“ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เสียงผมแย่ลงเรื่อยๆ” จอห์นนี ฟอนทาเน รำพัน อาชีพนักร้องของเขาใกล้ถึงจุดจบเต็มที “แต่ถ้าผมได้บทในหนังเรื่องนี้ละก็ ผมจะกลับมาดังอีกแน่ๆ” ดอนวีโต คอร์เลโอเน – เจ้าพ่อมาเฟียนั่งฟังอย่างตั้งใจ เพียงแต่เขาไม่เข้าใจปัญหาว่ามันคืออะไร นักร้องจึงอธิบาย ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้อำนวยการสร้างไม่ยอมยื่นบทสำคัญให้เขา ดอนวีโตพูดตอบสั้นๆ “เดี๋ยวฉันจะยื่นข้อเสนอที่เขาไม่สามารถปฏิเสธได้”
ไม่กี่วันถัดจากนั้น แจ็ค วอลต์ซ-ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า พบว่าตัวเองนอนจมอยู่ในกองเลือด ครั้นเมื่อเลิกผ้าคลุมเตียงขึ้นดู ก็เห็นศีรษะม้าแข่งตัวโปรดของเขาถูกตัดมาวางไว้ น่าจะเป็นสมุนของคอร์เลโอเนที่มาเยือนเขาเมื่อคืน และด้วยความกลัวเขาจึงมอบบทนั้นให้กับฟอนทาเนแต่โดยดี
นั่นเป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather ที่แฟนหนังอเมริกันนับล้านคนได้ชมและชื่นชอบ แต่มีเพียงคนเดียวที่ไม่รู้สึกคล้อยตามอย่างนั้น นั่นคือ แฟรงค์ ซินาตรา เพราะเขารู้สึกว่าตัวละครจอห์นนี ฟอนทาเนถูกเขียนขึ้นเพื่อล้อเลียนเขา จากเหตุการณ์ช่วงที่เขาเคยอยากหวนกลับมาดังอีกครั้งกับบท ‘อังเจโล มัจจิโอ’ ในเรื่อง From Here to Eternity
และนั่นทำให้ แฟรงค์ ซินาตรา เจ้าของผลงานเพลงดังอย่าง ‘New York, New York’ และ ‘My Way’ รู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก ตอนที่เขาพบเจอมาริโอ พูโซ (Mario Puzo) คนเขียนนิยายเรื่อง The Godfather ที่งานปาร์ตี้ในฮอลลีวูด ยังดีที่เขาโจมตีพูโซแค่ด้วยวาจา เนื่องจากซินาตราพยายามเก็บซ่อนอารมณ์ จะปล่อยหมัดระบายอารมณ์ก็เฉพาะเวลาที่เขาร้องเพลงอยู่บนเวทีเท่านั้น
สมัยที่เป็นหนุ่มเลือดร้อน เขาเคยชกหน้า ลี มอร์ไทเมอร์ (Lee Mortimer) นักข่าวหนังสือพิมพ์ ถึงกับทรุดลงกับพื้น หรือเมื่อปี 1967 ซินาตราก็สร้างปัญหาให้กับคาสิโน ‘เดอะ แซนด์’ ในลาสเวกัส เหตุเพราะคาสิโนไม่ยอมปล่อยเครดิตเงินกู้ให้กับเขา หรือแม้กระทั่งเพื่อนๆ หรือคนรู้จักของเขาเอง ก็รับรู้กันดีว่า นิสัยใจคอของซินาตราเป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
ปี 1947 ซินาตราในวัย 30 ต้นๆ สาธารณชนเริ่มรับรู้เรื่องราวของเขาจากข้อเขียนของเพื่อนที่เป็นนักข่าว ที่ไม่เข้าใจว่าทำไมซินาตราจึงชอบไปคลุกคลีอยู่กับสังคมอดีตผู้ต้องโทษหรือแก๊งมาเฟีย ซินาตราเคยตกปากรับคำเชิญของลัคกี ลูเซียโน (Lucky Luciano) เดินทางไปร้องเพลงในงานสังสรรค์ของกลุ่มมาเฟียที่ฮาวานา และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดเต็มกระเป๋า “นับเป็นเรื่องโง่เง่าที่สุดเท่าที่ผมเคยทำ” ซินาตราสารภาพในเวลาต่อมาเกี่ยวกับเรื่องราวในคิวบา ในหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง
ฟรานซิส อัลเบิร์ต ซินาตรา (Francis Albert Sinatra) เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1915 เป็นลูกชายของครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาเลียน ดอลลี-ผู้เป็นแม่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา นอกเหนือจากการบังคับให้ล้างมือเป็นนิสัย และสืบทอดความไม่โอนอ่อนต่อใครให้แล้ว เธอขวนขวายซื้อเครื่องดนตรีให้กับลูกชาย ฝึกปรือเขาจนร้องเพลงได้ เมื่อโตขึ้นเขาก็ตระเวนหาเลี้ยงชีพด้วยการร้องเพลง ทั้งในนิวเจอร์ซีย์ และนิวยอร์ก ซึ่งตามคลับเหล่านั้นเป็นโอกาสให้เขาได้คลุกคลีกับสมาชิกแก๊งมาเฟีย
ไม่ช้านักร้องประจำคลับก็เริ่มมีชื่อเสียง ขณะเดียวกันเขาก็ฉายแววความดีงามของตนเองให้ทุกคนได้เห็นด้วย นั่นคือการต่อต้านการเหยียดผิวและเชื้อชาติ เพลงดังอย่าง ‘Ol’ Man River’ ซินาตรานำมาเปลี่ยนเนื้อท่อน ‘Niggers all work on the Mississippi’ เสียใหม่ เป็น ‘Here we all work’ ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศจะไม่รับงานร้องเพลง หากว่าคาสิโนหรือโรงแรมไหนปฏิบัติต่อแซมมี เดวิส จูเนียร์ (Sammy Davis Jr.) เพื่อนผิวดำร่วมวงการของเขา ไม่เท่าเทียมเหมือนที่ปฏิบัติต่อเขา เหตุเพราะช่วงเวลานั้น ศิลปินผิวสีมักต้องปฏิบัติตามกฎว่าด้วยการเข้า-ออกร้านทางประตูด้านหลัง
เส้นทางชีวิตของซินาตราเข้มข้นมากขึ้น เมื่อเขาได้รับการหนุนหลังจากโคซา นอสตรา (แก๊งมาเฟียจากซิซิลี – Cosa Nostra แปลว่า ‘เรื่องของเรา’) หลังจากที่เขาประสบความสำเร็จกับเพลงฮิต ‘I’ll Never Smile Again’ ในปี 1940 ในวงออร์เคสตราของทอมมี ดอร์ซีย์ (Tommy Dorsey) ซินาตราต้องการที่จะแยกตัวออกไปเป็นศิลปินเดี่ยว ข้างฝ่ายดอร์ซีย์ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ขอส่วนแบ่งรายได้จากซินาตราเป็นเวลาสิบปี นักร้องยอมตกลง
แต่นอกจากหัวหน้าวงออร์เคสตราจะไม่ได้เห็นเงินตามข้อเรียกร้องแล้ว เขายังต้องพบพานกับกัวริโน ‘วิลลี’ มอเร็ตตี (Guarino ‘Willie’ Moretti) เจ้าพ่อแห่งนอร์ธเจอร์ซีย์ อีกด้วย เรื่องนี้ได้รับการบันทึกอยู่ในหนังสืออัตชีวประวัติของซินาตรา วิลลีอาสาเข้ามาปกป้องซินาตรา และสื่อสารกับดอร์ซีย์อย่างชัดเจน จนเป็นที่เข้าใจ
แต่ขณะเดียวกัน ซินาตรากลับไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับแก๊งมาเฟีย เรื่องราวส่วนหนึ่งในหนังสือ The Godfather มาริโอ พูโซเขียนถึงการที่จอห์นนี ฟอนทาเนหลุดพ้นจากสัญญาปิดปากโดยความช่วยเหลือของดอน คอร์เลโอเน ทั้งในภาพยนตร์และนิยายบรรยายตรงกันถึงทางเลือกของหัวหน้าวงว่า จะยอมเซ็น หรือยอมตาย
นักร้องซึ่งยังหนุ่มแน่นทำงานอิสระต่อไปอีกไม่กี่ปี กระทั่งนิตยสาร Modern Television & Radio ตั้งคำถามแบบเย้ยหยันในปี 1948 ว่า “นี่คือจุดจบของซินาตราแล้วหรือ?” จาก ‘เสียงร้อง’ ของเขาเริ่มกลายเป็น ‘เสียงกลั้ว(คอ)’ แต่แล้วเขาก็มีตัวช่วยให้หวนกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง เมื่อได้รับบท ‘อังเจโล มัจจิโอ’ ในภาพยนตร์สงคราม From Here to Eternity (1953) เรื่องที่เขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น แฮร์รี โคห์น (Harry Cohn) ผู้บริหารของโคลัมเบีย พิกเจอร์ส เคยหัวเสีย “ให้ตายเถอะ ใครอยากจะดูไอ้เบื๊อกผอมแห้งในหนังทุนหนาแบบนี้บ้างวะ” เรื่องราวอาจต่างจาก The Godfather อยู่บ้าง ตรงที่ซินาตราหวนคืนสู่ความมีชื่อเสียงอีกครั้งด้วยความเพียรพยายามในการแสดงของเขาเอง
แม้ผลงานแสดงยอดเยี่ยมของเขาจะช่วยต่อชีวิตและการงานมาอีกนานถึง 45 ปี ทว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นชีวิตของซินาตราก็ยังหลบเลี่ยงจาก ‘อิทธิพลมืด’ ไม่พ้น ภาพถ่ายจากปี 1976 ที่แสดงให้เห็นเขาเผยรอยยิ้ม แขนโอบกอดเกรกอรี เดอพัลมา (Gregory DePalma) ในแฟ้มประวัติอาชญากรของตำรวจระบุว่าเป็นระดับผู้นำแก๊งมาเฟียตระกูลกัมบีโน และในภาพยังปรากฏใบหน้าของคาร์โล กัมบีโน (Carlo Gambino) หัวหน้าแก๊งอีกด้วย
แฟรงค์ ซินาตราเสียชีวิตในปี 1998 ก่อนจะมีคำถามที่ใครๆ สงสัยตามมาว่า ทำไมซูเปอร์สตาร์ที่มากความสามารถและมีเสน่ห์จึงมีกลุ่มบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรรายล้อมอยู่นานนับสิบปี
“เขาอยู่ในใจของพวกนักเลง” จอห์น สมิธ (John Smith) นักข่าวผู้คว่ำหวอดกับแหล่งข่าวในลาสเวกัส ให้คำตอบในหนังสารคดีเกี่ยวกับซินาตราเรื่อง Dark Star
หรืออาจจะจริงอย่างที่ทอมมี ดอร์ซีย์ หัวหน้าวงออร์เคสตรา เคยเห็นแววสมัยที่ซินาตราเป็นสมาชิกในวงของเขา “เขาเป็นคนที่น่าหลงใหลที่สุดในโลก แต่ก็นั่นละ ทุกคนก็มีด้านมืดของตัวเอง”
ไม่ว่าจะอย่างไรบรรดาแฟนก็ยังรักเขา และอาจเพราะเขาเป็นนักร้องนักแสดงที่มีชีวิตพัวพันกับด้านมืดนั้นก็ได้
อ้างอิง:
- https://the-main-event.de/biomore/franksinatrabiographie/
- https://www.spiegel.de/spiegel/print/d-41496565.html
- Christopher Olgiati (Producer), Sinatra: Dark Star, BBC Documentary (2005)