ชีวิตของสตรีหมายเลขหนึ่งต้องพลิกผัน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963 ระหว่างที่เธอและสามีโดยสารบนรถลินคอล์น คอนติเนนทัลเปิดประทุน ผ่านย่านใจกลางเมืองของดัลลาส แล้วจู่ๆ ก็มีกระสุนปืนพุ่งเป้าไปที่รถ

จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกกระสุนปืนเจาะที่กะโหลกศีรษะ ส่วน แจ็กกี-ภริยา นั่งตะลึงงันอยู่ข้างตัวเขา และคงพอจะรู้ในสิ่งที่หมอกล่าวยืนยันในชั่วโมงต่อมาว่า เจเอฟเค-สามีของเธอที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เปี่ยมด้วยความหวังของประเทศมาได้สองปีนั้น เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร

แจ็กกี เคนเนดี ในวัย 34 ปีตกที่นั่งสตรีม่าย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังมีความทุกข์ใจที่ต้องแบกรับการสูญเสียลูกสองคน เพราะก่อนหน้านั้น ในปี 1956 อราเบลลา (Arabella) ลูกสาวคนแรกเสียชีวิตระหว่างคลอด และในเดือนสิงหาคม 1963 ก่อนหน้าสามีเสียชีวิต แพทริก (Patrick) ลูกชายอีกคนก็เสียชีวิตภายหลังคลอดก่อนกำหนด ทารกน้อยมีชีวิตได้เพียงสองวันเท่านั้น

ยังดีอยู่ว่า ครั้งที่ลูกชายคนที่สอง-จอห์น เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ (John F. Kennedy Jr.) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 1999 นั้น แจ็กกี เคนเนดีมีชีวิตอยู่ไม่ถึงการรับรู้ ทุกวันนี้ ยังคงเหลือสมาชิกครอบครัวเพียงหนึ่งเดียว คือ ลูกสาว-แคโรลีน (Caroline) เกิดเมื่อปี 1957 ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักการทูต

ภาพลักษณ์สตรีผู้มีสไตล์

พิธีฝังศพประธานาธิบดีมีขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 1963 ที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน ตามรายงานของนิวยอร์ก ไทม์ส มีคนติดตามข่าวนี้ถึงล้านคน และมีรายงานข่าวไปทั่วโลก ภาพของม่ายวัยสาว สวมผ้าคลุมสีดำปิดใบหน้า จูงมือลูกเล็กสองคนข้างกาย สะท้อนถึงความมีสติที่หนักแน่นของเธอ

แจ็กกี เคนเนดี ในช่วงทศวรรษ 1950s-1960s เป็นภาพลักษณ์ตัวอย่างของสังคม แม้จะยืนเคียงข้างสามีตลอดเวลา แต่เงาที่ยิ่งใหญ่ของเจเอฟเคก็ไม่เคยบดบังเธอ สไตล์การแต่งกาย ความมีอัธยาศัยไมตรี และความเชื่อมั่นในตัวเองของเธอโดดเด่นจนเห็นได้ชัด และห่างไกลจากคำว่า ‘คู่ขวัญแจ็กกี & จอห์น’ ที่สื่อพยายามตั้งให้

ในความเป็นจริงแล้ว แจ็กกี เคนเนดี ต้องอมทุกข์บ่อยครั้ง เพราะต้องละวางจากงานอาชีพนักประวัติศาสตร์และนักเขียนที่เธอชอบ อีกทั้งงานนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน ไทม์ส-เฮรัลด์ ที่เธอก็ต้องปลดวาง ภาระหน้าที่แม่และสตรีหมายเลขหนึ่งทำให้เธอต้องผูกติดอยู่กับทำเนียบขาว

สามเดือนหลังจากเหตุการณ์ลอบสังหาร แจ็กกี เคนเนดีต้องนั่งสัมภาษณ์กับ อาร์เธอร์ ชเลสซิงเกอร์ (Arthur Schlesinger) ที่ปรึกษาของเจเอฟเคนานกว่าเจ็ดชั่วโมง เกี่ยวกับวันเวลาของเธอในทำเนียบขาวและทรัพย์สินที่ตกทอด เธอรับรู้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่า เธอยังต้องแบ่งปันเจเอฟเคกับใครอีกหลายคน แต่ไม่นึกฝันว่าในจำนวนนั้น จะมีมาริลีน มอนโร เจย์น แมนส์ฟีลด์ หรือสาวงามแห่งฮอลลีวูดอื่นๆ ด้วย

ข่าวฉาวของเจเอฟเค

ปี 1960 ไม่นานหลังจากเจเอฟเคได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี แจ็กกีก็เริ่มเข้าไปดูแลเรื่องการบูรณะทำเนียบขาว และหลังจากใช้งบที่มีไปจนหมด เธอยังประกาศขอรับบริจาคเครื่องเรือนโบราณจากพิพิธภัณฑ์และนักสะสม เธอปรับเปลี่ยนที่พำนักใหม่ให้เป็นแหล่งเก็บงานศิลปะและวัตถุโบราณ พร้อมเปิดบ้านให้สื่อทีวีเข้าชมในเดือนกุมภาพันธ์ 1962

ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับการนอกใจของสามีเป็นที่รับรู้กันในสังคมชาวอเมริกัน ในจำนวนนั้นมี เอลเลน โรเมตช์ (Ellen Rometsch) นางแบบสาวที่ต่อมาเอฟบีไอสงสัยว่าเธอเป็นสายลับ หรือสาวสังคม-จูดิธ เอ็กซ์เนอร์ (Judith Exner) แจ็กกี เคนเนดีเคยเขียนจดหมายถึงคนที่เธอไว้ใจหลังการแต่งงานกับเจเอฟเค “มันเป็นโลกที่คนข้างนอกอาจมองว่าสวยหรู แต่ข้างในเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวเหมือนนรก”

แจ็กเกอลีน ลี บูวีเยร์ (Jacqueline Lee Bouvier) เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1929 เติบโตขึ้นในครอบครัวนายธนาคารที่มั่งคั่งในเซาธ์แฮมตัน (ลองไอส์แลนด์) ซึ่งเป็นถิ่น ‘คนร่ำรวยและสวยงาม’ ราวกับตัวละครในนิยาย The Great Gatsby ของเอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ต่อมา ครอบครัวบูวีเยร์ได้ย้ายเข้าไปอยู่อพาร์ตเมนต์ ในย่านหรูของฟิฟธ์ อเวนิว ใจกลางแมนฮัตตัน

แจ็กกีรู้จักกับสามีในอนาคตเมื่อเดือนพฤษภาคม 1952 เมื่อเธอได้รับมอบหมายจากหนังสือพิมพ์วอชิงตัน ไทม์ส-เฮรัลด์ ให้ไปสัมภาษณ์จอห์น เอฟ. เคนเนดี สมาชิกสภาคองเกรสวัย 35 และงานนั้นดูเหมือนจะเป็นชะตากรรมของเธอ ทั้งสองพบกันครั้งแรกในงานดินเนอร์ปาร์ตี เคนเนดีผู้ทะเยอทะยานพอได้เจอหญิงสาวหน้าตาดี งามสง่า เหมาะสมที่จะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง เขาจึงหมายปองเธอเป็นคู่ หลังจากนั้นทั้งสองก็เข้าพิธีแต่งงานเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1953 ในรัฐแมสซาชูเส็ตส์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของตระกูลเคนเนดีที่ทรงอำนาจ

 ฝันร้ายในชีวิตคู่

คนในตระกูลเคนเนดีดูเหมือนจะไม่ยี่หระกับสะใภ้คนใหม่มากเท่าไร แทบไม่มีใครให้ค่ากับสไตล์และความคิดของเธอเลย บรรดาน้องสาวของเจเอฟเคพากันตั้งชื่อเล่นให้แจ็กกีว่า ‘เดบูตองต์’ (สาวแรกรุ่นเปิดตัวเข้าสังคมชั้นสูง) เพราะพวกเธอต่างเชื่อว่า แม่สาวจากตระกูลบูวีเยร์ไม่มีทางปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับคนในตระกูลเคนเนดีได้

แจ็กกี เคนเนดีรู้จักปัญหาชีวิตคู่ไม่เพียงแต่จากมุมส่วนตัว หากเคยประสบจากพ่อแม่ด้วย พ่อแม่ของเธอ-แจ็ก (Jack) และเจเน็ต (Janet) ซึ่งเคยเป็นคู่ขวัญคล้ายจอห์นกับเธอ ก็หย่าร้างกันเมื่อตอนเธออายุ 11 ขวบ 

นอกจากนี้ แจ็กกีเองเจอปัญหาชีวิตคู่ของตัวเองอีกครั้งเมื่อเธอแต่งงานใหม่กับอริสโตเตเลส โอนาสซิส (Aristoteles Onassis) ระหว่างครองคู่กันนับจากปี 1968 จนถึงปี 1975 ที่มหาเศรษฐีกรีกเสียชีวิต บรรยากาศในชีวิตคู่ไม่ราบรื่นนัก โอนาสซิสอายุ 62 ปีแล้วตอนที่เขาแต่งงานกับแจ็กกี ในขณะที่เธออายุเพียง 39 ปี แต่ช่องว่างระหว่างวัยนั้นสร้างปัญหาให้กับตระกูลโอนาสซิสไม่น้อยทีเดียว

หลังจากทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง โอนาสซิสส่งช่อดอกไม้ให้แจ็กกีทุกวัน พร้อมรหัสลับ J.I.L.Y (แจ็กกี, ผมรักคุณ) รวมทั้งเครื่องประดับและเงินสด ในใจหวังใขว่คว้าหญิงงามเป็นถ้วยรางวัลให้ชีวิต ในขณะที่เธอเรียกร้องเงิน 20 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าปัจจุบันราว 200 ล้านดอลลาร์) สัญญาลับที่มาพร้อมใบสมรสคือ เงินสด 3 ล้านดอลลาร์ (จ่ายทันที) และเงินเลี้ยงดูอีก 300,000 ดอลลาร์ต่อปี ทั้งสองจัดพิธีแต่งงานบนเกาะสกอร์ปิออสของฝ่ายชาย ท่ามกลางทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 75 คน และกลุ่ม jet-set (กลุ่มคนรวยที่ชอบเดินทางด้วยเครื่องบินไอพ่น) ของฝ่ายหญิงอีกคณะหนึ่ง

แต่ช่วงเวลาที่ยังใช้ชีวิตคู่ อริสโตเตเลส โอนาสซิสกลับนอกใจภรรยา ไปมีความสัมพันธ์กับมาเรีย คัลลาส (Maria Callas) นักร้องโอเปรา เรื่องนี้เป็นภาระหนักอกอย่างยิ่งของแจ็กกี โอ. จนเธอต้องหาทางออกด้วยการทำในสิ่งที่ชอบ นั่นคือ เดินทาง และช็อปปิง

โอนาสซิสเคยรู้สึกผิดหวังกับการแต่งงาน “แจ็กกีเป็นความผิดพลาดราคาแพงที่สุดในชีวิต” วันครบรอบวันเกิดปีที่ 40 ของแจ็กกี เขามอบเครื่องเพชร ‘Lesotho III’ 40.42 กะรัตแก่เธอ แต่กว่าที่จะเอ่ยปากขอหย่าได้ โอนาสซิสก็สิ้นใจตายด้วยโรคกล้ามเนื้อที่คลินิกแห่งหนึ่งในกรุงปารีสเสียก่อน

หลังความตายของโอนาสซิส เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นเกี่ยวกับมรดก แต่ท้ายที่สุดแล้ว คริสตินา (Christina) ลูกสาวของโอนาสซิสก็ยอมตัดส่วนแบ่งให้แจ็กกี โอ. เป็นเงิน 27 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ความจริงแล้ว ทรัพย์สินที่แจ็กกีได้รับจากเจเอฟเคก็ยังมีมากพอให้เธอได้ใช้จ่ายอย่างไม่เดือดร้อน

ความแค้นและความสุข

อาจจะด้วยอารมณ์หึงหวง คั่งแค้น แจ็กกี เคนเนดีเคยเผลอใจแอบไปชอบบ็อบบี หรือโรเบิร์ต เคนเนดี (Robert Kennedy) น้องสามีที่มีภรรยาแล้วและลูก 11 คน

เธอเคยจูบปากกับมาร์ลอน แบรนโด เคยแอบมีเพศสัมพันธ์กับอริสโตเตเลส โอนาสซิส บนเรือยอชต์ ‘คริสตินา’ (มูลค่า 99 ล้านดอลลาร์) ขณะที่เจเอฟเคยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้น เธอยังมีสัมพันธ์รักกับดาราฮอลลีวูด อาทิ วิลเลียม โฮลเดน หรือวอร์เรน เบ็ตตี รวมทั้งแฟรงค์ ซินาตรา และชายคนสุดท้ายที่อยู่ข้างกายเธอ เป็นมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจเพชรชื่อ มอรีซ เทมเปิลส์แมน (Maurice Templesman)

แจ็กกี เคนเนดีเสียชีวิตอย่างปริศนา ในวัย 64 ปี ในอพาร์ตเมนต์ขนาดสิบสี่ห้องริมถนนฟิฟธ์ อเวนิว สาเหตุอาจมาจากมะเร็ง ปอดอักเสบ ความอ่อนล้าในชีวิต หรือหลายๆ อย่างรวมกันเป็นค็อกเทล

ว่ากันว่า ช่วงเวลาที่เธอมีความสุขที่สุดในชีวิตของแจ็กกี เคนเนดีคือระหว่างปี 1949-1950 ขณะเป็นนักศึกษาอยู่ที่วัสซาร์ คอลเลจ ของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ในกรุงปารีส เธอเรียนภาษา (ฝรั่งเศส-สแปนิช-อิตาเลียน) ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ระหว่างนั้น เธอเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย และจัดตั้งกลุ่มวัฒนธรรม

ช่วงเวลาเหล่านั้นติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเธอตราบจนวันตาย

อ้างอิง:     

Tags: , ,