ในยุคที่อะไรๆ ก็ live และ cast ได้ ทำให้คนทั่วไปสามารถผลิตเนื้อหาแล้วเผยแพร่ทางออนไลน์ได้เอง ไม่ต้องผ่านช่องทางสื่อแบบดั้งเดิม เนื้อหาออนไลน์เหล่านี้ไม่เพียงไปกระตุกหนวดของวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ซึ่งต้องปรับตัวทางธุรกิจขนานใหญ่ แต่ยังทำให้องค์กรกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สยายปีกอำนาจของตัวเองจากคลื่นกระจายเสียงมาสู่พื้นที่ออนไลน์

เพราะเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา แอดมินของเพจดังในเฟซบุ๊กหลายเพจถูก กสท. เรียกพบ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังจะกำกับดูแลกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over-the-Top หรือ OTT) โดยเน้นที่ช่อง YouTube และ Facebook Page ที่ทำเนื้อหาภาษาไทยและมีผู้ติดตามเกินหนึ่งล้านคน

แต่รายละเอียดและที่มาของอำนาจในการกำกับดูแลยังไม่มีความชัดเจน

ท่ามกลางความมึนงงสับสนของทุกฝ่าย การตั้งคำถามแบบเบลอๆ ทีละเปลาะ อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น

 

OTT ที่พูดกัน หมายถึงอะไรกันแน่

ง่ายที่สุด OTT หมายถึงบริการเกี่ยวกับภาพ เสียง เนื้อหา และการติดต่อสื่อสารต่างๆ ที่ส่งต่อผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องพึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายคลื่นความถี่กระจายเสียงและโทรคมนาคม

ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเราดูทีวีและวิทยุได้ เพราะผู้ผลิตเนื้อหาส่งผ่านเนื้อหาผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่มา แต่ทุกวันนี้ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและราคาถูกลง เสริมด้วยความแพร่หลายของสมาร์ทโฟน ทำให้บริการด้านเนื้อหาประเภทต่างๆ ขึ้นไปอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันหมด ทั้ง Facebook Youtube หรือ Netflix ก็ล้วนเข้าข่ายเป็น OTT

ประเภทของ OTT มีหลากหลาย แต่ที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากในสังคมไทย โดยมี กสทช. เป็นผู้เปิดประเด็นในตอนนี้ น่าจะเป็น Over-the-Top Content ซึ่งหมายถึงเนื้อหาที่เคยอยู่ในแพลตฟอร์มสื่อการกระจายภาพและเสียงอย่างวิทยุโทรทัศน์ ถูกส่งผ่านด้วยโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรือโครงข่ายอื่นๆ ต่างจากที่เคยต้องออกอากาศในระบบที่จำกัด เช่น เคเบิลทีวีหรือสถานีโทรทัศน์ ซึ่งต้องขอใบอนุญาตจาก กสทช.

ตอนนี้คำถามที่ชวนงงกว่า อาจจะเป็นคำถามที่ว่า แล้วอะไรที่ไม่ใช่ OTT?

 

ตกลงว่าจะใช้กฎหมายฉบับไหน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตจะถูกนับเป็น OTT ทั้งหมดหรือไม่ นิยามที่ไม่ชัดเจนส่งผลต่อการกำกับดูแลว่ามันต้องใช้กฎหมายฉบับใด หน่วยงานอะไรทำหน้าที่กำกับดูแล ภัทรพันธ์ ไพบูลย์ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี จำกัด ตั้งข้อสังเกตบนเวทีสัมมนาเรื่อง ‘บริการมูลค่าเพิ่ม (OTT): โอกาสของธุรกิจสื่อในยุคอินเทอร์เน็ต’ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าถ้าพิจารณากฎหมายสี่ฉบับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งระบุอำนาจหน้าที่ของ กสทช.
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำกับดูแลโทรศัพท์บ้าน มือถือ อินเทอร์เน็ต และดาวเทียม

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เกี่ยวข้องกับบริการโทรทัศน์แบบใช้คลื่นและไม่ใช้คลื่น โทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม IPTV ส่วนในกฎหมายลูกแบ่งบริการใหม่เป็นโครงข่าย สิ่งอำนวยความสะดวก บริการโทรทัศน์ และบริการประยุกต์

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งให้ความสำคัญกับการโจมตีระบบข้อมูล

โดยรวมแล้ว กฎหมายทั้งสี่ฉบับเน้นไปที่เรื่องทางเทคนิค ซึ่งไม่ชัดเจนว่านำมาบังคับใช้กับ OTT ได้หรือไม่

ความไม่ชัดเจนของเรื่องนี้ยังรวมถึงขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดน ในกรณีที่ผู้ให้บริการจดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ

 

เป็นปัญหาทางเทคนิคหรือเนื้อหา

ในต่างประเทศ ข้อถกเถียงเรื่อง OTT ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเนื้อหาที่อยู่บนโครงข่ายนั้นควรเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (net neutrality) ผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งเปรียบเสมือนท่อส่งข้อมูลต้องปฏิบัติต่อข้อมูลที่ไหลผ่านท่ออย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่สนใจว่าเป็นข้อมูลอะไร ส่งมาจากไหน ไปถึงใคร เช่น ผู้ใช้เน็ตต้องเข้าถึงเว็บไซต์ดูหนังอย่าง Netflix ด้วยความเร็วเท่ากับเปิดวิกิพีเดีย โดยไม่ถูกคัดกรองให้ช้าลง เพราะใช้ทรัพยากรมากกว่า จนกลายเป็นว่าผู้ให้บริการโครงข่ายต้องแบกภาระ เช่น ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอุปกรณ์ เพื่อสัญญาณลื่นไหล แต่ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากบริษัทที่เป็น OTT เลย เช่น เฟซบุ๊กได้ค่าโฆษณาจากเพจที่ทำ Facebook Live เพียงบริษัทเดียว โดยไม่ต้องลงทุนด้านอุปกรณ์เลย

ส่วนในไทยมุ่งเน้นไปที่การละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การฉายภาพยนตร์บน Facebook Live โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ รายได้จากการเผยแพร่เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งการเฝ้าระวังเนื้อหา

สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือแม้ กสทช. ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าใครคือผู้ประกอบการ OTT แต่ก็เชิญฝ่ายต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องไปร่วมประชุม หนึ่งในนั้นคือผู้ผลิตเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตระดับปัจเจก ซึ่งเทคโนโลยีช่วยเปลี่ยนคนธรรมดาที่เป็นผู้บริโภคสื่อฝ่ายเดียว เป็นผู้สร้างและเผยแพร่เนื้อหาจนได้รับความนิยม กสทช. เรียกพวกเขาว่า ‘เน็ตไอดอล’ และพยายามกำกับดูแลพวกเขา เพราะมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้างได้

“พวกเน็ตไอดอลต่างๆ เมื่อเผยแพร่ข้อมูลแล้ว กลับมีผลกระทบกลับมากับสังคมในวงกว้าง ซึ่งหากไม่กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนก็จะสร้างปัญหาให้กับสังคมได้”
พ.อ.นที ศุกลรัตน์, PPTV, 30 พฤษภาคม 2560

 

ส่วนผู้ประกอบการบนสื่อดั้งเดิม เช่น สถานีโทรทัศน์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ ก็เสนอให้มีการลงทะเบียนผู้ให้บริการ โดยให้เหตุผลด้านการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และ “สามารถดูแลเนื้อหาให้เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน” (เนชั่นทีวี, 25 พฤษภาคม 2560)

 

การกำกับดูแล สร้างหรือทำลายผู้ประกอบการหน้าใหม่

ปีเตอร์ เลิฟล็อก (Peter Lovelock) ผู้อำนวยการ Telecommunications Research Project Corporate นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (University of Hong Kong) หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา ตั้งคำถามว่ามันเร็วไปหรือไม่ที่จะกำกับดูแล OTT ในเมื่ออินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ และยังมีโอกาสที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจะพัฒนาได้อีกมาก อีกแง่หนึ่งคือความพยายามจัดระเบียบ OTT จะเป็นการกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นคนธรรมดา หรือกีดขวางนวัตกรรมที่อาจจะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากทรัพยากรที่มีอยู่

กฤษณ์ บุญญะรัง หรือ ‘บี้ เดอะสกา’ ซึ่งเริ่มผลิตเนื้อหาออนไลน์เมื่อ 8 ปีก่อน จากการทดลองทำเล่นๆ ก่อนจะกลายเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน เขาบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็นและสร้างสรรค์ผลงาน หากต่อไปการสร้างเนื้อหาต้องถูกกำกับด้วยกฎระเบียบต่างๆ ก็อาจจะทำให้คนธรรมดาหรือผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่อยากจะทำอะไร เพราะยุ่งยากเกินไป ไม่คุ้มกัน

แม้ทั้งผู้ที่ (น่าจะ) มีอำนาจและผู้ประกอบการสื่อแบบดั้งเดิมจะพูดด้วยภาษาเชิงเทคนิคชวนให้คนนอกวงการปวดหัว แต่เรื่องซับซ้อนแบบนี้อยู่ใกล้ตัวเราเพียงแค่ปลายนิ้ว และวันหนึ่ง เราอาจจะต้องขึ้นทะเบียนก่อน live หรือ post ก็เป็นได้

Tags: , , , , , , ,