รัฐบาลสังคมนิยมของสเปนกำลังเดินหน้าขุดย้ายสุสานของเผด็จการฟรังโก ท่ามกลางเสียงประท้วงของพลังฝ่ายอนุรักษนิยม บนเส้นทางของการช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘ความปรองดอง’

สังคมสเปนกำลังจัดการกับประวัติศาสตร์ยุคสงครามกลางเมือง ที่ผู้คนแบ่งฝ่ายเข้าห้ำหั่นกัน ฝ่ายหนึ่งนิยมระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งนิยมระบอบฟาสซิสม์ กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังสมานไม่สนิทจนถึงวันนี้

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน สภาผู้แทนราษฎรของสเปนผ่านกฎหมายเปิดทางให้รัฐบาลขุดย้ายกระดูกของฟรานซิสโก ฟรังโก ออกไปจากอนุสรณ์สถานที่เรียกว่า หุบผาของผู้ดับสูญ (Valle de los Caidos)

นายพลฟรังโกปกครองสเปนด้วยระบอบเผด็จการนับแต่หลังสงครามกลางเมืองช่วงปี 1936-1939 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1975 ศพของเขาถูกฝังไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ภายในสุสานยังเป็นที่ฝังศพของผู้วายชนม์ในสงครามกลางเมืองราว 37,000 คนด้วย ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมอ้างว่า การฝังร่างของคนทั้งสองฝ่ายไว้ร่วมกันเช่นนี้ เป็นสัญลักษณ์ของความปรองดอง

คะแนนเสียงลงมติในสภาสะท้อนให้เห็นความอ่อนไหวในเรื่องนี้อย่างชัดเจน แม้เสียงข้างมาก 172 เสียงโหวตเห็นชอบ มีเสียงคัดค้านแค่ 2 เสียง แต่มีส.ส.งดออกเสียงถึง 164 เสียง พรรคที่งดออกเสียงคือพรรคสายกลางพรรคหนึ่ง กับพรรคสายอนุรักษนิยมอีกพรรคหนึ่ง

การขาดฉันทามติในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า สังคมยังไม่ตกลงปลงใจกับความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน

ประชาชนกลุ่มหนึ่ง แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลสังคมนิยม ที่จะขุดย้ายกระดูกของฟรานซิสโก ฟรังโก ออกไปจากอนุสรณ์สถาน หุบผาของผู้ดับสูญ (ภาพโดย REUTERS/Javier Barbancho)

ประวัติศาสตร์สเปนฉบับย่อ

สเปนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่สองเมื่อปี 1931 ต่อมาในปี 1936 กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายชนะเลือกตั้ง ฝ่ายขวาพ่ายคะแนนไปฉิวเฉียด นายพลฟรังโกเข้าร่วมกับคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ แต่ไม่สำเร็จ นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายนิยมลัทธิฟาสซิสม์  

การสู้รบจบลงในปี 1939 ด้วยชัยชนะของฝ่ายนายพลฟรังโก เปิดทางให้ฟรังโกปกครองสเปนจนกระทั่งเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 1975 หลังจากมรณกรรม 2 วัน ฮวน คาร์ลอส พระราชนัดดาของกษัตริย์องค์สุดท้ายของสเปนก่อนสถาบันกษัตริย์ถูกยกเลิกเมื่อปี 1931 ได้ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน

ภายใต้การปกครองนาน 36 ปีของฟรังโก มีการสังหารปรปักษ์ทางการเมืองมากมาย มีทั้งพลพรรคคอมมิวนิสต์ อนาธิปไตย ไปจนถึงเสรีประชาธิปไตย จำนวนผู้ถูกสังหารไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ประมาณกันว่าราว 15,000-50,000 คน

อนุสรณ์ของอะไร

ระบอบฟรังโกสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นด้วยการบังคับใช้แรงงานนักโทษการเมืองเมื่อช่วงปี 1940-1959 ภายในสุสานมีเพียงหลุมศพของฟรังโก กับโฮเซ อันโตนิโอ พริโม ผู้ก่อตั้งขบวนการฟาสต์ซิสต์ที่สนับสนุนฟรังโกเท่านั้นที่ปรากฏนามบนป้ายสุสาน นอกนั้นล้วนเป็นหลุมศพไม่มีชื่อ มีเพียงรายนามผู้วายชนม์บนแผ่นจารึกรวม

การใช้แรงงานบังคับในการก่อสร้าง และการวางหลุมศพของฟรังโกในตำแหน่งโดดเด่น ใกล้กับแท่นบูชาของโบสถ์ ซึ่งสื่อถึงการยกย่องเชิดชู เป็นประเด็นที่ญาติของผู้วายชนม์และนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยไม่อาจยอมรับได้

สุสานฟรังโกจัดพิธีรำลึกครบรอบมรณกรรมของเขาเป็นประจำทุกปี พิธีนี้เพิ่งยกเลิกหลังจากรัฐบาลสังคมนิยมของนายกรัฐมนตรี โฮเซ ลูอิส โรดริเกซ ซาปาเตโร ออกกฎหมายสั่งให้ยุติการสดุดีเขาเมื่อปี 2007 พร้อมกับสั่งให้ขจัดสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับฟรังโกออกจากอาคารรัฐบาลและพื้นที่สาธารณะ

ประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนข้อเสนอของรัฐบาลสังคมนิยม ที่จะขุดย้ายกระดูกของฟรานซิสโก ฟรังโก ออกไปจากอนุสรณ์สถาน หุบผาของผู้ดับสูญ (ภาพโดย REUTERS/Susana Vera)

 

ฝ่ายซ้ายวิจารณ์ว่า การสร้างและออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการมีอนุสาวรีย์สำหรับสรรเสริญฮิตเลอร์ รัฐบาลสังคมนิยมของนายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชส ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน จึงถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องรื้อย้ายสุสานของฟรังโก

ทันทีที่สภาลงมติผ่านกฎหมายดังกล่าว ซานเชสทวีตข้อความว่า “ความยุติธรรม ความทรงจำ เกียรติภูมิ สเปนในวันนี้ก้าวย่างครั้งประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยของเราได้รุดหน้าไป”

รำลึกอย่างไรดี

เวลานี้ การขุดกระดูกของฟรังโกยังไม่มีจุดสรุป เพราะวงศ์วานว่านเครือของเขายังไม่ยอมรับการย้าย รัฐบาลบอกว่า ถ้าญาติไม่หาที่ฝังใหม่ ทางรัฐบาลจะเป็นฝ่ายหาให้เอง โดยจะขุดหลุมศพภายในสิ้นปีนี้

รองนายกรัฐมนตรี คาร์เมน คาลโว อภิปรายในสภาเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เป็นเรื่อง ‘วิตถาร’ ที่สุสานของรัฐเทิดทูนเผด็จการ ตราบเท่าที่ร่างของฟรังโกยังอยู่ในที่เดียวกับคนที่ตกเป็นเหยื่อของเผด็จการ ตราบนั้นจะไม่มีความเคารพ ไม่มีเกียรติยศ ไม่มีความสมานฉันท์ ดังนั้น ซากศพของฟรังโกต้องย้ายออกไป

รองนายกรัฐมนตรี คาร์เมน คาลโว (ภาพโดย REUTERS/Sergio Perez)

หากมีการย้ายในที่สุด อนุสรณ์สถานแห่งนี้ควรคงอยู่ต่อไปในรูปแบบใด เป็นอีกประเด็นที่ต้องหาข้อยุติเช่นกัน บางไอเดียเสนอให้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วจัดแสดงเนื้อหาที่ส่งเสริมความปรองดองและการรำลึกถึงบทเรียนจากอดีต เป็นการ “ให้ความหมายใหม่” แก่อนุสรณ์สถาน

ประชาธิปไตยในสเปนกำลังเริ่มลงหลักปักฐาน บนเส้นทางเปลี่ยนผ่านนี้ สังคมย่อมต้องหาทางรอมชอมความเห็นต่าง การเมืองเรื่องอนุสรณ์สถาน ผ่านกรณีหลุมศพฟรังโก คือ บททดสอบการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

 

อ้างอิง:

ภาพเปิดโดย OSCAR DEL POZO / AFP

Tags: , , , ,