แอนดี วอร์ฮอลล้วงหยิบแฮมเบอร์เกอร์จากถุงกระดาษขึ้นงับ สายตามองเพ่งมองที่กล้อง และพูดว่าผมชื่อแอนดี วอร์ฮอล และผมเพิ่งกินแฮมเบอร์เกอร์ไปเมื่อตะกี้

นั่นคือซีนหนึ่งจากหนังสารคดีขนาดสั้น 66 Scenes from America (1982) ของยอร์เกน เลธ (Jørgen Leth) ผู้กำกับฯ ชาวเดนิช ที่ราชาป็อปอาร์ตลุ่มหลงในความซ้ำซาก’ ‘ความเป็นคัลท์และความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนั้น ซึ่งหากว่าในซีนที่แอนดี วอร์ฮอล ปรากฏอยู่ไม่ได้เป็นแอนดี วอร์ฮอลจริงๆ ละก็ คงไม่มีใครอยากดูคนกินแฮมเบอร์เกอร์ แต่คลิปนี้ในยูทูบมีคนคลิกเข้าไปดูแล้วกว่าครึ่งล้าน

อันเดร วาร์โฮลา (Andrej Warhola) เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1928 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นลูกชายคนเล็กจากจำนวนพี่น้องสามคนของครอบครัวเกษตรกรยากจน ชื่อและนามสกุลของเขามาจากพื้นเพภาษาฮังกาเรียน ต่อมาภายหลังชื่อของเขาถูกเรียกตามแบบอเมริกันเป็นแอนดี และนามสกุลวอร์ฮอล ที่ไม่มีตัว a ต่อท้าย

ตอนอายุ 8 ขวบ แอนดี วอร์ฮอล ป่วยหนักด้วยโรค Chorea Minor หรือความผิดปกติเกี่ยวกับเม็ดสีของร่างกาย ในช่วงเวลานั้นปัญหาสีผิวและเส้นผมขาวทำให้ใครๆ นึกว่าเขาเป็นอัลบีโน’ (Albino คนที่มีภาวะผิวเผือก) และเพื่อเบี่ยงเบนความกังวลใจจากโรคประจำตัว แอนดี วอร์ฮอลจึงเริ่มหันไปวาดรูปและอ่านหนังสือการ์ตูน

กระทั่งวันหนึ่งเขาก็ค้นพบความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน ตั้งแต่ปี 1945 แอนดี วอร์ฮอล เข้าศึกษาด้านศิลปะเชิงพาณิชย์ที่บ้านเกิดของเขา และสำเร็จออกมาตอนอายุ 21 ปีพร้อมปริญญาบัตรสาขาจิตรกรรมและดีไซน์

ในช่วงเวลานั้น นครนิวยอร์กกำลังเป็นศูนย์กลางของศิลปะสมัยใหม่ และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้หนุ่มแอนดีตัดสินใจเดินทางโยกย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่

เมื่อเดินทางถึงนิวยอร์ก แอนดี วอร์ฮอลจำต้องหาเลี้ยงชีพด้วยงานพิเศษ เป็นนักกราฟิกและนักออกแบบตกแต่ง เขาสนใจทำงานศิลปะแค่เพียงเป็นงานอดิเรก ในเวลานั้นเขาใช้หมึกและสีฝุ่นเพื่อวาดลวดลายและภาพพอร์เทรตของเหล่าเทพยดา ผีเสื้อ และแมว จากนั้นก็ใช้กระดาษซับรูปวาดนั้นโอนถ่ายไปยังกระดาษแผ่นใหม่

การออกแบบงานศิลปะสมัยใหม่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนิตยสาร และลูกค้าโฆษณา แม้ว่าเทคนิคนี้จะมีมานานแล้ว แต่วอร์ฮอลได้คิดค้นการพิมพ์สกรีนขึ้นใหม่ และใช้มันกับงานภาพวาดของเขาด้วยวิธีใหม่ด้วย

ปี 1952 เขามีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการครั้งแรก ต่อมาในปี 1956 เขาก็ได้ไปโชว์ผลงานที่ Museum of Modern Art พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของนครนิวยอร์ก มีชื่อเสียงเป็นนักกราฟิก แต่ยังไม่ใช่จิตรกรวัฒนธรรมป็อปที่โดดเด่นในยุค 1950s กระตุ้นให้เขามีความกระตือรือร้นทางศิลปะขึ้นมาได้

เขาออกแบบภาพบุคคลอย่างดาราฮอลลีวูด ภาพการ์ตูน และตัวการ์ตูนเช่นมิกกี้เมาส์ ป็อปอาย หรือซูเปอร์แมนอย่างง่ายๆ แล้วนำมาผสมผสานกับการพิมพ์สกรีน พิมพ์ภาพซ้ำจำนวนมากรวมไว้บนกระดาษแผ่นเดียว ตามคำขวัญ ’30 ดีกว่าหนึ่งเขาพิมพ์ภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างโมนา ลิซา จำนวนสามสิบภาพลงบนโปสการ์ด แต่หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดในเวลานั้นคือ ภาพของมาริลีน มอนโร ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง

ปี 1962 เขารวบรวมเอาผลงานทั้งหมดของตนเอง เพื่อจัดนิทรรศการเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง คราวนี้สังคมเริ่มยอมรับเขาในฐานะศิลปิน ไม่ช้าเขาก็ก่อตั้ง ‘Factory’ ขึ้น เป็นสตูดิโอส่วนตัวของเขาในนิวยอร์ก นับแต่นั้นมาเขาเลือกผืนผ้าใบขนาดใหญ่ 100 x 100 เซนติเมตร แล้วพิมพ์ภาพคนดังขึ้นแสดงต่อไปเรื่อยๆ

แอนดี วอร์ฮอล เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์เชิงศิลปะที่มีคนเปลือยกาย ส่วนใหญ่แล้วเขาจะถ่ายทำภายใน ‘Factory’ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะชอบศิลปะแนวนี้ เพราะในช่วงเวลานั้นหลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่เขาก็ยังสร้างประเด็นให้เป็นข่าวหนังสือพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น ภาพเขียนขนาดใหญ่กับข่าวพาดหัว ‘129 Die in Jet’ บนหนังสือพิมพ์ New York Mirror วอร์ฮอลต้องการตีแผ่ความหายนะของสังคมบริโภค ที่ยอมจ่ายเงิน 5 เซนต์ซื้อสนองความอยากรู้อยากเห็น

แล้วจู่ๆ ปี 1968 ตัวเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อเสียเอง สาวอเมริกันชื่อ แวเลอรี โซลานาส์ (Valerie Solanas) ได้พยายามจะสังหารวอร์ฮอลด้วยปืน ภายใน ‘Factory’ ที่เป็นอาณาจักรของเขาเอง ช่วงเวลาไม่กี่นาทีหลังจากถูกส่งตัวถึงโรงพยาบาล วอร์ฮอลหมดลมไปแล้ว แต่ได้รับการช่วยเหลือจากหมอปลุกชีพจรของเขาขึ้นใหม่

แอนดี วอร์ฮอลกำลังต่อสู้กับความเป็นความตายเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ New York Post พร้อมภาพถ่ายของวอร์ฮอลและโซลานาส์ ส่วน New York Daily News โปรยพาดหัวว่านักแสดงหญิงยิงแอนดี วอร์ฮอลแต่สุดท้ายเขาก็รอดชีวิต งานศิลปะของเขาขายดีมากขึ้นกว่าเดิม และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์คนดังขวัญใจสื่อมวลชน 

หลังจากนั้นวอร์ฮอลพยายามถอยห่างจากวงจรเดิม เขาเริ่มนิ่งมากขึ้น และเริ่มหันมาสนใจงานโปรเจ็กต์ด้านจิตรกรรม ศิลปะ และการถ่ายภาพ นอกจากนั้นเขายังเขียนบทละครเวที ผลงานชิ้นสุดท้ายของเขาเป็นภาพ ‘The Last Supper’ ของศิลปินชื่อดังเลโอนาร์โด ดา วินชี

เช้าวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1987 แอนดี วอร์ฮอลเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดในโรงพยาบาลนิวยอร์ก ไม่มีบันทึกที่ชัดเจนจากศัลยแพทย์ว่าสาเหตุของการตายของเขาคืออะไร

  ช่วงทศวรรษ 1980s มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมากมายในแวดวงศิลปะ ทั้งการร่วมมือของเพื่อนศิลปินเช่น ฌองมิเชล บาสเกียต (Jean-Michel Basquiat) หรือคีธ แฮริง (Keith Haring) หรือข่าวคราวเกี่ยวกับสงคราม ที่ทำให้วอร์ฮอลรู้สึกตื่นตาพอๆ กับภาพเปลือยของป็อปไอคอนชื่อมาดอนนาพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ New York Post ‘Madonna, I’m not ashamed’ ถูกนำขึ้นแสดงบนผืนผ้าใบของเขา โดยมีรูปกราฟฟิตีชื่อดังของคีธ แฮริงกำลังเต้นรำบนรอยยิ้มที่มั่นใจของมาดอนนา

ในช่วงที่วอร์ฮอลมีชีวิตอยู่ ดีว่าตัวจริงเสียงจริงเท่านั้นถึงได้ครองพื้นที่สื่อ ผิดกับทุกวันนี้ที่ศิลปินเกรดบีก็สามารถเป็นข่าวดังได้ สารคดีน้ำเน่าและรายการแคสติ้งโชว์ที่ฉายแววดาราทั้งหลายในปัจจุบันก็น่าจะเป็นที่ถูกใจของวอร์ฮอล เพราะที่ ‘Factory’ ของเขา นอกเหนือจากงานศิลปะแล้วก็มีการผลิตไอคอนออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ต้นทุนต่ำ ที่ส่วนใหญ่แล้วมีพล็อตเรื่องง่ายๆ แต่เน้นที่จะผลักดันให้ใครต่อใครกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของวอร์ฮอลอย่างเอดี เซดจ์วิก (Edie Sedgwick) นางแบบที่ไปโผล่ในหนังของวอร์ฮอลบ่อยครั้ง หรือโจ ดาเลสซานโดร (Joe Dalessandro) นักแสดงขวัญใจของวอร์ฮอลที่ถูกปั้นให้เป็นเซ็กซิมโบล

ปี 1968 แอนดี วอร์ฮอลอ้างถึงประโยคของนักปรัชญาด้านสื่อมวลชนมาร์แชลล์ แม็คลูแฮน (Marshall McLuhan) ที่ว่าในอนาคต ทุกคนจะดังระดับโลกในเวลา 15 นาทีซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้เกือบทุกคนสามารถโด่งดังได้ง่ายดายกว่านั้น จากสื่อโซเซียลฯ ที่กลายเป็นกระแสของสังคมโลก

แอนดี วอร์ฮอลเองก็น่าจะโปรดปรานยูทูบ หรือบางทีเขาอาจจะรู้ล่วงหน้าด้วยซ้ำว่า วันหนึ่งจะมีคนดูกว่าครึ่งล้านคนคลิกเข้าไปดูคลิปกินแฮมเบอร์เกอร์ของเขา

อ้างอิง:

https://www.zeit.de/kultur/kunst/2012-02/andy-warhol-medien

https://www.geo.de/geolino/mensch/3460-rtkl-weltveraenderer-andy-warhol

https://www.kabeleinsdoku.de/themen/helden-und-verbrecher/andy-warhol-biografie-schrille-pop-art-ikone

https://web.de/magazine/unterhaltung/thema/andy-warhol

https://dafilms.com/film/8355-66-scenes-from-america

Tags: , ,