มีคำถามว่า ทำไมไมเคิล นอร์ (Michael Noer) ผู้กำกับฯ ชาวเดนิช จึงนำภาพยนตร์เรื่อง Papillon กลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ในเมื่อภาพยนตร์เวอร์ชันแรกของผู้กำกับฯ แฟรงคลิน เจ. แชฟฟ์เนอร์ (Franklin J. Schaffner) ปี 1973 ซึ่งมีสตีฟ แม็คควีน (Steve McQueen) และดัสติน ฮอฟฟ์แมน (Dustin Hoffman) แสดงนำนั้นยังติดตรึงใจคนดูอยู่

ไมเคิล นอร์ ปฏิเสธเรื่องการทำหนัง ‘รีเมค’ เขาอธิบายว่า นี่เป็นการตีความบทประพันธ์ในหนังสือใหม่ และสลับสับเปลี่ยนเนื้อหาในเล่ม

ผู้กำกับฯ ต้องการพุ่งประเด็นไปที่ข้อสงสัยเกี่ยวกับการหลบหนีของปาปิญอง ว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงการหลบหนีจากสภาพแวดล้อมชีวิตที่โหดร้ายลำเค็ญ แต่หลบหนีเพื่อการค้นพบครั้งใหม่…นั่นคือความหมายและสิ่งที่ดีกว่าของชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตจริงของปัจจุบันที่ผู้คนกำลังหลบหนีให้พ้นจากสภาพความยากจน สงคราม และความหิวโหย ยอมเสี่ยงตายนั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ดินแดนยุโรปส่วนใหญ่พยายามก่อกำแพงปิดกั้น

คุกนรกบนเกาะร้างมีระบบการควบคุมอย่างแน่นหนา อีกทั้งยังมีผู้คุมตามธรรมชาติอีกสองอย่าง นั่นคือ ป่าดงดิบและทะเล เมื่อเทียบกับผู้หลบหนีทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุคสมัยนี้ที่ต้องเจอ ก็คือ นโยบายการเมืองปิดกั้นผู้อพยพ และการรอคอยหรือลอยคออยู่กลางทะเลอย่างไร้จุดหมาย

นอกจากนั้น นอร์ยังหยิบประเด็นพลังของความเป็นเพื่อน ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความหวังในการมีชีวิตอยู่รอดของตัวละคร ’ปาปิญอง’ ซึ่งนำแสดงโดย ชาร์ลี ฮันแนม (Charlie Hunnam) และ ‘เดกา’ รับบทโดย รามี มาเลค (Rami Malek) บทภาพยนตร์ฉบับใหม่สะท้อนถึงการพบเจอเพื่อนแท้ที่ “จะอยู่เคียงข้างกันไปตลอดชั่วชีวิต” และที่อาจจะส่งผ่านไปถึงจิตสำนึกของผู้ชม     

เรื่องราวของหนังดัดแปลงจากนิยายกึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Papillon (เป็นชื่อเล่นที่แปลว่า ‘ผีเสื้อ’ จากรอยสักที่บริเวณหน้าอก) ของอ็องรี ชาร์ริเยร์ (Henri Charrière) เด็กชายคนเดียวในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นครู ชาร์ริเยร์เกิดเมื่อปี 1906 ที่แซงต์เอเตียนน์-เดอ-ลุกดาแรส์ หมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในเขตจังหวัดอาร์แดช มีพี่สาวสองคน แม่เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้ 10 ขวบ

ตอนอายุ 17 ปี เขาถูกกองทัพเรือเกณฑ์ไปรับราชการทหาร สองปีถัดมา เมื่อพ้นเกณฑ์ เขาก็แต่งงานและมีลูกสาวหนึ่งคน ภายหลังออกจากราชการชาร์ริเยร์เข้าเป็นสมาชิกแก๊งมิจฉาชีพในปารีส ทำงานเป็นนักงัดแงะตู้เซฟอยู่นานหลายปี จนกระทั่งแก๊งเข้าไปพัวพันกับการตายของโรล็องด์ เลอ เปติต์ (Roland Le Petit) หัวขโมยและแมงดาคุมซ่อง ที่ต่อมาคดีถูกซัดทอดมาถึงตัวชาร์ริเยร์

ระหว่างการฝากขังที่เมืองคอง ชาร์ริเยร์ได้รู้จักกับหลุยส์ เดกา (Louis Dega) หนุ่มธนาคารที่ต้องโทษข้อหาปลอมแปลงธนบัตร ทั้งสองสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว ในปี 1932 ชาร์ริเยร์ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำเฟรนช์เกียนา ซึ่งใช้เป็นเขตคุมขังนักโทษในอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1852 จนถึงปี 1946 ที่นั่นมีผู้ต้องขังหลากหลายชนชั้นจำนวนถึง 70,000 คน ชาร์ริเยร์และเดกาถูกส่งตัวไปเฟรนช์เกียนาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง 1933 และพยายามหลบหนีออกจากที่นั่นหลายครั้ง โดยใช้เส้นทางไปยังโคลอมเบียและเวเนซูเอลา

Papillon,1973

เกาะนรกแห่งเฟรนช์เกียนา

เกาะนรก หรือ Devil’s Island เป็นเกาะที่ถูกค้นพบในช่วงปี 1852 ในสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลของเฟรนช์เกียนา ซึ่งเป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส เกาะแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทัณฑสถานที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘แซงต์-โลร็องต์ ดู มาโรนี’ เป็นสถานที่สำหรับคุมขังนักโทษในคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฆาตกรรม ข่มขืน หรือคดีทางการเมือง นักโทษทุกคนล้วนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

ในเรื่องของความโหดร้ายทารุณ นักโทษราว 70,000 คนที่ถูกส่งมายังทัณฑสถานแห่งนี้ จำนวนถึง 40 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตในช่วงปีแรก และมีนักโทษเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มีชีวิตรอดจนถึงวันที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัว

ความโหดร้ายทารุณไม่ได้จำกัดเพียงแค่บนเกาะและทัณฑสถานที่อยู่บนฝั่งของเฟรนช์เกียนาเท่านั้น นักโทษทุกคนจะต้องเอาชีวิตรอดบนเรือที่พวกเขาใช้โดยสารมายังเกาะแห่งนี้ให้ได้เสียก่อน และไม่ใช่ชีวิตจำนวนน้อยๆ ที่สูญเสียไประหว่างการเดินทาง บางคนถูกฆ่าโดยนักโทษด้วยกันเอง บางคนเสียชีวิตเพราะกำมะถันและไอน้ำที่ผู้คุมใช้เพื่อควบคุมนักโทษ

การใช้ชีวิตในแต่ละวันของนักโทษเต็มไปด้วยความยากลำบาก พวกเขาต้องทำงานตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น งานมีหลายประเภท ตั้งแต่การสร้างห้องขังให้กับนักโทษด้วยกันเอง สร้างสถานพยาบาลและที่อยู่อาศัย หรือไม่ก็ต้องถือจอบถือเสียมเพื่อไปทำการเกษตร ขนาดของห้องขังก็เล็กเท่ารูหนู กว้าง 1.8 เมตร ยาว 2 เมตรเท่านั้น

ช่วงระหว่างวันนักโทษแต่ละคนจะถูกล่ามด้วยโซ่ และตอนกลางคืนข้อเท้าของพวกเขาก็จะถูกล่ามเข้ากับแท่งเหล็ก เรื่องอาหารการกินนั้นไม่ต้องพูดถึง บางคนมีสภาพผ่ายผอมราวกระดูกที่เดินได้ อีกทั้งการต่อสู้ภายในคุกก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหลายครั้งก็จบลงด้วยความตาย ฝ่ายผู้คุมเองไม่คิดจะทำรายงาน เพราะมันง่ายและสะดวกสำหรับพวกเขามากกว่า หากนักโทษเหล่านั้นเสียชีวิตเพราะการก่อวิวาท ทำงานหนัก ความเจ็บป่วย หรือพยายามหลบหนี

เมื่อมีนักโทษตาย ศพก็จะถูกลำเลียงไปทิ้งกลางทะเล จากนั้นพวกเขาจะตีระฆังเป็นสัญญาณให้ฉลามมากินศพของนักโทษเหล่านั้น แตกต่างจากศพของผู้คุมและญาติที่มีพื้นที่ให้ทำการจัดพิธีฝังศพบนเกาะ

ผู้ที่มีชีวิตรอดอยู่จนถึงวันสุดท้าย หรือวันที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัว ถูกบังคับให้อาศัยอยู่ต่อในประเทศเฟรนช์เกียนา รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบที่ดินทำกินให้กับคนเหล่านั้นเพื่อหวังจะสร้างให้เฟรนช์เกียนากลายเป็นดินแดนที่มีผู้คนอยู่อาศัย ต่อมาภายหลังเมื่อประชากรของเฟรนช์เกียนามีจำนวนมากขึ้น ผู้ใดก็ตามที่กระทำความผิดหลายครั้ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็จะถูกส่งไปใช้โทษที่เกาะนรก

เกาะนรกและทัณฑสถานแห่งเฟรนช์เกียนาที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทิ้งร้าง ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในช่วงทศวรรษ 1980s โครงสร้างหลายส่วนถูกทิ้งไว้ให้คงสภาพเดิม ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนจากทั่วโลก นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมห้องขังหมายเลข 47 ที่เคยใช้ขัง ‘ปาปิญอง’ และที่เขาสลักชื่อของตัวเองเอาไว้บนพื้นด้วย

Papillon,2018

วางแผน หนีคุก

ตามประวัติศาสตร์แล้ว มีเพียงนักโทษ 2 คนเท่านั้นที่สามารถหลบหนีออกจากคุกแห่งนี้ได้ คนแรกคือ เคลม็องต์ ดูวัล (Clement Duval) ผู้ที่หลบหนีออกไปในปี 1901 และไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจนถึงวันที่เขาสิ้นลมหายใจ อีกคนคือ อ็องรี ‘ปาปิญอง’ ชาร์ริเยร์ ผู้ที่เปลี่ยนประสบการณ์ในนรกของเขาให้กลายเป็นหนังสือขายดีจนได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Papillon

การหนีคุกครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1933 อ็องรี ชาร์ริเยร์วางแผนร่วมกับอ็องเดร มาตูเร็ตต์ (André Maturette) และโฌอันส์ คลูเซียต (Joanes Clousiot) ส่วนหลุยส์ เดกาซึ่งรับรู้แผนการ ทว่าไม่ร่วมหลบหนีด้วยเพราะมองว่ามันเสี่ยงเกินไป แต่ในที่สุดเรือของพวกเขาก็ไปล่มที่ใกล้เมืองริโออาชาเสียก่อน ทั้งสามคนจึงถูกจับและส่งตัวกลับไปที่เฟรนช์เกียนา

อีกครั้งหนึ่ง ในคืนฝนตก ชาร์ริเยร์สามารถแหกคุกหนีไปจนถึงแหลมกัวฮิรา ที่ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นอาณาเขตของทั้งโคลอมเบียหรือเวเนซูเอลา และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับหญิงชนเผ่าอินเดียนแดงสองคนนานถึงเจ็ดเดือน ก่อนตัดสินใจผิดพลาดที่เลือกเดินทางกลับไปหาความศิวิไลซ์ในโคลอมเบีย อันเป็นผลให้เขาถูกจับกุม และถูกส่งตัวกลับไปที่ฝรั่งเศส และลงเอยที่คุกเฟรนช์เกียนาอีกครั้ง คราวนี้เขาต้องถูกขังเดี่ยวอยู่นานถึงสองปี

อ็องรี ชาร์ริเยร์ต้องโทษขังในคุกอาณานิคมนาน 11 ปี ความพยายามในการหลบหนีของเขาหลายครั้งทำให้ผู้คุมเรือนจำต้องเพิ่มโทษหนักขึ้นเรื่อยๆ ปี 1944 เขาหลบหนีสำเร็จอีกครั้ง ตะเกียกตะกายไปถึงบริติชเกียนาที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระในวันที่ 18 ตุลาคม 1945 หลังจากนั้นเขาก็ขอลี้ภัยไปเวเนซูเอลา ก่อร่างสร้างตัวใหม่และยื่นขอเปลี่ยนสัญชาติเป็นพลเมืองเวเนซูเอลา

แต่ถึงกระนั้น ชาร์ริเยร์ก็ไม่เคยคิดที่จะครองชีพอยู่อย่างคนสุจริต ยังคงยึดอาชีพลักเล็กขโมยน้อยอย่างเดิม จนกระทั่งไปมาพบรักและแต่งงานกับริตา (Rita) สาวท้องถิ่นชาวเวเนซูเอลา ทั้งสองเปิดร้านอาหารร่วมกันในคาราคาสและมาราไซโบ ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาเดินทางกลับไปฝรั่งเศส และเสนอต้นฉบับกับสำนักพิมพ์ หนังสือของอ็องรี ชาร์ริเยร์ได้รับการตีพิมพ์ และสามารถขายเฉพาะในฝรั่งเศสได้ถึง 1.5 ล้านเล่ม

เรื่องราวของอ็องรี ชาร์ริเยร์ในหนังสือ Papillon จบลงที่เขาได้รับอิสรภาพออกจากเรือนจำ

อ็องรี ชาร์ริเยร์เขียนนิยายภาคต่อจาก Papillon ชื่อเล่ม Banco เล่าถึงเรื่องราวชีวิตสืบเนื่องภายหลังหลุดพ้นจากถูกคุมขัง วันที่ 29 กรกฎาคม 1973 ชาร์ริเยร์เสียชีวิตในแมดริดด้วยโรคมะเร็งลูกกระเดือก นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าเรื่องราวที่เขาเล่าในหนังสือน่าจะเป็นเรื่องที่เขาฟังมาจากผู้ต้องขังคนอื่นๆ จึงลงความเห็นว่าเป็นเรื่องแต่งมากกว่าอัตชีวประวัติของเขา

ในปี 2005 ชาร์ลส์ บรูนิเยร์ (Charles Brunier) ชายวัย 104 ปีจากปารีส อ้างตัวเป็น ‘ปาปิญอง’ ตัวจริง และนักวิจารณ์หลายคนพากันเห็นพ้อง เนื่องจากชาร์ลส์ บรูนิเยร์ต้องโทษขังอยู่ที่คุกอาณานิคมในช่วงเวลานั้นจริง อีกทั้งบทบาทของชาร์ริเยร์ต่อคดีฆาตกรรมในปารีส ซึ่งทำให้เขาต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น ยังมีข้อขัดแย้ง แม้ว่าระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เขาจะอ้างว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีก็ตาม

และยังมีคนเชื่อว่า ชาร์ริเยร์น่าจะรู้จักฆาตกรตัวจริง เพียงแต่ไม่ยอมเปิดเผยชื่อเท่านั้นเอง       

 

 

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,