จากสาวงามในสังคมผู้ดี เธอกลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของวงการข่าวสงคราม เธอใช้เวลากว่าห้าทศวรรษในการรายงานข่าวอย่างคลั่งไคล้และกล้าหาญจากสนามรบในที่ต่างๆ ของโลก ด้านชีวิตส่วนตัว เธอก็ห้าวหาญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับสามีผู้เป็นนักเขียนชื่อดัง

ต่อเมื่อชราและปราดเปรื่อง เธอจึงดูเหมือนสิงโตที่ผ่านสนามทดสอบ เป็นคนนอกรีตที่มีสุ้มเสียงเป็นที่เคารพของสังคมโลก ในช่วงเวลาดื่มชาห้าโมงเย็นที่อพาร์ตเมนต์ของเธอในกรุงลอนดอน สุ้มเสียงของเธอฟังคล้ายเธอสูบบุหรี่เชสเตอร์ฟีลด์แล้วทั้งซองแล้วตบท้ายด้วยเบอร์เบิน ฟังดูห้าว ตื่น คำราม ตลอดชั่วชีวิต มาร์ธา เอลลิส เกลล์ฮอร์น (Martha Ellis Gellhorn) นักข่าวสงครามและนักเขียน มองตนเองเป็นทนายของประชาชนคนเล็กๆ ที่ประสบปัญหากับคนรวยและผู้มีอำนาจ

แต่ต่อหน้าสาธารณชน เธอเป็นที่รู้จักในฐานะภรรยาคนที่สามของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ที่เธอใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับเขาระหว่างปี 1940-1945

สมัยเป็นนักข่าว เธอไม่เคยเชื่อคำกล่าวแถลงการณ์ของรัฐบาล ไม่ว่าประเทศไหนๆ ในสงครามนับสิบครั้งที่เธอเคยผ่าน เธอได้ยินเสียงระเบิดก้องแก้วหูและเห็นเลือดมามากกว่าทหารยศนายพลบางคนเสียอีก แต่โชคดีที่เธอไม่เคยได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากสนามรบแม้สักครั้ง

มาร์ธา เกลล์ฮอร์นรู้สึกเหมือนตนเองได้รับสิทธิพิเศษ “ฉันมีความสุขและได้ใช้ความสุขนั้นอยู่กับผู้คนที่ยิ่งใหญ่” เธอเคยบอก ทหารระดับล่างส่วนใหญ่ชื่นชมและมอบความไว้เนื้อเชื่อใจเธอมากกว่านายทหารระดับสูงเสียอีก

ปี 1966 เธอได้รับมอบหมายงานจาก เดอะ การ์เดียน ให้ไปสงครามเวียดนาม และเธอเลือกที่จะไปเยือนหน่วยรบของกองทัพอเมริกัน เพราะเธอรู้จักมักคุ้นกับผู้บังคับบัญชาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เธออยากไปให้เขาแปลกใจเล่น พร้อมกับคาดหวังจะได้เรื่องราวบางอย่างสำหรับงานข่าว

เกลล์ฮอร์นก้าวลงจากเฮลิคอปเตอร์ เธอสวมกางเกงกากี เสื้อตัวเบาบาง และมีมาสคอตคล้องที่รอบคอ นายพลกับพลพรรคของเขาไปรออยู่ที่เต๊นท์คาสิโน เมื่อเห็นนักข่าวมาดเท่ ดูมีเสน่ห์ พลทหารหลายคนถึงกับหลบสายตา ก้มหน้ามองพื้น

ระหว่างรับประทานอาหาร มาร์ธา เกลล์ฮอร์น รู้สึกไม่พอใจกับท่าทีของเจ้าหน้าที่ ที่แม้จะได้รับความยินยอมจากหัวหน้าแล้ว ก็ยังไม่ยอมชี้แจงข้อมูลที่เป็นความจริงทั้งหมด ครั้นเมื่อถึงช่วงเมนูของหวาน จู่ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นในบริเวณใกล้ๆ ทุกคนรีบคว้าหมวกขึ้นสวม มีแต่มาร์ธา เกลล์ฮอร์นคนเดียวที่ไม่ทำอย่างนั้น เธอจ้องมองไปที่บรรดานายทหาร “ดูสิ แต่ละคนเหมือนตัวตลก” เธอพึมพำ “ในฝรั่งเศสหรือเบลเยียม พวกคุณไม่เห็นแสดงอาการหวาดกลัวอย่างนี้เลย”

เขียนในสิ่งที่เห็น

การรายงานข่าวครั้งแรกของเธอในสงครามกลางเมืองสเปนเมื่อปี 1937 ดูจะเป็นเรื่องฮือฮา เพราะไม่ปกตินักที่จะมีนักข่าวผู้หญิงรายงานจากสนามรบ ไม่ช้าไม่นาน ผลงานของเธอก็เป็นที่ยอมรับของคนในวงการและผู้อ่าน เนื่องจากมุมมองของเธอเป็นสิ่งแปลกใหม่ “คุณไปโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยเด็กๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ” เธออธิบายให้เพื่อนร่วมวงการฟัง “ในโรงพยาบาลแห่งนี้มีเด็กได้รับบาดเจ็บ​ 37​ คน​ แต่คุณไม่ได้บอกว่า อาจจะมีอีก​ 38​ คนที่เป็นฝั่งตรงข้าม​ คุณต้องเขียนในสิ่งที่คุณเห็น”

หลังสงครามเวียดนาม มาร์ธา เกลล์ฮอร์น เริ่มบ่นว่าหลายอย่างเปลี่ยนไป “เวลาไปที่นั่น และถามทหาร ‘ว่าไง เด็กๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง’ ถึงตอนนั้นจะมีผู้คุมปราดเข้ามา และทหารเหล่านั้นก็จะไม่พูดอะไรกันเลย นักข่าวสงครามก็จะได้แต่ข่าวซ้ำๆ ซากๆ จากแหล่งข่าวตลกๆ ที่จัดฉากแถลงตามโรงแรม ห่างจากที่เขาสู้รบกันจริงๆ”

นอกเหนือจากงานข่าว มาร์ธา เกลล์ฮอร์นยังเป็นนักเขียนนิยายและเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง ประเด็นไม่ใช่สงครามสาธารณะ หากเป็นสนามรบส่วนตัว หนังสือของเธอบอกเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิต ที่เธอเก็บสะสมไว้ระหว่างการเดินทาง หนังสือหลายเล่มเธอเขียนด้วยความคับข้องใจและความท้อแท้จากจิตวิญญาณ และไม่แปลกเลยที่มักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มันยืนหยัดอยู่ได้นานเพราะเหตุใด ก่อนจะตายซากไปพร้อมกับความเสน่หา

นักวิจารณ์หลายคนมองว่างานเขียนของมาร์ธา เกลล์ฮอร์นเต็มไปด้วยความรู้สึกอ่อนไหวและให้ความรู้ ในขณะที่ใครอื่นมองว่ารายงานข่าวของเธอเป็นวรรณกรรมเกินไป และงานวรรณกรรมก็มีทิศทางเดียวกันกับรายงานข่าว 

การศึกษาและครอบครัวดี

มาร์ธา เกลล์ฮอร์น เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 1908 ในเซ็นหลุยส์ รัฐมิสซูรี พ่อของเธอเป็นสูตินรีแพทย์ ส่วนแม่เป็นนักปฏิรูปสังคมที่มีชื่อเสียง ที่พาลูกสาวเข้าร่วมชุมนุมประท้วงตั้งแต่วัยเด็ก

ครั้งที่พ่อของเธอค้นพบว่า แม่ชีที่สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ได้ฉีกภาพออกจากหนังสือตำรา เขาจึงให้ลูกสาวลาออกจากโรงเรียนคริสต์แห่งนั้น แล้วพาไปสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสหศึกษาที่ทันสมัยแทน หลังจากนั้น มาร์ธาก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่คะแนนวิชาภาษาอังกฤษของเธอไม่สู้ดีนัก เธอจึงเปลี่ยนไปเลือกวิชาเอกเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งต่อมามันกลายเป็นตัวช่วยที่ดีระหว่างไปทำงานเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศในยุโรป

หลังจากเธอสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปี 1927 เธอได้ไปเริ่มงานกับหนังสือพิมพ์เดอะ นิว รีพับลิก และไม่ช้าก็ย้ายไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในแอลบานี ภายหลังกลับจากใช้ชีวิตในยุโรปอยู่นานสี่ปี เธอรายงานเกี่ยวกับโครงการใหม่ และการทำลายล้างทางสังคมอันเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในหมู่ประชากรชาวอเมริกัน

ปี 1936 เธอพบเจอกับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ที่บาร์แห่งในคีย์เวสต์ ระหว่างเดินทางไปพักผ่อนกับแม่และน้องชายที่ฟลอริดา ทั้งสองดื่มด้วยกันเพียงไม่กี่แก้วก็สมัครใจคบหากันเป็นเพื่อน

ร่วมเดินทางกับเฮมิงเวย์

ปี 1937 มาร์ธา เกลล์ฮอร์น เดินทางไปรายงานข่าวที่แนวหน้าในสงครามกลางเมืองสเปน พร้อมเป้หนึ่งใบและเงินติดกระเป๋าเพียง 50 ดอลลาร์ เธอพบเจอเฮมิงเวย์ในแมดริดอีกครั้ง ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1940 และมาร์ธากลายเป็นภรรยาคนที่สามของเฮมิงเวย์

นับแต่นั้นมา ทั้งสองมักเดินทางและทำงานด้วยกัน บางช่วงเวลาก็ไปพักผ่อนหาความสงบที่ฟิงกา บิเกีย วิลลาที่มีทัศนียภาพของทะเล ด้านหน้าประตูเมืองฮาบานา

การตระเวนเดินทางไปจีนกับเฮมิงเวย์เมื่อปี 1941 เธอเคยบอกเล่าว่า เขาเป็นเหมือน ‘เพื่อนร่วมทางที่ไม่เต็มใจ’ แทนที่เขาจะทำงานเป็นผู้สื่อข่าวตามหน้าที่ เขากลับ “นั่งรวมกลุ่มอยู่กับเพื่อนผู้ชายทั้งวัน หรือบางครั้งก็ทั้งคืน”

มาร์ธา เกลล์ฮอร์นยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักข่าวอเมริกันที่เฝ้าดูการทิ้งระเบิดของทหารเยอรมันในกรุงลอนดอน และตอนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกเข้าไปปลดปล่อยนักโทษที่ค่ายกักกันเมืองดาเคา เธอก็รายงาน “ด้านหลังแนวลวดหนามและรั้วติดกระแสไฟฟ้า มีผู้คนออกมานั่งรับแสงแดดกัน ในสภาพร่างกายซูบผอมเหลือแต่โครงกระดูก และผลัดกันหาเหาให้กัน พวกเขาปราศจากอายุ ปราศจากใบหน้า ทุกคนดูคล้ายกันหมด และดูไม่ออกว่าพวกเขาดีใจหรือมีความสุข”

งานข่าวครั้งสุดท้าย

ความสัมพันธ์ของเธอกับเฮมิงเวย์เริ่มตึงเครียด และแล้วในปี 1945 มาร์ธา เกลล์ฮอร์นก็หย่าขาดกับสามีหลังจากมีปากเสียงกันที่โรงแรมดอร์เชสเตอร์ ในกรุงลอนดอน เธอทนกับความหึงหวงและความเจ้ากี้เจ้าการของเขาไม่ไหว แต่เขาก็ไม่ใช่คนแพ้ที่แฟร์หรือน่ารัก “ราตรีสวัสดิ์ มาร์ตี” เขาเขียนสั่งลา “นอนหลับฝันดีนะ แม่มดหน้าซื่อใจคดและหยิ่งยโสของฉัน”

หลังสงครามเวียดนาม นิคารากัว และความขัดแย้งของอาหรับกับอิสราเอล เธอยังลงพื้นที่ข่าวเป็นครั้งสุดท้ายตอนอายุ 81 เพื่อรายงานเกี่ยวกับการรุกรานของสหรัฐอเมริกาในปานามา เมื่อมีคนถามว่า จะได้อ่านรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในบอสเนียจากเธออีกหรือไม่ เธอให้คำตอบว่า “ฉันแก่เกินไปแล้ว นักข่าวต้องเร็วในสงคราม”

ในช่วง 15 ปีสุดท้าย เธอใช้ชีวิตไปมาระหว่างบ้านกระท่อมในเวลส์ อพาร์ตเมนต์ในกรุงลอนดอน และในภูมิภาคต่างๆ ที่มีสงครามและความขัดแย้ง

มาร์ธา เกลล์ฮอร์นยังสูบบุหรี่แบบมวนต่อมวน และยังชื่นชอบในรสชาติของวิสกี้สม่ำเสมอ จนเพื่อนๆ ต้องกระซิบบอกว่า เธอควรใช้ชีวิตอย่างถนอมสุขภาพ แต่เธอก็ตอบกลับอย่างสุภาพ “หัวข้อสนทนาแบบนี้มันน่าเบื่อเสียจนทำให้ฉันแทบสลบ”

ตอนอายุ 89 ปี เธอยังดูดี แต่ก็ต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวด เธอยุติงานเขียนไปเมื่อปี 1992 หลังจากการผ่าตัดนัยน์ตา ถึงกระนั้นเธอก็ยังพูดเล่าได้ อย่างเรื่องเมื่อครั้งที่เธอไปล่านกเป็ดน้ำกับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ในซัน วัลเลย์ แล้วบังเอิญได้ยินข่าวในวิทยุว่า รัสเซียกำลังเคลื่อนทัพเข้าไปในฟินแลนด์ แต่เฮมิงเวย์ยังอยากจะยิงนกเป็ดน้ำต่อ เธอจึงต้องปล่อยเขาให้ทำกิจกรรมไปตามลำพัง

หลังจากเพื่อนๆ ทยอยลาจากันไป ความสิ้นหวังในชีวิตก็เริ่มเข้าสิงเธอ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1998 มาร์ธา เกลล์ฮอร์นกินยาเข้าไปเม็ดหนึ่ง ที่ทำให้เธอไม่ต้องตื่นขึ้นมาอีกแล้ว

 

 

อ้างอิง: 

Tags: , , ,