วันที่ 6 พฤษภาคม 1978 โรซาลีนน์ คาร์เตอร์ (Rosalynn Carter) ไม่อาจล่วงรู้เลยว่า คนที่เธอเพิ่งทำความรู้จักด้วยนั้นเป็นฆาตกรโรคจิต วันนั้นภริยาของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับเชิญให้เข้าร่วมขบวนพาเหรดที่ใหญ่ที่สุดของชิคาโก ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองการก่อเกิดประชาธิปไตยของชาวโปลเมื่อปี 1971 ที่จัดขึ้นทุกปี ภายในงานมีขบวนพาเหรดและการแสดงดนตรี
สตรีหมายเลขหนึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้แก่ พบปะพูดคุยและมอบรางวัลให้กับบุคคลดีเด่นในสาขาต่างๆ ในวันนั้น เธอได้พบกับจอห์น เวย์น แกซี (John Wayne Gacy) บุคคลผู้อุทิศตนเพื่อสังคม เป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมายาวนาน และเป็นผู้จัดงานพาเหรดครั้งใหญ่ในชิคาโก ทั้งสองถ่ายรูปร่วมกัน อีกทั้งในเวลาต่อมา โรซาลีนน์ คาร์เตอร์ ยังส่งภาพถ่ายพร้อมข้อความขอบคุณให้เขาด้วย โดยไม่รู้ว่าในภาพถ่ายนั้น เธอยิ้มและสัมผัสมือฆาตกรต่อเนื่องคนสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
หกเดือนถัดมา ตำรวจได้ระดมกำลังไล่ล่าเพื่อจับกุมตัว จอห์น เวย์น แกซี มาสอบสวนและคุมขัง เจ้าหน้าที่สืบสวนบุกค้นบ้านพักของเขาบริเวณชานเมืองชิคาโก แล้วพบกับเศษเนื้อที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่า บ้านอิฐสีแดงหลังนั้นกลายเป็นบ้านสยองขวัญ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ขุดคุ้ยชิ้นส่วนและกระดูก รวบรวมศพเด็กหนุ่มและผู้ชายได้ถึง 29 คน แกซีข่มขืน รัดคอ แล้วนำศพของพวกเขาไปฝังไว้ทั่วบริเวณบ้าน จากนั้นกลบด้วยดินหรือไม่ก็โบกปูนทับ ทั้งในห้องใต้ดิน ในโรงรถ ในสวน แม้กระทั่งใต้พื้นห้องนั่งเล่นของเขา กระทั่งไม่มีพื้นที่เหลือให้ขุด อีกสี่ศพที่เหลือ เขาหามไปทิ้งลงในแม่น้ำไม่ไกลจากบ้าน
เมื่อข่าวปรากฏในสื่อ ทุกคนพากันตกใจ การไต่สวนคดีแกซีสร้างความหวั่นไหวเป็นประวัติการณ์ โจทก์บางรายหวาดกลัวจะถูกลอบทำร้าย ต้องร้องขอเจ้าหน้าที่ให้ช่วยอารักขา ญาติของเหยื่อบางรายถึงกับเป็นลมหมดสติ พยานคนหนึ่งอาเจียนในระหว่างให้ปากคำ กระทั่งแกซีถูกศาลตัดสินโทษประหารชีวิตในวันที่ 13 มีนาคม 1980
ชาวอเมริกันยังคงแคลงใจ ว่าคนที่ได้รับการเชิดชูเป็นบุคคลดีเด่นกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องได้อย่างไร ทำไมไม่มีใครสังเกตเห็นว่า เบื้องหน้าของแกซีที่เป็นคนเอื้อเฟื้อมีน้ำใจ และชอบสวมใส่ชุดตัวตลก ‘โปโก’ นั้น ที่เบื้องหลังเขามีความโหดเหี้ยมอำมหิตซุกซ่อนอยู่
คดีของแกซีสะเทือนขวัญคนทั้งชาติ นั่นเพราะเขาดูคล้ายเป็นคนอเมริกันรุ่นเก่า มีพื้นเพจากครอบครัวธรรมดา สู้งานหนัก เริ่มแรกแกซีทำงานเป็นคนสวน แล้วเลื่อนมาเป็นพนักงานขายรองเท้าที่มากด้วยเสน่ห์ เขาแต่งงานกับลูกสาวเจ้าของบริษัทที่มีร้านเคนตักกี ฟรายด์ ชิกเกนอยู่หลายสาขา ต่อมาเขามีโอกาสเปิดร้านอาหารเป็นของตนเอง และเริ่มออกงานพบปะผู้คนตามคลับต่างๆ แกซีมีข้อเสียอยู่สองอย่างคือ กินจุ และขับรถเร็ว เขามีน้ำหนักตัวเกินพิกัด และโดนใบสั่งบ่อยครั้ง
เพื่อนบ้านในชิคาโกพูดเล่าเกี่ยวกับแกซีในเวลาต่อมาว่า เขาเป็นคนโอบอ้อมและพูดจาดี ทุกคนชื่นชมงานปาร์ตี้หรืองานเลี้ยงมื้อค่ำที่เขามักจัดเป็นธีม และยังขำกับชุดตัวตลกที่เขาชื่นชอบ ไม่มีใครเคยรำคาญกับเรื่องโม้หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่พอจับได้ว่าเขาแต่งขึ้นเอง จะรู้สึกเอะใจสงสัยอยู่บ้างก็ตรงกลิ่นเหม็นภายในบ้านที่มักอวลอยู่ตลอด
ความจริงแล้วเคยมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ตั้งแต่แรกๆ ว่าแกซีมักมีท่าทีไม่ปกติ แสดงออกถึงความกระวนกระวายกับบางเรื่องตลอดเวลา ต้นปี 1968 เคยมีตำรวจมาหาเขาที่บ้าน หลังจากมีคนแจ้งว่าเขาขืนใจเด็กชาย ตำรวจขอค้นบ้าน และพบฟิล์มหนังโป๊จำนวนห้าม้วน ครั้งนั้นภรรยาของเขาตกใจมาก เธอรู้จักสามีว่าเป็นพ่อลูกสองที่ขี้เกรงใจ
จากผู้ต้องสงสัยกลายเป็นจำเลย แกซีถูกแจ้งจับข้อหาข่มขู่และกักขังหน่วงเหนี่ยวเด็กหนุ่มอายุ 16 ปีคนหนึ่ง ต่อเมื่อเด็กหนุ่มคนนั้นหมดสติ แกซีจึงปล่อยตัวเขาไป ส่วนเด็กหนุ่มอีกคนถูกเขาบังคับให้ทำออรัลเซ็กซ์ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล จำเลย-ขณะนั้นอายุ 26 ปี-ยอมรับสารภาพ ศาลตัดสินโทษจำคุก 10 ปี ภรรยาของเขาขอหย่าในทันที
ระหว่างต้องขังในเรือนจำ แกซีประพฤติตัวดีและเป็นแบบอย่าง ไม่ช้าเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นพ่อครัว เขาไม่เคยสร้างปัญหา ไม่เคยต่อสู้ขัดขืนแม้ว่านักโทษคนอื่นจะต่อยตีเขา ผลจากการประพฤติตัวดี ทำให้แกซีได้รับการปล่อยตัวหลังจากต้องขังไปเพียง 18 เดือน
จอห์น เวย์น แกซีโยกย้ายออกจากรัฐไอโอวา ที่เขาเคยต้องโทษ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอิลลินอยส์ กลับสู่บ้านเกิดที่ชิคาโก ที่นั่นเขาทำงานสร้างชื่อเสียงจากการทำธุรกิจก่อสร้าง จากนั้นเขาแต่งงานครั้งที่สอง และพยายามทำตัวเป็นพลเมืองดี โดยเฉพาะกับการปรากฏตัวในฐานะ ‘ตัวตลกโปโก’ ตามโรงพยาบาล หรืองานรื่นเริงของเมือง ไม่ช้าตัวตลกร่างอ้วนก็กลายเป็นขวัญใจของบรรดาเด็กๆ
ภาพลักษณ์พลเมืองดีกลายเป็นฉากบังหน้า แต่เวลาทะเลาะกับภรรยาที่บ้าน แกซีมักทุบทำลายข้าวของ เขาแยกห้องกับเธอ และไม่ยอมให้เธอเข้าออกทุกห้องของบ้าน นอกจากนั้นเขายังซื้อหนังสือโป๊ที่มีภาพเปลือยของผู้ชายไว้ดู ไม่ช้าชีวิตคู่ก็ล่ม และแล้วเจ้าของธุรกิจก่อสร้างก็เริ่มออกล่าเหยื่อ
แกซีใช้กลวิธีต่างๆ ในการหลอกล่อเหยื่อ เช่นเสนองานให้เด็กหนุ่มๆ ไปรับตัวที่ไซต์ก่อสร้าง ยื่นข้อเสนอให้ไปพักค้างที่บ้านของเขา เมื่อไปถึงเขาก็มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ต้อนรับ หยิบยื่นกัญชาให้สูบ และเกลี้ยกล่อมให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ถ้าไม่ได้ผล เขาก็เล่นบทตัวตลก สาธิตกลวิธีการสะเดาะกุญแจมือ แล้วให้เด็กหนุ่มทำตามจนติดกับดักของเขา
ถึงตอนนั้นเขาไม่ได้เรียกชื่อตัวเองว่า ‘จอห์น’ อีกแล้ว แต่เป็นชื่อ ‘โปโก’ หรือ ‘แจ็ก’ และมีจุดจบที่คล้ายกันทุกครั้ง นั่นคือ แกซีข่มขืนเหยื่อของตน และแสดงกลสุดท้ายให้ดู ด้วยเชือกที่ผูกปมไว้สามปม เขาคล้องที่คอเหยื่อ แล้วใช้ไม้สอดเข้าไปในปม ค่อยๆ หมุนเกลียวขึงให้แน่น จนกระทั่งเหยื่อของเขาสิ้นลม ถึงตอนนั้นเขาไม่ลืมที่จะเฉลยกลที่เขาคิดขึ้นอย่างภาคภูมิใจ
หลังจากฆาตกรรมครั้งแรกในปี 1972 แกซีก็เริ่มปฏิบัติการถี่ขึ้น บางครั้งเขาฆ่าเด็กหนุ่มถึงสองคนในคืนเดียว เขามักขับรถออกไปตระเวนหาเด็กวัยรุ่นตามป้ายรถประจำทางเวลากลางคืน อาสาขับรถไปส่ง แล้วใช้กำลังบังคับข่มขู่ หรือบางครั้งก็แสดงตัวด้วยเครื่องหมายตำรวจปลอม
แม้ว่าเด็กหนุ่มหลายคนที่หายสาบสูญไปนั้นเคยทำงานให้กับแกซี แต่ตำรวจในชิคาโกก็ไม่เคยเอะใจสงสัย หลายครั้งตำรวจแวะเวียนมาถามเขาเกี่ยวกับคนงานที่หายตัวไป โดยไม่เฉลียวใจพลิกดูประวัติของแกซี แม้กระทั่งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่คอยอารักขาประธานาธิบดีและภริยา ก็ทำงานกันแบบชุ่ยๆ ปล่อยให้แกซีผู้มีประวัติด่างพร้อย เคยล่วงเกินทางเพศเด็ก เข้าถึงตัวและสัมผัสมือของโรซาลีนน์ คาร์เตอร์ได้
อีกครั้งหนึ่งที่ฆาตกรต่อเนื่องเกือบจะพลาดท่า นั่นคือตอนที่เขาโปะยาสลบเหยื่อรายหนึ่งชื่อ เจฟฟรีย์ ริงแนลล์ (Jeffrey Ringnall) ก่อนพาตัวไปและปล่อยให้หลุดรอดหนีไปได้ ริงแนลล์รุดเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ แต่ตำรวจก็ทำงานเชื่องช้าเกินไป เขาจึงดั้นด้นสืบหาตัวคนร้ายด้วยตนเอง จนไปพบรถยนต์เก่าคันสีดำที่เป็นยานพาหนะลักพาตัวเขาเข้า เขาแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยสืบต่อจนพบว่ามันเป็นรถของแกซี ทว่าตำรวจกลับไม่เชื่อเรื่องที่ริงแนลล์เล่าว่ามันเป็นความจริง
แต่นับสืบจากดีส เพลนส์ เมืองเล็กๆ ไม่ห่างจากชิคาโก เชื่อเรื่องนี้ เนื่องจากที่นั่นมีเด็กหนุ่มวัย 15 ปีชื่อโรเบิร์ต ไพสต์ (Robert Piest) พนักงานร้านขายยาแห่งหนึ่ง หายสาบสูญไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1978 ก่อนหน้านั้นเด็กหนุ่มบอกกับแม่ของเขาว่ามีนัดกับแกซี หลังจากมีข่าวการหายตัวของเขา จึงมีการสืบสวน และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจนพบว่า เจ้าของธุรกิจก่อสร้างเคยมีประวัติเรื่องนี้มาก่อน แกซีจึงกลายเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในทันที
แม้จะถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าจับตา แต่แกซีก็ยังสามารถนำศพของโรเบิร์ต ไพสต์ออกจากบ้าน และนำไปทิ้งลงในแม่น้ำจนได้ แถมยังเลือดเย็นพอที่จะขับรถตรงไปหาตำรวจ เพื่อที่จะตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ในสำนวนคำให้การของแกซี มีหมายเหตุบันทึกไว้เกี่ยวกับสายตาที่เย็นชา และรองเท้าของเขาที่เปื้อนโคลนดิน
กระทั่งเจ้าหน้าที่มีหมายค้นบ้านพักของเขา ความมั่นใจของแกซีที่เชื่อว่าจะรอดก็หมดไป ไม่ช้าหลังจากนั้นเขาสารภาพกับตำรวจว่า ได้ลงมือฆ่าเหยื่อไปราว 30 คน ก่อนจะชี้จุดฝังศพเหยื่อตามที่ต่างๆ ในบริเวณบ้านของเขา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบยืนยันอัตลักษณ์ได้เพียง 24 ศพจากเหยื่อทั้งหมด 33 รายเท่านั้น
ระหว่างการไต่สวนคดีความในศาล ทนายฝ่ายจำเลยพยายามแสดงหลักฐานแก้ต่างว่า ลูกความของเขามีสภาพจิตไม่สมประกอบ อ้างว่าพ่อของแกซีมีความจงเกลียดจงชังโฮโมเซ็กชวล และมักใช้กำลังทุบตีลูกชายของตนบ่อยครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ศาลก็ยังตัดสินโทษประหารชีวิตแกซีสถานเดียว
แต่กว่าจะถึงกำหนดประหารตามคำตัดสินของศาลเวลาก็ผ่านไปนานถึง 14 ปี ช่วงเวลาที่จำคุกอยู่นั้นแกซีใช้ความเฉลียวฉลาดของนักธุรกิจ หาผลประโยชน์จากความเป็นฆาตกรที่มีชื่อเสียงของตนเอง เขาเรียกเก็บค่าโทรศัพท์สายตรงครั้งละ 23 ดอลลาร์จากใครก็ตามที่สนใจอยากฟังเรื่องฆาตกรรมของเขา นอกจากนั้นเขายังหัดวาดรูป และขายรูปตัวตลกที่เขาวาดอีกด้วย
วันที่ 10 พฤษภาคม 1994 จอห์น เวย์น แกซีถูกประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดสารพิษ ฆาตกรต่อเนื่องผู้โหดเหี้ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต้องตายอย่างช้าๆ เหตุเพราะท่อต่อเข้าเส้นเลือดอุดตัน การประหารครั้งนั้นใช้เวลานานถึง 18 นาที
อ้างอิง:
- Terri Sullivan/Peter T. Maiken, Killer Clown, Pinnacle (2013)
- https://www.bizarrepedia.com/gacy/
- http://www.serienkillers.de/serienm%C3%B6rder/g-j/gacy-john-wayne/