ในยุคที่ open data หรือข้อมูลเปิดที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลในการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานราชการ กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำงานของรัฐ รวมไปถึงการนำข้อมูลไปต่อยอดเป็นการพัฒนาเมืองทั้งในระดับชาติและในระดับรายย่อย ล่าสุดที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มีการนำเอาเทคโนโลยีในการดูแลเมืองและการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างเป็น open data มาผสมผสานเข้าด้วยกันในโครงการ Songkhla Smart City ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองและคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการใช้เทคโนโลยี ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ไม่ได้ใส่ใจแค่ในเรื่องของข้อมูลและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการสร้าง ‘คน’ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยปัจจุบันได้เริ่มเฟสแรกด้วยการทดลองใช้งานจริงในพื้นที่ ม.อ. เพื่อเป็นต้นแบบ ก่อนจะนำไปขยายผลที่ตัวเมืองหาดใหญ่ในอนาคต
ทำไมคนจึงสำคัญ?
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์กายภาพ ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่ เล่าว่าก่อนจะมาเป็นโครงการ Songkhla Smart City ในวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยเคยพัฒนาโครงการ Phuket Smart City มาก่อนแล้ว ในปี 2556-2561 โดยนอกจากระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ที่แตกต่างกันแล้ว บทเรียนสำคัญที่จะทำให้ข้อมูลซึ่งเป็นมูลค่าของพื้นที่ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่การมีเทคโนโลยีที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดีเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีคนท้องถิ่นที่มีความรู้ความเข้าใจในการนำระบบและข้อมูลไปใช้ในการบริหารและต่อยอดจริงๆ ต่างหาก
“ตอนภูเก็ตเราทำโครงการโดยที่ Hub ใหญ่ของเราอยู่ ม.อ. มันเลยทำให้การสานต่องานของบุคลากรไม่สามารถส่งต่อกันได้มากขนาดนั้น เพราะไม่มีใครจะเข้าใจความต้องการของพื้นที่ได้ดีกว่าคนพื้นที่เอง โครงการในครั้งนี้เลยเริ่มต้นขึ้นในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เป็นที่บ่มเพาะเยาวชนคนสงขลาและจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงมาตลอด เป็นการพัฒนา smart people ควบคู่ไปกับ smart city ซึ่งนอกจากจะทำให้เราได้บุคลากรที่มีความเข้าใจทั้งในระบบและธรรมชาติของพื้นที่จริงๆ ที่จะมาดูแลโครงการอย่างยั่งยืนแล้ว ยังทำให้ตลาดงานเทคโนโลยีในท้องถิ่นกว้างขึ้น ให้นักศึกษาในสายงานนี้สามารถใช้ความสามารถของตัวเองมาพัฒนาบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานไกลถึงกรุงเทพฯ ด้วย”
ผศ. ดร.วรรณรัช กล่าว
Smart Gate
จุดแรกที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้พัฒนาพื้นที่ เริ่มตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าออกทุกจุด ที่มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรและนักศึกษา ผ่านระบบ RFID long range ที่สามารถสแกนชิปจากบัตรประจำตัวของบุคลากรได้ในระยะไกลถึง 10 เมตร ซึ่งทำให้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยในการเข้าออกได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องจอดรถเพื่อแลกบัตรหรือแตะบัตร แต่เพียงแค่ขับผ่านเครื่องก็จะสามารถระบุตัวตนและเปิดประตูด้วยระบบอัตโนมัติได้ทันที
นอกจากนี้เมื่อภายในมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลตั้งอยู่ทำให้มีบุคคลทั่วไปเข้าออกได้ตลอดทั้งวัน นอกจากระบบสแกนบัตรเพื่อบุคลากรภายในแล้ว ระบบจึงออกแบบให้มีกล้องที่จับภาพของป้ายทะเบียนรถ, รุ่นของรถ, หน้าตาคนขับ, สีและลักษณะของรถ จากหลากหลายมุมมองเพื่อบันทึกการเข้าออกในแต่ละวันสำหรับช่วยในการติดตามคนร้าย โดยหากเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งลักษณะของรถ บุคคล หรือป้ายทะเบียนต้องสงสัยมาที่มหาวิทยาลัย ระบบก็จะสามารถแกะรอยและแจ้งเตือนทันทีที่มีรถซึ่งตรงกับข้อมูลนั้นผ่านเข้าออกได้อีกด้วย (real-time analytic and warning system)
Smart Mobility
เมื่อผ่านเข้าประตูมาได้อย่างปลอดภัยแล้ว เราก็ขึ้นรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเดินทางไปยังจุดต่างๆ กันต่อ โดยรถที่เรานั่งเป็นรถโดยสาร EV ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าแทนน้ำมัน เพื่อลดมลพิษและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 คัน 3 สาย ทั่วมหาวิทยาลัย คือสายสีเขียว แดง และเหลือง โดยทุกคันมีการติดตั้งระบบ bus tracking ที่สามารถแสดงตำแหน่งของรถโดยสาร EV ขึ้นบนแอปพลิเคชัน เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถทราบเวลาของรถที่จะมาถึงจุดจอดได้แบบเรียลไทม์ และขณะนั่งอยู่บนรถก็สามารถระบุเวลาที่จะไปถึงป้ายต่อไปและถึงที่หมาย
Smart Farming
อีกจุดที่น่าสนใจก็คือระบบ Smart Farming ที่ทางโครงการทำงานร่วมกับคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในพื้นที่และนักศึกษาวิชาเกษตร ที่เน้นการนำกลับไปทำงานได้จริง โดยความพิเศษที่ทำให้ Smart Farming แห่งนี้แตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาคิดค้นสูตรที่จะทำให้การเพาะเลี้ยงผลไม้สามารถกำหนดผลลัพท์เพื่อการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้อย่างแม่นยำ คือไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและย่นระยะเวลาหรือแรงให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ทำให้ผลผลิตที่ออกมาสามารถควบคุม รสชาติ ขนาด น้ำหนัก ความกรอบ ความสด อายุ ได้อย่างสม่ำเสมอ
ฟาร์มตัวอย่างเลือกใช้ผลเมลอน มาเข้าเครื่องบันทึกน้ำหนัก โดยเครื่องจะส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบทุกวัน วันละสองครั้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปจัดการธาตุอาหาร ทดลองเพิ่มลดโปรตีน โพแทสเซียม และธาตุต่างๆ ด้วยการดูจากกราฟน้ำหนัก นอกจากนี้ระบบ smart farm ยังทำให้เราสามารถออกแบบผลไม้แบบ personal life food หรือผลไม้ที่เหมาะกับช่วงวัย อายุ และลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน เช่น รสชาติหวานน้อยเพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือรสชาติหวานฉ่ำสำหรับคนทั่วไปได้อีกด้วย
ปัจจุบันนอกจากจะมีนักศึกษาเข้ามาทดลองและเรียนรู้ก่อนจะนำไปต่อยอดในธุรกิจหลังเรียนจบ ทางมหาวิทยาลัยยังได้เปิดอบรมความรู้การด้านเกษตรแบบ Smart Farm รุ่นที่ 1 ไปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้กับเกษตรกรจากจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 50 ผู้ประกอบการ เพื่อให้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นสามารถนำไปต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรกับผู้คนได้จริงๆ
นอกจากนี้ภายในมหาวิทยาลัยยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลและพัฒนาวิทยาเขตอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น
Smart Lighting
ระบบเปิดปิดไฟฟ้าภายนอกอาคารที่ออกแบบเพื่อให้สามารถประหยัดพลังงานและสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรได้อย่างเต็มที่ไปพร้อมๆ กัน โดยใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวซึ่งจะทำการเปิด-ปิด รวมถึงหรี่ไฟ ตามการปรากฏตัวของคน นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลทั้งจำนวนคนและการใช้งานในแต่ละช่วงเวลา รวมไปถึงสถานะของหลอดไฟในจุดต่างๆ ว่าดีหรือเสียอย่างไร ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ และต้องเตรียมตัวเปลี่ยนเมื่อไร อีกด้วย จึงทำให้สามารถออกแบบและปรับเปลี่ยนการใช้งานไฟตามกิจกรรมจริงๆ ของผู้ใช้
เช่น จากปกติที่ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาการเปิดไฟตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเช้ามืด ในขณะที่ช่วงเวลาตั้งแต่ตี 2 – ตี 4 แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวของบุคคลเลย ในช่วงกลางคืนที่ไม่มีคนผ่าน ไฟก็จะถูกหรี่ลงอย่างช้าๆ ก่อนจะค่อยดับลง เพื่อประหยัดพลังงาน และในแต่ละช่วงถนนซึ่งความต้องการแสงแตกต่างกัน อย่างหน้าตึกโรงพยาบาลที่มีคนเข้าออกตลอดคืน กับไฟในซอยเล็กๆ รวมถึงในช่วงสอบที่นักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยเพื่ออ่านหนังสือกันนานขึ้น ทางมหาวิทยาลัยก็จะสามารถกำหนดปริมาณการใช้ไฟที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่และช่วงเวลาได้
Smart Pole
เสาไฟอัจฉริยะที่ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นโครงสร้างพื้นฐานบนท้องถนนในอนาคตที่เป็นมากกว่าแค่เครื่องอำนวยความสะดวก แต่ยังเก็บบันทึกข้อมูลพื้นฐานในระยะปฏิบัติการณ์ส่งไปยังห้องควบคุม เพื่อนำไปใช้กับการเฝ้าระวังและดูแลเมืองต่อไปอีกด้วย โดยเสาหนึ่งต้นกินพื้นที่ครอบคลุม 10-20 กิโลเมตร ตามลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย สัญญาณ WiFi, Signage ให้ข้อมูลที่สามารถขึ้นป้ายตามช่วงเวลาและระบบเซนเซอร์ เพื่อให้เหมาะกับผู้ที่ใช้งานในแต่ละช่วงเวลาเช่น บุคคลทั่วไป นักศึกษา สื่อ, กล้องจับภาพ, ระบบรายงานและเก็บข้อมูลความชื้นในอากาศ, สภาพอากาศ, ความดังเสียง, อุณหภูมิ, ความเร็วและทิศทางลม, ค่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังห้องควบคุมแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังเป็นจุดชาร์จรถโดยสาร EV ที่วิ่งในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
Smart Utility
การรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายส่วนภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น Smart gate, Smart lighting และ Smart pole ฯลฯ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลนอกมหาวิทยาลัย เช่น การมอนิเตอร์ปริมาณน้ำฝน ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ประตูระบายน้ำในจุดต่างๆ ของจังหวัด จะถูกส่งข้อมูลมาที่ Intelligent Operating Centre (IoC) หรือศูนย์บัญชาการและควบคุมกลาง และมีห้องเพื่อให้ผู้ดูแลได้เห็นสภาพการทำงานโดยรวมของระบบทั้งหมด ผ่านทั้งภาพวงจรปิด กราฟ และข้อมูลดิบ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่มีไปต่อยอดและพัฒนาเมืองได้อย่างเป็นระบบ
ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง City Data Platform ที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ ประมวลผลสำหรับเมืองในอนาคต และข้อมูลที่เก็บได้มาเปิดเป็น open data ให้ทั้งหน่วยงานรัฐและบุคคลทั่วไปสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาทั้งธุรกิจรายย่อยและพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน เช่น นำไปใช้ในการวางผังเมือง, การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด, การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์, การเฝ้าระวังน้ำท่วม, การออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย, การเฝ้าระวังความปลอดภัย เป็นต้น
และสุดท้ายคือ Smart People
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านอกจากการพัฒนาโครงสร้างเทคโนโลยีร่วมกับซิสโก้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ ม.อ.ให้ความสำคัญก็คือการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมและมีความรู้ความเข้าใจในระบบ Smart City เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการ,เกษตรกร และนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยยังมีสร้างการ Learning Space ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และต่อยอดทางเทคโนโลยี พร้อมอุปกรณ์ที่ครบครัน เช่น 3D Printer, 3D Scanner, Robot ฯลฯ เพื่อให้ทั้งนักศึกษาและผู้ประกอบการสตาร์ตอัปที่สนใจสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนานวัตกรรมของตนเองได้ โดยมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2562 นี้อีกด้วย
ถึงแม้ Smart City จะเป็นโมเดลที่อยู่ในความสนใจของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งพยายามจะนำแนวคิดนี้เข้ามาใช้ในการพัฒนาเมืองตลอดหลายปีจนเกิดเป็นโครงการต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย แต่ปัจจุบันอาจพูดได้ว่ายังไม่มีโครงการไหนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการสร้างเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยซึ่งพื้นที่อื่นๆ จะสามารถหยิบยกไปถอดบทเรียนเพื่อประยุกต์ใช้ได้จริง ครั้งนี้จึงเป็นการลงสนามอย่างจริงจังของ ม.อ. ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้แต่ละเมืองได้เห็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับพัฒนาเมือง โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่าหากโครงการเฟสแรกนี้เข้มแข็งและสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป้าหมายต่อไปของโมเดลนี้จึงเป็นการขยายไปสู่สเกลเมือง โดยเริ่มจากตัวเมืองหาดใหญ่ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับเมืองอื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงต่อไปในอนาคต
น่าสนใจว่าโมเดลการพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ภายในวิทยาเขตซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่จะนำไปสู่การสร้าง Smart People ที่มีทั้งความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและความเข้าใจในพื้นที่ของตนเองควบคู่ไปกับการสร้างเทคโนโลยี แบบที่กำลังเกิดขึ้นกับจังหวัดสงขลาและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะสามารถทำให้โมเดล Smart City เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองในพื้นที่อื่นๆ ได้จริงหรือไม่
Tags: เทคโนโลยี, Smart City, สงขลา