2,648 วัน คือช่วงเวลาที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ถูกจำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 และคดีทางการเมืองอื่นๆ
7 ปี คือช่วงเวลาที่ศาลฎีกาพิพากษาลดโทษคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งขณะนั้น สมยศดำรงตำแหน่งบรรณาธิการ Voice of Taksin ได้เผยแพร่บทความชื่อ ‘คมความคิด’ อันมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
20 วัน คือช่วงเวลาที่เขาถูกจองจำในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, ข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีการชุมนุม ’19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563
73 วัน เป็นอีกครั้งที่เขาถูกพรากอิสรภาพโดยคดีอาญามาตรา 112 อีกครั้ง จากเหตุการณ์ชุมนุม ’19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 4 คน ส่งผลให้สมยศ, ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา และ ‘หมอลำแบงค์’ – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกกุมขังเรื่อยมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว สมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ภายใต้เงื่อนไข ‘ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองทำกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร’
The Momentum จึงนัดพูดคุยกับสมยศอีกครั้ง เพื่อไถ่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบ และความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญในช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำ
“ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแง่ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง เรายังคงปรารถนาอยากเห็นเสรีภาพ ความเท่าเทียม อยากเห็นภาพประชาธิปไตย และจะยังใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนเดิม”
แม้สมยศจะถูกตีกรอบภายใต้เงื่อนไขต่างๆ แต่เขายังคงยืนยันกับเราว่า ไม่มีอะไรที่จะริดรอนเสรีภาพไปจากเขาได้
สมยศเล่าต่อว่า ทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากมันขัดเงื่อนไข หรือความเห็นต่างกับรัฐบาลเมื่อไหร่ ไม่ว่าใครก็อาจถูกดำเนินคดีได้ทุกเมื่อ
หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 สมยศได้ลุกขึ้นแถลงต่อศาลพร้อมกับลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสำนวนคดี ใจความว่า
“คดีนี้คงใช้เวลาพิจารณานาน ผมคงจะสิ้นลมก่อนคดีตัดสิน และหากประชาชนต้องบาดเจ็บ โดนแก๊สน้ำตา โดนกระสุนยาง เพียงเพราะออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผม ท่านก็ประหารชีวิตผมเสียเถอะครับ เพื่อที่ประชาชนจะไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้”
สมยศรู้สึกถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีความแปลกประหลาดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ และศาล
“มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมปกติที่เราเคยเห็น ความแปลกของมันเริ่มตั้งแต่การที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแค่ ม.116 ไม่มี ม.112 ซึ่งอยู่ๆ วันนั้นก็จับกุมและปล่อยตัวเราออกมา เพราะศาลเห็นว่า ม.116 ไม่ใช่คดีที่ต้องกุมขังนาน แต่ภายหลังตำรวจกลับแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มเติมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และในระยะเวลาแค่ 1 เดือน ตำรวจส่งฟ้องอัยการ จากนั้นอัยการใช้เวลาเพียง 5 วัน ส่งฟ้องศาลอาญาทันที”
สมยศตั้งข้อสงสัย 3 ข้อเกี่ยวกับความผิดปกติในการดำเนินคดีครั้งนี้ว่า
1. คดีเหล่านี้ไม่ได้ถูกดำเนินคดีพร้อมกันหมดทุกข้อหา ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะคดีทั่วไปจะสั่งฟ้องพร้อมกันทีเดียว
2. อัยการใช้เวลาเพียง 5 วันในการส่งฟ้อง
3. ไม่ร้องขอให้สอบสวนเพิ่มเติม แม้จะมีการร้องขอให้ฟังความเห็นของนักกฎหมายมาประกอบการพิจารณาหรือสอบพยานเพิ่มเติม แต่ศาลกลับไม่รับฟังและปฏิเสธคำร้องขอการประกันตัว
“มันไม่มีอะไรที่เป็นธรรมกับเราเลย เหมือนเขากำลังทำคดีฝ่ายเดียว กำลังมัดมือชกในขณะที่พวกเราถูกกุมขัง ต่อให้ทำคดีไปสัก 1 ปี ผลลัพธ์ของคดีนี้ก็มีค่าเท่ากันคือเราถูกขัง ดังนั้น พวกคุณจะมาดำเนินคดีทำไมในเมื่อขังแล้ว ยกฟ้องแล้วยังไง ในเมื่อเราติดคุกอยู่แล้ว มันถูกทำลายไปแล้ว การกักขังเราอยู่แบบนี้มันมีความโน้มเอียงว่าศาลจะตัดสินให้เราผิด มากกว่าถูก
“คดีนี้มีคนถูกดำเนินคดีประมาณ 27 คน และใช้เวลายาวนานมากในการตัดสิน ผมจึงแถลงต่อศาลว่า ผมมีอายุมากกว่าเพื่อน คิดว่าจะมีลมหายใจถึงวันนั้นไหมที่จะมาบอกว่าตัวเองบริสุทธิ์ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ขอให้มีการประหารชีวิต ส่วนเหตุผลต่อมาคือ การถูกกักขังทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้
“ผมจะสู้กับอัยการอย่างไร อัยการคือฝ่ายอำนาจรัฐ คือตัวแทนของรัฐบาล เขามีทรัพยากร มีบุคลากร มีเงินเดือน มีเวลา มีความพร้อมที่จะกล่าวหาปรักปรำ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอย่างพวกผมไม่มีอะไรเลย นอกจากกรงขัง กุญแจมือ ดังนั้นจึงคุยกับศาลว่า ผมจะอยู่ไปทำไม จะต่อสู้คดีไปทำไม ในเมื่อยังเป็นเช่นนี้ขอตายดีกว่า
“วันที่ 29 มีนาคม 2564 ศาลและราชทัณฑ์มีมาตรการเข้มงวดเป็นพิเศษ มีการตรวจค้นและไม่อนุญาตให้นำปากกาและสมุดเข้ามาในศาล การกระทำเช่นนี้เป็นการพิจารณาคดีที่สูญเปล่า เพราะพวกเราต้องใช้สมองในการจดจำทั้งประเด็นและพยานทั้งหมด ซึ่งสิ่งนี้เป็นการทำคดีที่มัดมือชก
“มันไม่มีประโยชน์ที่จะมีชีวิตอยู่ในคุกแล้วรอคำว่า ‘ยุติธรรม’ เพราะในขณะที่พวกเราติดคุกมันก็ไม่ยุติธรรมแล้ว แล้วศาลจะใช้คำว่ายุติธรรมกับความไม่เป็นธรรมได้อย่างไร สังคมไทยจะบอกว่านี่คือกระบวนการยุติธรรมเพราะขึ้นศาลแล้วได้อย่างไร ก็ในเมื่อเรายังอยู่ในคุก และการติดคุกมันหมายถึงคุณได้กำหนดโทษไว้เรียบร้อยแล้ว”
สมยศยกตัวอย่างคดีที่ ‘หมอนิ่ม’ – นิธิวดี ภู่เจริญยศ ถูกดำเนินคดีข้อหาจ้างวานฆ่า ‘เอ็กซ์’ – จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม สามีและอดีตนักยิงปืนทีมชาติไทย ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต แต่หมอนิ่มขออุทธรณ์ประกันตัว ศาลก็ให้ประกันตัวมาสู้คดี หรือคดีของแกนนำ กปปส. ที่สุเทพ เทือกสุบรรณและพวกถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้มีความผิด แต่กลับได้รับให้ประกันตัวออกไปต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา
“นี่จึงเป็นเหตุผลให้เพนกวินตะโกนในศาลว่า ทำไม กปปส. ถึงได้ประกันตัว แต่เขากำลังต่อสู้คดีโดยไม่มีความผิด ทำไมถึงไม่ได้ประกัน เราเห็นว่ามันเกินไปแล้วในกระบวนการยุติธรรม เลยเสนอทางที่จะจบชีวิตและลดทอนความเสียหายในคดีนี้
“ผมเชื่อว่าสุดท้ายเราหลีกหนีความจริงไม่พ้น และระบบทางสังคมจะเสียหายอย่างมาก เช่น การรัฐประหารก็ทำให้กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแทรกแซงการเมือง ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งวันนี้ฝ่ายตุลาการกำลังทำเช่นเดียวกันอยู่ ท่านกำลังใช้ต้นทุนที่ตัวเองเคยมีในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเป็นกลาง แต่วันนี้ความยุติธรรมกำลังถูกตั้งคำถาม ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ท่านคิดว่ามันคุ้มค่ากับคดีเหล่านี้แล้วหรือ ผมคิดว่าหากมีความยุติธรรมในการต่อสู้ ก็จะรักษากระบวนการยุติธรรมให้น่าเชื่อถือต่อไปได้
“หากสุดท้ายประชาชนไม่เชื่อในระบบแล้วอะไรจะเกิดขึ้น นั่นคือความรุนแรงในอนาคต คือความขัดแย้งในอนาคต จากความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพ ก็จะขยับเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับตุลาการ ซึ่งปัญหามันไม่ใช่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพนกวินหรืออานนท์ คุณจะตัดต้นไม้ต้นนี้ออกก็ต้องดูยันรากว่ามันเติบโตมาด้วยสาเหตุอันใด”
สมยศยังอธิบายต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและราษฎร ที่มีสาเหตุจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบของประชาชน ความปรารถนาดีที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อลองมาดูข้อเรียกร้องอย่างถี่ถ้วนแล้ว ข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ส่วนตัวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่พวกเขาเหล่านี้ต้องนำชีวิตไปแลก ออกต่อสู้บนถนนท่ามกลางโควิด-19 เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และกู่ร้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
สมยศเล่าให้ฟังถึงชีวิตในเรือนจำว่า 5✕10 เมตร คือขนาดของห้องขังที่เขาอยู่ ทั้งกิน นอน ขับถ่าย ร่วมกับนักโทษอีกราว 30 คน และขณะถูกคุมขัง เขาถูกปกปิดข้อมูลข่าวสารจากข้างนอก ข่าวก็ไม่ให้ดู หนังสือพิมพ์ก็ไม่ให้อ่าน ไม่รู้เลยว่าภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีนักโทษติดโควิด-19 กว่า 10 ราย
“เรานั่งกินข้าวข้างจัสติน (ชูเกียรติ แสงวงค์ ผู้ต้องหาคดี ม.112) น้องก็บอกเราว่าทำไมลิ้นไม่รู้รสชาติเลยพี่ เรายังไม่รู้กันเลยว่าสิ่งนี้คืออาการของโควิด-19 เรือนจำไม่เคยบอกว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้รุนแรงแค่ไหน ไม่เคยบอกว่าในเรือนจำติดแล้วกี่ราย บอกเพียงให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย 24 ชั่วโมง แต่ในห้องขัง ในสภาพที่อยู่กันแบบแออัด ร้อนหายใจไม่ออก จะทำกันอย่างไรได้ ถ้าอย่างน้อยราชทัณฑ์พูดความจริงว่ามีคนติดเชื้ออยู่ในเรือนจำ ก็จะช่วยให้ทุกคนระวังตัวมากยิ่งขึ้น
“หากมีใครเสียชีวิตหรือเป็นอะไรจากโควิด-19 ศาลและเรือนจำต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ปล่อยให้พวกเขาออกมาสู้คดี แต่คนที่ตายไปแล้วในประเทศนี้มันจะรับผิดชอบอะไรบ้าง
“ยกตัวอย่างรุ้งและเพนกวิน เขาคือตัวอย่างของอนาคต และเป็นบุคคลที่สังคมไทยไม่ควรสูญเสีย หลังจากมีโอกาสคุยกับเพนกวินเพราะอยู่ห้องขังเดียวกัน เขาเป็นคนมีความรู้เยอะมาก ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง หรือแม้แต่อานนท์เอง ก็เป็นทนายที่อุทิศตนให้กับสังคม เมื่อเขาอยู่ในคุกก็มีนักโทษมาปรึกษาเรื่องกฎหมายไม่ต่ำกว่าวันละ 10 คดี เพราะคนจำนวนมากถูกจับกุมเพียงเพราะเป็นคนจน ไม่มีเงินประกันตัว ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ช่องทางต่อสู้คดี ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าที่ดังกล่าวต้องเป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์และราชการยุติธรรม
“ผมในวันนี้ อายุ 60 ปี อวัยวะชิ้นส่วนร่างกายไม่ค่อยจะยินดีกับเราเท่าไหร่ แม้ร่างกายอยู่ในภาวะสูงวัย แต่เรื่องความเชื่อ อุดมการณ์ ความฝันยังคงเดิม
“ผมยังหวังว่าคนเหล่านี้จะได้รับความยุติธรรม ก่อนที่น้ำตาจะไหลนองหน้า ก่อนที่โลหิตจะไหลผ่านกาลเวลา ก่อนที่ศรัทธาจะหมดไป”