เครื่องบินคองคอร์ดเคยมีสมญานามว่าเป็น ‘ราชินีแห่งน่านฟ้า’ ทั้งความเร็วและความหรู ยากที่จะมีเครื่องบินประเภทไหนเทียบชั้น ผู้โดยสารรุ่นก่อนๆ เคยฮือฮากับลำตัวเครื่องสีขาวโพลน รูปทรงเรียว ปีกสามเหลี่ยม ปลายจมูกแหลม ที่เวลาขึ้นหรือลง ส่วนหัวของเครื่องจะปรับทำมุมต่ำ เพื่อให้นักบินสามารถมองเห็นสภาพสนามบิน
แต่หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว เครื่องบินคองคอร์ดน่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ของอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง เสียงดัง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมหาศาล
คองคอร์ดเริ่มเปิดเส้นทางบินระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน – วันที่ 22 พฤศจิกายน 1977 แอร์ฟรานซ์ และบริติช แอร์เวย์สส่งเครื่องบินคองคอร์ดจากปารีสไปนิวยอร์กเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นมันก็เริ่มเป็นเที่ยวบินเส้นทางลอนดอน-นิวยอร์กปกติ และกลายเป็นเครื่องบินยอดฮิตของบรรดาดารานักร้องคนดังไปในที่สุด
ลูกค้ากระเป๋าหนักในห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่งได้รับบริการระดับวีไอพี นอกเหนือจากจานชามเซรามิกอย่างดีแล้ว อุปกรณ์มีดช้อนส้อมยังเป็นเงินแท้ มีการเสิร์ฟแชมเปญ คาเวียร์ และปลาแซลมอนรมควัน ในเว็บไซต์ flight-report.com ผู้โดยสารคนหนึ่งเคยบันทึกการเดินทางพร้อมภาพถ่าย เล่าว่า เมนูอาหารซึ่งเปลี่ยนทุกวันนั้น มาจากเชฟติดดาว-อแลง ดูคัสส์ (Alain Ducasse) เริ่มจากสลัดกุ้งก้ามกราม ตามด้วยไก่อบ สาวอังกฤษอีกคนเล่าประสบการณ์การเดินทางกับคองคอร์ดผ่านบีบีซีว่า เธอรู้สึกเหมือนเป็นดาราหนัง
ไม่ใช่แค่เพียงความหรูหราเท่านั้น หากคองคอร์ดยังมอบประสบการณ์การบินที่น่าประทับใจให้ด้วย ในเรื่องของความเร็ว คองคอร์ดจัดเป็นเครื่องบินโดยสารที่มีความเร็วเหนือเสียง ด้วยความเร็วปกติ 1,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วสูงสุดที่ 2,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำลายสถิติความเร็วของเครื่องบินเจ็ตทั้งหมด เส้นทางบินระหว่างปารีสหรือลอนดอนไปนิวยอร์ก ระยะทางร่วม 6,000 กิโลเมตร คองคอร์ดใช้เวลาบินในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1996 เพียง 2 ชั่วโมง 53 นาที นับเป็นการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบินพลเรือน
เครื่องบินคองคอร์ดมีเพดานบินสูงถึง 18,000 เมตร ซึ่งปลอดจากภาวะหลุมอากาศ “ไม่มีใครรู้สึกได้ถึงความเร็วของเครื่อง” จอห์น ฮัตชินสัน (John Hutchinson) อดีตกัปตันบอกกับบีบีซี และมันเร็วมากกว่าสองเท่าของเครื่องบินธรรมดา เมื่อคองคอร์ดเดินทางถึงนิวยอร์กตามเวลาท้องถิ่น ผู้โดยสารยังรู้สึกคล้ายกับเพิ่งออกจากปารีสมาเมื่อสักครู่นี้เอง เรื่องความเร็วเหนือเสียง ฟิล คอลลินส์เองยังต้องขอบคุณคองคอร์ด ที่ระหว่างเล่นคอนเสิร์ต Live Aid ปี 1985 เขาขึ้นเวทีในลอนดอน และไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเขาสามารถไปต่อที่เวทีในฟิลาเดลเฟียได้
แต่เรื่องราวน่าปลื้มปีติของคองคอร์ดดูเหมือนจะแตกต่างจากของบรรดาแฟนคลับ คองคอร์ดเป็นโปรเจ็กต์ร่วมระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่เริ่มแผนงานกันหลายปีก่อนจะเริ่มเปิดเส้นทางบินพาณิชย์ แนวความคิดที่จะผลิตเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ปี 1962 ผู้นำรัฐบาล-แฮรอลด์ แม็คมิลลัน (Herold Macmillan) และชาร์ลส์ เดอ โกลญ์ (Charles de Gaulle) ร่วมลงนามในข้อตกลง ที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานของทั้งสองประเทศพัฒนาเครื่องบินเจ็ตแบบพิเศษขึ้น และหลังจากนั้นต่างฝ่ายต่างประกอบในส่วนที่เหลือ
เครื่องบินเจ็ตต้นแบบลำแรกสำเร็จในปี 1969 ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสรายงานยอดสั่งจองว่ามีกว่า 70 ลำ และคำนวณยอดการขายเบ็ดเสร็จได้ราว 200 ลำ แต่แล้วกลับเกิดวิกฤติน้ำมันขึ้น และในปี 1973 หน่วยงานอากาศยานของอเมริกายังออกกฎห้ามเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงบินผ่านน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะว่าคองคอร์ดส่งเสียงดังเกินไป แถมยังดูสกปรก ความกระหายน้ำมันของมันก็เป็นปัญหาใหญ่ โครงสร้างของเครื่องบินถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความเร็วเป็นหลัก ห้องโดยสารลักษณะคล้ายหลอดแคบๆ สามารถบรรจุผู้โดยสารได้เพียงไม่เกิน 128 คน และปริมาณการใช้เชื้อเพลิงต่อผู้โดยสารเท่ากับ 4 เท่าของเครื่องบินจัมโบ
ความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับคองคอร์ดเริ่มขยายวงกว้าง สายการบินต่างๆ พากันระงับการสั่งจอง ถึงกระนั้นคองคอร์ดก็ยังเริ่มเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรกได้สำเร็จ ในวันที่ 21 มกราคม 1976 หลังจากศาลสูงสุดสั่งเพิกถอนกฎระเบียบห้ามเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงบินเข้าสหรัฐอเมริกา เส้นทางบินระหว่างยุโรปและอเมริกาของคองคอร์ดจึงเกิดขึ้น ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสยังยึดมั่นในศักดิ์ศรีของโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะสิ้นเปลืองงบประมาณเพียงไหนก็ตาม
แม้ว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายจะสูง แต่คองคอร์ดยังคงทำการบินต่อไป กระทั่งบทอวสานเริ่มปรากฏเมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2000 ชิ้นส่วนโลหะบนรันเวย์ของสนามบินในปารีสไปกระแทกล้อของเครื่องแอร์ฟรานซ์ ที่เติมน้ำมันเต็มถัง 115,000 ลิตร ขณะกำลังบินขึ้น ล้อที่ถูกกระแทกยังสร้างเสียหายให้กับถังน้ำมันด้วย และติดไฟท่วมเป็นทางเหมือนหางไอพ่น “คองคอร์ด 4590 ไฟกำลังลุกไหม้ที่ท้ายเครื่องบิน” เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรการบินคนหนึ่งรายงานกัปตันบนเครื่องบินคองคอร์ด
เครื่องบินอยู่ในระดับต่ำเกินไป และช้าเกินไป หลังจากบินขึ้นไปราวสองนาทีมันก็ถลาชนเข้ากับโรงแรมแห่งหนึ่ง มีผู้เสียชีวิต 113 คน ในจำนวนนั้น สี่คนเป็นพนักงานโรงแรม และ 96 คนเป็นผู้โดยสารชาวเยอรมัน ที่กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปนิวยอร์กเพื่อลงเรือสำราญท่องทะเลแคริบเบียน โดยมีเจ้าของอู่เรือคนหนึ่งเป็นคนเช่าเหมาลำคองคอร์ดลำนี้
หลังจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น เครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียงกลับมาบินใหม่อีกครั้ง พร้อมมาตรการความปลอดภัยที่รัดกุมขึ้น แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็ต้องระงับเที่ยวบินไป ผ่านพ้นเรื่องเลวร้ายในปารีสแล้วยังตามมาด้วยเหตุการณ์ 9/11 ต้นทุนค่าใช้จ่ายพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายในปี 2003 ทุกอย่างก็จบลง ร็อด เอดดิงตัน (Rod Eddington) ผู้บริหารของบริติช แอร์เวย์สให้สัมภาษณ์ความเห็นว่า “คองคอร์ดจากไปพร้อมกับความโรแมนติกส่วนหนึ่งของการบิน”
เที่ยวบินส่งท้ายของคองคอร์ดคือเส้นทางปารีสไปคาร์ลสรูห์ ตอนปลายเดือนมิถุนายน 2003 เครื่องหมายเลข 207 และต่อจากนั้นมันก็ถูกนำเข้าไปไว้ในพิพิธภัณฑ์เทคนิคของเมืองซินสไฮม์ ประเทศเยอรมนี
คองคอร์ดนับเป็นเครื่องบินและเรื่องราวน่าทึ่งของประวัติศาสตร์การบิน แต่ก็รวมถึงความล่มจมมูลค่านับพันล้านเช่นกัน หลังจากผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายไปแล้ว มีข่าวเกี่ยวกับแผนการจะสานต่อเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงปรากฏออกมา อย่างน้อย เมื่อปี 2013 ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษเจ้าของสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ก็เป็นคนหนึ่งที่เสนอแผนการจะเปิดเที่ยวบินด้วยเครื่องบินความเร็วสูงขนาด 6 ที่นั่ง และในปี 2015 ‘คลับ คองคอร์ด’ ของกลุ่มอดีตนักบินคองคอร์ด มีแผนจะซื้อเครื่องเพื่อนำไปเป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำ
ในระหว่างนี้ สหรัฐอเมริกาเองก็มีไอเดียแข่งกับเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง อย่างองค์การนาซาที่ร่วมกับล็อคฮีด มาร์ติน-เครือบริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังพัฒนาและทดลอง ‘X-plane’ หรือ ‘Quiet Supersonic Transport’ เครื่องบินเจ็ตความเร็วเหนือเสียงขนาดมินิอยู่
รวมถึงบริษัท ‘บูม’ ที่วางแผนจะเปิดเส้นทางบินให้กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงขนาด 55 ที่นั่งของตนเองในปี 2023 เป็นเครื่องบินที่เร็วกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกด้วย
เบลค ชอลล์ (Blake Scholl) ผู้ก่อตั้ง ‘บูม’ ให้ข่าวเมื่อปี 2016 ว่า เวลานี้เริ่มมียอดสั่งซื้อเข้ามาแล้ว 76 ลำ และในปี 2018 เครื่องบินเล็กต้นแบบที่มีชื่อเรียก ‘เบบี-บูม’ ได้เริ่มทดลองบินแล้ว
อ้างอิง:
- https://www.welt.de/vermischtes/article3297993/Concorde-wunderbarer-Vogel-gegen-den-Zeitgeist.html
- http://www.spiegel.de/einestages/concorde-katastrophe-a-946540.html
- https://www.theverge.com/2015/9/18/9353131/concorde-jet-flight-revival
- https://www.theguardian.com/business/2003/oct/19/theairlineindustry.uknews