คลื่นผู้ลี้ภัยจากซีเรียไม่เคยขาดสายตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเกิดเพลิงไหม้ในค่ายผู้อพยพโมเรีย บนเกาะเลสบอสของประเทศกรีซ ซึ่งเป็นค่ายขนาดใหญ่สุดในยุโรป มีจำนวนผู้อพยพมากกว่า 12,000 คน และส่วนหนึ่งเป็นพลเมืองลี้ภัยจากซีเรีย ทั้งหมดต้องทนทุกข์กับชะตากรรมซ้ำอีกครั้ง

ในขณะที่ด่านบริเวณพรมแดนระหว่างซีเรียและตุรกีก็ถูกสั่งปิดไปสามจากสี่ด่าน เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะนอกจากรัฐบาลในดามัสกัสไม่ได้อนุญาตอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้สนับสนุนอย่างรัสเซียและจีนยังคัดค้านที่จะให้โครงการช่วยเหลือขององค์การสหประชาชาติเข้าไปละเมิดอธิปไตยของซีเรีย

แม้จะเป็นมาตรการกดดันอย่างไร้ความปรานีต่อประชากรของตนเองก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์เช่นนี้สะท้อนบุคลิกของผู้นำซีเรียในแบบที่ทั้งรัสเซียและจีนสนใจให้ความสนใจและสนับสนุน

…..

วันที่ 17 กรกฎาคม 2000 บัชชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) หนุ่มคางเรียวร่างสูงผอมเพรียววัย 34 ปี เข้าทำพิธีสาบานตนต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาในกรุงดามัสกัส เพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งซีเรีย

ข้าพเจ้าจะพยายามอย่างสุดความสามารถ ที่จะนำพาประเทศของเราไปสู่อนาคตที่ดีและนำพาชีวิตของประชาชนไปสู่จุดหมายที่ทุกคนใฝ่ฝัน

บัชชาร์ อัลอัสซาดเกิดเมื่อปี 1965 ในกรุงดามัสกัส เป็นบุตรชายคนที่สองของฮาฟิซ อัลอัสซาด (Hafiz al-Assad) และอนิซา มัคฮ์ลุฟ (Anisa Machluf) ตอนอายุได้หนึ่งขวบ พ่อของเขาเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร และได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นการตอบแทนจากรัฐบาล ในปี 1971 ได้ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดี และปกครองซีเรียมาจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2000

อัสซาดเริ่มเข้าเรียนหนังสือในยุคที่พรรคบาธปกครองประเทศ หนังสือเรียนทั้งหมดได้รับอิทธิพลจากต้นแบบอาหรับชั้นสูง แต่บางส่วนก็ได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมและยิว อัสซาดไม่เคยผ่านการศึกษาด้านการทหาร ช่วงทศวรรษ 1980s เขาเลือกเรียนด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสายอาชีพที่แต่เดิมพ่อของเขาก็สนใจ หลังจากนั้นเขาไปเรียนต่อในลอนดอน ฝึกฝนวิชาชีพที่ Western Eye Hospital จนสำเร็จเป็นจักษุแพทย์

นอกจากด้านการแพทย์แล้ว อัสซาดยังสนใจและมีพรสวรรค์ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เคยได้รับความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องจนสามารถก่อตั้ง Syrian Computer Society (SCS) ได้ในปี 1989 อัสซาดเป็นประธานบริหาร บุกเบิกงานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท จนมันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญเมื่อเขาก้าวขึ้นสืบทอดอำนาจ

แต่เมื่อดูภาพรวมด้านการศึกษาของเขาแล้ว อัสซาดแทบไม่มีบทบาทโดดเด่นพอที่จะถูกคาดหวังจากผู้เป็นพ่อให้เข้าไปสืบทอดอำนาจ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อก็ไม่สู้ดีนัก หรืออีกนัยหนึ่งคือเหินห่างยามใดที่เขากล่าวถึงผู้เป็นพ่อในที่สาธารณะ เขาไม่เคยพูดว่าพ่อของผมแต่มักจะเรียกว่าประธานาธิบดีฮาฟิซ อัลอัสซาด

21 มกราคม 1994 บาซิล (Basil) พี่ชายของเขาประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียชีวิต บัชชาร์ อัลอัลซาดที่ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักของใครๆ ในซีเรีย ต้องเดินทางกลับมาซีเรียเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสืบทอดอำนาจ ในปีเดียวกันนั้นเขาต้องเข้าเรียนแบบรวบรัดในกองพลรถถัง และเรียนรู้ด้านการทหารแบบพอรู้พอเข้าใจ ต่างกับผู้เป็นพ่อที่มีประสบการณ์และความรู้ด้านการทหารโดยตรง

หลังจากประธานาธิบดีฮาฟิซ อัลอัลซาดถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมิถุนายน 2000 มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวัยวุฒิของประธานาธิบดีเสียใหม่ จากเดิม 40 ปีเป็น 34 ปี เพื่อเปิดทางให้ทายาทอัสซาดได้ครองตำแหน่ง

…..

บัชชาร์ อัลอัสซาดดูเป็นผู้นำที่แตกต่างจากพ่อของเขา หรือแม้กระทั่งพี่ชาย เขาสงวนท่าที และระมัดระวังตัว ผิดวิสัยผู้สืบทอดอำนาจเผด็จการ ในช่วงเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่ง ชาติตะวันตกยังมองเขาว่าเป็นนักปฏิรูป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ชุมนุมอาหรับสปริง จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองซีเรีย ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสันนิบาตอาหรับส่วนใหญ่เรียกร้องให้อัสซาดลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี หลังกล่าวหาว่าเขาสั่งให้มีการปราบปรามและใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

ประชาธิปไตยแบบชาติอื่นไม่สามารถนำมาใช้กับเราได้ โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมตะวันตก การจะนำระบอบการปกครองแบบนั้นมาใช้ได้ เราต้องก้าวผ่านประวัติศาสตร์เช่นนั้นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องสร้างประชาธิปไตยที่มาจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอารยธรรมของเราเอง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และความเป็นจริงของเรา

นักวิจารณ์การเมืองหลายคนมองว่าบัชชาร์ อัลอัสซาดไม่ใช่นักปฏิรูป การคืนอำนาจที่เขาได้ครอบครองสืบต่อจากพ่อนั้น เขาทำไม่ได้ อีกทั้งยังไม่พร้อม เขาเติบโตขึ้นในประเทศที่รัฐคอยสอดส่องและเฝ้าจับตาประชาชนมานานถึงห้าสิบปี อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมาอย่างยาวนาน และแม้ว่าลักษณะท่าทีของเขาไม่ได้เป็นเผด็จการเบอร์ใหญ่ก็ตาม

เด็กๆ ในตระกูลอัสซาดเรียนรู้ว่า ศัตรูของพวกเขาสามารถซ่อนตัวอยู่ทุกหนทุกแห่ง พวกเขาต้องไม่ปล่อยโอกาส พวกเขาต้องหาคนทรยศให้เจอ และต้องถอนรากถอนโคนแซม ดาเกอร์ (Sam Dagher) เคยเขียนชีวประวัติของตระกูลอัสซาด และกล่าวถึงฮาฟิซ อัลอัสซาดว่าเคยย้ำเตือนลูกๆ เสมอว่าอย่าได้ปรานี!”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970s อัสซาดผู้พ่อเคยเปลี่ยนซีเรียให้กลายเป็นรัฐตำรวจ และมีการคุมขังทรมานฝ่ายตรงข้ามที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นต่าง จนพลเมืองทั่วซีเรียต่างหวาดกลัว ทุกคนรู้ว่าเรือนจำที่ใช้สำหรับคุมขัง ทรมาน และเข่นฆ่ามีจริง

ครั้นถึงยุคของบัชชาร์ อัลอัสซาด มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ้านเมืองให้ทันยุคทันสมัยจริง แต่หาได้มีการปฏิรูปทางการเมืองแต่อย่างใดไม่ผู้คนยังไม่เข้าใจ พวกเขายังใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกเพ้อฝันเขาเคยแสดงทัศนะในปี 2000 กระทั่งเกิดเหตุชุมนุมอาหรับสปริง มีการเรียกร้องประชาธิปไตย อัสซาดก็ยังคิดว่าผู้คนเหล่านั้นได้คืบเอาศอก

…..

ยี่สิบปีต่อมา พื้นที่ของซีเรียส่วนใหญ่กลายสภาพเป็นซากปรักหักพัง ประเมินความเสียหายนับล้านล้านบาท ชาวซีเรียหนึ่งในสองต้องอพยพหลบหนี มีผู้คนล้มตายในสงครามตั้งแต่ปี 2011 มากกว่าห้าแสนคน เศรษฐกิจของประเทศล่มสลาย ค่าเงินตกต่ำ ประชากรราวเก้าล้านคนอดอยาก 

บัชชาร์ อัลอัสซาดต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัสเซียและอิหร่าน ทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ด้านการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจในซีเรีย การพัฒนาประเทศในอนาคตอาจต้องผูกติดอยู่กับประเทศผู้หนุนหลังเป็นหลัก ในทางการเมืองนั้นถือว่าอัสซาดได้เอาเอกราชของประเทศลงเดิมพันไปแล้ว

และไม่มีหนทางที่จะหวนกลับได้อีก

อ้างอิง:      

https://www.dw.com/de/baschar-al-assad-von-syriens-hoffnungstr%C3%A4ger-zum-diktator/a-54182081?fbclid=IwAR3ACRwcO3DjS8J5QEvBhnTGCruog0u3rXKD3_qXQ69yff49Raf7m1hWRFY

https://www.deutschlandfunk.de/seit-20-jahren-praesident-von-syrien-assads-toedliche.724.de.html?dram:article_id=480685

Sam Dagher, Assad or We Burn the Country: How One Family’s Lust for Power Destroyed Syria, Little, Brown and Company (2019)