คุณชอบคุยกับ Siri ไหมครับ
ที่จริงก็ไม่ใช่แค่ Siri หรอกนะครับ แต่ตอนนี้มี ‘เสียง’ จากอุปกรณ์ฉลาดๆ หลายอย่างทีเดียว ที่มันพูดคุยกับเราได้เหมือนในหนังเรื่อง Her เช่น อเล็กซา (Alexa) ของแอมะซอน หรือ คอร์ทานา (Cortana) จากไมโครซอฟท์ หรือ Google Home ของกูเกิ้ล
ฟังชื่อดูสิครับ สิริ, อเล็กซา, คอร์ทานา
ใช่แล้วครับ ชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของผู้หญิง ยกเว้นก็แต่กูเกิลโฮมเท่านั้น
ที่จริงแล้ว ถ้าคุณถามพวก ‘เธอ’ ทั้งหลาย ว่าเป็นเพศอะไร Siri ก็จะตอบในทำนองที่ว่า – อย่าให้เสียงของฉันหลอกคุณเลย เพราะที่จริงแล้ว ฉันไม่มีเพศ
แต่ถ้าดูจากชื่อ (รวมไปถึงคำแปล) เราจะเห็นว่าชื่ออย่าง Siri เป็นภาษายุโรปเหนือโบราณที่แปลว่า ‘ผู้หญิงสวยที่นำไปสู่ชัยชนะ’ หรือกระทั่งชื่ออย่างอเล็กซาหรือคอร์ทานา ก็ฟังดูมี ‘ความเป็นหญิง’ อยู่ในนั้นทั้งนั้น
ที่สำคัญ ถ้าเราไปดูพวกเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ถึงขั้นต้อง ‘ฉลาด’ เท่าแอปพวกนี้หรอกนะครับ แค่ในเครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า และเครื่องใช้อื่นๆ ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่มี ‘เสียงพูด’ ไม่ว่าจะเป็นการพูดแนะนำการใช้งานหรือเตือนโน่นนั่นนี่ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเสียงของผู้หญิง
นั่นทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามว่า เพราะอะไรกัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พวกนี้ส่วนใหญ่ถึงต้องเป็นเสียงของผู้หญิง ลองดูบทความของคุณ Jessi Hempel ในนิตยสาร Wired ก็ได้ครับ เธอตั้งคำถามนี้เอาไว้ตั้งแต่ปี 2015 โน่นแล้ว และยิ่งเวลาผ่านมาเรื่อยๆ ก็ดูเหมือนเสียงของผู้หญิงจะ ‘ดัง’ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ ว่ามันเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือเปล่า
บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้บอกว่า มีงานวิจัยและการสำรวจมากมาย ที่ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อเสียงของผู้หญิงในแง่บวกมากกว่าเสียงของผู้ชาย ดังนั้นนักออกแบบจึงเลือกใช้เสียงของผู้หญิงมากกว่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่าเสียงของผู้ชาย เคยมีรายงานการสำรวจในปี 2011 บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ล้วนยอมรับและอยากฟังเสียงของผู้หญิงมากว่า ทั้งยังเป็นการยอมรับในระดับจิตใต้สำนึกด้วย
บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้บอกว่า มีงานวิจัยและการสำรวจมากมาย ที่ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อเสียงของผู้หญิงในแง่บวกมากกว่า
เสียงเหล่านี้คือเสียงที่จะพาผู้บริโภคให้ ‘เข้าถึง’ อุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นเหมือนตัวกลางหรืออินเตอร์เฟซระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์ ถ้าเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า การเลือกใช้เสียงของผู้หญิงจะทำให้เกิดความรู้สึก ‘คุ้นเคย’ มากกว่า เหมือนเสียงนั้นเป็นเสียงของแม่ที่แนะนำเรื่องต่างๆ หรือไม่ก็เป็นเสียงของแม่บ้านหรือคนรับใช้ที่คอยตอบสนองและสร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ แต่ถ้าเป็นเสียงของผู้ชาย หลายคนบอกว่ารู้สึกแปลกๆ เหมือนไปใช้ผู้ชายกวาดบ้านถูบ้านซักผ้า น่าสนใจที่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะในวัฒนธรรมโบราณเท่านั้น แต่กระทั่งวัฒนธรรมตะวันตก รวมไปถึงซิลิคอนแวลลีย์ ก็ยังเลือกใช้เสียงของผู้หญิงด้วยเหตุผลนี้เหมือนกัน
ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Man Who Lied to His Laptop: What Machines Teach Us About Human Relationships และเป็นอาจารย์ที่สแตนฟอร์ด อย่าง คลิฟฟอร์ แนส (Clifford Nass) เคยให้สัมภาษณ์กับฮัฟฟิงตันโพสต์ไว้ว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่คนเลือกใช้เสียงของผู้หญิงก็เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว คนจะมองว่าเสียงของผู้หญิงนั้น ‘ฉลาดน้อย’ กว่าเสียงของผู้ชาย เสียงของผู้หญิงยังมีลักษณะ ‘สยบยอม’ (Subservient) มากกว่าเสียงของผู้ชายด้วย ทำให้เวลา ‘สั่ง’ แล้ว ไม่ต้องกลัว (ในระดับจิตใต้สำนึก) ว่าเสียงเหล่านี้จะเถียงอะไรขึ้นมา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงแนะนำ (แบบเสียงแม่ผู้เป็นใหญ่ในบ้าน) หรือเสียงที่ตอบสนองต่อคำสั่ง (อย่างเสียงคนรับใช้) จึงมักนิยมใช้เสียงผู้หญิงเป็นหลัก
แม้แอปที่ก้าวหน้าอย่าง Siri จะเปิดให้เลือกเสียงได้ว่าจะตั้งเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย รวมทั้งเลือก ‘สำเนียง’ ได้ด้วย (เช่น สำเนียงอังกฤษ สำเนียงอเมริกัน) แต่ถ้าย้อนกลับไปดูที่การตั้งค่าดั้งเดิม เราจะพบว่าเสียงผู้หญิงนั้นมาก่อน เช่น Siri ในภาษาไทย ก็ไม่มีเสียงของผู้ชายให้เลือก
นักวิจารณ์บางคนเชื่อว่า เรื่องนี้ไปไกลมากกว่าแค่เสียงของผู้หญิงเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า แต่มันส่อแสดงให้เห็นถึง ‘อคติทางเพศ’ ของคนในซิลิคอนแวลลีย์ที่มีสำนึกเรื่องอำนาจทางเพศที่ไม่สมดุลด้วย มีการสำรวจในปี 2017 โดย Stack Overflow พบว่าคนที่ทำงานในซิลิคอนแวลลีย์และมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาซอฟท์แวร์นั้น 85.5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ ที่คนจากซิลิคอนแวลลีย์จะพยายามสร้าง ‘แม่’ กับ ‘สาวรับใช้’ ขึ้นมาในโลกของตัวเอง
และที่จริง ถ้าย้อนกลับไปดูงานประเภทให้บริการ เช่น คอลเซนเตอร์ เราจะพบว่าพนักงานคอลเซนเตอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หรือเสียงตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงของผู้หญิงด้วย เรื่องนี้มิเรียม สวีนี (Miriam Sweeney) ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านเฟมินิสม์และสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา บอกว่าเสียงของผู้หญิงจะถูกจับไปใส่ไว้ในงานประเภทงานบริการ แรงงานในบ้าน งานสาธารณสุข ผู้ช่วยในออฟฟิศ ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ ‘ถูกทำให้เป็นหญิง’ (Feminized) อย่างหนัก ซึ่งไม่ได้แตกต่างอะไรกับโลกที่เป็นอยู่เลย เพราะผู้หญิงก็มักถูก ‘ยัดเยียด’ บทบาทให้ต้องทำงานทำนองนี้อยู่แล้ว การใส่เสียงของผู้หญิงเข้าไปในอุปกรณ์พวกนี้จึงเป็นการจำลองแบบของ ‘โลกจริง’ ที่เราอยู่นั่นเอง
ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีกก็คือ แม้เสียงของผู้หญิงที่อยู่ในแอปหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะไม่ใช่เสียงคนจริงๆ แถมยังไม่มีตัวตนด้วย แต่เสียงเหล่านี้ก็ยังถูกลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะแอปฉลาดๆ อย่างสิริ, คอร์ทานา อเล็กซา หรือกูเกิลโฮม
อันที่จริง เชื่อว่าเราๆ ท่านๆ ก็น่าจะเคยถามสิริ, อเล็กซา หรือคอร์ทานา (ถ้ามีใช้น่ะนะครับ) เกี่ยวกับชีวิตทางเพศของพวก ‘เธอ’ ทั้งหลาย (หรือในกรณีที่เป็นเสียงผู้ชาย ก็น่าจะโดนเหมือนกันนั่นแหละครับ) ไมโครซอฟท์เคยออกมาบอกว่ามีคนไม่น้อยทีเดียวที่อยากรู้เรื่องชีวิตทางเพศของคอร์ทานา แล้วในหลายกรณี ก็ถึงขั้นเกิด Sexual Harrasment หรือการล่วงละเมิดทางเพศขึ้นมาด้วยซ้ำ ทำให้ทางบริษัทต้องตั้งโปรแกรมให้ App สามารถ ‘โกรธ’ ได้ ถ้าหากถูกล่วงละเมิดมากเข้า
แม้เสียงของผู้หญิงที่อยู่ในแอปจะไม่ใช่เสียงคนจริงๆ แถมยังไม่มีตัวตนด้วย แต่เสียงเหล่านี้ก็ยังถูกลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศ
เคยมีคนทดสอบนะครับ ว่าสิริ อเล็กซา คอร์ทานา และกูเกิลโฮมนั้น ถ้าโดน ‘ด่า’ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ จะตอบโต้ยังไง โดยเขาพูดสองประโยคใส่ นั่นคือประโยคที่ว่า “You’re a bitch.” กับ “You’re a pussy/dick.”
ปรากฏว่าที่น่าตกใจมากก็คือ สิริมีประโยคหนึ่งที่ตอบกลับมาว่า “I’d blush if I could.” คือบอกว่าฉันคงจะเขินหน้าแดงถ้าฉันทำได้ ทั้งที่กำลังถูกด่าอยู่แท้ๆ ในขณะที่อเล็กซาตอบเพียงว่า “I’m not going to respond to that.” และคอร์ทานาบอกว่า “Well, that’s not going to get us anywhere.” ส่วนกูเกิลโฮมตอบว่า “I don’t understand.” เรื่องนี้ทำให้สิริถูกวิจารณ์ว่า มันถูกตั้งโปรแกรมมาให้ ‘เฟลิร์ต’ กับการล่วงละเมิด คือถูกด่าว่าเป็น bitch แล้วยังจะมาเขินหน้าแดงอะไรกันอีก เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นถึงอาการเซ็กซิสต์ในซิลิคอนแวลลีย์ชัดเจนมาก
ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแอปให้บริการทางเสียงอีกแอปหนึ่ง ชื่อโรบิน (Robin) เคยให้สัมภาษณ์กับ The Times of London เมื่อปีที่แล้วว่า คนใช้เนื้อหาที่ล่อแหลมทางเพศกับ (Robin) กันมากและมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่าคนชอบมาเกี้ยวพาน โดยเฉพาะคนที่ฝันอยากได้สาวๆ ที่สยบยอม หรือแม้กระทั่งเลยไกลไปถึงการอยากได้ทาสทางเพศมาให้บริการตัวเองด้วยซ้ำ โรบินจึงต้อง ‘ติดอาวุธ’ ด้วยการตั้งโปรแกรมให้สามารถ ‘ด่ากลับ’ ได้ด้วยในกรณีที่มีการลวนลามมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนแย้งว่า ในเมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ปัญญาประดิษฐ์หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็น ‘จักรกล’ อย่างหนึ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ก็แล้วทำไมมนุษย์จะต้องเอาความรู้สึกนึกคิดไปยัดใส่หัวปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ด้วยเล่า เพราะในอีกมุมหนึ่ง นี่ก็คือการสร้างและธำรงรักษาอคติบางอย่างในสังคมเอาไว้เหมือนกัน
ปรากฏการณ์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คล้ายกำลังบอกเราว่า A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์นั้น คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ และดังนั้น – โดยไม่ตั้งใจ, มันจึงรับเอาอคติและวิธีคิดแบบเหมารวมใส่เข้าไปในปัญญาประดิษฐ์พวกนี้ด้วย และเป็นไปได้ว่า หากปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง มันก็อาจยังจำลองแบบอคติเดิมๆ เหล่านี้เพื่อส่งต่อให้ปัญญาประดิษฐ์รุ่นลูกรุ่นหลานแบบเดียวกับที่มนุษย์ทำมาตลอดหลายพันปีก็ได้
การที่ Siri (และแอปอื่นๆ) ถูกลวนลามบ่อยๆ เพราะคนรู้สึกว่ามันเป็นแค่แอป ไม่ได้มีชีวิตจริงๆ – จึงเป็นปรากฏการณ์ที่บอกอะไรเราได้หลายอย่างเหลือเกิน
Tags: ผู้หญิง, สมาร์ตโฟน, Siri, personal assistant, Google Home, #ผู้ชาย, เพศ, Alexa, แนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่, อคติทางเพศ