ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสได้อ่านรายงานวิจัยโดยกลุ่มบลูมเบิร์กการเงินพลังงานใหม่ (Bloomberg New Energy Finance: BNEF) สำหรับปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างยิ่งในประเด็นพลังงานหมุนเวียนจนอดไม่ได้ที่อ่านไปแล้วจะอมยิ้มเนื่องจาก BNEF ระบุว่าพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีให้หลัง และจะคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดบนโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า

ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมพลังงานซึ่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกราว 25 เปอร์เซ็นต์ของโลก เดินไปบนเส้นทางที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสหลังยุคอุตสาหกรรม ที่สำคัญ เทรนด์การใช้ถ่านหินยังลดลงทั่วโลกยกเว้นภูมิภาคเดียวคือเอเชีย แต่รายงานดังกล่าวคาดว่าภายใน 6 ปีข้างหน้า การใช้ถ่านหินทั่วโลกก็จะถึงจุดสูงสุดก่อนจะค่อยๆ ลดลง

แต่หัวข้อที่ผู้เขียนสะดุดตามากที่สุดคือการลดลงของต้นทุนพลังงานหมุนเวียน เพราะตัวเลขต้นทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของพลังงานลมลดลง 49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ต้นทุนจาก 100 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วกลับเหลือเพียง 15 บาทในปัจจุบัน พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นทางเลือกที่ต้นทุนต่ำที่สุดใน 11 ประเทศคือ ออสเตรเลีย ชิลี อียิปต์ ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล อิตาลี ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สเปน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งที่เมื่อ 5 ปีก่อนหลายประเทศในกลุ่มนี้ยังมีถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ราคาถูกที่สุด

กราฟแสดงต้นทุนตามประเภทของแหล่งพลังงานระหว่าง ค.ศ. 2009 – 2018 จาก SolarPower Europe’s Global Market Outlook 2019 – 2023 (เหลือง) พลังงานแสงอาทิตย์ (ฟ้า) ลม (เขียว) โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สแบบ CCGT (ดำ) ถ่านหิน (เทา) นิวเคลียร์

ตัวเลขดังกล่าวทำให้ชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลังงานที่เคยถูกตีตราว่าแพงแสนแพง ไม่มีทางเอาชนะเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และคงกลายเป็นเพียงความฝันเฟื่องในนิยายวิทยาศาสตร์ กลับกลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกกว่าถ่านหินในเวลาเพียงชั่วทศวรรษ

หนึ่งทศวรรษของพลังงานแสงอาทิตย์

    หลายคนคงแปลกใจหากผมบอกว่าราคาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงได้นั้นเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย

    ก่อนวิกฤติซับไพรม์ อุตสาหกรรมแผงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอุตสาหกรรมที่หลากหลายประเทศต่างแข่งขันกันลงทุนในฐานะอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีผู้เล่นหนึ่งที่โดดเด่นคือจีนซึ่งรัฐบาล ‘เล่นใหญ่’ ทุ่มทั้งเงินและสินเชื่อเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว เพียงไม่นานบริษัทจีนก็ขึ้นครอง 10 อันดับผู้นำการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แซงหน้าเจ้าตลาดเดิมอย่างเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

    จากโอกาสในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและมีอนาคตกลับกลายเป็นฝันร้ายของนักลงทุนเมื่อวิกฤติซับไพรม์ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความต้องการไฟฟ้าลดน้อยลง อีกทั้งผู้พัฒนาโครงการยังยากที่จะหาแหล่งสินเชื่อ ในขณะที่จีนได้ลงทุนขยายฐานการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไปอย่างมหาศาล ภาวะอุปทานล้นเกินทำให้ราคาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.ศ. 2554 เพียงปีเดียว

เมื่อราคาขายตกต่ำ สิ่งเดียวที่บริษัทต้องทำเพื่ออยู่รอดคือวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุน และผู้ชนะในสงครามราคานี้คือประเทศจีน โดยในปัจจุบันผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์เจ้าใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับแรกตั้งอยู่ในประเทศจีนแทบทั้งหมด โดยมีหนึ่งแห่งตั้งอยู่ในประเทศเกาหลีใต้    นอกจากสงครามราคาคือการกระโดดเข้ามาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินในการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำลง

ในสหรัฐอเมริกา บริษัทอย่างโซลาร์ซิตี้ (SolarCity) ใช้วิธีที่ชาญฉลาดโดยการทำสัญญาระยะยาวกับเจ้าของบ้านโดยผู้สนใจจะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไม่จำเป็นต้องลงทุนเงินก้อนใหญ่ เพียงแต่จะต้องทำสัญญาจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับโซลาร์ซิตี้แทนในอัตราที่ถูกกว่าปกติ ในฝั่งบริษัทก็นำแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไปผูกเป็นแพ็คเกจเพื่อขอเงินลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โมเดลธุรกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงามในช่วงแรกๆ แต่โซลาร์ซิตี้เติบโตเร็วเกินไปจนขาดสภาพคล่องก่อนจะถูกซื้อกิจการโดยเทสลา (Tesla) เมื่อ พ.ศ. 2559 หลังจากปรับโครงสร้างภายในของบริษัทครั้งใหญ่ บริษัทก็เดินหน้าติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาผู้บริโภครายย่อยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกจากสินเชื่อและเงินให้เปล่าเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนแล้ว การตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำยังจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อในโครงการพลังงานหมุนเวียนง่ายขึ้น เช่น ในประเทศสเปนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าภายใน พ.ศ. 2573 สเปนจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 74 เป้าหมายดังกล่าวทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสเปน เช่น BBVA กันสินเชื่อ 60 ล้านยูโรเพื่อโครงการพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น อีกทั้งนวัตกรรมการปล่อยสินเชื่อโครงการโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ซื้อไฟฟ้า หรือสัญญาการซื้อไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreements: PPAs) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของธนาคารในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

สิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนโดยรัฐบาลในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย รัฐบาลมีโครงการสินเชื่อเทคโนโลยีขนาดเล็ก (Small-Scale Technology Credits) สำหรับการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ในครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการเสนอส่วนลดและเงินคืนโดยอิงจากอัตราที่แผงพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าได้

ส่วนประเทศอินเดีย มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ (Ministry of New and Renewable Energy) เพื่อสนับสนุน ติดตาม และอำนวยความสะดวกโครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีการให้ผลประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนที่พัฒนาฟาร์มโซลาร์ รวมถึงเงินอุดหนุนราวร้อยละ 30 สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทั้งสองกรณีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวนโยบายทั่วโลกที่ผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเราจะสามารถพบเห็นโครงการสนับสนุนโดยภาครัฐทั้งในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงจีนและเกาหลีใต้

กราฟกำลังการผลิตติดตั้งของพลังงานแสงอาทิตย์ตามภูมิภาค ค.ศ. 2000 – 2018 จาก SolarPower Europe’s Global Market Outlook 2019 – 2023 (ฟ้า) ยุโรป (น้ำเงิน) อเมริกา (เหลือ) เอเชียแอซิฟิก (ส้ม) จีน (เขียว) ตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี นโยบายสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะหยุดในปีสองปีนี้ โดยมีสาเหตุหลักคือพลังงานแสงอาทิตย์ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ต้นทุนลดต่ำลงจนสามารถแข่งขันได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินอุดหนุนอีกต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2561 พลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่มีกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุด (102 กิกะวัตต์) โดยคิดเป็น 2 เท่าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน (50 กิกะวัตต์) และนับว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาโดยมีผู้เล่นรายใหญ่คือประเทศจีน

พลังงานแสงอาทิตย์ ต้นทุนถูกแต่ทำไมทำให้ค่าไฟแพง?

แม้ว่าต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นลมหรือแสงอาทิตย์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ทำไมค่าไฟฟ้าของประเทศซึ่งถือว่าเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างเยอรมนีและเดนมาร์ก กระทั่งบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนอย่างมาก เช่น แคลิฟอร์เนีย กลับเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงระยับ

อย่างแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ต้นทุน’ ของโครงการพลังงานหมุนเวียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้า เราต้องมองสินค้าเป็นบริการไม่ใช่สินค้า โดยการส่งมอบบริการไฟฟ้านั้นจำเป็นต้องผ่านโครงสร้างพื้นฐานอย่างกริดไฟฟ้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีอายุกว่าร้อยปีและออกแบบเพื่อรองรับการป้อนไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานหมุนเวียนที่กำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับลมและแสงแดดซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้บริหารกริดที่แต่เดิมสามารถยกหูแจ้งให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินเครื่องหรือหยุดเดินเครื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างทันท่วงที

พลังงานหมุนเวียนซึ่งต้องพึ่งพาธรรมชาติจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ โดยประเทศอย่างเยอรมนีและเดนมาร์กอาจเผชิญบางช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าติดลบเนื่องจากลมและแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้ามาเกินความต้องการจนต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายให้คนใช้ไฟฟ้า หรือรัฐฟลอริดาที่บังคับให้บ้านที่ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาต้องจ่าย ‘เงินเพิ่ม’ เป็นค่าบำรุงรักษากริด

ถ้าอย่างนั้นแปลว่าเราไม่ควรใช้พลังงานหมุนเวียนหรือเปล่า?

คำตอบคือไม่ใช่ครับ ผู้เขียนอยากให้เข้าใจก่อนว่าภาพสะท้อนค่าไฟราคาแพงเป็นราคาที่เหล่าประเทศผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนจ่ายเพื่อผลักดันเทคโนโลยีซึ่งสมัยก่อนยังมีต้นทุนสูงลิบลิ่ว โดยเข้าทำสัญญาระยะยาวซื้อไฟฟ้าราคาสูงกว่าตลาดเพื่อจูงใจให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับโครงการใหม่ที่จะก่อสร้างในปัจจุบันก็ย่อมแน่นอนว่าต้นทุนดังกล่าวย่อมถูกกว่ามากหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

ที่สำคัญ นอกจากต้นทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะลดลงอย่างมากแล้ว รายงานของ BNEF ยังระบุด้วยว่าต้นทุนแบตเตอรีเก็บพลังงานลดลงสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาจะมาพร้อมกับแบตเตอรีเก็บพลังงาน และการอยู่อาศัยได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดสาธารณะก็เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและมีแนวโน้มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ความฝันในการสร้างแบตเตอรีขนาดยักษ์เพื่อกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในกริดสาธารณะก็ยังมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ย้อนกลับมามองประเทศไทย รายงานโดย BNEF ยังระบุว่าแหล่งพลังงานที่ต้นทุนถูกที่สุดของไทยยังคงเป็นถ่านหิน เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) ได้สะท้อนว่าภาครัฐได้เห็นโอกาสจากต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ราคาถูกลง ผนวกกับการที่ไทยมีศักยภาพในการเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำกว่าอินเดียเพียงเล็กน้อย โดยมีการปรับแผนกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากเดิม 6,000 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2579 เป็น 15,574 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2580

    ฉากทัศน์ในอุดมคติสำหรับนักสิ่งแวดล้อมคือการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนโดยอิงจากเหตุผลทางเศรษฐกิจไม่ใช่เหตุผลทางสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มในช่วงสิบปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่าเราเข้าใกล้จุดนั้นอย่างต่อเนื่องโดยในบางประเทศก็ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปแล้ว สถานการณ์ปัจจุบันทำให้คนที่ควรกังวลที่สุดอาจกลายเป็นบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่รู้จักปรับตัวตามสถานการณ์ ในขณะที่นักสิ่งแวดล้อมคงสามารถเบาใจได้ระดับหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน

 

เอกสารประกอบการเขียน

New Energy Outlook 2019

What made solar panels so cheap? Thank government policy

Evaluating the causes of cost reduction in photovoltaic modules

Here Are The Wonderful Reasons Why Solar Power Is Cheaper Than Ever

Solar and Wind Power So Cheap They’re Outgrowing Subsidies

Global Market Outlook For Solar Power / 2019 – 2023

How Solar Panels Got So Cheap

Planet Money Episode 616: How Solar Got Cheap

What’s Behind the World’s Biggest Climate Victory? Capitalism

 

Tags: ,