เยอรมนี วันที่ 9 พฤศจิกายน 1938 ที่เรียกกันว่า ‘คืนกระจกแตก’ (Kristallnacht) ชาวเยอรมันหลายคนมีส่วนร่วมในการกระทำรุนแรงต่อชาวยิว เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลนาซีกำลังเริ่มแผนการขยายอำนาจ มีการวางแผนจัดระเบียบและคิดระบบการกวาดล้างด้วยวิธีการก่อการร้าย เพื่อขับไล่และกำจัดชาวยิวออกจากประเทศ

หนึ่งปีก่อนหน้า ‘คืนกระจกแตก’ วันที่ 5 พฤศจิกายน 1937 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ชี้แจงกับผู้นำฝ่ายทหารว่า เขาตัดสินใจทำสงคราม เป้าหมายทางการเมืองของเยอรมนีคือ “เพื่อคุ้มครองและปกป้องประชาชน รวมถึงการควบคุมจำนวนประชากร” สิ่งจำเป็นต้องทำคือ “การจัดการพื้นที่ใช้สอยในประเทศให้กว้างขวางขึ้น” โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาอาณานิคมในดินแดนที่ไกลเกินกว่ายุโรป และเป้าหมายในคราวนั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างออสเตรีย และเชโกสโลวาเกีย

ฮิตเลอร์รุกเร้าและกดดันรัฐบาลออสเตรียหนักข้อยิ่งขึ้น ก่อนจะส่งกองทัพเข้าสู่ออสเตรียในวันที่ 12 มีนาคม เพื่อรวมออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไรช์ ในช่วงวิกฤติก่อนการเคลื่อนทัพเข้ายึดครอง มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในกรุงเวียนนา ธุรกิจร้านค้าของชาวยิวถูกทำลาย มีการจับกุมตัวชาวยิวอย่างอุกอาจออกจากที่พักอาศัย และทำร้ายร่างกาย

จนถึงต้นปี 1939 ชาวยิวในออสเตรียกว่า 190,000 คนถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐาน นับหมื่นคนในจำนวนนั้นถูกเจ้าหน้าที่เอสเอและเอสเอสกระทำทารุณกรรมระหว่างถูกนำตัวให้พ้นพรมแดนประเทศ

การปล้นสะดมร้านค้าและการขับไล่ชาวยิวซึ่งเป็นนโยบายทางการเมืองของเยอรมนีนั้น กฎระเบียบที่ออกโดยแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1938 มีผลบังคับใช้เพื่อการตรวจสอบทะเบียนแจ้งทรัพย์สินของชาวยิว ต้นเดือนกรกฎาคม เริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมการทำงานของชาวยิวในทุกภาคส่วน

ในกรุงเบอร์ลิน โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) เรียกร้องให้ตำรวจมีส่วนร่วมในการแทรกแซงต่อต้านชาวยิวอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงฤดูร้อนปีนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่เอสเอ เอสเอส และกลุ่มเยาวชนฮิตเลอร์พากันบุกรุกทำลายร้านค้าและคาเฟ่ของชาวยิว รวมถึงลูกค้า ก่อนจะทุบทำลายข้าวของ ยึดสินค้าในร้านเป็นของตน

ในเมืองเนิร์นแบร์ก มิวนิก และดอร์ตมุนด์ มีการเผาและทำลายโบสถ์ยิวครั้งใหญ่ แล้วให้ชุมชนชาวยิวจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ก่อนเดือนมกราคม 1933 ชาวยิวที่เคยเป็นเจ้าของกิจการต้องยอมปล่อยหรือถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วถึงสองในสาม โดยเฉพาะร้านค้าเดี่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด ในปี 1938 นักประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเคยเขียนบทความไว้ ว่าปีนั้นเป็นปีของการ ‘เก็บกวาด’ ชาวยิว และคนที่ได้ผลประโยชน์จากการฉ้อฉลปล้นชิงทรัพย์สินของชาวยิวนั้นคือ รัฐบาลนาซี จากการเวนคืนภาษี หรือเรียกเก็บภาษีภาคบังคับสำหรับชาวยิว จนได้เงินเข้าคลังมากกว่าหนึ่งล้านไรช์มาร์ก

ส่วนการกดขี่ข่งเหงรูปแบบต่างๆ ในสถานที่ทำงาน ในสังคม หรือในกลุ่มคนต่างด้าว ก็มาถึงจุดขีดสุดในปี 1938 เช่นกัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13-18 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลประเภท ‘สันโดษ’ ไม่ต่ำกว่า 200 คนเพื่อนำตัวส่งเข้าค่ายกักกัน ด้วยแผนปฏิบัติงานเดือนมิถุนายนนี่เอง ทำให้มีการจับกุม-ต้องขังผู้คนกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนั้นเป็นชาวยิวราว 1,500 คน

การประชุมใหญ่ในเอเวียง-เลส์-แบงส์ เมืองตากอากาศของฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคม 1938 ที่ประธานาธิบดีรูสเวลต์ของสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเรียกร้องให้จัดขึ้น เรื่องที่คล้ายเป็นความหวังของชาวยิวในเยอรมนีและออสเตรีย ก็กลายเป็นสิ้นหวัง เพราะไม่สามารถหาทางออกให้กับวิกฤติผู้อพยพได้ แทบไม่มีประเทศไหนพร้อมจะรับเอาผู้อพยพชาวยิว รัฐบาลนาซีจึงมองเห็นทางออกเฉพาะตัวฝ่ายเดียวที่เหลืออยู่ นั่นคือ การใช้ความรุนแรง

และแล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปตามแผนการที่ฮิตเลอร์วางไว้ ภายหลังการยึดครองออสเตรียและเชโกสโลวาเกียแล้ว ในเดือนกันยายน ยุโรปก็จวนเจียนจะเข้าสู่ภาวะสงคราม ในเยอรมนีเอง ระหว่างที่ประชาชนเริ่มตื่นกลัวสงครามครั้งใหม่ การกระทำรุนแรงต่อชาวยิวกลับเพิ่มมากขึ้น ในบางเมืองกลุ่มสมาชิกพรรคนาซีทำการข่มขู่ บังคับให้ชาวยิวขายกิจการ ที่พักอาศัยในราคาถูก จากนั้นก็ใช้กำลังบังคับขับไสพวกเขาออกจากเมือง

ชนวนความรุนแรงเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1938 เมื่อแฮร์เชล กรึนส์ซพัน (Herschel Grynszpan) เด็กหนุ่มวัย 17 ซึ่งพ่อแม่ของเขามีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้ถูกเนรเทศ คิดการณ์อุกอาจ บุกเข้าไปลอบสังหารแอร์นสฺต์ ฟอม ราท (Ernst vom Rath) เลขาทูตของเยอรมนีในกรุงปารีส สำหรับรัฐบาลนาซีแล้ว นั่นคือจังหวะอันเหมาะเจาะที่จะใช้เป็นเหตุผลในการตอบโต้ชาวยิวในเยอรมนี

ค่ำวันที่ 9 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคเข้าร่วมประชุมในมิวนิกเหมือนเช่นปกติ โยเซฟ เกิบเบลส์กล่าวปราศรัยด้วยน้ำเสียงดุดัน ส่งสัญญาณถึงพลพรรคระดับหัวหน้า จากนั้นมีการแจ้งผ่านโทรศัพท์ไปถึงองค์กรต่างๆ ในภูมิภาค และในคืนเดียวกันนั้นเองหน่วยรบของพรรคกับหน่วยเอสเอก็เริ่มปฏิบัติการ ‘คืนกระจกแตก’ – ทำร้าย ทำลาย ทุกสิ่งอย่างที่เป็นยิว

กลุ่มคนที่ปฏิบัติการไม่แยแสสายตาของใครที่พบเห็น พวกเขาใช้ก้อนหินขว้างปากระจกร้านค้าของชาวยิว ปล้นสะดม บุกรุกเข้าไปในบ้านช่อง ทำลายเครื่องเรือน และทำร้ายผู้คนในบ้าน ตราบถึงทุกวันนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคุกคาม ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย รวมถึงฆาตกรรมในคืนคริสตัล เฉพาะในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐนอร์ดไรห์น-เวสต์ฟาเลนในปัจจุบัน กรณีศึกษาล่าสุดระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ในวันต่อๆ มาผู้ชายชาวยิว 36,000 คนถูกจับกุม และถูกส่งตัวไปที่ค่ายกักกันดาเคา บุคเคนวาลด์ และซักเซนเฮาเซน เพื่อพบเจอกับความรุนแรงครั้งใหม่

ฝ่ายผู้นำของพรรคนาซีเองพยายามควบคุมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในคืนคริสตัล ในเช้าของวันที่ 10 พฤศจิกายน กระทรวงโฆษณาการได้แจ้งกำชับสื่อ ห้ามนำภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ไปตีพิมพ์เผยแพร่ และในเวลา 20.00 นาฬิกา สถานีวิทยุของอาณาจักรไรช์ได้เรียกร้องให้ยุติการกระทำ

สองวันถัดมา แฮร์มันน์ เกอริงได้แสดงความเห็นในหมู่พรรคพวกอย่างไม่เกรงใจใคร “ถ้าพวกนายทุบตียิวไปสักสองร้อยคน ฉันจะไม่ว่าอะไรเลย ดีกว่าไปทำลายข้าวของแบบนั้น” พร้อมกันนั้นเขายังเรียกร้องให้ชุมชนชาวยิวเยอรมันจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และ ‘ค่าชดเชย’ ในเหตุการณ์ลอบสังหารเลขาทูตอีกเป็นจำนวนถึงหนึ่งพันล้านไรช์มาร์ก

แต่จากเหตุการณ์ความรุนแรงในคืนนั้น ทำให้ชาวยิวในเยอรมนีนับหมื่นคนตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศไปด้วยความหวาดกลัว

ชนวนความรุนแรงในปี 1938 ทำให้นโยบายต่อต้านยิวของระบอบนาซีทวีความรุนแรงมากขึ้น วันที่ 30 มกราคม 1939 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ปราศรัยข่มขู่ชาวยิวในรัฐสภา หากสงครามมาถึงเมื่อใด ผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่ใช่ ‘ความเสมอภาคในทุกหย่อมหญ้า’ หากแต่เป็น ‘การทำลายเผ่าพันธุ์ยิวทั่วทั้งยุโรป’

เดือนมีนาคม 1939 แม้จะละเมิดข้อตกลงมิวนิก เยอรมนีก็ยังเข้ายึดครองพื้นที่ที่เหลือของเชโกสโลวาเกีย และครึ่งปีถัดมาก็เคลื่อนทัพเข้ารุกรานโปแลนด์ จากนั้นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ยิวได้สืบต่อภายใต้เงามืดของสงคราม

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , , ,