วันนี้ (15 มีนาคม 2562) สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หัวหน้าพรรคเกียน และนักเคลื่อนไหวรูปแบบสันติวิธี แต่งคอสเพลย์คล้ายชุดข้าราชการสีกากี คาดเข็มขัดลูกเสือ พร้อมด้วยหมวกรูปทรงคล้ายหมวกโจรสลัดสีดำ เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอตัวเป็นพยานยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ โดยอ้างถึงกรณีที่ตนเองเคยโดนศาลตัดสินข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกตัวของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปี 2557 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะผู้ตรวจการแผ่นดินยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5/2543 และตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติเข้าข่ายครบถ้วน
บก.ลายจุดกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “วันนี้ผมมาที่ กกต. เพื่อยื่นหนังสือเสนอตัวเป็นพยานให้ พล.อ.ประยุทธ์ คือผมตั้งใจมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ นะครับ ไม่ได้จะมาต่อต้าน” พร้อมทั้งยกกรณีของตัวเองขึ้นมาอธิบาย โดยในปี 2557 เขาเคยถูก พล.อ.ประยุทธ์เรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขาไม่ไป โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่รู้จัก คสช. และคนกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่เจ้าพนักงาน จึงไม่มีสิทธิ์มาเรียกตัวเขา ต่อมาเขาถูกจับตัวไปส่งศาล และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต่างวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ จึงมีสิทธิ์เรียกตัวเขา ทำให้เขาโดนข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน โดนโทษจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 3,000 บาท และอายัดบัญชีเงินฝากส่วนตัว 4 ปี
บก.ลายจุด กล่าวอีกว่า ต้องการมาเป็นพยานให้กับพรรคพลังประชารัฐเพื่อยืนยันว่า พล.อ. ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ กกต. จะวินิจฉัยตามที่ตนกล่าวหรือเชื่อศาลก็ได้ แต่ถ้าหากคลุมเครือและไม่สามารถหาข้อยุติได้ อยากให้ กกต. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน
นอกจากนี้ บก.ลายจุด ยังทวีตว่า “ผมมีคำตอบ ถ้าพลเอกประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แล้วตลอดเกือบ 5 ปี แกเป็นอะไร? ทำไมแต่งตัวชุดกากี? คำตอบคือ ประยุทธ์แต่งคอสเพลย์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”
ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. คัดค้านการใช้อำนาจตัดสินตำแหน่งหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ ของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเรียกร้องให้ กกต. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีนี้ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยได้ยกกรณีของนายรังสิมันต์ โรม ที่ปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และกรณีของนายสมบัติ ดังที่กล่าวข้างต้น
ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลา 14.00 น. น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา พร้อมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กกต. ให้ทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม และเรียกร้องให้ดำเนินคดีพรรคพลังประชารัฐในบรรทัดฐานเดียวกับการดำเนินคดีกับพรรคไทยรักษาชาติ ภายใต้ระบบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พร้อมทั้งกดดันให้ กกต. ติดตามข้อมูลการทุจริตการเลือกตั้งที่ปรากฏทั่วสื่อ และโลกออนไลน์
ทางด้านวิญญัติ ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินกระทำการนอกเหนืออำนาจตัวเองในการชี้ขาดตำแหน่งหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดย กกต.ต้องเป็นผู้วินิจฉัยและส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด พร้อมทั้งกดดันให้กระทำโดยเร็วก่อนการเลือกตั้ง หากเพิกเฉยก็อาจจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา) รวมถึงเรื่องการร้องเรียนอื่นๆ อาทิ การใช้นโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุปันหาเสียง
นายวิญญัติยังกล่าวด้วยว่า ถ้าก่อนวันที่ 24 มีค. กกต.ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคม ก็ควรจะลาออก เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ส่อแววว่าจะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม
ในวันนี้ กกต. ยังต้องรับหนังสือร้องเรียนของพรรคเพื่อไทย นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค และทีมกฎหมาย ให้ดำเนินการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศกลางเวทีปราศรัยของพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า จะนําคลิปภาพเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. มาเผยแพร่ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จและจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและผู้สมัครพรรค
โดยทีมงานพรรคเพื่อไทย ยังเข้าหารือกับ กกต. ถึงความกังวลในเรืองการประชาสัมพันธ์และการทำงานของ กกต. อาทิ เรื่องการพิมพ์ และการเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต การชื้อเสียง พร้อมทั้งสอบถาม กกต. ถึงมาตรการตรวจสอบและแนวทางการทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์และยุติธรรม
นอกจากนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายเอกราช อุดมอำนวย เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ให้เปิดเผยวิธีการสรรหา รวมถึงรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 400 คน โดยอ้างมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ถ้าหากข้อมูลนั้น ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ได้ยื่นหนังสือแก่ กกต. ในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยยืนยันสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 250 คนดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดย ส.ว.ชุดแรกจะมีสิทธิพิเศษ ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. จากการเลือกตั้ง
โดยที่มาของส.ว. มาจากกระบวนการสรรหา 3 ส่วน
-
สมาชิกวุฒิสภา 50 คน – มาจากการเลือกกันเองของ 10 กลุ่มสาขาอาชีพ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ คัดเลือกจนเหลือ 200 รายชื่อก่อนส่งให้ คสช. เลือกเหลือ 50 คน
-
สมาชิกวุฒิสภา 194 คน – มาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มี ‘ประสบการณ์เป็นกลางทางการเมือง’ ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จะคัดเลือกเบื้องต้นก่อน 400 รายชื่อ ก่อนที่ คสช. จะเคาะผู้ที่เหมาะสมที่สุดเหลือเพียง 194 คน
-
สมาชิกวุฒิสภา 6 คน – เป็นโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการกองทัพไทย (พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี) ผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์) ผู้บัญชาการทหารเรือ (พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน) ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา) และปลัดกระทรวงกลาโหม (พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ)
การประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาจะมีขึ้น 3 วัน ภายหลังการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย กกต. ใช้งบในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไปทั้งสิ้น 1,303 ล้านบาท
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/content/1519930
https://www.matichon.co.th/politics/news_1406674
https://www.bbc.com/thai/thailand-45859938
https://prachatai.com/journal/2019/03/81518
https://www.matichon.co.th/politics/news_1406717
Tags: บก.ลายจุด, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สมบัติ บุญงามอนงค์