“ในนามของชาวเยอรมัน เราขอยอมรับผิดต่ออาชญากรรมที่ไม่อาจบรรยายได้ และเรายืนยันที่จะชดใช้ให้ทั้งในแง่คุณธรรมและวัตถุ”

คอนราด อาเดเนาแอร์ (Konrad Adenauer) คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนี (ตะวันตก-ในยุคนั้น) ที่กล่าวถึงการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามอันเกิดจากน้ำมือของพลพรรคนาซี ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อปี 1951

เยอรมนีเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเจ้ามือจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากความพ่ายแพ้ทั้งในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง นอกเหนือจากรัฐบาลแล้ว เจ้าของธุรกิจภาคเอกชนบางรายที่เคยอาศัยอำนาจของนาซีกดขี่หรือใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ก็ต้องตกเป็นจำเลยในเวลาต่อมา และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ในอดีตด้วยเช่นกัน

ตระกูลไรมันน์ (Reimann) ซึ่งมีทรัพย์สินประมาณ 3.3 หมื่นล้านยูโร เป็นตระกูลที่ร่ำรวยติดอันดับสองในเยอรมนี แต่เมื่อค้นพบความมัวหมองซึ่งเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของธุรกิจ ทำให้คนในตระกูลนี้ต้องการที่จะมอบเงินชดใช้ให้เพื่อปลดเปลื้องความรู้สึกผิด

ตระกูลไรมันน์ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจหลากประเภท รวมทั้งเป็นเจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคหลายแบรนด์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า Calgon หรือกาแฟ Jacobs ร่วม 80 ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ตระกูลไรมันน์ผู้ถือครองหุ้น JAB Holding เพิ่งจะตกเป็นที่วิพากษ์ว่าในอดีตเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคนาซี

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า อัลแบร์ต ไรมันน์ ซีเนียร์ และอัลแบร์ต ไรมันน์ จูเนียร์ เจ้าของกิจการที่เมืองลุดวิกสฮาเฟน เคยกดขี่และใช้แรงงาน-ทั้งในโรงงานและภายในวิลลาส่วนตัว-อย่างไม่เป็นธรรมในยุคสมัยนาซีเรืองอำนาจ อีกทั้งเป็นที่ประจักษ์ด้วยว่า เจ้าของกิจการทั้งสองคนใช้แนวความคิดและพฤติกรรมในลักษณะชาตินิยม รวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากทายาทผู้สืบทอดมรดกตระกูลไรมันน์ได้ว่าจ้างนักประวัติศาสตร์ให้สืบประวัติกิจการที่มีเค้าว่าเกี่ยวข้องกับนาซีอยู่นานถึงสามปี กระทั่งพบหลักฐานยืนยันแน่ชัด จึงบอกกล่าวกับสังคม “เรารู้สึกโล่งใจที่ความจริงทั้งหมดปรากฏ” ปีเตอร์ ฮาร์ฟ (Peter Harf) ประธาน JAB Holding และตัวแทนของตระกูลไรมันน์ชี้แจง “ไรมันน์ ซีเนียร์ และไรมันน์ จูเนียร์มีความผิดจริง เจ้าของกิจการทั้งสองเคยกระทำผิด และความจริงควรได้รับโทษตามกฎหมายด้วยซ้ำ”

พอล แอร์เคอร์ (Paul Erker) นักประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยมิวนิก ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการสืบค้นข้อมูลจากลูกหลานของคนในตระกูลไรมันน์ นำข้อมูลหลักฐานดังกล่าวเสนอต่อผู้ว่าจ้างเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา “ตอนที่ศาสตราจารย์แอร์เคอร์รายงานความจริงให้ทราบ เราทุกคนพากันอึ้ง เรารู้สึกละอายใจอย่างมาก อาชญกรรมในอดีตนั้นเป็นเรื่องน่าขยะแขยง และไม่สมควรให้อภัยจริงๆ”

ทายาทตระกูลไรมันน์แจ้งความจำนง ที่จะบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านยูโรให้กับองค์กรการกุศล และมีการรวบรวมผลการศึกษาข้อมูลประวัติของกิจการที่เกี่ยวข้องกับนาซีเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนในปีถัดไป

ประวัติความเป็นมาของตระกูลไรมันน์สืบย้อนกลับไปได้ถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อครั้งที่โยฮันน์ อดัม เบงคีเซอร์ (Johann Adam Benckiser) และคาร์ล ลุดวิก ไรมันน์ (Karl Ludwig Reimann) ก่อตั้งโรงงานเคมีขึ้นในลุดวิกสฮาเฟน ซึ่งทายาทของตระกูลปัจจุบันยังคงมีหุ้นในบริษัท ‘เรคกิตต์ เบงคีเซอร์’ (เจ้าของผลิตภัณฑ์ Clearasil, Kukident และ Calgon) รวมถึงหุ้นในบริษัทเครื่องสำอางของอเมริกาอย่าง Coty ที่มีผลิตภัณฑ์น้ำหอม Calvin Klein หรือ Gucci

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา JAB Holding มีผลกำไรจากสินค้ากลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนนับพันล้าน หรือแม้แต่ตลาดกาแฟทั่วโลกพวกเขาก็มีส่วนแบ่ง บริษัท Jacobs Douwe Egberts ในเครือของ JAB Holding นั้น มีแบรนด์สินค้าอย่าง Jacobs, Tassimo, Senseo และร้านกาแฟ Peet’s Coffee หรือ Stumptown Coffee Roasters

การขยายตัวของ JAB ในสหรัฐอเมริกาทำให้กลายเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Nestle นอกจากนั้นพวกเขายังต่อยอดธุรกิจด้วยการซื้อกิจการน้ำอัดลม Dr Pepper Snapple ที่มีสินค้าติดตลาดอย่าง Schweppes และ 7up ตามรายงานของนิตยสารแมเนเจอร์ เมื่อปี 2018 ตระกูลไรมันน์มีทรัพย์สินอยู่ราว 3.3 หมื่นล้านยูโร ติดอันดับสองของลิสต์มหาเศรษฐีในเยอรมนี

นอกเหนือจากผลการศึกษาประวัติความเกี่ยวข้องระหว่างตระกูลไรมันน์กับพรรคนาซีแล้ว ยังมีข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยในเยอรมนี อย่างเช่นเอกสารข้อมูลที่อ้างถึงตระกูลไรมันน์บริจาคเงินให้กับหน่วยเอสเอสตั้งแต่ปี 1931 โดยมอบให้กับไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอสที่ปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวยิว จากหลักฐานที่ค้นพบ อัลแบร์ต จูเนียร์ เขียนบันทึกไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1937 ความว่า “เราเป็นครอบครัวอารยันขนานแท้ที่ดำรงอยู่มานานนับร้อยปี และเป็นเจ้าของธุรกิจที่ให้การสนับสนุนการศึกษาชาติพันธุ์อย่างไม่มีเงื่อนไข”

จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่ค้นพบยังระบุอีกว่า พ่อลูกตระกูลไรมันน์ไม่ใช่นักฉวยโอกาสทางการเมือง หากแต่เป็นบุคคลที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมโดยสันดาน ไม่อินังขังขอบกับชนชาติที่แตกต่างจากตนเอง และคนในตระกูลนี้มักเก็บตัวห่างจากสังคมภายนอก

มีเหตุผลอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ทำไมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1933-1945 เพิ่งจะเป็นที่รับรู้ในตอนนี้ คำตอบคือ ในยุคนาซีมีการจดทะเบียนบริษัทเป็นชื่ออื่น ลูกหลานของตระกูลไรมันน์เพิ่งเริ่มสืบค้นเอกสารต่างๆ ของคนรุ่นพ่อเมื่อช่วงปี 2000 ก่อนที่ในปี 2014 จะมอบหมายให้นักประวัติศาสตร์ทำการสืบประวัติความเป็นมาของตระกูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสารเศรษฐกิจ บิลานซ์  ทำลิสต์มหาเศรษฐีในเยอรมนีออกเผยแพร่ และจัดอันดับให้ตระกูลไรมันน์เป็นหมายเลข 2 ล่าสุดนิตยสารแมเนเจอร์จัดอันดับอีกครั้ง แต่คราวนี้ยกตำแหน่ง ‘ที่สุด’ ให้กับสมาชิกสี่คนของตระกูลไรมันน์

ส่วนอันดับสองเป็นของทายาท BMW สเตฟาน ควันด์ (Stefan Quandt) และซูซานเน คลัตเทน (Susanne Klatten) ที่เคยครองอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2014 บุคคลทั้งสองมีทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 3.15 หมื่นล้านยูโร

อันดับสามมียอดรวมทรัพย์สินอยู่ที่  2.2 หมื่นล้านยูโร ได้แก่ ดีเตอร์ ชวาร์ซ (Dieter Schwarz) ผู้ก่อตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตเครือ Lidl ร่วมอันดับกับเกออร์ก และมาเรีย-เอลิซาเบธ แชฟฟ์เลอร์ (Georg & Maria-Elesabeth Schaeffler) เจ้าของผู้ผลิตตลับลูกปืนและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ Continental ในเมืองฮันโนเวอร์

การชดเชย หรือค่าปฏิกรรมสงครามอันเกิดจากอาชญากรรมที่นาซีก่อขึ้น เยอรมนีเริ่มทำสัญญาชดเชยค่าเสียหายให้กับอิสราเอล ก่อนจะเซ็นสัญญาลักษณะคล้ายกันกับอีก 8 ประเทศในยุโรปตะวันตก ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ส ฝรั่งเศส และเบลเยียม

เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามไปแล้วกว่า 7.1 หมื่นล้านยูโร และส่วนที่เหลือจะจ่ายหมดสิ้นภายในปี 2020

ตราบถึงทุกวันนี้คำว่า ‘ค่าปฏิกรรมสงคราม’ ยังคงเป็นศัพท์แสลงสำหรับชาวเยอรมัน

 

อ้างอิง:

Tags: , ,