ในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับผู้คนแล้วเป็นเรื่องยากจะเข้าใจว่า ยูโกสลาเวียจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหากปราศจากผู้นำอย่างโยซิป บรอซ หรือที่เรียกขานกันว่า ‘ติโต’ (Josip Broz Tito) เขาเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชนหลากชาติพันธุ์ที่รวมกันเป็นประเทศสังคมนิยมหนึ่งเดียวบนคาบสมุทรบอลข่าน เขาเปรียบเสมือน ‘บิดาแห่งประชาชนและชนชาติยูโกสลาเวีย’ ที่ผสานราชอาณาจักรเซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนียหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งให้เป็นประเทศเดียว
โยซิป บรอซ เกิดเมื่อปี 1892 ที่หมู่บ้านคุมโรเวค ใกล้พรมแดนระหว่างสโลวีเนียและโครเอเชียที่ก่อนเคยเป็นอาณาจักรของราชวงศ์ฮับสบวร์ก เป็นลูกคนที่เจ็ดของครอบครัวชาวนา ร่ำเรียนสาขาอาชีพช่างทำกุญแจจนสำเร็จก่อนเข้าร่วมพรรคสังคมนิยมโครเอเชียในปี 1910 ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพ ปี 1915 ถูกจับเป็นเชลยสงครามของฝ่ายรัสเซีย ทันได้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติพระเจ้าซาร์ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งระหว่างนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย จากนั้นเขาก็เข้าร่วมกับ League of Communists of Yugoslavia พรรคคอมมิวนิสต์ต้องห้ามในยูโกสลาเวีย
ตั้งแต่ปี 1934 ที่เขาเริ่มใช้ชื่อแฝงว่า ‘ติโต’ และเข้าร่วมกลุ่มปฏิวัติ ทำให้ชีวิตของเขาพลิกเปลี่ยนสู่กระบวนการใต้ดิน เพื่อหลบหนีการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลยูโกสลาเวียในช่วงเวลานั้น ต่อมาติโตมีโอกาสได้ไปทำงานให้กับองค์กรคอมมิวนิสต์สากลในกรุงมอสโก และสร้างกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครฝ่ายซ้ายในกรุงปารีส เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ในสงครามกลางเมืองสเปน
หลังจากนั้นการเติบใหญ่ทางการเมืองของติโตก็พุ่งพรวด จนได้ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่เขาปรับเปลี่ยนองค์กรเสียใหม่นับแต่ปี 1937 ตามแนวทางของสตาลิน ติโตยึดถือนโยบายของพรรคอย่างคงเส้นคงวา แม้ในช่วงเวลาที่เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์เข้ารุกรานยูโกสลาเวีย วันที่ 6 เมษายน 1941 กองทัพเยอรมันเข้ายึดครองประเทศได้โดยไม่ต้องประกาศศึก กองทัพของยูโกสลาเวียยอมจำนนภายในสิบเอ็ดวันหลังจากเยอรมนีคุกคาม ดินแดนของยูโกสลาเวียยามนั้นถูกจัดสรรปันส่วนภายใต้การถือครองของเยอรมนี อิตาลี อัลบาเนีย บัลแกเรีย และฮังการี
ในโครเอเชียและบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา กลุ่มฟาสซิสต์อูสตาซา หรือขบวนการปฏิวัติโครเอเชีย ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของฮิตเลอร์และมุสโสลินีได้จัดตั้งระบอบการปกครองที่น่ากลัวกว่าขึ้น ในขณะที่เซอร์เบีย บอสเนียตะวันออก และมอนเตเนโกรกลับมีการรวมกลุ่มต่อต้านอำนาจผู้รุกราน แต่คอมมิวนิสต์ในยูโกสลาเวียยังวางตัวสงบตามคำสั่งของมอสโก จนกระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน 1941 เมื่อฮิตเลอร์เคลื่อนทัพบุกโจมตีสหภาพโซเวียต การรวมตัวของ ‘กองทัพประชาชนเพื่อการปลดปล่อย’ ภายใต้การนำของติโตจึงเริ่มขึ้น และปฏิบัติการปลดแอกจนสำเร็จในปี 1944
หลังสิ้นสุดสงคราม ติโต-ผู้นำกองกำลังปลดปล่อย ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำรัฐบาลของยูโกสลาเวีย เขาทำการปฏิวัติสังคมตามต้นแบบสังคมนิยม จัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชน และเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้เข้าเป็นกิจการของรัฐ ผิดกับยูโกสลาเวียในระหว่างสงครามที่ผู้คนแตกแยกเป็นหมู่เหล่า ทั้งนักรบปลดแอกและกลุ่มต่อต้านสหภาพโซเวียต ติโตเป็นคนช่วยให้กลุ่มประเทศตะวันออกรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ด้วยการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศของเขาให้เป็นหนึ่งเดียว
ติโตเชื่อมั่นใน ‘วิถีที่สาม’ ซึ่งเป็นสังคมนิยมที่มีใบหน้ามนุษย์ แนวทางการตลาดอย่างเช่นการท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งการเปิดให้เดินทางโดยเสรี ให้ประชาชนมีโอกาสไปเป็นแรงงานในต่างแดนทำให้ยูโกสลาเวียมีรายได้สะพัดมากขึ้น และยูโกสลาเวียกลายเป็นประเทศเสรีที่สุดในกลุ่มประเทศสังคมนิยมในขณะนั้น
แต่ด้านมืดของระบอบก็ยังมีปรากฏ หน่วยสืบราชการลับของติโตยังคอยเฝ้าจับตาฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และมักปฏิบัติการด้วยวิธีที่โหดเหี้ยม ติโตต้องจัดฉากให้ภาพการปกครองโดยผู้นำคนเดียวของเขามีภาพลักษณ์ที่ดี ขณะเดียวกันก็พยายามใช้เครือข่ายการปกครองของเขากดดัน เพื่อให้ผู้คนหลากเชื้อชาติศาสนาในยูโกสลาเวียอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
คอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียติดตามไล่ล่าชำระโทษฝ่ายค้านทุกคนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เป็นการยึดอำนาจตามตำราของมอสโก แต่ความขัดแย้งลึกๆ ระหว่างติโตกับสตาลินก็เกิดขึ้น ยูโกสลาเวียที่เชื่อมั่นในตัวเองและมีความทะเยอทะยานมองว่าเผด็จการในเครมลินนั้นด่วนได้และเอาแน่เอานอนไม่ได้เกินไป จากเหตุผลที่ยูโกสลาเวียถูกครอบครัวสังคมนิยมแบนโดยการลงมติ ทำให้กลายเป็นประเทศโดดเดี่ยวท่ามกลางสงครามเย็นที่เกิดขึ้นระหว่างขั้วตะวันออกและตะวันตก
ตลาดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของยูโกสลาเวียยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปขึ้นในฮังการีและเชโกสโลวะเกียในช่วงระหว่างปี 1956-1968 อีกทั้งยังเป็นโมเดลที่ปลุกความสนใจบรรดานักสังคมประชาธิปไตยและนักการเมืองฝ่ายซ้ายในเยอรมนีตะวันตก กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และสหรัฐอเมริกา ผลที่ตามมาคือ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกยื่นมือให้การสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจเสรีของติโต และไม่เพียงประเทศในตะวันตกเท่านั้น ติโตยังผูกไมตรีกับอีก 24 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาด้วย
ผลร้ายของการเปิดเสรีเริ่มปรากฏในตอนต้นทศวรรษ 1970s เมื่อประชาชนในรัฐโครเอเชียเริ่มมีเสียงเรียกร้องเรื่องการปกครองตนเอง จนติโตต้องปิดฉาก ‘ฤดูใบไม้ผลิโครเอเชีย’ ด้วยการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วง หรือในรัฐอื่นๆ ก็เริ่มมีการพูดถึงทางออกด้วยวิธีแยกตัวของยูโกสลาเวีย ติโตตัดสินใจทบทวนอีกครั้งในปี 1974 ด้วยการปฏิรูปกฎหมาย ให้สาธารณรัฐมีสิทธิ์ในการปกครองตนเองมากขึ้น
นอกเหนือจากบทบาทผู้นำ ติโตชอบที่จะเล่นบทบาทชายผู้มีชีวิตชีวา เขามีแรงปรารถนาในสามสิ่ง นั่นคือ การเมือง อาหารการกิน และผู้หญิง เขาเคยผ่านการแต่งงานถึงสี่ครั้งในชีวิต ภรรยาคนสุดท้ายของเขาคือ โยวันกา (Jovanka Broz) ที่ครั้งหนึ่งเคยกล่าวถึงสามีว่า “เขานิยมชมชอบผู้หญิงมากกว่าสุลัยมานผู้เกรียงไกรเสียอีก”
ติโตชอบเข้าสังคมและมักเชื้อเชิญใครๆ ร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร ไปดูหนังรอบปฐมทัศน์ หรือให้การต้อนรับขับสู้ ติโตชอบดื่ม แม้ในช่วงเวลากลางวัน เขาเคยบอกว่า วินสตัน เชอร์ชิลล์น่าจะเป็นคนสอนให้เขารู้จักวิธีดื่มอย่างถูกต้อง
อดีตภรรยาของติโตเคยเล่าว่า เขาเป็นคนมีอารมณ์ขัน ชอบหัวเราะ และไม่เคยเคร่งเครียดกับเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางครั้งที่เขามีโทสะกับใครอย่างหุนหันพลันแล่น เมื่อรู้สึกตัวเขาจะผ่อนคลายบรรยากาศด้วยเสน่ห์ของเขา
25 พฤษภาคม 1979 ติโตเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 87 ของเขาในสภาพร่างกายที่ยังแข็งแรง แต่เมื่อย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วงสุขภาพของเขาเริ่มทรุดลง จนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์ในเมืองลุบยานา (สโลวีเนีย) หลังจากแพทย์ทำการรักษาอยู่นาน ท้ายที่สุดอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ขาข้างซ้ายก็เป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตในตอนบ่ายของวันที่ 4 พฤษภาคม 1980
ศพของติโตถูกลำเลียงด้วยรถไฟขบวนพิเศษไปยังกรุงเบลเกรด ชาวยูโกสลาเวียกว่าครึ่งล้านไปเฝ้ารอส่งวิญญาณที่สถานีตามรายทาง
พิธีศพอย่างเป็นทางการวันที่ 8 พฤษภาคม 1980 มีผู้นำและนักการเมืองระดับสูงจาก 127 ประเทศเข้าร่วมงาน (ในจำนวนนั้นมีกษัตริย์ 4 พระองค์ ประธานาธิบดี 31 คน เจ้าชาย 6 พระองค์ นายกรัฐมนตรี 22 คน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ 47 คน) นับเป็นเกียรติสูงสุดของผู้นำนักสู้จากชนชั้นชาวนา
หลังความตายของติโต แรงเหวี่ยงของสาธารณรัฐที่บอบบางก็เริ่มทำให้เกิดรอยร้าว กอปรกับภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ ในจังหวัดโคโซโวของเซอร์เบียซึ่งมีประชากรเป็นชาวอัลแบเนียนถึง 90 เปอร์เซ็นต์เริ่มมีข้อเรียกร้องในการปกครองตนเองจนเป็นเหตุให้เกิดจลาจล สโลโบดาน มิโลเซวิตช์ (Slobodan Milosevic) หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เซอร์เบีย ที่ต่อมาได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของยูโกสลาเวีย ออกมาปลุกกระแสประชาชนให้จงรักภักดีต่อชาติ
สิทธิและเสรีภาพของโคโซโวเริ่มถูกจำกัดมากขึ้น เมื่อมีการผ่านร่างกฎหมายใหม่ในเดือนมีนาคม 1989 อันมีผลให้โคโซโวต้องสูญเสียสิทธิในการปกครองตนเอง
การเลือกตั้งในปี 1989/1990 พรรคการเมืองฝ่ายขวาส่วนใหญ่ได้รับชัยชนะ และพยายามจะเปลี่ยนยูโกสลาเวียให้กลับมาเป็นประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเช่นเดิม ทว่าล้มเหลว เมื่อสโลวีเนียและโครเอเชียประกาศถอนตัวออกจากยูโกสลาเวียในปี 1991 ซึ่งนั่นหมายถึงจุดจบของยูโกสลาเวีย
และทศวรรษ 1990s แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลง แต่สงครามที่คาบสมุทรบอลข่านค่อยๆ ปะทุขึ้น
อ้างอิง:
Tags: ยูโกสลาเวีย, โยซิป บรอซ, ติโต