ปี 1945 ภาพถ่ายของเธอถูกส่งไปสำนักงานนิตยสาร Vogue ในนิวยอร์ก พร้อมข้อความวิงวอนขอให้เชื่อฉันว่านี่คือความจริงมันคือภาพถ่ายจากค่ายกักกันบูเคนวาลด์ มีกระดูกกองพะเนิน ศพผู้หญิงและผู้ชายซ้อนทับกันในหลุมลึกหลังจากพวกเขาเสียชีวิตจากความหิวโหย ถูกยิง หรือถูกทรมาน

ลี มิลเลอร์ถ่ายภาพเหล่านั้นจากสถานที่จริง ในฐานะช่างภาพที่ติดตามกองทัพอเมริกันไปเยอรมนีในปี 1944 ช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง นิตยสาร Vogue นำภาพถ่ายพร้อมเรื่องเล่าของเธอลงตีพิมพ์ในเวลาต่อมา นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยความโหดร้ายของนาซีเยอรมันจากโลกแปลกปลอมที่เรียกตนเองว่าอาณาจักรที่สาม

นักข่าวและช่างภาพสงครามลี มิลเลอร์ยังคงอยู่ในจิตสำนึกของชาวเยอรมันมาตราบจนถึงทุกวันนี้ ภาพถ่ายของเธอคอยย้ำเตือนไม่ให้ผู้คนลืมเลือนสงครามครั้งนั้น ขณะเดียวกันภาพสยดสยองจากสงครามก็ติดตามชีวิตเธอไปตลอด จนทำให้เธอต้องจ่อมจมอยู่กับสุราและภาวะซึมเศร้า

ลี มิลเลอร์เคยเป็นนางแบบมีชื่อเสียง ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นช่างภาพและผู้สื่อข่าว เธอใช้ความสวยงามและความเฉลียวฉลาดเข้ายึดพื้นที่ในโลกที่ผู้ชายถือครอง รวมถึงในสนามรบในฐานะช่างภาพและผู้สื่อข่าว ซึ่งมีผู้หญิงน้อยคนสามารถเข้าถึง

ฉันดูเหมือนนางฟ้าก็จริง แต่ลึกๆ ข้างในแล้วฉันเป็นปีศาจมิลเลอร์เคยบรรยายถึงเคล็ดลับความสำเร็จของตนเอง

เอลิซาเบธลีมิลเลอร์ (Elizabeth ‘Lee’ Miller) เกิดเมื่อปี 1907 ที่พูกห์คีปซี ในมลรัฐนิวยอร์ก เป็นลูกสาวของวิศวกรฐานะดี ชีวิตวัยเยาว์ที่สุขสบายของเธอสิ้นสุดลงในปี 1914 ขณะอายุ 7 ขวบ เมื่อเพื่อนสนิทคนหนึ่งของครอบครัวข่มขืนเธอ เป็นเหตุให้ชีวิตเธอต้องหม่นหมอง และรู้สึกคล้ายตนเองเป็นสินค้ามีตำหนิไปตลอดชีวิต

ตอนอายุ 8 ขวบ พ่อของเธอยังล่วงละเมิดซ้ำเติมด้วยการใช้เธอเป็นแบบถ่ายภาพเปลือย และเป็นบทบาทหนึ่งที่เธอเล่นให้ผู้เป็นพ่อไปจนถึงวันเกิดครบรอบ 23 ปี

…..

เด็กสาวมีปฏิกิริยาทั้งต่อต้านและสับสน บ่อยครั้งเธอต้องเปลี่ยนสถานศึกษา การเข้าสู่อาชีพนางแบบของเธอเกิดขึ้นจากความบังเอิญ ปี 1927 เธอเกือบถูกรถชนในนิวยอร์ก ผู้ช่วยชีวิตเธอในนาทีสุดท้ายเป็นชายวัยชราที่กำลังยืนอยู่บริเวณริมถนน ชายคนนั้นชื่อ กองเด นาสต์ (Condé Nast) เจ้าของนิตยสารแฟชั่น Vogue และ Vanity Fair

ไม่ช้า ลี มิลเลอร์ หญิงสาวทรงเสน่ห์ก็กลายเป็นนางแบบบนภาพปกนิตยสารของเขา ด้วยภาพลักษณ์ของหญิงยุคใหม่นาสต์ทึ่งในรูปลักษณ์และการแต่งกายของมิลเลอร์ นอกจากนั้นเธอยังสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เขาจึงเสนอสัญญาว่าจ้างเธอเป็นนางแบบ และต่อมาเธอก็กลายเป็นนางแบบขวัญใจของช่างภาพหลายคน แต่อาชีพสาวงามหน้ากล้องไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของมิลเลอร์ เธอเริ่มแสวงหาครูผู้สอนวิธีการถ่ายภาพ ด้วยหวังจะเปลี่ยนอาชีพ

เดือนพฤษภาคม 1929 มิลเลอร์เดินทางไปปารีส เพื่อเยี่ยมเยียนแมน เรย์ (Man Ray) ช่างภาพชื่อดังของวงการฉันชื่อลี มิลเลอร์ และฉันเป็นนักเรียนคนใหม่ของคุณเธอแนะนำตัวกับเขาแบบซื่อๆ เวลาผ่านไปไม่นานทั้งสองก็ได้เป็นครูและศิษย์ รวมทั้งเป็นคู่รัก

ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความต่อต้าน ทำให้มิลเลอร์อยู่กับที่หรืออยู่กับใครได้ไม่นาน ปี 1932 เธอเดินทางกลับสู่นิวยอร์ก และเปิดสตูดิโอถ่ายภาพเป็นของตนเอง สองปีต่อมาเธอแต่งงานกับนักธุรกิจวัยสูงกว่า 20 ปีจากอียิปต์ แล้วโยกย้ายไปไคโร ปี 1937 เธอตกหลุมรักโรแลนด์ เพนโรส (Roland Penrose) และเริ่มมีสัมพันธ์รักกัน ปี 1939 เธอย้ายตามเพนโรสไปอังกฤษ ไม่กี่เดือนถัดจากนั้นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็เปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง

…..

ตั้งแต่ปี 1940 มิลเลอร์เริ่มทำงานให้กับนิตยสาร Vogue ในช่วงเวลานั้นภาพถ่ายของเธอจดจ่ออยู่กับฉากสงคราม แต่ไม่นานนักเธอก็รู้สึกเบื่อความซ้ำซาก จึงส่งใบสมัครเป็นช่างภาพข่าวสงครามไปที่กองทัพสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1942 มิลเลอร์มีโอกาสได้สวมชุดเครื่องแบบทหารอเมริกัน และในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 เธอเข้าร่วมกับกองทัพสัมพันธมิตรระหว่างเคลื่อนพลขึ้นฝั่งที่นอร์มังดี

ยังไม่ทันที่เครื่องจะบินถึงฝรั่งเศส น้ำตาฉันก็ไหลพรากแล้วมิลเลอร์เขียนสารคดีชิ้นแรกให้กับนิตยสาร Vogue จากพื้นที่สงคราม เธอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในโรงพยาบาลภาคสนามใกล้เขตสู้รบในฟาเลส ด้วยความเคารพและเข้าใจต่อทหารแนวหน้า ต่างจากผู้สื่อข่าวชายที่ให้ความสนใจกับชะตากรรมของทหารบาดเจ็บน้อยมาก

ภาพความปีติของกรุงปารีสที่เป็นอิสระจากการยึดครองของทหารเยอรมัน มิลเลอร์ก็เป็นช่างภาพคนแรกที่ไปบันทึกจากที่นั่น ความปีติครั้งนั้นรวมถึงการที่เธอได้พบเจอเพื่อนเก่าอย่างปาโบล ปิกัสโซด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน มิลเลอร์ได้กลับไปที่แนวหน้าอีกครั้ง ในอาณาจักรไรช์ที่สามมีเรื่องราวสยองขวัญรอเธออยู่ แต่เธอไม่รู้สึกหวาดหวั่น เธอเข้าใกล้และเข้าถึงในทุกที่เพื่อถ่ายภาพกองกระดูก ซากศพเหยื่อนาซี สภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายกักกัน ทั้งในดาเคาและบูเคนวาลด์

…..

หลังสงคราม ลี มิลเลอร์พยายามหวนกลับมาถ่ายภาพแฟชั่นอีกครั้ง แต่เธอกลับทำงานด้วยความรู้สึกทุกข์ทรมาน เนื่องจากสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ โรแลนด์ เพนโรสสามีของเธอแอบเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการนิตยสาร Vogue อังกฤษ ขอร้องให้หยุดมอบหมายงานเขียนให้มิลเลอร์

ภาพถ่ายของมิลเลอร์จากปี 1953 เป็นภาพขณะเธอนอนหลับบนโซฟา ศีรษะจมอยู่กับหมอน มีผ้าห่มคลุมตัวจรดปลายเท้า ดูคล้ายคนหมดสภาพ

ลี มิลเลอร์เสียชีวิตที่บ้านไร่ในซัสเซ็กซ์ในปี 1977 ด้วยโรคมะเร็ง แอนโทนี เพนโรส (Antony Penrose) ลูกชายคนเดียวของเธอไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าแม่ของเขาเคยสร้างวีรกรรมผ่านภาพถ่ายและข้อเขียนต่างๆ ตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

เขาและภรรยาค้นพบกล่องบรรจุฟิล์มและภาพถ่ายจำนวน 18 ลังที่ห้องบนเพดานหลังคาของบ้านที่ผู้เป็นแม่จัดเก็บไว้คล้ายฝังให้ลืม ในลังเหล่านั้นมีภาพกว่า 40,000 ภาพให้ลูกชายของเธอได้สืบค้น และศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ของตนเองว่า นอกจากเธอจะเป็นเคยนางแบบ ช่างภาพ และผู้สื่อข่าวสงครามแล้ว

ลี มิลเลอร์ยังเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้ว่า ความชั่วร้ายไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับเธอ

เครดิตภาพ: ลิขสิทธิ์ © Lee Miller Archives

อ้างอิง:

https://www.nzz.ch/feuilleton/die-schoene-lee-miller-war-der-inbegriff-der-modernen-amerikanerin-dann-fotografierte-sie-die-nazi-hoelle-und-alles-wurde-anders-ld.1578891?fbclid=IwAR3eph19TW_8QYe6A-4rxH5hXBH8m6bRqPFAlBLQFoRkAOKPQG_DoJ0QGe0

https://www.welt.de/geschichte/article214733286/Kriegsfotografin-Lee-Miller-Fotos-aus-dem-KZ-Buchenwald.html

https://www.spiegel.de/geschichte/lee-miller-model-partyloewin-fotografin-und-kriegskorrespondentin-a-1031017.html