เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ดิ อิโคโนมิสต์ (The Economist) จัดงาน ‘ปฏิบัติการนวัตกรรมเพื่อสังคม 2019’  (Social Innovation in Action 2019) ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เพื่อหารือแบบเจาะลึกเกี่ยวกับอนาคตของนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) ในเอเชีย

งานเสวนาในครั้งนี้ได้พูดถึงความสามารถในการเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการแก้ปัญหาทางสังคมของภูมิภาคเอเชีย และการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาใช้ลดผลกระทบจากเทคโนโลยีเพื่อประสานความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีและไม่ใช้เทคโนโลยี

ไซมอน ค็อกซ์ บรรณาธิการด้านตลาดเกิดใหม่ของ ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) และ ชาลส์ รอส บรรณาธิการบริหาร ผู้นำทางความคิดด้านเอเชีย ของ ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายที่น่าสนใจหลายคน เช่น ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะมาบอกเล่าสถานการณ์ของนวัตกรรมเพื่อสังคมของประไทยในปัจจุบัน อลิสัน เอสเคอเซน รองประธานฝ่ายเอเชียแปซิฟิก ศูนย์มาสเตอร์การ์ดเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง และโจนาธาน วอง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก แห่งสหประชาชาติ

นวัตกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยวันนี้

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่าสถานการณ์ของนวัตกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยตอนนี้ยังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้นและยังมีความท้าทายอีกหลายประการ เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคม ผู้ประกอบการที่อ้างว่าตนเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม แต่ส่วนมากมักหลงลืมที่จะใช้นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่กลับใช้วิธีแก้ไขปัญหาไม่ต่างอะไรจากธุรกิจอื่นทั่วไป หรืออีกตัวอย่างความท้าทายหนึ่งก็คือเราจะทำอย่างไรให้องค์กรจากภาครัฐมีส่วนสนับสนุนการลงทุนเพื่อสังคมได้มากขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อยอดและยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนในสังคม

“เป็นเรื่องที่น่าท้าทายที่เราจะทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่บอกว่าตัวเองเป็นกิจการเพื่อสังคมอยู่แล้วสร้างสรรค์นวัตกรรมให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ได้ผลนั้นจะต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดในการริเริ่มนโยบายที่จะนำไปสู่ความสำเร็จก็คือ “ผู้กำหนดนโยบาย” ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่จะออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือ “นักลงทุนเพื่อสังคม” (impact investor) รับมือกับความเสี่ยงและแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามยังมีเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียที่มีนโยบายเหล่านี้ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย และไทย

‘ข้อมูล’ ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม

นอกจากนโยบายที่จะช่วยผลักดันการยกระดับสังคมให้ดีขึ้น การใช้ข้อมูลในการวัดผลอย่างมีประสิทธิภาพก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า

‘ข้อมูล’ ถือว่ามีความสำคัญและมีมูลค่าอย่างมหาศาลในยุคนี้ เรานำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้วัดผลความสำเร็จกันอยู่ตลอด แต่สำหรับการผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมที่หวังผลลัพธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ระยะยาวแล้วคงไม่สามารถนำเพียงแค่ตัวเลขมาวัดผลความสำเร็จได้เหมือนธุรกิจทั่วไป

เควิน ซี เดอซูซา (Kevin C Desouza) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และกลยุทธ์ คณะบริหารธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ อีกหนึ่งสปีกเกอร์ในงานชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปก็คือเกณฑ์ในการติดตามวัดผลข้อมูลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอาจไม่สามารถวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะองค์กรในปัจจุบันส่วนมากติดตามและวัดผลที่ได้รับจากโครงการต่างๆ เพียงแค่ตัวเลขและมูลค่า แต่แท้จริงแล้วแนวทางที่จะทำให้เราสามารถวัดผลนวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างมีความหมายและมีประสิทธิภาพนั้น เราควรติดตามรายละเอียดผลลัพธ์ที่ได้รับในระยะยาวด้วย 

“เช่นว่าเมื่อมีโครงการช่วยจัดหางาน องค์กรส่วนมากจะติดตามผลจำนวนบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ แต่มีเพียงไม่กี่องค์กรที่จะสนใจติดตามผลต่อว่าหลังจากนั้นบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างไร ผ่านไปหนึ่งปี สองปี ยังคงมีงานทำอยู่หรือไม่ ทำให้ผลข้อมูลส่วนมากที่เราได้รับอาจไม่ใช่เครื่องวัดผลความสำเร็จที่ดีนักที่จะวัดผลว่าเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับบุคคลจริงหรือไม่ องค์กรเพื่อสังคมส่วนใหญ่อาจต้องปรับวิธีคิดเพื่อยกระดับในการบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงในการทำเพื่อสังคม”

Tags: ,