ฤดูกาลการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากำลังเริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม 2019 มีเหตุการณ์ฉาวโฉ่วที่พูดถึงการทุจริตเงินแป๊ะเจี๊ยะเข้ามหาวิทยาลัย
ล่าสุด พบผู้ปกครองบางกลุ่มยอมยกเลิกการเป็นผู้ปกครองทางกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลมองว่านักเรียนเป็นผู้ตกยากลำบากและยอมช่วยเหลือค่าเล่าเรียน
กรณีดังกล่าวพบขึ้นโดย มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในชิคาโก โดยพ่อแม่เหล่านี้โอนถ่ายสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองให้กับญาติหรือเพื่อน และอ้างว่านักเรียนได้แยกออกจากครอบครัวและดูมีฐานะยากจนกว่าความเป็นจริง เด็กนักเรียนเหล่านี้ก็จะได้รับเงินทุนจำนวน 11,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 340,000 บาทต่อปี)
ทางมหาวิทยาลัยจับไต๋การโกง หลังสังเกตได้ว่า ใบสมัครของนักเรียนทุกคนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งนักเรียนทั้งหมดอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพิ่งแยกออกจากครอบครัวเหมือนกัน และยังใช้ถ้อยคำเหมือนกันอีกด้วย โดยทางมหาวิทยาลัยสามารถจับทุจริตผู้สมัครได้ 14 คน
แต่ ProPublica สื่อที่สืบสวนเรื่องนี้ก็ยังพบว่า ลูกหลานของคนที่ถูกกล่าวหาในการโกงครั้งนี้ส่วนใหญ่ก็ยังได้รับคัดเลือกเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งนี้ การสืบสวนยังไม่เสร็จสิน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมิสซูรี มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และมหาวิทยาลัยอินเดียนา ระบุว่ากำลังสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้
ปัญหาเรื่องค่าเรียนแพงกลายเป็นปัญหาอย่างมากที่สหรัฐอเมริกา กรณีที่พบได้บ่อยคือ นักเรียนมีความรู้ความสามารถเพียงพอ แต่ไม่สามารถเข้าเรียนได้เพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีทุนการศึกษาสำหรับคนยากจน แต่พ่อแม่จำนวนหนึ่งก็ใช้วิธีโกงเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียน
การศึกษาจึงกลายเป็นสินค้าสำหรับสังคมคนรวย การเข้าเรียนที่แสนยากและราคาแพง กลายเป็นกลไกที่คัดกรองให้เฉพาะคนมีฐานะมั่งคั่งเท่านั้น ที่จะสร้างโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า เครือข่ายศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยดังเหล่านี้ก็คือกลุ่มของคนร่ำรวย โดย Wealth-X รวบรวมมหาวิทยาลัยที่มีศิษย์เก่าร่ำรวยที่สุดมา 20 ลำดับ ซึ่งรวมถึงไอวี่ลีกส์ 6 มหาวิทยาลัยด้วย
สภาวะเหล่านี้ ทำให้การศึกษาขั้นสูงในสหรัฐฯ หลายเป็นการลงทุนที่ราคาแพงและไม่ใช่คนทุกระดับชั้นที่จะเข้าถึงได้ ค่าเล่าเรียนอาจสูงถึงแสนเหรียญสหรัฐ ระบบที่ใช้คัดกรองนักศึกษายังเอื้อโอกาสให้กับนักเรียนที่มีฐานะมั่งคั่ง และพ่อแม่ยอมที่จะคดโกงหรือทำวิธีต่างๆ เพื่อให้ลูกได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังตามต้องการ
สำหรับปัญหาเรื่องเงินแป๊ะเจี๊ยะที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ครอบครัวร่ำรวยที่มีพฤติการณ์โกงลักษณะนี้ มีกว่า 30 รายจากแวดวงดาราฮอลลีวูด และเกือบ 50 รายที่มาจากแวดวงการเงิน ถูกจับได้ว่าทุจริตแป๊ะเจี๊ยะ โดยใช้วิธีการข่ายเงินกว่าล้านเหรียญสหรัฐให้บริษัทให้คำปรึกษาแคลิฟอร์เนีย เพื่อดันให้ลูกของตัวเองสามารถเข้าเรียนที่เยล มหาวิทยาลัยเซาธเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และสถาบันชื่อดังอื่นๆ
จากการสัมภาษณ์นักเรียนที่มีฐานะยากจน พบว่า ข่าวทุจริตระบบเข้าเรียนเหล่านี้ ส่งผลกับความเชื่อมั่นของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และทำลายความมั่นใจของนักเรียนฐานะยากจนที่พยายามจะสอบเข้าในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกตกใจกับการที่ระบบเข้ารับศึกษาต่อเอื้อประโยชน์ให้คนรวย แต่กลับโกรธในความแข็งทื่อไร้ยางอายกับการโกงระบบเสียมากกว่า
อ้างอิง:
- https://learningenglish.voanews.com/a/college-guardianship-scheme/5025055.html
- https://www.reuters.com/article/us-usa-education-cheating/as-u-s-college-admission-process-opens-scandal-weighs-on-low-income-students-idUSKCN1UX11V?
- https://www.businessinsider.com/us-universities-wealthiest-alumni-harvard-princeton-yale-2019-7?fbclid=IwAR1LEBOwHfOknZn5ji2BNRSnhG7m36QBss408e4E7JmKK6AVeu-imeCEALI
ภาพ: Gettyimages
Tags: ค่าเล่าเรียน, อิลลินอยส์, ชิคาโก, แป๊ะเจี๊ยะ, ค่าเรียนแพง