เขาได้ทิ้งชื่อไว้ในฐานะนักสร้างสรรค์ด้วยผลงานออกแบบในวงการแฟชั่น และเป็นนักยั่วยุด้วยประโยควาทะที่เจ็บแสบ อาทิ “ผมชอบอยู่ในที่ที่มีคนหนุ่มสาว สวยๆ หล่อๆ การได้เห็นอะไรที่น่าเกลียดทำให้ผมรู้สึกแย่” “แฟชั่นเป็นสิ่งฉาบฉวย นั่นคือสิ่งที่ต้องยอมรับ ถ้าหากคุณจะทำแฟชั่นเป็นอาชีพ” “ผมมาเรียนรู้งาน ไม่ได้มาวิจารณ์งานศิลปะ ดังนั้นผมจึงเรียนรู้ที่จะหุบปาก แล้วทำมัน” “ผมคิดว่ารอยสักน่ากลัว มันให้ความรู้สึกคล้ายคุณต้องสวมใส่เสื้อผ้าของ Pucci ไปตลอดชีวิต” หรือ “ความสง่างามไม่ต่างอะไรกับมายองเนส มันอร่อยหรือไม่อร่อย เท่านั้นเอง” ฯลฯ

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) เสียชีวิตอย่างปุบปับเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แต่ได้ทิ้งชื่อและผลงานของตนเองไว้ให้โลกจดจำ

วัยเด็กของเขาเป็น “การเสียเวลาครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม” คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เคยบอกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นเขาปรารถนาอยากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไวๆ

คาร์ล อ็อตโต ลาเกอร์เฟลด์ เกิดเมื่อปี 1933 ที่เมืองฮัมบวร์ก ทางตอนเหนือของเยอรมนี เป็นลูกคนที่สองของเอลิซาเบธ และอ็อตโต ลาเกอร์เฟลด์ เจ้าของธุรกิจนมกระป๋อง ก่อนหน้านั้นนามสกุลของเขายังสะกดว่า Lagerfeldt ต่อมาเขาตัดอักษร T ออก ด้วยเหตุผลของความสวยงาม

ช่วงวัยเด็กเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านชนบทของครอบครัวในบิสเซนมอร์ และอยู่รอที่นั่นจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด แทนที่จะชอบเล่นซนกับเด็กวัยใกล้เคียงกัน เขากลับชอบขลุกอยู่แต่ในห้องใต้หลังคา รื้อค้นนิตยสารรายสัปดาห์แนวเสียดสี Simplicissimus ของเยอรมันมาอ่าน เขาชื่นชอบมัน โดยเฉพาะภาพลายเส้นของโอลาฟ กุลบรันส์สัน (Olaf Gulbransson) และโทมาส เทโอดอร์ (Thomas Theodor) จนทำให้เขาใฝ่ฝันอยากเป็นนักวาดภาพการ์ตูน

บางทีแผ่นกระดาษอาจจะเป็นทางออกที่ง่ายสำหรับเขาในการหลบเลี่ยงจากกฎเข้มงวดของครอบครัว พ่อของเขา ‘เป็นคนน่ารัก’ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะวุ่นอยู่กับงานบริษัทนมกระป๋องของตน ส่วนแม่ กว่าจะได้ทายาทสมใจก็ย่างเข้าวัย 42 แล้ว ความสัมพันธ์ของเธอกับลูกๆ จึงค่อนข้างเหินห่าง “แม่ไม่ค่อยชอบเสียงอ้อแอ้เอะอะของเด็กๆ เวลาจะพูดอะไรเราต้องพูดเป็นประโยคภาษาแบบผู้ใหญ่” คาร์ลเคยเล่าย้อนความหลังในเวลาต่อมา ที่ลำคอของเขามีสร้อยคล้องแหวนของพ่อแม่เป็นที่ระลึก

หนูน้อยคาร์ลจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนเองคิดประดิษฐ์ ไม่ว่าเสื้อผ้า เนคไท หรือแว่นตาขาเดียว รวมทั้งผมหางเปียเขาก็ไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ แม้ไม่เป็นที่โปรดปรานนักสำหรับบรรดาครู

แม่พาเขาเดินทางไปกรุงปารีสครั้งแรกตอนเขาอายุ 18 ปี และตอนนั้นเองที่เขามุ่งมั่นว่า จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เมื่อกลับบ้านอีกครั้งเขาก็ลาออกจากโรงเรียน แต่คร่ำเคร่งเรียนภาษาฝรั่งเศสอย่างขมีขมัน ในปี 1953 เขากับแม่พากันโยกย้ายไปอยู่ปารีส โดยที่พ่อยังคงทำงานบริษัทในเยอรมนี ไม่ยอมไปไหน

หนุ่มคาร์ลพยายามเรียนเพิ่มชั้นมัธยมฯ ปลายในโรงเรียนเอกชน แต่ไม่สำเร็จ ความสามารถในการวาดรูปของเขาทำให้เขาได้งานเป็นนักวาดภาพแฟชั่น ตอนนั้นเรื่องเงินทองไม่เป็นปัญหา มีจัดส่งมาให้จากเยอรมนีอย่างไม่ขัดสน

จุดเริ่มต้นการเป็นนักออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียงของเขาเริ่มจากปี 1954 กับงานออกแบบชุดเสื้อโค้ตขนอูฐ ที่คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ในวัย 21 ปีสามารถคว้ารางวัล International Wool Association ในหมวด ‘ชุดราตรี’ พร้อมกันกับอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) จากจุดนั้นทำให้ ทั้งสองกลายเป็นคู่แข่งกันมาตลอด

ลาเกอร์เฟลด์ได้ของขวัญจากแม่เป็นรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ 190 SL เปิดประทุน ที่เขาขับไปประสบอุบัติเหตุแทบเอาชีวิตไม่รอด ต่อมาเขาจึงต้องมีคนขับรถไว้ใช้สอยตลอดเวลา รถโรลส์-รอยซ์สำหรับขับขี่นอกเมือง และเบนต์ลีย์สำหรับขับขี่ในเมือง

ปิแอร์ บาลแมง (Pierre Balmain) นำผลงานออกแบบเสื้อโค้ตของลาเกอร์เฟลด์ไปตัดเย็บ และนำลาเกอร์เฟลด์ไปเป็นช่างในห้องเสื้อ ความจริงครั้งนั้นคริสโตบาล บาเลนเซียกา (Cristóbal Balenciaga) กูตูริเยร์ที่มีชื่อเสียงของวงการก็ต้องการตัวเด็กหนุ่มผู้มีความสามารถคนนี้ไปอยู่ด้วย เพียงแต่ลาเกอร์เฟลด์ไม่เป็นที่ประทับใจของเขามากนัก

การเรียนรู้งานนำพาเขาเข้าสู่แฟชั่นชั้นสูง ทำงานตัดเย็บด้วยมือให้กับคนในสังคมเจ็ตเซ็ต ไม่นานลาเกอร์เฟลด์ก็เริ่มเบื่อกับการเป็นลูกมือหรือผู้ช่วย เพราะเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้

เมื่ออายุ 25 ปี เขาได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ที่ห้องเสื้อฌอง ปาตู (Jean Patou) จากนั้นไปต่อกับมาริโอ วาเลนติโน (Mario Valentino) และแบรนด์ Krizia ถึงตอนนั้นเขาเริ่มทำแฟชั่นชั้นสูงน้อยลง แต่ทำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น ไม่นานลาเกอร์เฟลด์ก็เปลี่ยนงานอีกครั้ง คราวนี้ย้ายไปนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Chloé

ผลงานของเขาได้รับการกล่าวขานถึงบ่อยครั้งในสื่อ กระทั่ง International Herald Tribune ยกย่องเขาเป็น ‘อัจฉริยะแห่งศตวรรษ’ รวมแล้วเขาทำงานอยู่กับโคลเอยาวนานถึง 34 ปี ควบคู่กันไปเขายังออกแบบน้ำหอมแรกในชื่อของเขาเอง และออกแบบคอลเล็กชันเสื้อขนสัตว์ให้กับแบรนด์ Fendi รวมทั้งก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้นมา และทำงานอิสระให้กับห้องเสื้อต่างๆ

ในกรุงปารีส คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ยังพบเจอกับความรักในชีวิตอีกด้วย เขาคนนั้นคือ ฌากส์ เดอ บาสแชร์ (Jacques de Bascher) ที่นำพาเขาสู่ความเจ้าสำอางและสำรวยของสังคม “เขาเป็นหนุ่มฝรั่งเศสที่สง่างามที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก”

ทั้งสองคบหาและใช้ชีวิตร่วมกันนาน 18 ปี โดยที่-ดูเหมือนว่า-ไม่เคยมีเซ็กซ์ด้วยกัน ทั้งที่เดอ บาสแชร์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเจ้าชู้ เขาเคยจัดงาน ‘Moratoire Noire’ ที่ลาเกอร์เฟลด์เป็นคนออกเงิน เชิญแขกเข้าร่วมปาร์ตี้สุดสวิงได้ถึง 1,500 คน ครั้งหนึ่งลาเกอร์เฟลด์เคยจับได้ว่าเดอ บาสแชร์มีอะไรกับอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ทำให้คู่แข่งในวงการต้องถูกจับขังไว้ในตู้ แต่ต่อมาดีไซเนอร์ทั้งสองก็ปรองดอง รักกันฉันเพื่อนไปตลอดชีวิต

เรื่องเซ็กซ์ดิบเถื่อนและยาเสพติดนั้น ลาเกอร์เฟลด์มักถอยตัวออกห่าง เขาเคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ผมเป็นคนดีมากๆ แต่ผมก็มองว่าการผจญภัยของฌากส์เป็นเรื่องสนุก”

แต่แล้วชายคนรักของเขาก็ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงทศวรรษ 1980s ลาเกอร์เฟลด์คอยเฝ้าดูแลอยู่ข้างกายจนกระทั่งเขาสิ้นลม

นับตั้งแต่ปี 1983 คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ได้ครองตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ Chanel ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในช่วงวิกฤตรุนแรง ความหลากหลายของลาเกอร์เฟลด์ช่วยนำพาเครื่องแต่งกายของชาเนลฝ่าวิกฤตมาถึงจุดเปลี่ยนได้ ด้วยการอนุรักษ์ความคลาสสิกไว้ แต่เพิ่มดีกรีความเซ็กซี่ลงไป

ไม่ช้าเขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบไป ‘ชั่วชีวิต’ ให้กับทุกไลน์ของแบรนด์ ลาเกอร์เฟลด์มักนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวโยงกับสไตล์ของโคโค ชาเนล (1883-1971) จนทำให้ทุกวันนี้ชาเนลเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกแบรนด์หนึ่งก็ว่าได้

คำว่าหยุดหรือพักไม่เคยมีอยู่ในสมองของลาเกอร์เฟลด์ เขาทำงานออกแบบถึง 16 คอลเล็กชันต่อปี บางปีก็มากกว่านั้น ราวกับคนบ้างาน ซึ่งเขาเองเคยบอกว่า “ผมเป็นโรคจิตของวงการแฟชั่นที่ไม่เคยถึงจุดสุดยอด”

นอกจากงานด้านการออกแบบ เขายังประสบความสำเร็จในฐานะช่างภาพ เช่นกัน เขาเริ่มจากถ่ายภาพบรรดานางแบบนายแบบของตนเอง ต่อมาก็ทำงานให้กับนิตยสาร และพิมพ์หนังสือภาพ ไม่ว่านางแบบคนโปรดอย่างเคลาเดีย ชิฟเฟอร์ ปรินเซสคาโรลีนแห่งโมนาโค หรือศิลปินอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ ล้วนทำให้ลาเกอร์เฟลด์เป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพทั้งนั้น ในภายหลังเขายังร่วมงานกับสำนักพิมพ์ของแกร์ฮาร์ด ชไทเดิล (Gerhard Steidl) พิมพ์งานต่างๆ ทั้งหนังสือภาพถ่าย และงานศิลปะ

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เป็นคนแรง ทั้งกับตนเองและคนอื่นๆ เขาใช้ชีวิตตามอุดมคติที่ว่า “ผมสนใจแค่ความเห็นของตัวเองเท่านั้น” เขาเคยกล่าวเสียดสีคนดังหลายคนในวงการ ไม่ว่าท็อปโมเดล (“ไฮดี คลูม เป็นใครเหรอ”) และคู่แข่งตั้งแต่ยิล ซานเดอร์ จนถึงโวล์ฟกาง โยป (“เขาเป็นที่รู้จักของสากลโลกตั้งแต่เมื่อไหร่”) แทบไม่มีเรื่องไหนหลุดรอดจากเสียงวิจารณ์ที่แสบสันต์ของเขา ไม่ว่าความรัก ชีวิต ศิลปะ การเมือง… ลาเกอร์เฟลด์มักแสดงทัศนะในทุกประเด็น

ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต เขาเคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Point ว่าเขา ‘เกลียด’ การเมืองเรื่องผู้อพยพของอังเกลา แมร์เคล ที่เธอตัดสินใจรับเอาผู้อพยพนับล้านเข้าในเยอรมนี เพียงเพราะเธอต้องการแค่สร้างภาพเป็นแม่พระเท่านั้น และนั่นเท่ากับเป็นการปูทางให้พรรค AfD ฝ่ายขวาจัดเข้าสู่รัฐสภาในปี 2018 และตอนนี้ “พวกนีโอนาซีนับร้อยก็เข้าไปนั่งในสภา” เพราะแมร์เคล ‘ลืม’ ประวัติศาสตร์ชาติเยอรมัน

ลาเกอร์เฟลด์มีเพื่อนไม่มาก ยิ่งเป็นญาติในครอบครัวตัวเองด้วยแล้วเขายิ่งไม่ใส่ใจ เขามีลูกบุญธรรมเจ็ดคน ในจำนวนนั้นมีเพียงสองคนเท่านั้นที่เขาใส่ใจเป็นพิเศษ

หลังจากเดอ บาสแชร์เสียชีวิต ยังมีผู้ชายเข้ามาในชีวิตของเขาเรื่อยๆ แต่เขาไม่เคยตกหลุมรักใครเหมือนเช่นเดอ บาสแชร์อีก บับติสต์ เจียบิโคนี (Baptiste Giabiconi) เคยเป็นนายแบบคนโปรดของเขาอยู่ระยะหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีข่าวระหว่างเขากับบอดี้การ์ด-เซบาสเตียง ฌองโด (Sébastien Jondeau) ซึ่งลาเกอร์เฟลด์บอกแค่ว่า “เป็นอะไรมากกว่าเพื่อน”

อาจเป็นไปได้ที่ลาเกอร์เฟลด์จะใช้เงินซื้อความใกล้ชิด หากเขามีความต้องการ และ “ผมชอบเอสคอร์ตชั้นสูง” สื่อในเยอรมนีเคยบันทึกประโยคนี้ที่เขากล่าว แต่ส่วนใหญ่แล้วเขามักใช้เวลาอยู่กับตัวเองตามลำพัง และกับคนรับใช้ใกล้ชิดในบางเวลา เป็นแม่บ้านสองคนกับพ่อครัวส่วนตัวอีกหนึ่งคน และกับแมวชื่อ ‘ชูเป็ตต์’-แมวที่มีชื่อเสียงระดับโลก

แมวสายพันธุ์พม่าเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เขาอนุญาตให้นอนร่วมเตียงด้วยได้ พอล ซาห์เนอร์ (Paul Sahner) นักเขียนหนังสือชีวประวัติเคยตั้งข้อสังเกตหลังจากแวะเวียนไปสัมภาษณ์ลาเกอร์เฟลด์ที่บ้านว่า เตียงที่ลาเกอร์เฟลด์นอนเป็นเตียงที่ไม่กว้างเลย และเขาได้คำตอบจากลาเกอร์เฟลด์ในเรื่องนี้ “ผมเกลียดมากเวลามีใครมานอนค้างเตียงเดียวกับผม” เขาไม่อยากเห็นหน้าตาของใครคนนั้นในยามเช้า และใครคนนั้นก็ไม่ควรเห็นว่าหน้าตาของเขาเป็นอย่างไรด้วย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์เสียชีวิตในกรุงปารีส ด้วยวัย 85 ปี หรือตัวเขาอาจจะแย้งว่า 83 ปี เพื่อให้ตัวเองอายุน้อยลงอีกหน่อย เขาคือคนทำแฟชั่นชาวเยอรมันคนสำคัญ ที่เปรียบเสมือนไอคอนในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ เป็นตัวแทนแห่งโลกของคนมั่งคั่งและสวยงาม ที่มีสไตล์และไม่มีใครลืมเลือน

อ้างอิง:    

https://www.zeit.de/zeit-magazin/mode-design/2019-02/karl-lagerfeld-modeschoepfer-designer-paris-chanel-tot-nachruf/seite-2

https://www.ndr.de/kultur/Karl-Lagerfeld-Legendaerer-Modezar-mit-Spleen,karllagerfeld102.html

https://www.faz.net/aktuell/stil/mode-design/karl-lagerfeld-die-entdeckung-eines-anfaengers-16626492.html?fbclid=IwAR1uG4zoPb9hwf5IV0R2-j8lScFdeXIfkiQqfnl81SEvJM-QC_CUsHxuJt0

https://www.youtube.com/watch?v=XPt1dAwHM_o

ภาพ: CHANEL

Tags: , ,