ชื่อของ ‘บาร์บารา คาร์ตแลนด์’ เป็นที่มักคุ้นอย่างดีของคอนิยายแนวโรมานซ์ นิยายที่เธอเขียนมักเป็นเรื่องราวความรักระหว่างคนสองคน ชายวัยกลางคนที่หล่อเหลา ร่ำรวย กล้าหาญ และบ่อยครั้งยังเป็นชายสูงศักดิ์ กับหญิงสาวที่พร้อมจะทำให้เขาติดบ่วง หน้าตาสะสวย ค่อนข้างไร้เดียงสา และไม่มีประสบการณ์ทางเพศแต่อย่างใด สถานที่พบปะกันส่วนใหญ่มักเป็นท้องถิ่นชนบทห่างไกล ซึ่งมีพ่อบ้านคอยเสิร์ฟชาอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และมีฝ่ายตรงข้ามหรือนางอิจฉา คอยเป็นอุปสรรคขัดขวางตัวละครเอกทั้งสอง แต่สุดท้ายความรักก็มักจะชนะเสมอ

บาร์บารา คาร์ตแลนด์ (Barbara Cartland) เดินเรื่องเล่าของเธอคล้ายเส้นตรง ไม่ซับซ้อน และใช้ภาษาที่เรียบง่าย เป็นหลักในการเขียนผลงานนิยายกว่า 700 เรื่อง ที่มียอดขายทั่วโลก ตราบถึงวันตายของเธอในปี 2000 ยอดขายทั้งหมดมีจำนวนนับพันล้านเล่ม

“จากสถิติของกินเนสส์บุ๊ก ฉันได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะฉันหยิบยื่นความสวยงามและความรักให้กับผู้หญิง” เธอเคยกล่าวด้วยตนเองเกี่ยวกับผลงานของเธอ

เคยมีข่าวซุบซิบร่ำลือว่า มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย ก็เคยเป็นแฟนหนังสือของเธอ แต่ที่ยืนยันได้แน่ชัดคือ หนังสือของเธอเป็นหนึ่งในบรรดานิยายรักจากตะวันตก ที่มีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือภายในสนามบินของประเทศอาหรับ

บาร์บารา คาร์ตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1901 ที่เอ็ดจ์บาสตัน ในเมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ เป็นลูกสาวคนเดียว และเป็นพี่คนโตในครอบครัวพี่น้องสามคน พ่อเป็นนายทหารในกองทัพอังกฤษ แม้ว่าครอบครัวของเธอมีฐานะปานกลาง แต่เกิดสภาพสั่นคลอนเมื่อปู่ของเธอซึ่งเป็นนักการเงิน เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในภาวะล้มละลาย

เมื่อย่างวัย 17 พ่อของเธอเสียชีวิตในฟลานเดอร์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากนั้นแม่ของเธอจึงโยกย้ายไปเปิดร้านขายเสื้อผ้าในกรุงลอนดอน เพื่อเป็นทุนรอนสำหรับเลี้ยงดูบาร์บารา และน้องชายอีกสองคน ที่ต่อมาก็เสียชีวิตในสมรภูมิที่ดันเคิร์กช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่บาร์บาราเรียนจบจากโรงเรียนสตรีมัลเวิร์น และสถาบันแอบบีเฮาส์ในแฮมป์เชียร์ เธอก็กลายมาเป็นผู้สื่อข่าวแนวกอสซิปที่ประสบความสำเร็จ และมีผลงานนิยาย Jigsaw เล่มแรกตีพิมพ์ออกมาในปี 1923

ช่วงปี 1927-1932 บาร์บาราแต่งงานกับ อเล็กซานเดอร์ จอร์จ แม็คคอร์โควเดล (Alexander George McCorquodale) อดีตนายทหาร สี่ปีหลังจากการหย่าร้าง (และการฟ้องร้องเรื่องพฤติกรรมนอกใจ) บาร์บาราเข้าพิธีสมรสครั้งใหม่กับ ฮิวจ์ แม็คคอร์โควเดล (Hugh McCorquodale) หลานชายของสามีคนแรกและมีลูกชายด้วยกันสองคน

ตลอดชั่วชีวิต บาร์บารายึดมั่นในหลักการและแนวทางการเขียนของตนเอง เธอสามารถทำเงินได้มหาศาลจากการเขียนนิยายที่ใครๆ มองว่าน้ำเน่าซ้ำซาก นิยายหลายเรื่องของเธอไม่ได้เกิดขึ้นจากความสร้างสรรค์ที่โรแมนติก

หากเกิดขึ้นตามกระบวนการผลิตคล้ายสายพานในโรงงานปลากระป๋อง ทุกวันเวลาเดิมเธอมักจะทิ้งตัวนั่งบนโซฟา อุ้มสุนัขตัวน้อยไว้บนตัก ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปักกิ่งหรือพุดเดิล ที่สำคัญต้องเป็นสุนัขตัวเล็กๆ และพร่ำบรรยายให้เลขาฯ จดข้อความ 6-8 พันคำต่อวัน ราวสองสัปดาห์เธอสามารถเขียนนิยายจบได้หนึ่งเรื่อง

อดีตนักข่าวกอสซิปที่กลายมาเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ มักปรากฏตัวต่อสาธารณชนในชุดเสื้อผ้าสีชมพูและแต่งหน้าจัด อีกทั้งยังใช้ชีวิตเฉกเช่นตัวละครเอกในนิยายหลายเรื่องของเธอ ภายในบ้านชนบทที่แคมฟีลด์เพลส ซึ่งมีโชเฟอร์ขับรถโรลส์-รอยซ์คอยรับส่ง ชาวอังกฤษเรียกขานเธอว่า ‘เจ้าแม่นิยายโรมานซ์’ และ ‘ราชินีสีชมพู’ ที่ต้องเป็นสีชมพูเพราะเธอให้เหตุผลว่า “สีชมพูให้ผลดีต่อสมอง” 

นอกเหนือจากงานเขียนหนังสือแล้ว เธอยังขายทริปท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ที่โรแมนติก วอลล์เปเปอร์สีชมพู และของตกแต่งบ้านด้วย แต่สำหรับกลุ่มสตรีนิยมแล้ว ไม่มีใครชื่นชม ‘Pink Lady’ แม้แต่น้อย เพราะนิยายของเธอตีแผ่ภาพลักษณ์ผู้หญิงยุคเก่า ซ้ำซาก นางเอกของเธอไม่เคยทำงานทำการ และถือพรหมจรรย์ไปจนถึงวันแต่งงาน

“เรื่องบนเตียงนับเป็นบทบาทสำคัญในนิยายรัก แต่ในหนังสือของฉัน นางเอกจะขึ้นเตียงกับพระเอกก่อนแต่งงานไม่ได้เด็ดขาด” บาร์บาราเคยบอก เธอมองตนเองว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อความรัก ความงดงาม ความโรแมนติก อีกทั้งยังรณรงค์ต่อต้านเสรีภาพทางเพศ ที่เธอเชื่อว่าไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของผู้หญิง 

เป้าหมายในชีวิตและอาชีพของนางเอกของเธอมีเพียงความรัก ขณะที่ตัวละครพระเอกมีความเหนือกว่าทางปัญญาและมีประสบการณ์ทางเพศก่อนแต่งงานในช่วงสูงวัย บาร์บารา คาร์ตแลนด์ มักถูกนักวิจารณ์เหน็บแนม ถึงกระนั้นนิยายของเธอก็ยังประสบความสำเร็จ หนังสือของเธอมียอดขายทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านเล่ม ได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา สำนักพิมพ์ของเธอเคยนับจำนวนนิยายที่เธอเขียนมีทั้งหมด 723 เรื่อง กระทั่งในปี 2004 หลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้วสี่ปี มีคนค้นพบต้นฉบับนิยายของเธอที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์อีก 160 เรื่องภายในห้องสมุดที่บ้านของเธอ

ผู้จัดการเว็บไซต์ barbaracartland.com ชี้แจงกับสื่อว่า ต้นฉบับทั้งหมดถูกมัดรวมไว้ด้วยริบบินสีชมพู คาดว่าน่าจะเป็นต้นฉบับนิยายที่สำนักพิมพ์ของเธอเคยปฏิเสธก่อนหน้านั้น ด้วยเหตุผลว่าเธอติดต่อกับสำนักพิมพ์หลายแห่ง นิยายบางเรื่องของเธออาจไม่ตรงกับความคาดหวังของสำนักพิมพ์บางแห่ง เธอจึงพับเก็บไว้

นิยายที่ถูกค้นพบใหม่ของ บาร์บารา คาร์ตแลนด์ ถูกรวบรวมเป็น Pink Collection และขายเป็นอีบุ๊กผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งจะปล่อยนิยายให้ดาวน์โหลดกันสัปดาห์ละเรื่อง ได้นานถึง 13 ปี

บาร์บารา คาร์ตแลนด์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2000 ขณะอายุ 98 ปี ช่วงบั้นปลายของชีวิตเธอยังสามารถเขียนนิยายได้เฉลี่ย 10 เล่มต่อปี ในปี 1991 ตอนอายุ 90 ปี เธอได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the British Empire (OBE) จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 และมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘Dame’ สมตามความคาดหวังสุดท้ายในชีวิตที่คล้ายนิยายของเธอ

 

อ้างอิง:

https://www1.wdr.de/stichtag/stichtag4684.html

https://www.spiegel.de/kultur/literatur/barbara-cartland-160-unveroeffentlichte-liebesromane-entdeckt-a-327401.html

https://www.welt.de/print-welt/article515171/Ein-Leben-in-Rosarot.html

Tags: ,