เป็นอีกเรื่องอื้อฉาวของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ เมื่อ ยาง เยวอน (Yang Ye-Won) ยูทูบเบอร์สาวออกมาเผยว่าเธอเคยถูกสตูดิโอแห่งหนึ่งหลอกให้ถ่ายนู้ด ทั้งยังถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายกว่า 20 คนตลอดการถ่ายทำ
แต่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Money Today ได้เผยแพร่ข้อความแชทจากเมื่อปี 2015 ที่ยาง เยวอนติดต่อกับทางสตูดิโอ ซึ่งระบุว่าเธอยินยอมที่จะถ่ายนู้ด ทั้งยังเป็นฝ่ายติดต่อกลับไปเพื่อขอถ่ายเพิ่มใน 2 เดือนให้หลัง ซึ่งชาวเน็ตตีความว่า นั่นอาจหมายถึงไม่ได้มีการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น หรือหากมี ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความยินยอมของเธอเช่นกัน
ก่อนที่ข้อความดังกล่าวจะถูกเปิดเผย เรื่องของยาง เยวอน ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในกระแส #Metoo ที่คุกรุ่นในเกาหลีใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักแสดงหญิงอี โซ-ยุน (Lee Soe-Yoon) ออกมาเผยว่าเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับเธอ ชาวเน็ตเกาหลีนับแสนคนได้ร่วมลงชื่อในคำร้องแห่งชาติ ‘Hap Jung XXXX Illigal Nude Filming’ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับกรณีคุกคามทางเพศ หนึ่งในนั้นคือ เบ ซูจี (Bae Su-zy) ไอดอลนักแสดงชื่อดังอดีตสมาชิกวง Miss-A ที่เรียกร้องมาตรการขั้นจริงจังผ่านอินสตาแกรมด้วยข้อความขนาดยาวที่ลงท้ายว่า “มันไม่ใช่เพราะคนเล่าเป็นผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องของเฟมินิสม์ แต่ฉันทำเพื่อความเป็นมนุษย์”
แน่นอนว่าเมื่อความจริงอีกด้านโผล่ขึ้นมาค้านความจริงแรก กระแสก็ตีกลับเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก คอมเมนต์บางส่วนโจมตี ‘เฟมินิสต์’ ว่าล่าแม่มดกันจนทำให้สังคมวุ่นว่าย ฝ่ายเบ ซูจีซึ่งถูกสตูดิโอฟ้องกลับ ก็ได้ออกมาขอโทษเป็นที่เรียบร้อย
ไม่ว่าครั้งนี้ความจริงจะออกมาเป็นด้านไหน แต่ปัญหาการคุกคามทางเพศในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ ก็เป็นเรื่องที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาช้านาน และตลอดครึ่งปีที่ผ่านมาก็มีหลายเหตุการณ์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณีของผู้กำกับชื่อดัง คิม คี-ดุ๊ก (Kim Ki-duk) ที่ถูกแฉว่าคุกคามทางเพศนักแสดง หรือนักแสดงอี โซ-วอน ที่ทั้งคุกคามและข่มขู่นักแสดงสาวคนหนึ่งด้วยมีด ก็ได้ถูกปลดจากละครทันที หรือกรณีของนักแสดง โจ มิน-กี ที่ถูกเผยว่าคุกคามทางเพศนักศึกษาอย่างน้อย 8 คน เรื่องจบลงที่เขาฆ่าตัวตาย
ขณะเดียวกันเชื่อว่ายังมีผู้หญิงอีกมากที่ถูกคุกคามหรือกระทั่งล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ได้ออกมาเปิดเผย ซึ่งหากเรื่องแดงขึ้นมา ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งกรณีล่าสุดของยาง เยวอน ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่อันฝังรากลึกของเกาหลีใต้ ท่ามกลางความจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ หลายครั้งเหยื่ออาจกลายเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์ แต่อีกหลายครั้งเหยื่อก็ถูกปฏิเสธที่จะได้รับความยุติธรรมเช่นกัน ยังไม่รวมถึง ‘กระแสชังเฟมินิสต์’ ในเกาหลีใต้ที่เป็นคลื่นใต้น้ำ จนทำให้เกิดช่องว่างที่คนพร้อมจะ ‘ไม่เชื่อ’ เสียงเรียกร้องจากฝ่ายหญิง และนั่นไม่ใช่แค่เรื่องน่ากลัวสำหรับสังคมเกาหลีใต้ แต่ในไทยเราเองก็ด้วย
อ้างอิง
http://www.bbc.com/news/world-asia-43534074