คนทั่วไปจะรู้แค่ว่าเขาเป็นสามีของนางเอกดาวค้างฟ้า คนวงในอีกหน่อยจะรู้ว่าเขาเป็นอดีตนักเรียนนอกที่มาแรงในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คนติดตามข่าวสารบ้านเมืองจะรู้ว่าเขาเป็นคนหนุ่มเลือดใหม่ที่กล้าแสดงความคิดอ่านในประเด็นที่คนส่วนใหญ่ได้แต่เก็บงำ แต่ในทุกบทบาทที่ว่ามาก็ดูห่างไกลจากสิ่งที่เขาทุ่มเทอยู่ในวันนี้
สงกรานต์ กระจ่างเนตร หรือ บี่บี๋ ผันตัวมาลุยธุรกิจเกษตรกรรมและปศุสัตว์ปลอดสารในนามของ ‘สิรินทร์ฟาร์ม’ กับที่ดินกว่า 50 ไร่ที่เชียงราย ผ่านการลองผิดลองถูก กับนาข้าว กับเล้าหมู เล้าไก่ และถังหมักปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์… แน่นอนว่ามันชวนให้หลายคนเกิดคำถาม
ทำได้จริงหรือ? ทำเองจริงหรือ? และ… จะรอดหรือ?
คำถามสุดท้าย ‘จะรอดหรือ?’ เราตอบเองได้จากยอดออร์เดอร์ผลิตภัณฑ์ของ ‘สิรินทร์ฟาร์ม’ ที่มีวางจำหน่ายในเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ซูเปอร์มาร์เก็ตไฮเอนด์อย่างวิลล่า ร้านโจ สโลนส์ และบรรดาร้านขายเนื้อพรีเมี่ยม ไก่ปลอดสารของเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นเมนูไก่ย่างอัลมาโตเน่ เมนูซิกเนเจอร์ของร้าน Jamie’s Italian กรุงเทพฯ…เราเชื่อว่าเขารอด และรอดเป็นอย่างดีด้วย
ส่วนสองคำถามแรกเราจะไปหาคำตอบจากเขา
จากดีเวลลอปเปอร์ คุณผันตัวเองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ความจริงก็ไม่ค่อยห่างเท่าไรนะครับ เพราะผมมองว่าตัวเองยังคงเป็นนักธุรกิจ และผมพยายามจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าการทำเกษตรกรรมก็เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ ถ้าเราทำเกษตรแบบยั่งยืนจริงๆ มันจะต้องเป็นธุรกิจที่เลี้ยงดูตัวเองได้ โครงการอะไรก็แล้วแต่ จะมีอุดมการณ์ดี มีแนวคิดน่ายกย่องแค่ไหน ถ้าธุรกิจมันอยู่รอดด้วยตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องนับว่ามันไม่ยั่งยืนถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของการทำสิรินทร์ฟาร์มคือผมต้องการให้ลูกๆ ได้กินผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสาร ‘จริงๆ’ และต้องให้มันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ผมก็เริ่มศึกษาว่าจะเลี้ยงสัตว์แบบไหน ทำฟาร์มแบบไหน ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะต้องใหญ่โตจริงจังอะไร อยากให้เป็น hobby ที่ได้ประโยชน์กับลูกๆ
ผมเริ่มจากหาที่ดินในดวงใจก่อน เราอยากให้มันติดน้ำ เราก็ไปได้ที่ในตำบลขุนกรณ์ ต้นน้ำของเราคือน้ำตกขุนกรณ์ พอเราได้ที่มาก็ดูซิว่ามันเหมาะกับการทำเกษตรหรือเปล่า แล้วก็เริ่มศึกษามาเรื่อยๆ จากทำสนุกๆ ให้ครอบครัวตัวเอง มันก็กลายพันธุ์ไปเป็นธุรกิจเพื่อให้ครอบครัวอื่นเขาบริโภคได้ด้วย ผมศึกษาและเริ่มพัฒนาไปจนถึงจุดว่า โอเค อันนี้มันเป็นธุรกิจแล้วล่ะ ขั้นต่อไปก็คือดูซิว่าเราสามารถปรับโครงสร้างมันอย่างไรเพื่อให้มันเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะตรงนั้นสำคัญที่สุด
นานแค่ไหนจากวันแรกที่ซื้อที่ดิน จนสามารถพัฒนาให้มันเป็นฟาร์มที่ยั่งยืนได้
ผมซื้อที่มาเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้วครับ ตอนนี้การทำฟาร์มปลอดสารเป็นเรื่องฮิต คนเริ่มทำกันเยอะ แต่สมัยโน้นยังไม่ค่อยมีคนทำมากอย่างนี้ มันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะไปหาคำปรึกษาอะไรง่ายๆ ผมต้องเปิดตำรา ลองผิดลองถูกเองเยอะมาก พันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงก็ไม่ค่อยเหมือนคนอื่น หมูพันธุ์แบบคุโรบูตะ วัวเราเลี้ยงแองกัส นำเข้ามาจากเมืองนอกหมด เลี้ยงไก่ไม่รู้กี่ชนิด ไก่ประดู่ดำ ไก่ Rhode Island Red เรียกได้ว่า 4-5 ปีแรกอยู่ในขั้นทดลอง เสียจนไม่รู้จะเสียยังไงแล้ว การเรียนรู้บางเรื่องก็แพงเหมือนกัน อย่างเลี้ยงเป็ด ตอนแรกก็เลี้ยงเป็ดแบบ free range ให้วิ่งให้ว่ายในลำธาร มองแล้วสวยมากเลย เป็ดมันก็มีความสุข ขยายพันธุ์ได้เป็น 70-80 ตัว พอตอนกลางคืนหมาจรจัดบุกมา ทีเดียวหมดเลยทั้งเล้า หรือหมูที่เลี้ยงแบบธรรมชาติจริงๆ เกิดมาคอกหนึ่ง 15 ตัว แม่ทับตายไปบ้างก็มี เรื่องพวกนี้ก็เป็นความสูญเสียที่เราต้องทำใจ
ชีวิตเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลยไหม เพราะคุณเกิดที่อเมริกา เรียนอังกฤษ กลับไทยก็เป็นนักธุรกิจ วันนี้มาเลี้ยงไก่อยู่เชียงราย
ผมเลี้ยงไก่มาตั้งแต่เด็กนะ (หัวเราะ) ตอนอยู่อังกฤษ ผมก็อยู่ต่างจังหวัดของอังกฤษนะ การใช้ชีวิตต่างจังหวัดที่อังกฤษนี่แหละทำให้ผมหลงรักบ้านนอก พอกลับมาเมืองไทยก็รู้สึกคิดถึง เหมือนเป็นแรงดึงดูดอะไรก็ไม่รู้ พอเห็นต่างจังหวัด เห็นเกาะ เห็นทะเล เห็นนา มันก็เหมือนมีแม่เหล็กดูดเราเข้าไปตรงนั้น ผมเห็นเมืองแล้วมัน…(ส่ายหัว) พอมาทำโรงแรมที่ไทยก็เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยเพราะอสังหาฯ อยู่ที่ต่างจังหวัด ผมเคยคิดเรื่องนี้เหมือนกันว่า เอ๊ะ ทำไมจากอสังหาฯ แล้วมาทำเกษตร จริง ๆ แล้วสิ่งที่มันเหมือนกันคือสายการพัฒนาคนครับ
ยกตัวอย่างโรงแรม ใครก็สร้างตึกสร้างอาคารได้ ไม่ยากหรอก ฟาร์มใครก็สร้างได้ สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่เลี้ยงไข่ แต่คนนี่สำคัญที่สุด ตอนทำโรงแรมเราใช้คนที่มาจาก local เสียส่วนใหญ่ มาพัฒนาเขา ฝึกเขา มันก็คล้าย ๆ กับเกษตรนี่แหละ ถ้าเราพัฒนาคนท้องถิ่นให้เข้าใจในสิ่งที่เราทำได้ ความสำเร็จจะไม่ไกลแล้ว วันนี้ผมถือว่ายังไม่สำเร็จนะครับ
ผมพยายามจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าการทำเกษตรกรรมก็เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ ถ้าเราทำเกษตรแบบยั่งยืนจริงๆ มันจะต้องเป็นธุรกิจที่เลี้ยงดูตัวเองได้
ชาวบ้านเองเขามี Know–How การทำเกษตรที่ทำมาแต่บรรพบุรุษ แต่แนวทางของคุณต่างจากเขาอย่างไร และคุณไปศึกษามาจากไหน
ผมใช้แนวทางการฟาร์มแบบเกาหลี ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากไหน อ่านหนังสือเอานี่แหละครับ มันคือ Sustainable Farm ที่ออกแบบมาให้ไม่มีของเสียเลย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Zero Waste ระบบที่ฟาร์มของเราก็คือเราเลี้ยงสัตว์ในชั้นแกลบข้าว เรียกว่า Deep Bedding System เป็นชั้นแกลบข้าวหนา ๆ พอสัตว์ถ่าย มูลของมันก็ตกลงไปในแกลบข้าว ซึ่งเราจะราดน้ำอีเอ็มให้มันย่อยสลายมูลสัตว์ให้เป็นปุ๋ย เราไม่ต้องล้างคอก ปุ๋ยที่เราได้มาเราก็เอาไปเลี้ยงกล้วย เลี้ยงนาข้าว เลี้ยงข้าวโพด ซึ่งสุดท้ายก็นำกลับมาหมักทำเป็นอาหารเลี้ยงสัตว มันก็จะเป็นวงจรอย่างนี้ ไม่มีของเสีย ไม่ต้องบำบัดน้ำเสีย
ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะทำได้หรือไม่ได้ แต่ผมศึกษาแล้วรู้สึกว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืน ของไทยเองก็มีหลักสูตรอันหนึ่งของอาจารย์สุพจน์ สิงโตศรี ที่ราชบุรี เขาเป็นคนแรกในเมืองไทยที่ทำอะไรที่คล้ายๆ กับที่ผมอยากทำ เรียกว่าหมูหลุม หลักการคล้ายกัน
แปลว่าการปศุสัตว์ส่วนใหญ่ไม่ได้เอาของเสียมาใช้เลยหรือ
ถ้าเป็นการเลี้ยงหมูแบบขนาดใหญ่เป็นโรงงาน มันเอามาใช้ได้ครับ แต่ต้องเอาไปบำบัดก่อนไง เพราะเขาไม่ได้ใช้ bedding แบบที่ผมใช้ เขาเลี้ยงหมูบนปูน มันก็ถ่ายบนปูน เพราะฉะนั้นจะเหม็นมาก ต้องมีคนมาล้างทุกวัน มูลหมูที่ได้ก็ต้องเอาเข้ากระบวนการบำบัดก่อน ในแง่ของสุขอนามัยมันไม่ค่อยดีเท่าไร แต่สูตรผมคือมันถ่ายใน bedding นี้เลย และมีน้ำย่อยสลายอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นพอสัก 3 เดือน หมูออกจากคอก เราก็ไปตัก สิ่งที่ตักออกมาได้คือปุ๋ยเลยนะ เอาไปใช้ได้เลย เพราะฉะนั้นมันจะไม่เหม็นเหมือนมูล เพราะมันกลายเป็นปุ๋ยแล้ว คอกหมูผมก็ไม่เหม็น คนไปเขาก็ยังงงเลย ผมให้ไปยืนข้างๆ หมูแล้วปิดตา บอกได้กลิ่นอะไรไหม เขาบอกไม่ได้กลิ่น เข้าฟาร์มเข้าที่ไหนแล้วมีกลิ่นเหม็น แปลว่าอันนั้นไม่ดี เราเหม็น หมูเองมันก็ไม่อยากอยู่แบบนั้นหรอก เพราะฉะนั้นกลิ่นเป็นตัวบ่งชี้ให้รู้ว่ามีสิ่งผิดปกติ
เจอความขัดแย้งระหว่างแนวทางของคุณกับชาวบ้านบ้างไหม
จริงๆ ความรู้ของชาวบ้านไม่ใช่จะผิดนะครับ เกษตรกรไทยนี่มีความสามารถมาก สิ่งที่เขาขาดคือทิศทาง ตอนแรกผมถึงต้องทำเองก่อน เพราะต้องรู้ว่าผสมอย่างไร ต้องใช้สูตรอย่างไร อาหารต้องมีแบบไหน ผมให้ทิศทางเขา ให้กรอบในการทำงานให้กับเขา ทำการตลาดให้เขา ทำเรื่อง pricing ทำ branding อะไรพวกนี้เกษตรกรเขาไม่รู้ แต่เขารู้เรื่องเลี้ยงสัตว์ดี เก่งด้วย แต่ชาวบ้านจะมีความเคยชินกับนิสัย ‘ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้’ ตอนแรกเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าเราต้องเป๊ะขนาดนั้น เขารู้ว่าที่ถูกควรทำยังไง แต่ด้วยความชิน ชาวบ้านอาจจะทำให้ถูกสัก 90 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าดีพอแล้ว แต่สำหรับผมมันไม่ได้ ต้องทำให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย เพราะไอ้ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่ 2 เปอร์เซ็นต์ที่ขาดไปนี่แหละ สุดท้ายมันเป็นตัววัดแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ ‘พอใช้ได้’ กับผลิตภัณฑ์ที่ ‘สุดยอด’ เพราะฉะนั้นถ้าอยากขายได้ราคาที่สุดยอด คุณต้องมีผลิตภัณฑ์ที่สุดยอด ไม่อย่างนั้นคุณก็จะได้แค่ราคาที่พอใช้ได้ เหมือนกับคนอื่น ความสุดยอดจึงหมายถึงคุณต้องทั้งรักษาคุณภาพได้แบบยั่งยืน ต้องได้ราคาที่ดี สินค้าคุณต้องมี story แล้วสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจ แต่ก่อนจะมาถึงขั้นตอนสื่อสาร เราต้องทำให้สินค้าของเราสุดยอดให้ได้ก่อน
สินค้าคุณต้องมี story แล้วสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจ แต่ก่อนจะมาถึงขั้นตอนสื่อสาร เราต้องทำให้สินค้าของเราสุดยอดให้ได้ก่อน
บางคนอาจจะรู้สึกว่าไข่ก็คือไข่เหมือนกัน ไก่จะ Free Range หรือไม่ ก็ไม่ต่างขนาดนั้น คุณคิดอย่างไร
มันคนละเรื่องเลยครับ เอาเป็นว่าไม่พูดถึงรสชาติว่าอร่อยกว่ากันยังไงนะครับ แต่ไก่หรืออะไรที่เลี้ยงแบบธรรมชาติกับเลี้ยงระบบโรงงานแออัด คือผมไม่ได้ไปว่าอะไรเขานะ ผมเข้าใจธุรกิจ แต่การเลี้ยงแบบมีแสงแดด ได้รับอากาศแบบธรรมชาติ ได้มีพื้นที่เดินเล่น มันทำให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี และสัตว์สุขภาพดีทำให้เราไม่ค่อยต้องใช้ยาอะไรมาช่วยมัน เพราะมันจะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ ยาหรือเคมีที่สะสมในตัวสัตว์ก็ไม่มี เนื้อหรือไข่ก็จะปลอดสารจริงๆ
เวลาเราจะพูดว่าอะไรที่เป็นออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ มันต้องผ่านการตรวจสอบแล้วมีองค์กรรับรองถูกไหม
ใช่ครับ อย่างของผม ใน label ของไข่ที่สิรินทร์ฟาร์มเรายังไม่ได้ใช้คำว่าออร์แกนิกเลย เราใช้พาสเจอไรซ์ กระทั่งตอนนี้เราก็กำลังอยู่ขั้นตอนการขออนุญาต Organic Certificate จากกรมปศุสัตว์ ได้มาเมื่อไรถึงจะใช้ เราเริ่มเข้ากระบวนการตรวจสอบแล้วครับ กำลังรอสร้างโรงพักไข่ให้เสร็จ แล้วเขาก็จะมาตรวจอีกทีหนึ่ง การตรวจสอบทำปีละหลายครั้ง และใบอนุญาตที่ได้ก็มีอายุแค่ 3 ปีเท่านั้น ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็ถูกริบคืน ขั้นตอนจริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่คุณไปดูในตลาดสิ โอ้โห ออร์แกนิกเต็มไปหมดเลย เผอิญกฎหมายไทยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้มากนัก ใครอยากใช้ก็ใช้ได้ ใครจะพูดอะไรก็พูดไป แต่ผมพยายามจะเข้ากระบวนการที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งผมก็เข้าใจนะบางขั้นตอนมันก็ลำบากไปสำหรับเกษตรกร บางขั้นตอนอาจไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ค่อย practical เพราะฉะนั้นอันไหนที่คิดว่าเราทำได้เราก็ทำ
อีกเรื่องที่ผมว่าสำคัญมากคือเรื่องของ Animal Welfare ซึ่งในเมืองไทยยังตื่นตัวเรื่องนี้น้อย ถ้าไปดูต่างประเทศเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คนเขาอยากจะกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงแบบมี Animal Welfare ถามว่าสำคัญไหม ผมว่าสำคัญ ไม่รู้นะ บางคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ว่าสำหรับผม ผมก็อยากจะให้ลูกผมได้กินเนื้อของสัตว์ที่ตอนมันยังมีชีวิตอยู่ มันได้อยู่อย่างมีความสุขในแบบของมัน ไม่ต้องทุกข์ทรมาน
ผมว่าสำคัญมากคือเรื่องของ Animal Welfare ซึ่งในเมืองไทยยังตื่นตัวเรื่องนี้น้อย ถ้าไปดูต่างประเทศเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก คนเขาอยากจะกินเนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงแบบมี Animal Welfare
อย่างนี้ก็ต้องไม่คิดจะเลี้ยงห่านทำฟัวกราส์?
(หัวเราะ) ผมอาจจะอยากกินฟัวกราส์อยู่ ยอมรับว่ามันอร่อย แต่ถ้าให้ผลิตอะไรที่ต้องทรมานสัตว์ขนาดนั้น ผมคงไม่ทำ ไม่ไหวจริงๆ ฉะนั้นสิรินทร์ฟาร์มคงจะเดินต่อไปในทิศทางการเลี้ยงสัตว์แบบมี Animal Welfare สูงที่สุดที่จะสูงได้ครับ เอาอย่างนี้แล้วกัน
ตอนนี้สิรินทร์ฟาร์ม นอกจากเด่นเรื่องเนื้อสัตว์แล้วยังมีอะไรอีก
ข้าวครับ ปลูกข้าวอยู่ แล้วก็เรากำลังทำโรงงานแปรรูปของเราเอง ทำพวกไส้กรอก กุนเชียง แฮม ทำได้หมด พวกอาหารสำเร็จรูป หรือที่เรียกว่าอาหารไมโครเวฟก็ทำได้ อันนี้ผมปรับเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเลย เพราะเขาอยากได้กินอาหารที่ดี ปลอดสาร แต่คนเมืองไม่ค่อยมีเวลาทำเอง หรือไม่ก็ทำอาหารไม่เป็น พอเราทำโรงงานแปรรูปเสร็จ พูดได้ว่าเราจะเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่แปรรูปอาหารโดยเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบนั้นเองตั้งแต่แรก คนขายไส้กรอกปลอดสารมีเยอะ แต่ถามว่าเขารู้จริงไหมว่ามันปลอดสาร เขาไม่รู้หรอก เนื้อสัตว์เขาก็ซื้อมาเพื่อมาแปรรูป แต่สิรินทร์ฟาร์มจะเป็นทั้งคนทำไส้กรอก แล้วก็เลี้ยงหมูที่เข้าไปอยู่ในไส้กรอกนั้นด้วย เราจะใช้แต่เนื้อจากสัตว์ที่เราเลี้ยงเอง ไม่มีจากที่อื่นเลย เป็นอีกสเต็ปที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์เกรดเอจริงๆ และรับประกันความปลอดภัยได้จริง
ก่อนหน้านั้นที่ยังลองผิดลองถูก เคยมีคิดท้อไหม แล้วให้รางวัลตัวเองยังไง
ท้อแท้พูดตรงๆ มันก็มี แต่แป๊บเดียว ผมเป็นคนสงสารตัวเองแป๊บเดียว เพราะช่วงเวลาที่ดีมันเยอะกว่า การทำฟาร์มมันเป็น reward ในตัวมันเองอยู่แล้ว อธิบายไม่ถูกนะ เมื่อก่อนผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่มาที่ไปของแต่ละอย่างมันคืออะไร เมื่อก่อนเรากินข้าว ข้าวก็คือข้าว มันเป็นของธรรมดาที่ทุกคนมองข้าม แต่พอผมไปเห็นว่า…โอ้โฮ กว่าจะได้มาซึ่งข้าว กระบวนการมันแบบ…แล้วทำไมราคามันถูกอย่างนี้วะ มันไม่น่าเชื่อ ไข่ฟองหนึ่ง มาขายกันเหมือนของไม่มีราคา ไข่เราก็นับว่าแพงนะฮะ แต่ผมยังอยากบอกผู้บริโภคว่าไปดูเถอะว่ากว่าจะได้มาฟองหนึ่งเนี่ยมันยากแค่ไหน ตอนนี้พอทำเกษตรเอง ผมเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว พอเห็นลูกกินข้าวมันไก่ที่เราเลี้ยงเอง มันภูมิใจ ทั้งสำหรับในฐานะเกษตรกร และฐานะคุณพ่อ
ถามตรงๆ คุณและภรรยาเป็นคนมีชื่อเสียง ต้องนับว่ามีต้นทุนทางสังคม พอพูดว่าเราทำฟาร์ม มันก็มีคนหันมาให้ความสนใจมาก ก็ช่วยธุรกิจได้ใช่ไหมคะ
ช่วยได้ครับ อันนี้ต้องยอมรับ เราจะกระจายเครือข่ายการตลาดอะไรพวกนี้ พอมีแหม่ม (คัทลียา กระจ่างเนตร) มันก็ช่วยอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นดาบสองคม เพราะผมพูดกับคนที่ฟาร์มเสมอว่า พอผมจะทำฟาร์ม ผมไม่เคยขอคะแนนสงสารเยอะแยะ หมายถึงการทำฟาร์มแบบให้ทุกคนอยากซื้อของของเราเพราะสงสารชาวไร่ชาวนา พวกเขาน่าสงสารอยู่แล้ว แต่ถ้าจะทำให้ยั่งยืน เราพึ่งคะแนนสงสารไม่ได้ มันต้องเป็นของที่ผู้บริโภคซื้อเพราะว่ามันดีที่สุด ไม่ใช่สงสารมากที่สุด ความสงสารมันอยู่ได้แป๊บเดียว เพราะฉะนั้นผมจ้างคนเชียงรายก็จริง แต่เวลาจะสื่อสารอะไรกับตลาด ก็จะบอกเสมอว่าอย่าไปเน้นว่าให้เห็นแก่คนเชียงรายอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ใช่น่ะ
สิ่งที่ผมเสียใจนิดหนึ่งนะในการทำฟาร์ม ผมเสียใจว่าไม่ค่อยมีโอกาสให้คนเชียงรายเองได้บริโภคผลิตภัณฑ์ของสิรินทร์ฟาร์ม อันนี้เป็นจุดที่ผมรู้สึกขัดกับตัวเองนิดหน่อย เพราะว่าผลิตภัณฑ์ของเราทำที่นั่น แต่ส่งขายกรุงเทพฯ เป็นแบบ high-end หมด ไข่เราก็แพงที่สุด ไก่เราก็แพงที่สุด เพราะว่ามันเป็นของที่ดีที่สุด ชาวบ้านที่เชียงรายเองก็จะเอื้อมไม่ค่อยถึงราคานี้ เป็นจุดที่ผมพยายามจะแก้อยู่นะครับ แต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร
เปิด outlet ไงคะ
ที่ทำตอนนี้ก็คือไข่ครับ ฟองที่ขนาดเข้ากล่องไม่ได้ เราก็จะขายถูกๆ ให้ชาวบ้าน เขารู้กัน เขาก็จะมารับทุกวัน มีอะไรราคาถูกบ้าง อันนี้ก็เป็นจุดอาจจะแก้ขัดได้บ้าง แต่ก็ยัง…นะ ถ้าฟาร์มจะอยู่รอดก็ต้องมีกำไร เนื่องจากต้นทุนในการเลี้ยงแบบอินทรีย์มันสูงมาก ถ้าเราขายถูกเนี่ยเราก็ไม่มีกำไร เราก็ไม่ยั่งยืน เราอยู่ไม่ได้แน่นอน เป็นจุดที่ทำให้ผมหนักใจนิดหน่อย
ถ้าจะทำให้ยั่งยืน เราพึ่งคะแนนสงสารไม่ได้ มันต้องเป็นของที่ผู้บริโภคซื้อเพราะว่ามันดีที่สุด
ทุกวันนี้คุณบี่บี๋กับครอบครัวไปอยู่ที่นั่นบ่อยไหม
ผมไปประมาณทุกๆ 10 วัน แหม่มกับลูกๆ ก็ไป แต่ยังไปนานไม่ได้เพราะยังไม่มีบ้านอยู่จริงๆ มีแต่กระต๊อบที่ผมใช้นอนตอนไปทำงาน มีห้องน้ำ มี Bunk Beds พอครอบครัวไป เราก็อยู่ด้วยกันในนั้นแหละทั้งห้าคน
คุณปลูกฝังลูกๆ อย่างไรให้รักและอยู่กับธรรมชาติได้
ผมไม่ต้องสอนอะไรเลย เพราะพวกเขาชอบอยู่แล้ว ความจริงคือเด็กชอบการอยู่ธรรมชาติอยู่แล้วนะผมว่า ถ้าให้โอกาสเขาได้สัมผัสธรรมชาติ ผมคิดว่าเด็กน้อยคนมากจะไม่ชอบ ความจริงมันผิดปกติเด็กด้วยซ้ำนะ การเล่น iPhone น่ะ ลูกผมพอพาไปป่าไปทะเล เขาไม่อยากอยู่ในบ้านหรอก อยากแต่จะออกไปอยู่ข้างนอก มันสนุกกว่าเยอะ
คิดไหมว่าอยากให้ลูกสานต่อฟาร์มของเรา
ไม่คิดอย่างนั้นครับ มันเป็นอะไรที่ผมรักผมชอบ ผมชอบทำโรงแรม ชอบทำฟาร์ม แต่ทำไมต้องส่งต่อให้ลูก บางครั้งมันเป็นการยัดเยียดน่ะ เขาอาจจะไม่อยากทำก็ได้ แน่นอนถ้าเขาอยาก มันก็เป็นของเขาอยู่แล้ว แต่ผมไม่ได้คิดว่ายูต้องมาทำรับต่อนะ ไม่อย่างนั้นพ่อจะตายไม่สบายใจ (หัวเราะ) คือไม่ใช่ไง เขาอาจจะอยากเป็นหมอก็ได้ หรือเขาอาจจะอยากเป็นพิธีกร หรือเข้าวงการบันเทิงเหมือนแม่เขาก็ได้ ผมจะไม่ยัดให้ต้องมาทำเกษตร คนทำอะไรแล้วใจไม่รัก มันทำไม่ดีหรอก
Fact Box
สงกรานต์ กระจ่างเนตร เกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เติบโตที่อังกฤษ สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองจากลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิคส์ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียแห่งนิวยอร์ก เป็นเจ้าของกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เมืองไทย และเป็นคนใช้ชีวิตขึ้นเหนือล่องใต้ตัวจริง เพราะดูแลทั้งรีสอร์ต เซเว่น ซีส์ จังหวัดตรัง และสิรินทร์ฟาร์ม จังหวัดเชียงราย ฟาร์มที่เขาตั้งใจให้ปลอดสารพิษและปลอดของเสีย โดยใช้หลักการ Korea Natural Farming ชื่อฟาร์มว่า ‘สิรินทร์’ มาจากชื่อลูกสาวคนสุดท้อง ส่วนลูกอีกสองคน ได้แก่ สิริ ลูกชายคนโต และสยาม ลูกชายคนกลาง
ปัจจุบันสงกรานต์ใช้ชีวิตอยู่กับลูกๆ และภรรยานักแสดง คัทลียา กระจ่างเนตร และนอกจากทำธุรกิจแล้ว เขายังเคยเป็นคอลัมนิสต์รับเชิญแห่งบางกอกโพสต์ ก่อนจะพักเบรกไว้ และรับงานอดิเรกเป็นพ่อครัวประจำบ้านแทน