รถบรรทุกหีบศพเคลื่อนไปถึงสุสานอ็อตตาเวียโน ริมฝั่งแม่น้ำเวซุฟ เวลาห้าทุ่มสี่สิบห้านาทีของคืนวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หีบศพถูกเคลื่อนย้ายออกจากรถ ทำพิธีสวด และฝังกลบดิน มีคนอยู่ร่วม 12 คน และมีคำสั่งจากทางการไม่ให้แจ้งข่าวต่อสาธารณชน แม้กระทั่งสมาชิกครอบครัวผู้ตายก็เพิ่งได้รับข่าวเมื่อก่อนเที่ยงของวันอาทิตย์

น้ำหนักตัวเขาไม่ถึง 40 กิโลกรัม ใบหน้าซูบผอมเหลือเพียงแต่เงาของเจ้าพ่อมาเฟียที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เป็นคำบอกเล่าของทนายต่อสื่อมวลชนในเวลาต่อมา

รัฐบาลอิตาลีไม่ปรารถนาจะให้มีการแสดงความอาลัยอย่างเอิกเกริกกับการตายของ รัฟฟาเอลเล คูโตโล (Raffaele Cutolo) ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าแก๊ง ‘Nuova Camorra Organizzata’ ตลอดวันอาทิตย์จึงมีการสั่งปิดสุสานอ็อตตาเวียโน

ในเมืองเนเปิลส์ ผู้คนเรียกขานหัวหน้าแก๊งมาเฟียคนนี้ว่า ’o Professore (ศาสตราจารย์) ในชื่อเรียกนั้นมีหลายอย่างแฝงอยู่เป็นนัย เขาสวมแว่นตากรอบทอง พูดจาชวนเชื่อ อ่านหนังสือเยอะ โดยเฉพาะหนังสือแนวปรัชญา ไม่ว่าจะเป็นงานของ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes), จอห์น รอลส์ (John Rawls) และนิคโคโล มาเกียเวลลี (Niccolo Machiavelli) อาจเพราะเขามีเวลาว่างเยอะ

รัฟฟาเอลเล คูโตโล ถูกตัดสินโทษจำคุกนาน 58 ปี นานกว่านักโทษคนไหนๆ ในอิตาลี และส่วนใหญ่เขามักถูกขังอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่นั่นไม่อาจหยุดยั้งความเป็น ‘เจ้าพ่อ’ ของเขาได้ เขาสามารถสั่งการจากห้องขัง ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง แต่ตอนนี้เขาเสียชีวิตแล้วด้วยโรคปอดอักเสบ ในวัย 79 ปี ระหว่างอยู่ในเรือนจำปาร์มาที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยสูงสุด

คูโตโลเก็บงำความลับหลายอย่างไปพร้อมความตาย เหล่านั้นน่าจะรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมาเฟียกับการเมืองอิตาลี ไม่นานก่อนเสียชีวิตเขาเคยกล่าว “ถ้าผมพูดล่ะก็ รัฐสภาล่มแน่นอน” แต่เขาก็ไม่เคยปริปากพูดเรื่องที่ว่า อีกทั้งไม่เคยเสียใจกับเหตุการณ์ใดๆ ที่ผ่านมา

รัฟฟาเอลเล คูโตโล เกิดเมื่อปี 1941 ที่เมืองอ็อตตาเวียโน พ่อเป็นชาวนา แม่ทำงานในโรงซักรีด เริ่มก่อคดีฆาตกรรมครั้งแรกตอนอายุ 22 ครั้งนั้น เขาขับรถเฉี่ยวเด็กสาวคนหนึ่ง ไม่มีอะไรร้ายแรงมากนัก เขาตบหน้าเธอไปหนึ่งครั้งเมื่อเธอหลุดปากด่า จากนั้นเขาก็กราดยิงฝูงชนที่เข้ามารุมล้อมและด่าทอเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น

การฆาตกรรมในครั้งต่อๆ มา คูโตโลไม่ต้องลงมือด้วยตนเอง หากแต่เป็นคนจัดการและมอบหมายให้คนอื่นทำ เหยื่อเคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นนักเลงของแก๊งอื่น ไม่ก็คู่แข่ง หรือคนในแก๊งที่ทรยศหักหลัง นอกนั้นยังมีนักการเมืองที่จุ้นจ้านกับธุรกิจของเขา และผู้อำนวยการเรือนจำอีกคนที่ไม่ยอมรับข้อเสนอพิเศษของเขา จากการฆาตกรรม 200 ศพทั้ง 14 คดี ทำให้คูโตโลถูกศาลตัดสินต้องโทษสูงสุดเท่าที่เคยมี

ระหว่างต้องขังในคดีฆาตกรรมครั้งแรก รัฟฟาเอลเล คูโตโล มีโอกาสได้รู้จักโครงสร้างของแก๊งมาเฟีย เขาจึงมีความคิดจะสร้างองค์กรของตนเอง และจะทำให้มันดีกว่าของ ‘โคซา นอสตรา’ แก๊งมาเฟียมีชื่อเสียงในซิซิลี ที่ขณะนั้นมีอิทธิพลครอบคลุมเครือข่ายธุรกิจหลายอย่างทั้งในและนอกอาณาเขตซิซิลี

เมื่อพ้นออกจากคุก ปลายทศวรรษ 1970 เขาก็ก่อตั้งองค์กรมาเฟียใหม่ (NCO) ขึ้น มีเป้าหมายที่จะยกระดับคามอร์รา หรือองค์กรมาเฟียให้หลุดพ้นจากธรรมเนียมเก่า โดยทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับบุหรี่เถื่อน และเรียกเก็บค่าคุ้มครองในตลาดผลไม้ของชาวเนเปิลส์ ไม่ช้าไม่นาน คูโตโลสามารถรวบรวมสมุนได้มากถึง 10,000 คน แต่แก๊งอื่นๆ ในเนเปิลส์ที่ไม่สมัครใจเข้าร่วมด้วยนั้นพากันไปรวมตัวตั้งแก๊งใหม่เป็น ‘Nuova Famiglia’ (ครอบครัวใหม่) และมักมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสองแก๊ง มีการฆ่ากันตายแทบทุกวันตามท้องถนน

หนังสือพิมพ์ Il Mattino ของเนเปิลส์เคยเก็บบันทึกในช่วงที่เกิดความบาดหมางรุนแรงของสองแก๊งนี้ พบว่าในช่วงทศวรรษ 1980 มีเหตุฆาตกรรมระหว่างแก๊งมาเฟียด้วยกันมากกว่า 800 ศพเลยทีเดียว

ตั้งแต่ปี 1982 รัฟฟาเอลเล คูโตโล ต้องโทษจำคุกอีกครั้ง จากคดีจ้างวานฆ่า 200 ศพ แต่คราวนี้เขาเป็นนักโทษคนเดียวที่ได้รับสิทธิพิเศษ

ปี 1983 คูโตโลมีโอกาสได้แต่งงานกับคู่หมั้นหมาย อิมมาโคลาตา อิอาโคเน (Immacolata Iacone) หญิงสาวที่เคยคลั่งไคล้เขาตอนเธออายุ 17 ระหว่างเขาถูกดำเนินคดีในศาล ปี 2007 เธอให้กำเนิดลูกสาว จากการปฏิสนธิเทียมครั้งที่สี่

ชื่อภรรยาของคูโตโลคล้ายจะบอกชะตากรรม ‘อิมมาโคลาตา’ ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า ‘ไร้มลทิน’ เธอกับคูโตโลมีโอกาสใกล้ชิดกันในเรือนจำก็จริง แต่ทั้งสองไม่เคยสัมผัสแตะต้องตัวกันฉันสามีภรรยา และก่อนที่คูโตโลจะเสียชีวิต อัยการได้เซ็นอนุญาตให้เธอเข้าเยี่ยมสามีเพื่ออำลา ทว่าอิมมาโคลาตาเดินทางไปถึงเรือนจำในปาร์มาช้าไปกว่าชั่วโมง

ระหว่างต้องโทษในเรือนจำ ธุรกิจหลายอย่างต้องหลุดจากมือคูโตโล เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามอย่างหนัก อีกทั้งแก๊งมาเฟียคู่แข่งก็แย่งชิงพื้นที่ครอบครอง ทั้งในเนเปิลส์และอาณาเขตใกล้เคียง

ระหว่างนั้น เขาเคยยื่นเรื่องร้องขอความเมตตา แสดงตัวเป็นเหยื่อของศาลยุติธรรม เขาอ้างว่า การติดคุกชั่วกัลป์เป็นสิ่งเลวร้ายกว่าโทษประหารและขัดต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นเรื่องโทษติดคุกตลอดชีวิตยังเป็นที่ถกเถียงกันในอิตาลี ว่ากันตามรัฐธรรมนูญ รัฐไม่เพียงแต่ลงโทษและคุมขังอาชญากรเท่านั้น หากยังต้องนำพานักโทษกลับเข้าสู่สังคมด้วย

ในกรณีของคูโตโล การปล่อยตัวเขาเป็นอิสระคือสิ่งที่รัฐควรทำอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเขาชราภาพและเจ็บป่วย ไม่สามารถไปก่อเหตุร้ายแรงใดๆ ได้อีก แต่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลับมองว่า การกักขังตัวคนร้ายไว้จนกว่าจะถึงจุดจบเท่านั้นถึงจะยับยั้งการเติบโตของมาเฟียในอิตาลีได้

อย่างไรก็ดี รัฟฟาเอลเล คูโตโล ได้ฝากข้อความทิ้งไว้กับบาทหลวงที่สวดมนต์ส่งวิญญาณให้เขา เพื่อบอกกล่าวกับสังคมข้างนอกว่า

“มาเฟียที่แท้จริงล้วนนั่งอยู่ในราชวังของนักการเมือง”

 

อ้างอิง:

https://www.nzz.ch/international/raffaele-cutolo-camorra-boss-beigesetzt-um-mitternacht-ld.1602985

https://www.sueddeutsche.de/panorama/italien-mafia-camorra-neapel-1.5209995

https://www.blick.ch/ausland/raffaele-cutolo-79-wurde-zu-viermal-lebenslaenglich-verurteilt-gomorra-pate-stirbt-nach-ueber-41-jahren-im-knast-id16355911.html

Tags: , , ,