหนดกรอบนโยบายซึ่งจะออกมาเป็นกฎหมายในภายหลังเกี่ยวกับการกำกับดูแลเนื้อหาในดิจิตัลมีเดีย รวมไปถึงเน็ตฟลิกซ์และยูทูบด้วย
อ้างอิง
https://www.asiatimes.com/2019/09/article/spongebob-just-too-violent-for-indonesia-watchdog-says/
ภาพ : SpongeBob SquarePants
Tags: การ์ตูน, สพันจ์บ๊อบ, ความรุนแรงในการ์ตูน