ก่อนที่ชื่อของหลุยส์ วิตตองจะกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ตัวของเขาเป็นเพียงแค่ใครคนหนึ่งที่มีไอเดียดีๆ มีที่พักอาศัยอยู่แถบชานเมืองของปารีส

ถนนสงบเงียบในอานิแยรฺส์นั้นเงียบสงบจริง แม้อยู่ห่างใจกลางปารีสด้วยการนั่งรถไฟใต้ดินเพียงยี่สิบนาที แต่อานิแยรฺส์กลับมีสภาพคล้ายชานเมือง ทุกเช้าก่อนแปดโมงจะเห็นพ่อคนหนึ่งขี่จักรยานพาลูกสองคนซ้อนท้ายไปส่งที่โรงเรียน อะไรมากกว่านั้นไม่มีให้พบเห็น

ความสงบเงียบของสถานที่อีกฟากของแม่น้ำเซน และความที่อยู่ใกล้กรุงปารีส น่าจะเป็นที่พออกพอใจของหลุยส์ วิตตอง เขามีพื้นเพจากท้องถิ่นชนบท มาสร้างชื่อเสียงในกรุงปารีส และก่อร่างสร้างบริษัทขึ้นในช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 ที่อานิแยรฺส์ ที่นี่ไม่เพียงเป็นสถานที่ทำงานของเขา หากยังเป็นที่ที่เขาใช้ชีวิตด้วย บนถนนคองแกรส์ บ้านเลขที่ 16 ปัจจุบันบ้านเลขที่ยังคงอยู่ แต่ถนนนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘หลุยส์ วิตตอง’

หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) เดินทางเข้ากรุงปารีสตั้งแต่อายุ 16 แต่มาใช้ชีวิตอยู่ที่อานิแยรฺส์เมื่อตอนอายุ 38 บนผนังห้องด้านซ้ายมีภาพวาดของกรุงปารีสแขวนประดับ เป็นภาพจากยุคเก่า ที่พอมองออกว่าเป็น ปลาส วองโดม และถนนด้านข้างที่ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว หลุยส์ วิตตองเปิดร้านแรกของเขาที่ตรงนั้น เขายืนทำงานอยู่ด้านหลังร้าน ส่วนภรรยาของเขาคอยต้อนรับลูกค้าที่ด้านหน้า

บ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นบ้านธรรมดาหลังหนึ่งในละแวกชานเมือง ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นี่อีกแล้ว แบรนด์หลุยส์ วิตตองเปิดบ้านหลังนี้ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนและพนักงาน ทุกคนสามารถนั่งอิงกายที่โซฟา วางถ้วยกาแฟที่เสิร์ฟจากกาโบราณยุคศตวรรษที่ 19 ได้

ทุกวันนี้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักของแทบทุกคนบนโลก จากไอเดียของเขากลายมาเป็นธุรกิจแฟชั่นขนาดใหญ่ระดับโลก หลุยส์ วิตตองไม่ใช่แค่ตัวบุคคลอีกต่อไป หากเป็นคำบัญญัติสำหรับความหรูหรา แต่ก่อนถึงจุดสูงสุดนั้น เขาเป็นแค่เด็กหนุ่มธรรมดาที่ขัดใจผู้เป็นบิดา จึงผละออกจากบ้านเกิดในลองส์-เลอ-โซนิเยร์ขณะวัย 14 เดินเท้า มุ่งหน้าสู่กรุงปารีส (ระยะทาง 441 กิโลเมตร) และทำงานชั่วคราวเพื่อเลี้ยงปากท้องไปด้วย

เมื่อเดินทางถึงปารีส เขาก็ได้งานเป็นพนักงานบรรจุหีบห่อ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่มีหน้ามีตา เนื่องจากได้ใกล้ชิดกับคนในสังคมระดับสูงกว่า เวลาคนมีฐานะจะเดินทางไปพักผ่อนทางใต้ช่วงฤดูร้อนเป็นแรมเดือน พวกเขาย่อมต้องการข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านติดตัวไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีใครสักคนที่คอยจัดเก็บสัมภาระ ตั้งแต่เครื่องโถโอชาม พรม ไปจนถึงเสื้อผ้าที่มีค่าบรรจุหีบห่ออย่างดี ให้พร้อมสำหรับการเดินทาง หีบบรรจุของจึงถูกผลิตขึ้นสำหรับขนสัมภาระขึ้นเรือโดยสารขนาดใหญ่

หลุยส์ วิตตองคุ้นเคยกับสัมภาระของบุคคลชั้นสูงดี ไม่ว่าหมวก วิกผม เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายชุดใหญ่ หรือชุดคอร์เส็ตต์ เหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้เขามีความคิดอยากทำธุรกิจของตนเอง ลูกค้าคนดังของเขาคนหนึ่งมีชื่อว่า ยูเจนี เดอ มองติโฌ (Eugénie de Montijo) จักรพรรดินีองค์สุดท้ายของฝรั่งเศส ที่ไม่เป็นที่รักใคร่ของใครนักระหว่างยังมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่เธอก็นับเป็นไอดอลด้านสไตล์ในยุคนั้น

หลุยส์ วิตตองได้ประโยชน์จากปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อยูจินี เหมือนเช่นทุกวันนี้ที่แบรนด์ได้ประโยชน์จากปฏิกิริยาต่อเคท หรือเมแกน และระหว่างที่เขาแพ็กของให้คนมีฐานะเหล่านั้น เขารับรู้ได้ว่ากระเป๋าหีบขนาดใหญ่แบบเดิมมีข้อบกพร่อง มันทำจากไม้ที่มีน้ำหนัก กลึงด้านข้างให้มนเพื่อกันไม่ให้น้ำฝนที่อาจจะกระเด็นหรือซึมผ่านไม้เข้าถึงสัมภาระได้

หลุยส์ วิตตองเริ่มออกแบบโครงสร้างของกระเป๋าหีบเสียใหม่ด้วยไม้พ็อปลาร์ที่มีน้ำหนักเบากว่า แล้วใช้ฝ้ายซับใน ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ผ้าแคนวาสสำหรับการผลิตจริงในภายหลัง และเป็นหีบที่ถูกทำขึ้นเพื่อบรรจุสัมภาระสำหรับการเดินทางด้วยเรือโดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ผู้คนนิยม หรือไม่ช้าต่อมาที่ผู้คนหันมานิยมเดินทางโดยรถไฟ วิตตองก็มีกระเป๋าหีบรุ่นใหม่พร้อมรออยู่แล้ว  

ถึงกระนั้น หลุยส์ วิตตองก็ยังคงทำงานเป็นพนักงานบรรจุหีบห่อเช่นเดิม ขณะที่ธุรกิจของเขานั้นเริ่มเติบใหญ่เกินไปสำหรับปารีส ในปี 1859 เขากับครอบครัว ซึ่งมีภรรยาของเขา-เคลมองซ์ (Cleménce) และบุตรชาย-จอร์จส์ (Georges) ที่เพิ่งคลอดเมื่อปีก่อนหน้า จึงพากันโยกย้ายไปอยู่ที่อานิแยรฺส์ ใช้พื้นที่ชั้นสองของห้องปฏิบัติงานเป็นห้องพัก กระทั่งเมื่อธุรกิจเริ่มมีผลกำไรมากขึ้น เขาจึงสร้างบ้านพักอาศัยขึ้นในบริเวณที่ดินขนาด 4,500 ตารางเมตรนั้น มีห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารที่ชั้นล่าง ส่วนห้องนอนอยู่ชั้นบน มีทางเชื่อมไปยังห้องปฏิบัติการ ลักษณะคล้ายโฮมออฟฟิศเหมือนเช่นปัจจุบัน 

หลุยส์ วิตตองเป็นคนคงเส้นคงวา ที่รักและหมั่นเพียรในการทำงาน ปี 1885 เขาเริ่มไปเปิดธุรกิจนอกประเทศฝรั่งเศสครั้งแรก ที่ถนนอ็อกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน และรอจนกระทั่งจอร์จส์-บุตรชายของเขาเติบโต และสำเร็จการศึกษาในอังกฤษ รวมถึงคุ้นเคยกับชีวิตความเป็นอยู่แบบมีรสนิยมดีแล้ว เขาจึงปล่อยให้บุตรชายดูแลกิจการที่ขยับขยายไปแทน

เมื่อเวลาล่วงเข้าศตวรรษใหม่ ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเข้ามาสู่ครอบครัววิตตอง มีการต่อเติมห้องนั่งเล่นใหม่เพิ่ม ห้องที่สะท้อนถึงจุดพีคของยุคสมัย นั่นคือ อาร์ตนูโว ความคลั่งไคล้เกี่ยวกับญี่ปุ่นเริ่มเข้าครอบงำฝรั่งเศส จอร์จส์ วิตตองก็ซึมซับตามไปด้วย เขาสั่งทำกระจกที่ปราศจากมุม และระบายสีสันลงบนเพดานห้อง เป็นสีเขียวมะนาวและสีพีช นอกจากนั้นยังก่อเตาผิงด้วยเซรามิก กระจกหน้าต่างหลากสีนั้นเขาเป็นคนวาดด้วยฝีมือตนเอง

อักษรย่อเคยเป็นอะไรที่มากกว่าความยโส แต่แบรนด์หลุยส์ วิตตองก็ผ่านด่านอคตินั้นมาได้ กระเป๋าหีบใบแรกที่บิดาของจอร์จส์ผลิตเป็นสีเทา ไม่เพียงเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดินียูจินีเท่านั้น หากมันยังเป็นที่นิยมโดยทั่วไป ไม่ช้าต่อมาผู้ผลิตรายอื่นเริ่มทำกระเป๋าหีบสีเทาตามออกมา หลุยส์ วิตตองผลิตสินค้ารุ่นใหม่เป็นลายทาง อย่างที่เห็นที่โต๊ะข้างโซฟาภายในบ้าน และลายดังกล่าวก็ถูกลอกเลียนในเวลาต่อมาเช่นกัน

จากนั้นลายหมากรุกอย่างที่แบรนด์ยังคงใช้เสมอมาก็มาถึง ผู้ลอกเลียนก็ไม่รอช้าอีกเหมือนเดิม ไอเดียของจอร์จส์เรื่องอักษรย่อดูเหมือนใกล้เป็นความจริงขึ้นมา และมันกลายเป็นเรื่องไม่สู้ดีนัก กระเป๋าหีบในยุคนั้นมักประทับอักษรย่อของผู้เป็นเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่สับสนกับหีบใบอื่นๆ จอร์จส์จึงเกิดไอเดียที่จะพรางอักษรย่อ LV ในช่องลายหมากรุก

ในช่วงเวลานั้นลูกค้าที่ถือตัวและถือความเป็นส่วนตัวน่าจะตกใจกับการครอบครองกระเป๋าที่มีอักษรย่อของใครอื่น หลุยส์ วิตตองเองก็เป็นคนถ่อมตัว ทว่าจอร์จส์ บุตรชายของเขา รู้ความหมายในการทำแบรนด์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และใครที่เดินทางไปยังสถานที่แปลกปลอมมักจะเรียกหากระเป๋าของบริษัทจากฝรั่งเศส ตราบถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หลุยส์ วิตตองกลายเป็นแบรนด์หรูของโลกที่สามารถทำรายได้มหาศาล ด้วยอักษรย่อของตน ที่ยามนี้แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของกระเป๋าทุกแบรนด์ทุกใบ และยังสามารถทำให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียงแค่ไหน ก็รู้สึกถึงความพิเศษนั้นได้

บริเวณด้านข้างบ้านในอานิแยรฺส์ ปัจจุบันยังมีพนักงานราว 170 คนประกอบกระเป๋าอยู่ คล้ายกันกับยุคของผู้ก่อตั้งแบรนด์ กระเป๋าส่วนใหญ่ที่เป็นรุ่นขายดีจะถูกผลิตในกรุงปารีส แต่สำหรับกระเป๋าที่สั่งทำพิเศษจากที่ต่างๆ ของโลกนั้น ต้องใช้เวลาและช่างฝีมือในอานิแยรฺส์

สมาชิกครอบครัววิตตองก็ยังคงมีอยู่ อย่างเช่น ปาทริก-หลุยส์ (Patrick-Louis) เหลนของผู้ก่อตั้งแบรนด์ ยังควบคุมดูแลกระบวนการผลิตขั้นตอนพิเศษ อีกทั้งบรรดาบุตรชายของเขาที่ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ทำงานให้กับบริษัทที่ครอบครัวขายกิจการต่อให้กับแบร์นารฺด์ อาร์โนลต์ในช่วงทศวรรษ 1980s

บ้านที่อานิแยรฺส์นั้น โจเซฟีน ปาเทรลย์ (Joséphine Patrelle) ภรรยาของจอร์จส์ เคยพักอาศัยอยู่ที่นี่เป็นคนสุดท้าย และเสียชีวิตที่นี่เมื่อปี 1964 ด้วยวัย 102 ปี นับแต่นั้นทุกอย่างยังคงสภาพเดิมเหมือนครั้งที่สามีและพ่อของสามีเคยอยู่ มีความเป็นอาร์ต เดโคและมินิมัลลิสม์ผสมปนเปอยู่ในการตกแต่งสไตล์อาร์ตนูโว

บ้านหลุยส์ วิตตองก็ควรต้องเป็นบ้านในแบบของหลุยส์ วิตตองอยู่ดี

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,