มันเป็นวันเกิดครบรอบปีที่ 14 ของจอห์น กริมส์ เสียดายที่แม่ของเขาลืม จึงเตรียมอาหารเช้าเหมือนเช่นทุกวันให้ เป็นข้าวโพดคนกับเบคอน จอห์นนั่งร่วมโต๊ะกับพี่น้องสามคนและแม่ของเขาในห้องครัวแคบๆ และสกปรก

ไม่มีวิธีไหนที่แม่จะทำความสะอาดมันได้ คราบสกปรกฝังแน่นบนผนัง บนพื้น และใต้อ่างล้างจาน ที่ซึ่งแมลงสาบชอบไปทำรัง มันฝังติดอยู่กับร่องด้ามจับหม้อและกระทะที่แม้จะขัดทุกวัน แขวนไว้บนผนังเหนือหลุมเตาที่เต็มไปด้วยคราบเขม่าสีดำ…เราอยู่กันที่ฮาร์เล็ม นิวยอร์ก ในปี 1935

Go Tell It on the Mountain เป็นหนังสือนิยายเรื่องแรกที่ เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เขียนขึ้นเมื่อ 65 ปีที่แล้ว เล่าเรื่องราวผ่านเด็กชายวัย 14 ถึงการเหยียดสีผิวที่คนผิวดำในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ ถึงปัจจุบัน ประเด็นนี้ยังเข้มข้นไม่จางหาย

ยายของจอห์น เมื่อครั้งยังเป็นทาสแรงงานในไร่ทางตอนใต้บอกว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้น กับความปีติของเธอ กับเสียงนกหวีดยามเย็น กับสามีของเธอในยามค่ำ กับลูกๆ ที่เธอกล่อมนอน กับความตาย การพลัดพราก และแส้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เธอไม่เคยลืมอิสรภาพ เสมือนเป็นคำสัญญาว่ามันจะมาถึง เธอต้องอดทนเท่านั้น และต้องเชื่อใจในพระเจ้า”

ตามท้องเรื่อง ป้าและพ่อเลี้ยงของจอห์นเกิดและเติบโตในตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ภายหลังการประกาศเลิกทาสอย่างเป็นทางการ ป้าฟลอเรนซ์ของเขาเดินทางมุ่งหน้าไปทางเหนือเมื่อโตเป็นสาวรุ่น ถิ่นทางเหนือให้คำมั่นต่อความหวังในการก่อร่างสร้างตัว การศึกษา การงาน ตรงข้ามกับถิ่นทางใต้ที่มีแต่การเหยียดผิวและความเป็นทาส แต่ท้ายที่สุดแล้วความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างถิ่นเหนือและถิ่นใต้ก็คือ “ถิ่นเหนือให้คำสัญญามากกว่า” และ “เป็นคำสัญญาที่ไม่มีใครยึดมั่น”

จอห์น กริมส์ เด็กผิวดำ อารมณ์อ่อนไหว ไม่ประสาในเรื่องเพศ อาวุธอย่างเดียวที่เขามีไว้สำหรับป้องกันตัวก็คือ จิตสำนึก จอห์นโหยหาที่จะตัดสินชะตาชีวิตด้วยตนเอง ไม่ต้องมีแม้พ่อเลี้ยง-นักเทศน์ที่เขารัก ไม่ต้องมีพระเจ้าที่เขาตามหา เมื่อวันหนึ่งซึ่งครบรอบวันเกิดปีที่ 14 รอย-พี่ชายของเขากลับมาบ้านพร้อมรอยแผลจากมีดแทง

วันนั้นเองที่จอห์นเกิดความกล้าขึ้นมา…ความกล้าที่ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปจากเดิมเท่านั้น

‘เจมส์ บอลด์วิน’ เลือดเนื้อเชื้อไขของทาสคนหนึ่ง

ระหว่างการสัมภาษณ์กับสถานีบีบีซีในปี 1963 มีคำถามหนึ่งว่า นามสกุล ‘บอลด์วิน’ ของเขามาจากไหน?

เจมส์ บอลด์วินพูดตอบว่า “มันเป็นนามสกุลของพ่อผม และพ่อของผมเป็นลูกชายของทาสคนหนึ่ง นามสกุลนี้มาจากนายของปู่ผม นิโกรอเมริกันทุกคนมักจะมีที่มาของนามสกุลลักษณะนี้ เวลาถูกซื้อตัวไปเป็นทาส เหมือนเช่นปู่ของผม ก็จะถูกเรียกว่าเป็นทาสนิโกรของมิสเตอร์บอลด์วิน หลังจากเลิกทาสแล้ว นามสกุลของนายจะเป็นนามสกุลเดียวที่ทาสทุกคนเหลือติดตัว”

เจมส์ บอลด์วิน เกิดเมื่อปี 1924 ในฮาร์เล็ม นครนิวยอร์ก เป็นโฮโมเซ็กฌวลผิวสีที่มีปัญหากับพ่อเลี้ยงของตนเอง และเริ่มเป็นนักเทศน์ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังย่างเข้าวัย 14 ปี เรื่องราวในชีวิตของเขาคล้ายคลึงกันกับตัวละคร ‘จอห์น กริมส์’ ในนิยายเรื่อง Go Tell It on the Mountain รวมถึงบรรยากาศความรุนแรงและการถูกกดขี่ จากระบบที่คนผิวขาวสร้างขึ้นสำหรับคนผิวดำในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ปรากฏอยู่ในนิยายเรื่องดังกล่าว ที่นั่งบนรถประจำทางสาธารณะถูกจัดแบ่งที่นั่งสำหรับคนผิวขาวและคนผิวดำ ความไม่รู้หนังสือของคนผิวดำส่วนใหญ่ทำให้ถูกกีดกัน-ลดทอนสิทธิในการเลือกตั้ง และคนผิวดำยังถูกเบียดเบียนทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย หรือตลาดแรงงาน

ความเคร่งในศาสนาของชุมชนผิวดำที่เขียนบรรยายไว้ใน Go Tell It on the Mountain ยังสะท้อนถึงความเก็บกด ความอยุติธรรมที่คนผิวดำได้รับ ความเคร่งในศาสนาของผู้คนในชุมชนจึงกลายเป็นคำตอบให้กับการเหยียดผิวที่พวกเขาประสบ ในเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมของคนผิวขาว พวกเขาจึงต้องหันหน้าไปพึ่งพระเจ้า ความเคร่งในศาสนาคือวิถีชีวิตของคนผิวดำ

ตรงกลางระหว่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และมัลคอล์ม เอ็กซ์

“ในประเทศนี้ คนผิวดำตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของคนผิวขาวมานานถึง 400 ร้อยปีแล้ว” มัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X) นักเคลื่อนไหวทางสังคมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ แม้ว่าเขาและกลุ่ม Black Power Movement พยายามต่อต้านระบบเก่าๆ และใช้วิธีตอบโต้ด้วยคำพูดอย่างเกรี้ยวกราด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) และกลุ่ม Civil Right Movement ที่เลือกวิธีสันติในการต่อสู้กับการกดขี่และความอยุติธรรม

เจมส์ บอลด์วินมีจุดยืนทางอุดมการณ์ของตนเองอยู่ตรงกลางระหว่างมัลคอล์ม เอ็กซ์ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง – ความโกรธแค้นในตัวเองที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ความปรารถนาที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม หากถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรงก็ยอม กับอีกด้านหนึ่งที่ใช้คุณค่าของคริสต์ศาสนาให้เกิดความเชื่อในพลังของความรักและต่อมนุษยชาติ ที่จะบรรลุผลได้ไม่ช้าก็เร็ว

ในหนังสือหลายเล่ม บอลด์วินมักเล่าถึงการมีชีวิตอยู่ในโลกอย่างคนผิวดำที่แตกต่าง และการถูกจัดให้อยู่ในชนชั้นที่ไม่ปกตินั้นเป็นอย่างไร “คำว่า ‘นิโกร’ เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อสาธารณรัฐจะใช้บ่งชี้ว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐ”

และเมื่อให้สัมภาษณ์กับบีบีซีคราวเดียวกัน เขาบอกว่า “ถ้าผมเป็นนักเขียนที่สามารถส่งสาส์นถึงคนอ่านได้ละก็ ผมอยากจะบอกว่า เราควรปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างที่เราปรารถนาจะให้เขาปฏิบัติต่อเรา”

อดีตที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง

หนังสือ Go Tell It on the Mountain เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1953 เวลาผ่านพ้นมาถึง 65 ปีแล้ว แต่ประเด็นปัญหาเรื่องการเหยียดผิวยังคงมีอยู่ ผลงานของเจมส์ บอลด์วินดูยังสดใหม่และสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันจนเหลือเชื่อ…

Tamir Rice อายุ 12 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2014

Trayvon Martin อายุ 17 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2012

Aiyana Stanley-Jones อายุ 7 ขวบ ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2010

Cameron Tillman อายุ 14 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2014

Eric Garner อายุ 43 ปี เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงระหว่างจับกุม เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2014

Michael Brown อายุ 18 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2014

Akai Gurley อายุ 28 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2014

Walter Scott อายุ 50 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2015

William Chapman อายุ 18 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2015

Jeremy McDole อายุ 28 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2015

Jamar Clark อายุ 24 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2015

Alton Sterling อายุ 37 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2016

Terence Crutcher อายุ 40 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2016

Philando Castile อายุ 32 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2016

Sam Dubose อายุ 43 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2015

Darius Graves อายุ 31 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2015

Christian Taylor อายุ 19 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2015

Robert Lawrence White อายุ 41 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2018

Marcus-David L. Peters อายุ 24 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2018

Stephon Clark อายุ 23 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2018

รายชื่อเหล่านี้ยังคงได้รับการบันทึกต่อไป ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นคนผิวดำ ทั้งหมดไม่มีอาวุธติดตัว และเกือบทั้งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่เรียกว่า ‘fatally shot’ จากกรณีศึกษาของปี 2016 ระบุว่า พลเมืองอเมริกันผิวดำมีโอกาสถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมากกว่าพลเมืองอเมริกันผิวขาวถึง 3 เท่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดว่า การเหยียดผิวยังมีอยู่ในสังคมเหมือนในอดีต ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาเคยมีประธานาธิบดีเป็นคนผิวดำแล้วครั้งหนึ่งก็ตาม

“คงมีสักวันหนึ่งละที่ใครสักคนจะตั้งคำถามว่า เขามีบทบาทอะไร หรือมีอนาคตอย่างไรบ้างในประเทศนี้” เจมส์ บอลด์วินกล่าวในบทสัมภาษณ์ “และจะทำให้คนผิวขาวของประเทศที่ล้นหลาม เมินเฉย ไร้ความคิด และโหดร้าย ได้เข้าใจว่าเขายังมีตัวตนอยู่”

อ้างอิง:

Tags: , ,