ปี 1929 เป็นปีแห่งความสำเร็จของนักเขียนเยอรมัน โทมัส มันน์ (Thomas Mann) เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจากผลงานนิยายเรื่อง Buddenbrooks (1901) ซึ่งไม่ใช่ Der Zauberberg (The Magic Mountain, 1924) อย่างที่เจ้าตัวคาดหวัง สำหรับเขาแล้วมันดูคล้ายเป็นการดูถูกอย่างจริงจังอยู่เหมือนกัน

ระหว่างเดินทางไปรับรางวัลที่สต็อกโฮล์ม นักข่าวคนหนึ่งแนะนำโทมัส มันน์ ให้ปันเงินส่วนหนึ่งฝากเก็บไว้ในต่างแดน อีกเพียงสี่ปีต่อจากนั้นมันน์ก็ได้ประจักษ์กับตนเองว่าคำแนะนำดังกล่าวถูกต้อง พลพรรคนาซีใช้อำนาจยึดแทบทุกอย่างจากเขาไป ตั้งแต่ชื่อเสียง ทรัพย์สินส่วนใหญ่ และสุดท้ายสัญชาติ

ต้นปี 1933 หลังจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจ โทมัส มันน์ใช้โอกาสระหว่างตระเวนทัวร์ยุโรปตะวันตกเสาะหาถิ่นอาศัยแห่งใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์ และไม่หวนกลับไปเยอรมนีอีกเลย

“ไม่ว่าที่ไหนที่ผมอยู่ ที่นั่นคือเยอรมนี!”

สหรัฐอเมริกาอ้าแขนต้อนรับครอบครัวของโทมัส มันน์ เมื่อพวกเขาเดินทางอพยพไปถึงที่นั่นในปี 1938 นักข่าวคนหนึ่งตั้งคำถามกับเขาว่าการลี้ภัยถือเป็นความบั่นทอนจิตใจของเขาหรือไม่ มันน์ให้คำตอบ “ไม่ว่าที่ไหนที่ผมอยู่ ที่นั่นคือเยอรมนี ผมนำพาวัฒนธรรมที่มีในตัวผมไปด้วยทุกที่ และไม่ได้มองว่าเป็นความตกต่ำของชีวิต”

ทำไมต้องเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งแปลกปลอมสำหรับเขาและครอบครัว คำตอบฟังดูซ้ำซาก ในฐานะฝ่ายตรงข้ามนาซี โทมัส มันน์รู้สึกได้ว่าในยามนั้นไม่มีที่ไหนที่เขาจะรู้สึกปลอดภัยเท่าสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ในช่วงทศวรรษ 1920s เขายังเคยมองว่าชาวอเมริกันเป็น ‘พลเมืองเด็ก’ ที่มีอารยธรรม พลัง และสวยงาม แต่หลังจากลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นได้ไม่นาน เขาก็ปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบอเมริกันได้ หันมาสนใจดูเบสบอล ตกค่ำชอบดื่มบลัดดี แมรี และหลงใหลในหนังอเมริกัน ปี 1944 เขายื่นเรื่องขอสัญชาติอเมริกัน

ความชำนาญด้านภาษาอังกฤษของโทมัส มันน์ค่อยๆ ดีขึ้นตามเวลาที่ผันผ่าน ส่วนลูกๆ ทั้งหกคนนั้นพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกเขารับรู้ผ่านหนังสือพิมพ์อเมริกัน

แอกเนส อี. เมเยอร์ (Agnes E. Meyer) นักข่าวหญิงที่เคยสัมภาษณ์โทมัส มันน์ครั้งแรกเมื่อปี 1937 ให้กับหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ คอยให้ความช่วยเหลือมันน์ระหว่างการตั้งหลักปักถิ่นฐานใหม่ เธอเป็นคนเปิดทางให้เขาเข้าสู่สังคมในนิวยอร์ก และต่อมาสู่วงสังคมระดับสูงในวอชิงตัน จนถึงตัวประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลต์

นอกจากนั้นเมเยอร์ยังติดต่องานสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ไม่ไกลจากนิวยอร์ก ให้เขาด้วย ที่นั่นเขาได้รับค่าจ้างสูง และมีโอกาสได้พบกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่นเหมือนกัน งานสอนที่ปรินซ์ตันไม่ได้ผูกมัดให้มันน์ต้องทำงานประจำ เขาจึงมีเวลาว่างมากพอจะเดินทางเข้านิวยอร์ก เพื่อพบปะกับบรรดาเจ้าของสำนักพิมพ์และผู้ลี้ภัยชาวเยอรมัน

ช่วงเดือนสิงหาคม 1939 โทมัส มันน์และครอบครัวเดินทางกลับไปเยือนยุโรปอีกครั้ง เพื่อร่วมแถลงข่าวในสวีเดน ครั้งนั้นเขาวิจารณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ออกสื่อ ประโยคร้อนแรงของเขาตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 1 กันยายน 1939 และในเช้าวันเดียวกันนั้นกองทัพเยอรมันได้บุกเข้ายึดครองโปแลนด์ ถึงตอนนั้นโทมัส มันน์เริ่มหวาดหวั่นกับการแก้แค้นของนาซี และเชื่อว่าตัวเขาเองตกหลุมพรางเข้าให้แล้ว

ครอบครัวมันน์จองตั๋วเรือโดยสารจากเซาธ์แฮมตันกลับไปสหรัฐอเมริกาในวันที่ 12 กันยายน เรื่อที่เขาพูดออกสื่อพร้อมคำวิจารณ์ฮิตเลอร์ ชวนให้วิตกว่าเขาและครอบครัวจะเดินทางออกจากออสโลไปขึ้นเรือได้หรือไม่ แต่แล้วเอริกา-ลูกสาวของเขาก็เดินเรื่องจนได้ตั๋วเครื่องบินไปอัมสเตอร์ดัม และต่อไปลอนดอน ความหวาดกลัวยังขึงคลุมบรรยากาศในครอบครัว ข่าวลือว่าทหารอากาศของเยอรมนีคอยจับตาทุกเที่ยวบิน และออกตามล่าหาผู้โดยสารที่ต้องการตัว

ในที่สุดพวกเขาก็เดินทางถึงลอนดอน และขึ้นเรือโดยสารไปสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ แต่ห้องโดยสารเดี่ยวไม่มีเหลือว่างให้กับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง โทมัส มันน์จึงต้องนอนในห้องโดยสารชายรวมตลอดหกวันของการเดินทาง เมื่อถึงนิวยอร์กที่หมาย มันน์เขียนลงในสมุดบันทึก “เหมือนได้กลับบ้าน บ้านฉุกเฉินหรือบ้านชะตากรรมในอเมริกา นี่อาจจะเป็นบ้านของผมไปตลอดชีวิตที่เหลือ”

แต่เปล่าเลย โทมัส มันน์ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพียง 13 ปี และเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความงอกเงยของผลงาน การยอมรับในสังคมแปลกหน้า ทั้งในนครนิวยอร์กในย่างก้าวแรก จนกระทั่งโยกย้ายไปลอส แองเจลิสในปี 1942

โทมัส มันน์ใช้ตัวตนและฐานะที่มีคอยให้ความช่วยเหลือศิลปินและนักเขียนที่ถูกนาซีไล่ล่าจากเยอรมนี เขารวบรวมเงินบริจาค ประสานงาน และเขียนจดหมายรับรองให้กับเหยื่อนาซีที่ต้องการลี้ภัยในอเมริกาหรือในที่ต่างๆ ขณะเดียวกันก็หันมาช่วยงานกระจายเสียงส่งตรงถึงประชาชนชาวเยอรมัน ถ้อยความที่เป็นตำนานของเขาถูกส่งสัญญาณผ่านคลื่นกระจายเสียงของบีบีซีไปยังเยอรมนี

แม้ว่าโทมัส มันน์จะได้สัญชาติอเมริกันตั้งแต่ปี 1944 แต่ที่นั่นไม่ใช่ฉากสุดท้ายในชีวิตของเขา นับตั้งแต่ปี 1937 เมื่อครั้งที่เขาเดินทางมาสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สาม เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเฝ้าติดตาม เหตุเพราะความเคลือบแคลงว่าเขาอาจเป็นคอมมิวนิสต์ สงครามเย็นในทศวรรษ 1950s ทำให้ภาพคล้ายเหตุการณ์ครั้งนั้นหวนกลับมาหลอนความรู้สึกของเขาอีกครั้ง หลังจากโจเซฟ แม็คคาร์ธีย์ (Joseph McCarthy) นักการเมืองพรรครีพับลิกัน สร้างแคมเปญไล่ล่าคอมมิวนิสต์ในประเทศ 

ฤดูร้อนปี 1950 ระหว่างที่ครอบครัวมันน์เดินทางไปพักผ่อนที่ซังต์ มอริตซ์ ในสวิตเซอร์แลนด์ สมาชิกในครอบครัวบางคนออกความเห็นว่า พวกเขาไม่อยากกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกแล้ว โทมัส มันน์เขียนในสมุดบันทึกของเขาว่า เอริกา และโกโล มีความเห็นพ้องกันว่าไม่อยากกลับไปประเทศที่ดูคล้ายเป็นกับดักขนาดใหญ่

และแล้วครอบครัวมันน์ก็เดินทางกลับไป แต่เพื่อเตรียมพร้อมที่จะอพยพมาตั้งรกรากครั้งใหม่ที่ยุโรป โดยที่ไม่มีเยอรมนีในรายชื่อที่ปรารถนา

“ผมต้องยอมรับว่า ผมกลัวที่จะพบเห็นซากปรักของเยอรมนี” วันที่ 1 กรกฎาคม 1952 ครอบครัวมันน์เดินทางกลับมาที่ซูริคอีกครั้ง แต่ก่อนเดินทางโทมัส มันน์เขียนบันทึกไว้เกี่ยวกับ “ความใฝ่ฝันบ้าๆ บอๆ แผ่นดินเก่าแก่” เขาหมายถึงร่างไร้วิญญาณของตนเอง ที่ไม่อยากถูกฝังกลบในผืนดินอเมริกัน “ผมอยากถูกฝังด้วยกรวดดินในสวิตเซอร์แลนด์”

โทมัส มันน์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1955 จากภาวะฉีกขาดของหลอดเลือดในช่องท้อง ที่โรงพยาบาลในซูริค ขณะอายุ 80 ปี

อ้างอิง:

https://www.nzz.ch/feuilleton/thomas-mann-im-exil-amerika-ist-schicksals-und-notheim-ld.1440738

https://www.dw.com/de/thomas-manns-zweites-zuhause-im-exil/a-16196018

http://www.thomasmann.de/thomasmann/leben/stationen_aus_manns_leben/der_emigrant/231199

https://www.planet-wissen.de/geschichte/persoenlichkeiten/thomas_mann/index.html

Fact Box

  • โทมัส มันน์ เกิดเมื่อปี 1875 ที่เมืองลือเบ็ค ทางตอนเหนือของเยอรมนี เป็นลูกคนที่สองในจำนวนพี่น้องห้าคนของตระกูลพ่อค้าที่มีหน้ามีตาของเมือง ผลการเรียนในวัยเด็กของเขาไม่โดดเด่น แม้แต่วิชาภาษาเยอรมันก็ไม่เคยได้คะแนนที่น่าพอใจ จนผู้เป็นพ่อรู้สึกเป็นห่วง พินัยกรรมซึ่งทำไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นก็ไม่ได้ยกมอบกิจการให้ทั้งไฮน์ริช (Heinrich Mann ต่อมาเป็นนักเขียนเหมือนกัน) พี่ชายคนโต และโทมัส 
  • หลังจากพ่อเสียชีวิต ผู้จัดการมรดกได้แนะนำทางเลือกให้โทมัส มันน์ หากไม่อยากเรียนต่อก็ให้เลือกเส้นทางสายอาชีพ โทมัสจึงเสนอตัวเข้าเป็นอาสาสมัครในบริษัทประกันอัคคีภัยแห่งหนึ่ง แม้ว่าไม่ชอบงานหน้าที่ในสำนักงานเลยก็ตาม
  • ผลงานชิ้นแรกของการเป็นนักเขียนเริ่มขึ้นในปี 1894 เป็นเรื่องสั้น Gefallen ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารวรรณกรรม Die Gesellschaft เมื่อเห็นช่องทางความสำเร็จ ในปีถัดมาเขาจึงลาออกจากบริษัทประกันอัคคีภัย และเริ่มเข้าเรียนบางวิชาในมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก เพื่อฝึกปรือวิชาชีพสื่อสารมวลชนในเวลาต่อมา
  • นิยายเรื่อง Buddenbrooks นำมาซึ่งความสำเร็จและชื่อเสียง จนเขาสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง ปี 1904 เขาคบหากับคาเทีย พริงสไฮม์ (Katia Pringsheim) ลูกสาวของครอบครัวมีฐานะในมิวนิก จนได้แต่งงานกันในปีต่อมา แม้ว่ามันน์จะมีความพิศวาสในเพศเดียวกัน
  • ความชอบชำเลืองมองเด็กหนุ่มของสามี เพราะหลงใหลในความงดงามนั้น ไม่เคยสร้างความเคลือบแคลงหรือรำคาญใจแก่คาเทียเลยแม้แต่น้อย ทั้งสองครองรักกันมายาวนาน มีลูกด้วยกันหกคน เอริกา (Erika) เคลาส์ (Klaus) โกโล (Golo) โมนิกา (Monika) เอลิซาเบธ (Elisabeth) และมิคาเอล (Michael) ซึ่งน่าจะสะท้อนได้ถึงความสุขของชีวิตครอบครัว

 

Tags: , ,