ปอล และลูอีส กรัปป์ เป็นคู่สามี-ภรรยาธรรมดา ใช้ชีวิตอยู่ในปารีสยุคเฟื่องฟูก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งสองรู้จักกันในชั้นเรียนภาคค่ำของโรงเรียนสอนดนตรีแห่งหนึ่ง แต่งงาน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ต่างคนต่างทำงาน และคงจะมีความเป็นอยู่ปกติ เรียบง่าย หากว่าสงครามไม่ปะทุขึ้นมา

หลังจากแต่งงานไม่นาน ปอลถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร สังกัดกรมทหารราบ ประจำการอยู่บริเวณชายแดนเบลเยียม และมักได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอยู่เสมอ บาดแผลที่นิ้วชี้มือขวาเคยเกือบเป็นเหตุให้เขาต้องขึ้นศาลทหาร เนื่องจากผู้บังคับบัญชาของเขาเชื่อว่าเขาพยายามทำร้ายตัวเอง แต่คำให้การของเพื่อนทหารช่วยให้เขาหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา หลังจากปอล กรัปป์พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึงหกเดือน และยังไม่กลับเข้าประจำการ ผู้บังคับบัญชาจึงออกคำสั่งเรียกตัวเขาไปรายงานตัวที่แนวหน้าอย่างเร่งด่วน แต่กรัปป์ปฏิเสธ แจ้งกลับไปว่า อีก 48 ชั่วโมงเขาก็จะพ้นสภาพทหารแล้ว

จ่าสิบตรีกรัปป์ไม่ได้หวนกลับไปที่กรมทหารอีกเลย นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 1915 หน่วยงานรัฐจ่ายชื่อเขาเข้าบัญชีบุคคลหลบหนีภาระทางการทหาร ซึ่งระบุความผิดที่ต้องโทษถึงตาย เขาย้อนกลับไปที่ปารีส กลับไปหาภรรยา-ลูอีส และต้องย้ายที่พักอาศัยถึงหลายครั้ง ใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัวว่าจะมีคนแจ้งจับ กระทั่งวันหนึ่งเขาพบทางออก เมื่อภรรยายื่นเสื้อผ้าชุดสวยให้เขา ทั้งสองมีสัดส่วนรูปร่างใกล้เคียงกัน ปอลยอมโกนหนวดเคราออก และใช้เครื่องสำอางทาทับ การทดลองของเขาได้ผลตั้งแต่ครั้งแรกที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงออกไปเดินเล่นในละแวกที่พัก มีผู้ชายยิ้มทักทาย บางคนผิวปากเกี้ยวพาราสี

ปอลเปลี่ยนชื่อตนเองเสียใหม่ตั้งแต่นั้น เป็น ซูซานน์ ลองด์การ์ด เพื่ออำพรางตัวเอง

ปอล หรือซูซานน์ไว้ผมสั้น แต่งตัวเรียบง่ายแต่เข้าสมัย จนใครๆ ในละแวกพากันเรียกว่า ‘ซูซีสาวเปรี้ยว’ ไม่ช้าเขา/เธอก็ได้งานที่บูติก ในย่านหรูของถนน ดู โฟบูร์ก แซงโตโนเร เป็นช่างเย็บ และบางครั้งยังเป็นนางแบบสำรองด้วย เพื่อนร่วมงานทุกคนรักใคร่ให้ความสนิทสนมดี จนกระทั่งมีเรื่องคาวเกิดขึ้นระหว่างเขา/เธอกับพนักงานสาววัย 16 ปี เด็กสาวเริ่มระแคะระคายเกี่ยวกับความเป็นชายของปอล แต่ก็ปิดปากนิ่งเงียบ เหตุเพราะเผลอใจไปมีความสัมพันธ์กับปอล

ตั้งแต่นั้นมา ปอล หรือซูซีก็เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ และเริ่มชื่นชอบความรสนิยมความเป็นหญิงของตนเอง บ่อยครั้งเขามักแวะเวียนไปที่ ‘บัวส์ เดอ บูโลน’ ย่านฉาวบริเวณชานเมืองปารีส เพื่อไปมีเพศสัมพันธ์กับทั้งชายและหญิง ลูอีส-ภรรยาของเขาเคยพูดเล่าย้อนความ แต่ละคืนเขาได้กับผู้หญิงห้าถึงหกคน ส่วนซูซีเขียนเล่าความรู้สึกภายหลังการผจญภัยยามค่ำคืนของตนเองลงในสมุดบันทึก อย่างเช่น ‘belle partouze’ (เป็นเซ็กซ์ออร์จีที่สวยงาม) หรือ ‘grande jouissance’ (ช่างเพลิดเพลินยิ่งนัก)

ภาวะสิ้นสุดสงคราม สำหรับปอลแล้วไม่ได้หมายความว่าภาวะการปลอมแปลงตัวตนจะสิ้นสุดลงไปด้วย อีกทั้งกฎหมายอภัยโทษปี 1919 ก็ไม่ได้ช่วยให้เขาหลุดพ้นจากโทษความผิด ปี 1920 สองสามี-ภรรยาพากันหลบออกจากฝรั่งเศส ไปพักอยู่ชั่วคราวในแคว้นบาสก์ของสเปน ปอลแปลงสภาพกลับมาเป็นเพศชายอีกครั้ง และรายงานตัวกับทางการสเปนในฐานะบุคคลหนีภาระทางการทหารในฝรั่งเศส เมื่อเดินทางกลับไปปารีสในปีถัดมา เขาก็แปลงร่างเป็นผู้หญิงอีกครั้ง และยังต้องหวาดกลัวกับศาลทหารเหมือนเคย

เมื่อกลับถึงปารีส ซูซานน์หรือปอลเริ่มหันมาสนใจกีฬาสมัยใหม่ และระหว่างไปชมโชว์เครื่องบินในบูร์เกต์ปี 1923 เขาก็กลายเป็น ‘นักกระโดดร่มหญิงคนแรก’ ในงาน ไม่ช้าไม่นานซูซีก็หวนกลับไปเยือน ‘บัวส์ เดอ บูโลน’ อีก คราวนี้ยังบังคับให้ลูอีสติดตามไปร่วมผจญภัยด้วย พร้อมหาคู่ให้เธอเสร็จสรรพ

วันที่ 3 มกราคม 1925 กฎหมายอภัยโทษฉบับแก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้ และเป็นคุณต่อปอลให้เปลี่ยนตัวตนกลับมาเป็นชายได้โดยปราศจากความผิด หลังจากที่รู้ข่าว ปอลถอดชุดผู้หญิงและเปลี่ยนเป็นชุดผู้ชาย สวมหมวกเบเรต์ เดินทางไปรายงานตัวที่กรมทหารทันที

ปอล กรัปป์ไม่ใช่คนเดียวที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายอภัยโทษครั้งนั้น จากข้อมูลซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีชายหนีทหารทั้งสิ้นราว 63,000 คน แต่ก็นับว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนทหารกว่า 8 ล้านคนที่เข้าร่วมในสงคราม เรื่องราวของ ‘มาดมัวแซล ซูซี’ ที่เผยตัวตนเป็น ‘ปอล ชายหนีทหาร’ กลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ถูกนำมาตีแผ่ในหนังสือพิมพ์

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวของปอลในหนังสือพิมพ์เปติต์ ปารีเซียง ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1925 ที่เขาเล่าถึงการกำจัดหนวดเคราด้วยการจี้ด้วยไฟฟ้า จนถึงกับมีชาวเบลเยียมคนหนึ่งสนใจอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมทั้งขอที่อยู่ จดหมายแสดงความเห็นส่วนใหญ่มาจากผู้หญิงที่มีปัญหากับเส้นขนบนใบหน้า และล้วนสนใจเรื่องการกำจัดขน

หลังจากหลบซ่อนตัวอยู่นานนับปี จู่ๆ ปอลกลายเป็นที่รู้จักของสังคม เขาพูดเล่าเรื่องราวของเขาอย่างเพลิดเพลิน พร้อมแจกลายเซ็นภาพถ่ายตอนเขาเป็นผู้หญิง แถมยังอวดโอ่เรื่องการผจญภัยว่า เป็นผู้ชายที่มีอะไรกับผู้หญิงมากถึงสามพันคน

การกลับมาสู่ตัวตนเพศชายของปอลที่สองสามี-ภรรยาใฝ่หามานาน กลับสร้างปัญหาให้กับชีวิตคู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็น ‘คู่เลสเบียน’ มานานแรมปี กระทั่งสังคมชาวเมืองปารีสยอมรับได้ กลับผิดแผกไปจากคู่หญิงชายที่กลับมาเป็นอย่างเดิม อย่างน้อยเจ้าของอพาร์ตเมนต์ก็คนหนึ่งละที่รู้สึกไม่ดี เมื่อรู้ว่าตนเองปล่อยให้ชายหนีทหารเช่าที่พักอยู่มาตั้งนาน นางจึงออกปากไล่ทั้งสองอย่างไม่เกรงใจ

ปอล ชายผู้ใช้ชีวิตอยู่แบบผู้หญิงมานานร่วมสิบปี ดูเหมือนจะยังปรับตัวกลับสู่สภาพเดิมไม่ได้ เขาจึงหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ และต้องเปลี่ยนงานบ่อยเพราะเสพติดน้ำเมาและชอบใช้กำลัง กลายเป็นภรรยาที่ต้องหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ที่กำลังมีลูกชายวัยอ่อน และกำลังป่วยไม่มีเงินค่ายารักษา

กระทั่งเหตุการณ์ผ่านมาจนถึงค่ำคืนของวันที่ 21 กรกฎาคม 1928 ลูอีสให้การสารภาพในภายหลังว่า ปอลเมากลับบ้านมาเหมือนทุกครั้ง ส่วนตัวเธอนั้นพยายามปกป้องลูกน้อยและตนเองจากการถูกทุบตี และลั่นไกปืนยิงสามีด้วยความหวาดตระหนก

ลูอีสต้องสูญเสียลูกชายที่ป่วยไข้ไประหว่างที่เธอต้องขังรอศาลพิจารณาคดี ชะตากรรมชีวิตของเธอสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคม ซึ่งมีผลต่อการตัดสินคดีในศาล และในที่สุดศาลได้ตัดสินให้เธอพ้นผิด ปอล กรัปป์ ผู้เป็นสามีนั้นหนีทหาร ไร้คุณธรรม ชอบใช้ความรุนแรงทุกครั้งที่เมามาย สมควรแล้วที่จะได้รับชะตากรรมเช่นนี้

ลูอีส กรัปป์แต่งงานใหม่เป็นครั้งที่สอง และเสียชีวิตในปี 1981 ในกรุงปารีส หลังจากพ้นคดีฆาตกรรมสามีตนเองแล้ว หญิงม่ายของชายหนีทหารก็หวนกลับไปทำอาชีพเดิมของเธอ นั่นคือ ทาสีตุ๊กตาทหารตะกั่ว

 

 

อ้างอิง:         

Tags: , , , , ,