หากจะมีสัตว์ประเภทหนึ่งที่ได้พื้นที่สื่อมากเป็นพิเศษเวลาพูดถึงรัฐสภาก็คงจะหนีไม่พ้นงูเห่า แต่แน่นอนว่าในที่นี้ไม่ได้กล่าวถึงสัตว์เลื้อยคลานไม่มีขา เพราะคำว่า งูเห่านี้ ยังเป็นสำนวนที่พบได้ในบริบทการเมืองบ่อยๆ ใช้เรียกนักการเมืองที่พร้อมหักหลังเพื่อนพ้อง ไม่ทำตามมติพรรค หรือแปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามกัน ท่วมฟีดเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตัวเอง
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ชาวต่างชาติเขาใช้งูเห่าในความหมายนี้เหมือนภาษาไทยเราหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ใช้ เขาเปรียบเทียบคนกลุ่มนี้เป็นสัตว์อะไร รวมไปถึงเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับงูๆ ในภาษาอังกฤษด้วย
Cobra ไม่ใช่ คอบร้า
คำว่า งูเห่า ภาษาอังกฤษเรียก cobra คำนี้คนไทยมักจะออกเสียงว่า คอบร้า แต่อันที่จริงแล้ว เสียงพยางค์แรกไม่ใช่เสียง คอ แต่เป็นเสียง โคว เหมือนในคำว่า co-worker เลย (ใครที่มีเพื่อนร่วมงานเป็นงูเห่าก็น่าจะยิ่งจำได้ง่ายขึ้น) อาจถอดเสียงอย่างกระแดะได้ว่า โควเบรอะ
ในภาษาอังกฤษเรียก งู เฉยๆ
แม้ในภาษาไทย คำว่า งูเห่า จะใช้เรียกได้ทั้งสัตว์และคน แต่คำว่า cobra ในภาษาอังกฤษ หมายถึงสัตว์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้เอามาใช้เรียกพวกที่พร้อมทรยศเพื่อนพ้อง
ในภาษาอังกฤษมีสำนวนหนึ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า งูเห่า แบบที่เราใช้เรียกคน นั่นก็คือ snake in the grass หรือจะพูดว่า snake เฉยๆ ก็ได้ หมายถึง คนใจคด คนที่ไว้ใจไม่ได้ ชอบแอบทำอะไรลับหลัง แฝงตัวมาทำท่าทีเป็นมิตรแต่พร้อมหักหลังเราเต็มที่ แต่สำนวนนี้จะใช้ในความหมายกว้างกว่า ไม่ได้ใช้แต่ในแวดวงการเมืองอย่างงูเห่าของไทย ความหมายจะไปคล้ายกับคำว่า อสรพิษ ในภาษาไทย ตัวอย่างเช่น หากเราสารภาพกับเพื่อนสนิทว่ากำลังหมายตาผู้ชายคนหนึ่ง แล้วเพื่อนเราคนนี้ก็ดูสนับสนุนให้เรากล้าๆ เข้าหาผู้ชายคนนี้ แต่เรามารู้ภายหลังว่าเพื่อนเราเห็นแล้วก็ถูกใจเลยแอบส่งข้อความไปหาผู้ชายคนนี้เหมือนกัน แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า She’s such a snake in the grass! I can’t believe it! ก็คือ อีนี่มันอสรพิษชัดๆ ไม่อยากจะเชื่อเลย
หากไม่เรียกว่า snake จะใช้คำว่า viper ที่ใช้เรียกงูพิษก็ได้ เพราะถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะไม่เห็นภาพว่าซ่อนตัวรอจังหวะทำร้ายเราแบบ snake in the grass แต่จะออกแนวเป็นคนที่ดูร้ายเปิดเผยกว่า เช่น You cannot trust that viper. It was him who spread rumors about you and your boyfriend. ก็คือ อย่าไว้ใจไอ้อสรพิษนั่นเชียว มันเป็นคนแพร่ข่าวเรื่องแกกับแฟนแกนะ
ทั้งนี้ คำว่า viper มาจาก vivus ที่แปลว่า มีชีวิต รวมกับ parere แปลว่า ให้กำเนิด รวมได้ความหมายว่าออกลูกเป็นตัว (ในภาษาอังกฤษมีคำว่า viviparous ที่รวมมาจากองค์ประกอบเดียวกัน แปลว่า ออกลูกเป็นตัว) เนื่องจากว่างูในวงศ์ไวเปอร์ เช่น งูแมวเซา งูหางกระดิ่ง ส่วนมากออกลูกเป็นตัว
มันน่าจับส่งสถานเสาวภาให้หมด!
รัฐสภารอบนี้แลดูมีงูเห่าเยอะ จนหลายคนไม่มั่นใจว่าควรเลิกเรียกรัฐสภาว่ารัฐสภา หรือ parliament house แล้วเปลี่ยนไปเรียกว่าสวนงูหรือสถานเสาวภาแทนดีไหม
ทั้งนี้ สวนงูเราสามารถใช้คำเรียกง่ายๆ ได้ว่า snake farm แต่หากอยากใช้ศัพท์หรูหราหมาเห่า ก็อาจใช้คำว่า serpentarium ก็ได้ มาจากคำว่า serpent ที่แปลว่า งู มาเติมส่วนลงท้าย -arium คล้ายๆ กับ aquarium เพื่อเรียกสถานที่นั่นเอง หรือไม่ก็อาจจะเรียกว่า herpetarium (มาจาก herpes ในภาษากรีก แปลว่า เลื้อยคลาน เป็นที่มาของชื่อโรคเริมด้วย) หรือ ophidiarium ก็ได้ (มาจาก ophis ในภาษากรีก แปลว่า งู พบได้ในคำว่า ophidiophobia แปลว่า โรคกลัวงู)
จะเรียกคนพวกนี้ว่างูเห่าก็สงสารงู เรียกอย่างอื่นได้ไหม
หากอยากเรียกคนที่หักหลังเพื่อนพ้องโดยไม่ใช้คำที่เกี่ยวกับงู ก็อาจใช้คำง่ายๆ อย่าง traitor ก็ได้ (คำนี้เป็นญาติกับคำว่า treason และ tradition) หมายถึง คนทรยศ ตัวอย่างเช่น That traitor had a last-minute change of heart and voted for the other camp. คือ ไอ้งูเห่าเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายไปออกเสียงให้กับฝ่ายตรงข้าม
ไม่เช่นนั้น เราก็อาจใช้คำว่า Judas มาจากชื่อ Judas Iscariot ผู้เป็นอัครทูตของพระเยซูในพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นคนทรยศพระเยซูด้วยการจุมพิตพระองค์เพื่อชี้ตัวให้ทหารรู้ว่าคนไหนคือพระเยซู ทำให้พระเยซูถูกจับไปตรึงกางเขนในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ชื่อของจูดาสจึงถูกนำมาใช้เรียกคนทรยศ โดยเฉพาะคนที่ทำให้เราตายใจว่าเป็นมิตร แต่อันที่จริงแล้วคิดทำร้ายเรา ตัวอย่างเช่น Because he appeared fully devoted to the party, nobody had even the slightest suspicion and was completely devastated when he revealed himself to be a Judas. หมายถึง เนื่องจากทุกคนเห็นว่าเขาอุทิศตนให้พรรคมาตลอด จึงไม่เคยมีใครระแคะระคายว่าเป็นงูเห่า พอความจริงเปิดเผยจึงพากันใจสลาย
แต่หากต้องการศัพท์ที่ใช้ในแวดวงการเมืองจริงๆ คนที่หักหลังพวกพ้อง ละทิ้งอุดมการณ์ แปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายตรงข้าม แบบนี้มักจะใช้คำว่า turncoat คำนี้มีที่มาจากสนามรบ โดยปกติแล้วทหารสองฝั่งที่รบกันจะใส่เสื้อคนละสีเพื่อให้ไม่เกิดพลาดยิงใส่เพื่อนฝั่งตัวเอง พวกทรยศหักหลังเพื่อนพูดในเชิงเปรียบเปรยก็คือคนที่เปลี่ยนไปใส่เสื้อสีเดียวกับศัตรู จึงเรียกว่า turncoat
ไม่อย่างนั้นก็อาจจะใช้คำว่า renegade หมายถึง คนที่ละทิ้งอุดมการณ์ของพวกพ้องแล้วกระโดดข้ามค่ายเอาใจไปฝักใฝ่กับฝ่ายที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้าม เช่น ส.ส. หลายคนในพรรคพลังประชารัฐ เดิมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มาก่อน แบบนี้ก็อาจบอกว่าเป็น renegade จากพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์นั่นเอง
บรรณานุกรม
American Heritage Dictionary of the English Language
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Glazier, Stephen. Random House Word Menu. Random House: New York, 1992.
Hellweg, Paul. The Wordsworth Book of Intriguing Words. Wordsworth Editions: Hertfordshire, 1993.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
Lewis, Norman. The Comprehensive Word Guide. Doubleday & Company: New York, 1958.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Shorter Oxford English Dictionary
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.
Fact Box
งูเห่าเป็นงูมีแม่เบี้ย คำว่า แม่เบี้ย นี้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า hood (ให้ภาพน่ารักเหมือนหนูน้อยหมวกแดงสวมฮู้ดเลย) ส่วนงูที่มีแม่เบี้ย เรียกว่า hooded snake