เป็นการจับตัวเรียกค่าไถ่หรือปัญหาครอบครัว ฆาตกรรมหรืออัตวินิบาตกรรม ขณะนั้นยังไม่มีใครล่วงรู้ แต่การหายตัวไปของนักเขียนชื่อดังในปี 1926 ทำให้ทั้งเกาะอังกฤษต้องแตกตื่น ผู้คนนับหมื่นพากันสืบเสาะตามหาเธอ บางคนถึงกับใช้พลังจิตในการค้นหา

เช้าวันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม 1926 มีคนไปพบรถมอร์ริส คาวลีย์คันสีเขียวของเธอจอดทิ้งอยู่ริมคู ใกล้ไซเลนต์ พูล ทะเลสาบที่อกาธา คริสตี (Agatha Christie) เคยปล่อยให้ตัวละครในนิยายอาชญากรรมของเธอจมน้ำตาย ภายในรถพบใบขับขี่ เสื้อคลุมขนสัตว์ และกระเป๋าของเธอ ชวนให้คิดว่าเธออาจถูกคนร้ายจับตัวไป หรืออาจเกิดเหตุเลวร้ายกว่านั้น

แม้ว่าในเวลาต่อมา อกาธา คริสตี จะมีชื่อเสียงโด่งดังจากนิยายอาชญากรรม แต่ในปี 1926 เธอยังไม่ใช่นักเขียนดาวเด่น การหายตัวไปของเธอกลายเป็นข่าวใหญ่ ทำให้มีปฏิบัติการค้นหาครั้งประวัติศาสตร์ของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ตำรวจนับพันนายกระจายกำลังออกเป็น 53 กลุ่ม ทั้งพลเรือนอีกราว 15,000 คนออกตระเวนตามหาในทุกซอกของเซอร์เรย์ แต่ตลอดเวลา 11 วันของการปฏิบัติงานกลับไม่ประสบความสำเร็จ

วิลเลียม เคนเวิร์ด (William Kenward) หัวหน้าชุดปฏิบัติการในครั้งนั้น บอกเล่ากับหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อปี 1999 ว่า มันเป็นเหตุการณ์ภายใต้สถานการณ์ผิดปกติ คริสตีผละออกจากบ้านของเธอในซันนิงเดลช่วงเย็นด้วยอารมณ์เครียด หดหู่

พันเอกอาร์ชี คริสตี (Archie Christie) สามีของเธอ รู้ข่าวการหายตัวไปของภรรยาระหว่างที่เขากำลังท่องเที่ยวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อยู่กับกลุ่มเพื่อน และรีบเดินทางกลับบ้านทันที เขาให้การในภายหลังว่า ก่อนหน้านี้ภรรยาของเขาทำงานหนักมาก จนเขารู้สึกเป็นกังวลว่าเธออาจจะคิดสั้น เขาเล่าให้ตำรวจฟังเกี่ยวกับจดหมายที่อกาธาเขียนฝากไว้ และที่เขาเผาทิ้งไป

เคนเวิร์ดเองก็รู้สึกงง ว่าทำไมนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ มีชีวิตคู่ที่ดี มีความสุขกับลูกสาวที่น่ารัก ในบ้านชนบทที่อบอุ่นเช่นนี้จึงคิดฆ่าตัวตาย ทำไมเธอทิ้งเสื้อคลุมไว้ในคืนที่อากาศหนาวเย็นถึงสององศา และรถยนต์ที่เธอจอดทิ้งไว้ก็ไม่ได้ใส่เกียร์เบรก

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจกจ่ายข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ใช้เรือขุดคุ้ยโคลนบริเวณรอบบึงน้ำ กระทั่งอาร์ชี คริสตี รบเร้ามากขึ้น สก็อตแลนด์ยาร์ดจึงยื่นมือเข้ามาช่วยติดตาม หรือแม้กระทั่งวิลเลียม จอย์นสัน-ฮิคส์ (William Joynson-Hick) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งปฏิบัติหน้าที่

ความช่วยเหลืออีกแรงมาจากอาร์เธอร์ โคนัน ดอย์ล (Arthur Conan Doyle) นักเขียนนิยาย ‘เชอร์ล็อค โฮล์ม’ รวมถึงโฮเรซ ลีฟ (Horace Leaf) นักร่างทรงชื่อดังก็กระตือรือร้นที่จะช่วย และรีบแจ้งข้อมูลทันทีหลังจากได้สัมผัสกับถุงมือของอกาธา คริสตีว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความขุ่นเคือง เจ้าของถุงมือกำลังอยู่ในภาวะสับสน ลีฟบอก เธอยังไม่เสียชีวิต อีกไม่ช้าทุกคนจะได้ข่าวจากเธอ

อย่างไรก็ตาม วันต่อๆ มา ยังมีข่าวของคริสตีให้ติดตามเหมือนคำทำนาย หนังสือพิมพ์เวสมินเตอร์ กาเซ็ตต์รายงานว่า จุดที่พบรถยนต์เป็นสถานที่ซึ่งผู้หญิงปกติจะไม่ไป เดลี สเก็ตช์ ให้น้ำหนักไปที่การฆ่าตัวตาย และบริเวณริมบึงนั้นมีแรงดึงดูดที่ผู้เข้าใกล้ไม่อาจต้านทานได้ เดลีนิวส์ตั้งรางวัล 100 ปอนด์ ให้กับผู้ชี้นำไปสู่การพบตัวคริสตีได้ หรือนิวยอร์ก ไทม์สเองก็พาดหัวข่าวว่า “นักประพันธ์หายตัวไปแบบไม่ชอบมาพากล”

แต่แล้วในเวลาต่อมา ชาร์ล็อตต์ ฟิสเชอร์ (Charlotte Fischer) เลขาฯ ของคริสตีแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างสามี-ภรรยาคริสตีในตอนเช้าของวันที่ 3 ธันวาคม ในตอนเย็น อกาธาทิ้งจดหมายฉบับหนึ่งไว้ให้กับสามี และกล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด “ฉันอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว” ฟิสเชอร์ไม่กล้าโทรศัพท์แจ้งตำรวจเพราะไม่ต้องการให้เจ้านายรู้สึกยุ่งยากใจ

ชีวิตคู่ของคริสตีไม่ได้ราบรื่น ต่างคนต่างอยู่ อาร์ชีแอบไปมีสัมพันธ์รักกับแนนซี นีล (Nancy Neele) ที่อยู่ในก๊วนเล่นกอล์ฟของเขา เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของใครๆ ในแวดวงเพื่อนฝูงของครอบครัว จะมีก็เพียงอกาธาเท่านั้นที่ไม่รู้ ในเดือนสิงหาคม 1926 เขาปริปากเล่าให้อกาธาฟังเรื่องที่เขานอกใจเธอมานานถึง 18 เดือนแล้ว เมื่อได้รับรู้ เธอเองก็พยายามจะประคองชีวิตคู่ต่อไปและยอมให้อภัย กระทั่งเช้าของวันที่ 3 ธันวาคม อกาธารู้ว่าสามีจะไปเที่ยวสุดสัปดาห์กับชู้รัก นอกจากจะไม่กลับใจแล้ว เขายังคิดอยากจะแต่งงานกับนีลอีกด้วย

ความพยายามของอาร์ชีในการช่วยเหลือตำรวจในการติดตามหาตัวภรรยากลับเปลี่ยนมุมมอง จนดูคล้ายว่าเขาต้องการเบี่ยงเบนความสนใจ จนกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่า สังหารภรรยาที่เขาคิดจะหย่าร้างเสียเอง อย่างน้อย รถยนต์คันที่ถูกจอดทิ้งไว้นั้นก็อยู่ห่างจากจุดที่สองสามี-ภรรยาทะเลาะกันเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ประเด็นน่าสงสัยอื่นยังมีที่จดหมายอีกฉบับ ที่ผู้หายตัวไปส่งจากกรุงลอนดอนในตอนสายของวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีคนพบรถยนต์ ในจดหมาย อกาธาเขียนบอกน้องชายของสามีว่า เธอจะเดินทางไปพักผ่อนที่ยอร์กเชอร์ช่วงสั้นๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบรายชื่อแขกเข้าพักโรงแรมที่นั่นทั้งหมด แต่ไม่พบว่ามีชื่อเธอเข้าพัก

ข้อมูลสำคัญมาถึงในวันที่ 14 ธันวาคม จากนักเล่นแบนโจ เขามีการแสดงที่แฮร์โรเกต และพบเจอผู้หญิงตามใบประกาศแจ้งหายในโรงแรมสวอน ไฮโดร เธอผู้นั้นไม่มีท่าทีว่าตกอยู่ในอันตราย หากแต่ดูร่าเริง ร้องรำ และเต้นชาร์ลส์ตันอย่างสนุกสนาน นอกจากนั้น เธอยังอ้างอีกว่า เธอไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เป็นหญิงแอฟริกันที่เพิ่งเดินทางมาเยือนสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก และนามสกุลของเธอคือ นีล ไม่ใช่ คริสตี ชื่อเต็มของเธอคือ เทเรซา นีล เธอพักอยู่ในโรงแรมแห่งนั้นกับสามี

ฝ่ายสืบสวนคล้ายถูกตบหน้า ทั้งที่ตั้งทีมล่าคลำหาในความมืดอยู่นานถึงสัปดาห์ครึ่ง ในขณะที่อกาธา คริสตีนั้นกลับใช้ชีวิตสุขสบาย งานนี้ทำให้วิลเลียม เคนเวิร์ดต้องให้คำตอบเป็นการส่วนตัวกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย

ทว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นระหว่างวันที่ 3-14 ธันวาคมนั้น กลับไม่มีใครรู้แน่ชัด อาร์ชี คริสตีอธิบายว่า ภรรยาของเขาเป็นโรคนอนไม่หลับ สาเหตุจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่เธอเคยประสบ ส่วนตัวเธอเองนั้นเคยบอกเล่าครั้งหนึ่ง ครั้งเดียวว่า เธอเกิดอาการละเมอเพ้อพกหรือความจำเสื่อมไปยี่สิบสี่ชั่วโมง และไปรู้สึกตัวอีกครั้ง ‘เป็นหญิงจากแอฟริกาที่มีความสุข’ ตอนที่อยู่ในแฮร์โรเกตแล้ว นอกเหนือจากนั้น เธอก็ไม่ปริปากพูดอะไรอีก ไม่แม้กระทั่งเขียนเล่าในสมุดบันทึก

การหายตัวของคริสตีดูจะขัดแย้งกับอาการละเมอเพ้อพกที่เธอกล่าวอ้าง อย่างน้อยเธอน่าจะเห็นข่าวหนังสือพิมพ์ในโรงแรมที่เธอพัก เพราะมีภาพถ่ายของเธอปรากฏอยู่บนหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ นอกจากนั้น เธอยังเจตนาส่งจดหมายจากกรุงลอนดอน อีกทั้งยังนำแหวนเพชรไปส่งซ่อมที่ร้านเครื่องประดับ พร้อมกำชับให้ทางร้านส่งกลับไปให้เธอที่บ้าน ตามที่อยู่ซึ่งเธอจดให้อย่างถูกต้อง และที่แฮร์โรเกต คริสตีเช็กอินเข้าพักด้วยนามสกุลชู้รักของสามี ราวกับเจตนาประชดสามีของตน

บางทีอกาธา คริสตีอาจใช้ทฤษฎีความจำเสื่อมเพียงเพื่อต้องการรักษาชื่อเสียงของตนเอง ถึงตอนนั้นสื่อมวลชนอังกฤษเริ่มที่จะขุดคุ้ยเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของสามี-ภรรยาคู่นี้ และเมื่อความพยายามทั้งหมดทั้งมวลที่จะประคองชีวิตคู่ให้อยู่รอดไม่เป็นผลสำเร็จ สัมพันธ์รักของพวกเขาก็สิ้นสุดลง ตามมาด้วยการหย่าร้างในปี 1928

การหายตัวไปอย่างลึกลับของเธอ สำหรับการเขียนนิยายอาชญากรรมของคริสตีแล้วกลับกลายเป็นโชคดี จากเดิมที่พอมีชื่อเสียงอยู่บ้างแล้ว เมื่อตกเป็นข่าวใหญ่ในสื่อก็ยิ่งทำให้เธอมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก

วันที่ 12 มกราคม 1976 อกาธา คริสตีเสียชีวิตลงด้วยวัย 85 ปี ที่บ้านของเธอในวินเทอร์บรูค…โดยปราศจากอิทธิพลใดๆ จากภายนอก

 

อ้างอิง:

Jared Cade, Agatha Christie and the Eleven Missing Days, Peter Owen Publishers (1998)

Tags: , ,