ก่อนที่เขาจะผละจากกรุงปารีสมุ่งหน้าไปทะเลใต้ มีการนัดหมายกันที่คาเฟ่โวลแตร์ สถานที่พบปะของกลุ่มโบฮีเมียน เพื่อเลี้ยงอำลา แขกเหรื่อมาร่วมกว่า 40 คน มีการขับขานบทกวี และดื่มอวยพรสำหรับการกลับมาของศิลปินนักผจญภัย
พอล โกแกง (Paul Gauguin) อดีตโบรกเกอร์ที่ผันตัวเองมาเป็นจิตรกรรุ่นใหม่กำลังเนื้อหอม ในงานประมูลแห่งหนึ่งเขาสามารถขายผลงานได้ถึง 29 ภาพจากจำนวน 30 ภาพ เป็นทุนรอนสำหรับการเดินทาง ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะสร้างงานศิลปะใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเขาเชื่อว่า เขาจะทำได้ก็ต่อเมื่อออกไปอยู่ห่างไกลจากความศิวิไลซ์ของตะวันตก
ตาฮิติคือจุดหมายปลายทางที่เขาคิดไว้ นอกเหนือจากความโหยหาในสิ่งแปลกปลอมของทะเลใต้แล้ว ยังมีเหตุผลตรงที่ตาฮิติไม่ใช่อื่นไกล หากเป็นดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ผ่านเข้าประเทศง่าย อีกทั้งจิตรกรยังได้รับเงินสนับสนุนในการเดินทาง ที่นั่นมีฝ่ายปกครองของฝรั่งเศส มีระบบไปรษณีย์ สามารถพึ่งพาได้ในยามที่เขาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์
โกแกง ศิลปินวัย 42 ทิ้งลูกและเมียทั้ง 6 ชีวิตไว้เบื้องหลังราวกับชายไร้หัวใจ เดินทางไปขึ้นเรือโดยสารที่มาร์เซย์ในวันที่ 4 เมษายน 1891 ในใจเปี่ยมเสรี มีความสุข ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่วาดฝัน
ความใฝ่ฝันของพอล โกแกงตั้งแต่วัยหนุ่ม คือการได้ไปอยู่คลุกคลีกับสถานที่และผู้คนแปลกหน้า เหมือนเช่นพ่อแม่ของเขาที่เคยอพยพเร่ร่อนไปเปรู หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ยึดครองอำนาจ กระทั่งปี 1855 เขาถึงเดินทางกลับสู่ฝรั่งเศส ครั้นเรียนจบหลักสูตรกะลาสีในกรมพาณิชย์กองทัพเรือ เขาก็เข้ารับราชการในกองทัพเรือฝรั่งเศสนานสองปี ก่อนกลับไปปารีสและได้รับการว่าจ้างเป็นพนักงานของธนาคารแบร์แตง ระหว่างประสบความสำเร็จอยู่ในตลาดหุ้น โกแกงเริ่มหันมาเขียนและวาดภาพในเวลาว่าง
จากนั้นแต่งงานกับสาวเดนิช เม็ตเต-โซฟี กาด (Mette-Sophie Gad) มีลูกห้าคน การได้รู้จักกับคามิลล์ ปิสซาร์โร (Camille Pissarro) และได้ชมนิทรรศการงานศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ในช่วงกลางทศวรรษ 1870s ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป และตั้งแต่ปี 1879 เป็นต้นมาโกแกงมีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการอิมเพรสชันนิสม์ด้วย กระทั่งปี 1883 เขาตัดสินใจผละออกจากงานประจำที่เลี้ยงชีพเข้าสู่วงจรศิลปิน ทว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง กระทั่งเกิดความระหองระแหงกับภรรยา จนในที่สุดต้องแยกทางกัน
ปี 1888 พอล โกแกงไปปักหลักพักพิงอยู่ที่แคว้นบริตตานีเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะเดินทางไปพักอยู่กับวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ ที่อาร์เลส์ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น แต่ก็บาดหมางใจกันด้วยความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องงานศิลปะ
ภายหลังเดินทางถึงเมืองหลวงปาเปเอเต ของเฟรนช์ โพลินีเซียในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ โกแกงจึงประจักษ์กับสายตาตนเองว่า ตาฮิติไม่ใช่สวรรค์ที่หมดจดดั่งที่คิดไว้อีกแล้ว เพราะมันไม่ต่างจากยุโรปที่เขาจากมา เหตุเพราะเจ้าอาณานิคมนำพาให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
โกแกงตัดสินใจเดินทางออกจากปาเปเอเต ไปเสาะหาที่พักอาศัยในป่าลึก เพื่อจะได้เข้าถึงชุมชนพื้นเมือง ที่นั่นแม้จะพบกับความดิบเปลือยของธรรมชาติ แต่เขาก็รู้สึกเป็นอิสระจากกรงขังที่เป็นบ้านเรือนแบบชาวยุโรป กระท่อมชาวเมารีไม่ได้แบ่งแยกผู้คนออกจากชีวิต จากพื้นที่ และจากความไม่มีที่สิ้นสุด จะมีบ้างก็เพียงความโดดเดี่ยวที่เขารู้สึก
แต่ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาก็เวียนวนอยู่ไม่นาน โกแกงได้คู่ชีวิตคนใหม่เป็นเด็กสาวอายุเพิ่ง 13 ปี เด็กสาวคนที่เป็นแบบให้เขาวาดภาพบ่อยครั้ง ซึ่งในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชายฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมจะอยู่กินกับหญิงวัยเยาว์ในทะเลใต้
ผลงานของโกแกงทำให้ตาฮิติกลายเป็นสถานที่แห่งความปรารถนา ทิวทัศน์อันอุดมสมบูรณ์ ฉากหมู่บ้านอันงดงาม และผู้คนกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่มีวี่แววของผลกระทบจากลัทธิล่าอาณานิคม จะมีก็เพียงอารมณ์โหยหา โดยเฉพาะในใบหน้าของผู้หญิงเปลือยกายครึ่งท่อนที่สะท้อนถึงความเรียบง่ายในชีวิต
แต่ความป่วยไข้ (ที่นักเขียนอัตชีวประวัติหลายคนเชื่อว่าเขาน่าจะป่วยด้วยโรคซิฟิลิส มากกว่าเบาหวาน) และความขัดสนเงินทองบีบบังคับให้พอล โกแกงต้องตัดสินใจหวนกลับไปปารีสในปี 1893 พร้อมภาพวาดผลงานจำนวนหนึ่ง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเดินทาง
ครั้นมีโอกาสได้แสดงผลงานนิทรรศการในกรุงปารีส โกแกงกลับต้องผิดหวังกับปฏิกิริยาของผู้เข้าชมผลงานของเขา นักวิจารณ์หลายคนเรียกขานผลงานของเขาว่าเป็น ‘จินตนาการของแมงมุมที่น่าสงสาร’ บางสื่อก็หยิบยกเรื่องที่เขามีความสัมพันธ์สาววัยละอ่อนมาเป็นประเด็น
โกแกง-ศิลปินนักผจญภัยทนจับเจ่าอยู่ในกรุงปารีสได้ไม่นาน สองปีถัดจากนั้นเขาพยายามดิ้นรนเดินทางกลับไปโพลินีเซียอีกครั้ง ไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1903
หลังความตาย ศิลปะของเขาถึงเริ่มกลายเป็นที่ยอมรับ รูปแบบภาษาและการจัดวางสีของโกแกงมีอิทธิพลต่อศิลปินโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ในรุ่นต่อมาอย่างมีนัยสำคัญ
ศิลปินที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเยาะหยันว่าเป็น ‘แมงมุม’ นั้น ยามนี้กลับกลายเป็นผู้บุกเบิกแห่งยุคสมัยใหม่
อ้างอิง:
https://www.sueddeutsche.de/kultur/gauguin-im-kino-nur-eine-mango-vom-hungertod-entfernt-1.3733060
https://artinwords.de/paul-gauguin-biografie/
https://www.swashvillage.org/article/paul-gauguin-biography
Tags: พอล โกแกง, โพสต์อิมเพรสชันนิสม์, ตาฮิติ