ที่แกลอรี  Aritist+Run ในซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ประตูทางเข้าแปะสติกเกอร์ไว้ว่านิทรรศการ ร่างของปรารถนา เข้าสิงโดย อุทิศ เหมะมูล พลันที่ผลักประตูเข้าไปข้างใน ภาพอีโรติกเปลือยความสัมพันธ์ของคนสองคนที่มุ่งไปสู่ความสุขสันต์อันสูงสุดของมนุษย์กำลังส่งพลังบางอย่างมาถึงเรา​

อุทิศยังไม่มา ผมเดินดูรอบๆ เป็นการฆ่าเวลา สำรวจตรวจตราถึงลักษณะสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเพศชายและเพศหญิง ผมกลืนน้ำลายเฮือกใหญ่ เพราะบางภาพก็ระบุสิ่งดังกล่าวได้อย่างชัดเจน สักพักนักเขียนหนุ่มรุ่นใหญ่เดินเข้ามาอย่างเงียบๆ แต่ยังไม่มีการสนทนา เขาขอตัวไปดูดบุหรี่ก่อนหนึ่งมวน ผมไม่ได้ว่าอะไร ปล่อยให้เขาทำอย่างที่ต้องการ​

ผมนั่งลงที่เก้าอี้ ทบทวนสิ่งที่จะถามเขา นึกถึงฉากอีโรติกในงานเขียนนวนิยายเล่มแรกของอุทิศอย่าง ระบำเมถุน มาจนถึงเล่มล่าสุดอย่าง ร่างของปรารถนา และคำสารภาพที่ว่า “ผมดูหนังโป๊ทุกวัน” ใน Writer ฉบับเดือนสิงหาคม 2555 ที่สัมภาษณ์โดยวรพจน์ พันธุ์พงศ์​

กิเลสตัณหาล้วนเป็นแรงขับชั้นดีอย่างหนึ่งในการสร้างงานของศิลปิน ไม่ว่าแสดงออกผ่านภาพหรือตัวหนังสือ ออร์แกซึม (orgasm) เองก็เป็นกิริยาอาการสามัญของมนุษย์ แล้วทำไมความจริงข้อนี้ต้องถูกปกปิด แต่ถึงอย่างนั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องอย่างว่า บทสนทนาต่อไปนี้ออกจะมีกลิ่นคาวอยู่เสียหน่อย

คุณเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Writer ว่าเสพติดการดูหนังโป๊ ต้องดูทุกวัน จุดเริ่มต้นของเรื่องพวกนี้มาจากไหน

ช่วงชีวิตตัวเองมันคาบเกี่ยวกันมาก ผมเป็นคนยุค 80s ปลายๆ สู่ยุค 90s ตอนนั้นสื่อมันก็เปลี่ยนด้วย หนังโป๊มาในรูปแบบของวิดีโอ แต่ในสังคมชนบทที่แพร่หลายกันจริงๆ จะเป็นหนังสือโป๊ปลุกใจมากกว่า เช่น นวลนาง ไทยเพลย์บอย สมัยเด็กๆ เวลาพ่อ เพื่อนพ่อ กลับมาจากโรงงาน ล้อมวงกินเเหล้ากัน ก็ซื้อหนังสือโป๊ติดมือมาด้วย บางทีก็เอาขึ้นมากางกันในวง มาดูกันเป็นเรื่องตลกโปกฮา นั่นก็เป็นสังคมของผู้ใหญ่​

สำหรับเราในวัยเด็กไม่ใช่จะเข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้ง่าย ผู้ใหญ่ก็จะเก็บมิดชิด เราก็ต้องคอยสังเกตว่าเขาเก็บไว้ตรงไหน จำได้ว่าเห็นภาพโป๊ครั้งแรกตอน ป. 5 จากของเพื่อน มันเอาหนังสือภาพของพ่อมาโรงเรียน แล้วก็แอบไปดูกันในห้องน้ำ ตอนนั้นไม่ได้มีความรู้สึกทางเพศเลย เป็นความรู้สึกแค่ว่านี่คือร่างกายเปลือยของผู้หญิง

แล้วตอนไหนที่ดูแล้วมีความรู้สึทางเพศ

ก็ตอน ม.1 เราสำเร็จความใคร่เป็นครั้งแรก คือมันพลิกมาก ตอน ป. 5 – 6 เราไม่รู้เรื่องเลย ออกจะต่อต้านด้วยซ้ำ บอกเพื่อนว่ามันไม่ดี แล้วเราก็คิดว่าจะอยู่ห่างจากคนพวกนี้ (หัวเราะ)  พอขึ้น ม.1 ทุกอย่างมาหมดเลย เราเข้าสู่วัยรุ่น วัยอยากรู้อยากเห็น เรื่องบุหรี่ก็ด้วย ตอนนั้นดูดไม่เป็น แต่ซื้อไว้เพราะเป็นของต้องห้ามที่มีแล้วภูมิใจ เก็บไว้นานมากเป็นเดือน กว่าจะเอามาลองดูด และนั่นก็เป็นช่วงที่เริ่มรู้สึกมากกว่าสงสัยในเรื่องร่างกายของเพศตรงข้าม ความรู้สึกที่อยากใกล้ชิด อยากมีอะไรด้วย มันเริ่มเข้ามา

เคยนับไหมว่าที่ผ่านมาดูไปแล้วกี่เรื่อง

ไม่เคยนับ เราท่องไปเรื่อยๆ เพราะโลกของ Pornography มีแยกย่อยเยอะอยู่ในนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเอากัน มันมีโหมดความพอใจ ความหฤหรรษ์ ของแต่ละคนไว้ บางคนไม่ได้ตื่นตัว ตื่นเร้า หรือถูกกระตุ้นทางเพศจากการดูการเสพสังวาสของอวัยวะเพศที่ต่างกัน บางคนมีความสุขที่ออร์แกซึมจากการใช้มืออย่างเดียวก็ได้ หรือเกิดความหฤหรรษ์จากการถูกเล้าโลม เป็นทาสที่ต้องมีเจ้านายเฆี่ยนตี หรือคอยบังคับ

โลกของ Pornography มีแยกย่อยเยอะอยู่ในนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเอากัน มันมีโหมดความพอใจ ความหฤหรรษ์ ของแต่ละคน

ถ้าสมัยวัยรุ่นดูหนังโป๊เพราะความต้องการทางเพศ ทุกวันนี้การดูหนังโป๊ของคุณเปลี่ยนไปไหม

จุดมุ่งหมายอันแรกที่ว่าด้วยความใคร่ การบำบัดทางเพศก็ยังอยู่ แต่เมื่อเข้าไปในจักรวาลหนึ่งแล้ว มันมีอะไรให้ดูเยอะ ต่อให้มีร้อยดวงตาก็ดูไม่หมด จึงต้องเลือกที่ชอบที่สุด ถ้าไม่ชอบบางหมวดหมู่ก็อย่าเสียเวลาไปดูมัน แน่นอนหนังโป๊ตอบสนองคนสองคนหรือมากกว่านั้นที่มีพฤติกรรมทางเพศร่วมกัน

นอกจากเนื้อหาของเรื่องว่าโป๊ ไม่โป๊แล้ว เราสนุกกับการหาความหมาย การสอดส่องพฤติกรรมชักเกร็ง ความเสียวซ่านของคนในโลกหนังโป๊ ลักษณะท่าทางขณะที่เราควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะถูกกระตุ้นด้วยความสุข ความเจ็บปวด หรือความทรมาน มันคือท่วงท่าธรรมชาติของมนุษย์ที่ถึงซึ่งความหฤหรรษ์ที่สุด ความสุขที่สุด โมงยามที่แนบชิดที่สุด ช่วงเวลาที่บอบบางมาก เมื่อคุณรู้สึกรักใครสักคนเหลือเกินขณะนี้ คุณใช้ร่างกายของคุณแสดงออกมาอย่างไรในตอนนั้น และคุณตอบสนองมันอย่างไร คุณตาลอยหรือมือของคุณวางไว้ตรงไหน มุมมองของคนที่มีอะไรกัน กับคนที่มองเข้ามาในคู่ที่มีอะไรกัน เราสนใจเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์และมุมมองที่มีอยู่ชั่วขณะของความสัมพันธ์นั้นๆ

ในฐานะที่เป็นศิลปินคนหนึ่ง นอกจากงานเขียนแล้วยังมีภาพวาดด้วย คุณคิดว่าหนังโป๊เป็นศิลปะไหม

อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน ถ้าคิดแบบหยาบๆ มันถูกสร้างขึ้นมาเชิงพาณิชย์ ต้องการเข้าหาความต้องการของคนเยอะๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเวลาถูกเล่าอย่างมีรสนิยมหรืออย่างมีศิลปะ มันคือสิ่งหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความแตกต่าง ในจักรวาลเรื่องเล่าหนังโป๊ที่หลากหลาย มันคงใช้สุนทรียะบางอย่างเพื่อแตะอารมณ์ของคนที่ดู แต่ไม่ได้ถูกสร้างแบบว่าอันนี้คือโปรเจ็กต์ศิลปะ คนดูต่างหากที่รับสารและรับรสจากมันอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วชีวิตคนเรา ก็ไม่ได้เสพทุกเรื่องที่เป็นศิลปะ

ทั้งงานเขียน ทั้งภาพวาด มาทางเรื่องเซ็กซ์หมดเลย เป็นการสร้างลายเซ็นให้ตัวเองหรือเปล่า คิดยังไงเมื่อคนพูดว่า “อุทิศกับเซ็กซ์ อีกละ?”

เหรอ (หัวเราะ) คงออกสื่อหลายที่ แต่จริงๆ มีคนตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนเราทุกชิ้นจะมีฉากที่คนมีเพศสัมพันธ์กัน ก็เรายังไม่เบื่อ แล้วเราก็ชอบที่เขียนถึงมัน ยังรู้สึกว่ามีอะไรที่เล่าผ่านได้อีก แต่ไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือหากิน หรือเป็นจุดขายของตัวเอง ที่เราพูดเรื่องเหล่านี้เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองคิดไม่ตก มันอยู่ในหัว ก็อยากคิดให้เสร็จ คิดให้จบ บางทีอีกยี่สิบปีก็อาจคิดไม่ตกก็ได้ คงต้องเขียนไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเราก็จริงใจและตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ใช้ตัวเองเป็นหนูทดลองในการพูดเรื่องนี้

เป็นเพราะว่าดูหนังโป๊เยอะด้วยหรือเปล่า มันเลยถูกเอามาใช้ในงานเขียนบ่อยครั้ง

แค่นั้นไม่พอหรอก มันต้องมีตัวกระตุ้นอื่นๆ ด้วย เราคงไม่ชอบหนังโป๊แล้วเขียนถึงหนังโป๊ที่จะให้คนอ่านรู้สึกถึงอารมณ์ทางเพศจากงานเขียนของเราอย่างเดียว แต่เราคิดว่าที่เราเขียนถึงมัน เพราะมันทำหน้าที่หลายความหมาย ทั้งในตัวบทของนิยายเองหรือว่าตัวบทที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศ แน่นอนมันพูดถึงคนที่มีอะไรกันในระนาบหนึ่งด้วย แต่มันอ้างถึงสิ่งอื่นด้วยในระนาบต่อๆ ไป

การร่วมเพศอาจถูกเปรียบเปรยกับวิธีที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อผู้ไร้อำนาจผ่านท่วงท่าของการมีเพศสัมพันธ์กัน หรือการสำรวจพฤติกรรมทางเพศของผู้ชายกับผู้หญิงที่มีอำนาจการต่อรองกันระหว่างเพศที่เกิดขึ้นระหว่างที่เอากัน ทำไมรสนิยมของคนบางกลุ่มหรือส่วนใหญ่ชอบบงการผู้หญิงในเรื่องบนเตียง ชอบที่จะให้ผู้หญิงมีท่าทีเขินอายมากกว่าให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายควบคุมบนเตียง แสดงการตอบโต้ หรือตอบสนองอย่างไม่ปิดบัง ซึ่งท่าทีเหล่านี้มันถูกโยงไปกับจารีตประเพณีของเราที่ว่า เมื่อผู้หญิงแสดงออกถึงความอยากหรือหิวเหมือนกัน ผู้ชายสามารถมองพฤติกรรมการแสดงออกของผู้หญิงจากคนที่ดูน่ารักกลายเป็นอีร่านไปได้ ในฉากของความสัมพันธ์หรือวิธีที่เราบรรยาย มันได้สำรวจทัศนคติของคน เพศสภาพและจารีตประเพณีของสังคมนี้ที่เราดำรงอยู่ด้วย

เวลาเขียนถึงเรื่องเซ็กซ์ในงานเขียนชิ้นแรกๆ อุปสรรคคืออะไร มีความเขินอายไหม

ตอนเขียนไม่อายหรอก เพราะอยู่กับตัวเอง มีแค่เรากับตัวหนังสือ แต่พอเขียนเสร็จ ก็มานั่งคิดว่าคนอ่านจะรับได้มากน้อยแค่ไหน (หัวเราะ) เรารู้ว่าเรากำลังท้าทายกับอะไรอยู่ อย่างนิยาย ร่างของปรารถนา ถ้าไปอ่านจะรู้ทันทีว่าเราเอาคำที่ใช้ทั่วไปตามท้องถนนกลับมาอยู่ในเล่มนี้หมดเลย เช่น ควย หี เย็ด เพราะที่เราเรียนรู้มาเกี่ยวกับนิยายโรแมนติกเชิงสังวาสต้องพูดถึงอย่างอื่นที่เปรียบเทียบถึงเซ็กซ์ เช่น กลีบดอกไม้ของเธอ แตงกวาแอสพารากัส ทำไมต้องพูดอย่างอื่นด้วย เราทำแบบนี้กันมานานมากแล้ว และก็ชื่นชอบยินดีที่สามารถหลบเลี่ยงอย่างตรงไปตรงมาด้วยภาพเปรียบเปรยที่ถือเป็นศิลปะการประพันธ์อย่างหนึ่ง

แต่พอนานวันเข้ามันกลายเป็นบรรทัดฐานที่อยู่ดีๆ ไม่ควรทะเล่อทะล่ามาพูด ‘ควย’ ในงานวรรณกรรม ไม่สุภาพ น่ารังเกียจ ทุกอย่างกลายเป็นของสูงไปหมด เอาคำต่ำๆ มาใช้ไม่ได้ ต้องมีภาษาวรรณศิลป์ เขียนถึงรูปร่าง นมของผู้หญิงได้ แต่ห้ามมี ‘หี’ และต้องเป็นตัวแทนของความอุดสมบูรณ์ เป็นตัวแทนของของความเงี่ยน ความร่านไม่ได้ น่าเบื่อนะ เราต้องการท้าทายคติความเชื่อแบบนี้ มันมีสุนทรียะแบบอื่นอีกตั้งเยอะ​

นานวันที่เราเปรียบเปรย ก็กลายเป็นการหลบเลี่ยง นานวันที่หลบเลี่ยง สุดท้ายก็กลายเป็นการเซ็นเซอร์ แต่หัวใจของการเซ็นเซอร์มันอยู่ที่ตัวเรา อะไรที่เหมาะหรือไม่เหมาะที่ถูกปลูกฝังมา มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานอันใหญ่ของสังคม งานวรรณกรรม ไม่ควรมีคำทุเรศทุรังแบบนี้ ทำให้เราท้าทายว่า ก็กูจะเขียน จะเอากลับมาใส่ในวรรณกรรม

นานวันที่เราเปรียบเปรย ก็กลายเป็นการหลบเลี่ยง นานวันที่หลบเลี่ยง สุดท้ายก็กลายเป็นการเซ็นเซอร์

แล้วเส้นแบ่งของตัวคุณเองกับการเขียนถึงเซ็กซ์อยู่ตรงไหน

เราอยู่กับความเหมาะควรมาตั้งนานแล้ว เรามาหาเส้นแบ่งกันใหม่ ถ่างออกไปอีกหน่อยได้ไหม เดินไปอีกสองสามก้าวแล้วมันจะกว้างขึ้นไหม หรือนำเสนอให้คนอ่านรู้สึกว่ามันลามกอนาจารไหม คนอ่านของเราแทบไม่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้ เขาไม่ได้โฟกัสหรือจดจ่อกับคำลามกอนาจาร แต่มันกลมกลืนไปกับเรื่องเล่าได้หรือเปล่า เราคิดว่ามันคือความเหมาะสมในแง่สุนทรีย์ของงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่ความเหมาะสมทางศีลธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคม

ความสมดุลที่เกิดจากชิ้นงานอันหนึ่ง อะไรที่ควรมี อะไรที่ควรได้ อะไรที่ควรเป็นอยู่ในนั้น ถ้าพูดถึงคนเอากันแล้วไม่พูดถึงแท่งเนื้อ ก้อนเนื้อ แล้วมันหายไปไหน นั่นแสดงว่าคุณพูดถึงมันในเชิงสั่งสอนทางศีลธรรม เป็นกิเลสตัณหาที่คุณต้องตั้งสติ มันเติบโตจนกลายเป็นความคุ้นชิน กลายเป็นการเซ็นเซอร์ได้อย่างไร นอกจากหนังโป๊ที่เรามุดเข้าไป มันคือเรื่องของทัศนคติ จารีต ศีลธรรม เราสำรวจพื้นที่และลองถ่างขอบเขตของมันว่าได้มากน้อยแค่ไหน

ในฐานะนักเขียนที่เขียนหนังสือมานาน การเขียนฉากเซ็กซ์ให้ไม่ซ้ำ ทำได้ยังไง

ตอนแรกๆ เขียนเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง อยากฉายภาพนั้นซ้ำอีก ช่างรัญจวนปั่นป่วนใจ รับใช้อารมณ์ความรู้สึกกับสัมผัส ต้องการเก็บประสบการณ์ ความทรงจำบางอย่างให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ พอเขียนมากขึ้น เราเริ่มอยากเขียนเจาะเข้าไปที่เหตุที่มา ความหมายที่อยู่เบื้องหลังของสิ่งสัมผัสที่อยู่ข้างหน้า เหมือนความรักเวลาที่คุณรักใครสักคนก็อยากมองหน้าเขาตลอดเวลา ถัดจากนั้นก็อยากรู้เบื้องหลังชีวิตของเขาว่าเป็นอย่างไร เคยผ่านใครมาบ้าง จากนั้นก็อยากครอบครอง คุณต้องเป็นของผมคนเดียว คราวนี้การเขียนเรื่องเพศของเราก็มาในลักษณะนี้ ทุกครั้งที่เราเขียนเรื่องเพศ มันไม่เคยซ้ำความหมาย เพราะความสนใจแต่ละช่วงต่างความสนใจกัน

ใน ระบำเมถุน ที่ต้องเขียนการร่วมเพศชาย-ชายที่แสนละเอียดลออ เสมือนเปิดเปลือยประสบการณ์บางส่วนที่ลี้ลับสำหรับคนทั่วไป สิ่งเหล่านี้ต้องเคยเกิดขึ้นจริงกับร่างกายของผู้เขียนหรือเปล่า

อยากจะถามว่าเอามาจากประสบการณ์จริงหรือเปล่าใช่ไหม (หัวเราะ) ก็ใช่ เราเคยมีแฟนเป็นผู้ชาย แน่นอนเวลาเราพูดถึงประสบการณ์จริงในชีวิตตัวเราเอง การดูหนังโป๊ผู้ชายกับผู้ชายมีอะไรกัน ก็เป็นประสบการณ์จริงเช่นกัน แต่ผ่านการดูหนัง คือประสบการณ์จริงแบบสัมผัสเนื้อหนัง กับแบบดูผ่านหนังโป๊ มันจริงทั้งสองอัน แล้วทำให้มันคงอยู่เป็นภาพวนซ้ำในเรื่องเล่าของเรา ถ้าเป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์ของมนุษย์ มันต้องโดนจริงๆ ถึงจะเขียนได้ คุณต้องรู้สึกถึงเวลาแบบนั้น ชั่วขณะนั้น ไม่อย่างนั้นคุณจะเขียนมันไม่ได้หรอก

ที่มาของนิทรรศการภาพ ร่างของปรารถนา เห็นว่ามีความฝันอยากขายภาพมาตั้งนานแล้ว แต่ทำไมถึงหันมาจับปากกาเขียนหนังสือก่อน เป็นการวางแผนโครงการใหญ่มาแล้วล่วงหน้าหรือเปล่า

เป็นการคิดภาพใหญ่ของเรา หลังจากจบนวนิยายไตรภาคอย่าง ลับแล, แก่งคอย ลักษณ์อาลัย และ จุติ เหมือนกับว่าหลุดจากตรงนั้นแล้ว เป็นอิสระจากบ้านเกิดเมืองนอน มาทำงานตามใจตัวเอง และเป็นช่วงที่ความรู้สึกอยากวาดรูปกลับมาด้วย ก็คิดมาสักพัก แต่ว่าทำอย่างไรดี ก็กลายมาเป็นโครงการอันหนึ่งขึ้นมีทั้งนิยาย หนังสือภาพ และนิทรรศการ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครที่เป็นศิลปินคนหนึ่งชื่อ ‘เข้าสิง’ ที่เติบโตขึ้นมาผ่านรัฐประหาร 3 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 15-42 ปี ภาพเขียนทั้งหมดก็เป็นเหมือนภาพวาดของตัวละครตัวนี้ ซึ่งชื่อเข้าสิงนอกจากจะเป็นชื่อที่พิสดารแล้ว อีกนัยยะหนึ่งยังหมายถึงภาวะการเข้าสิง การควบคุมในเรื่องนี้ด้วย

ภาพวาดนี่ใช้เวลาทำนานไหม

ทำควบคู่กันไป ตอนเขียนนิยายก็เริ่มเขียนรูปด้วย กิจวัตรประจำวันคือเขียนนิยายในตอนเช้า ตอนบ่ายดูหนังโป๊ ชอบท่าไหนก็แคปเอาไว้ แล้วก็นั่งวาดวันละรูปสองรูป ใช้เวลาวาดรูปเสร็จก็สองปีได้ ตอนเขียนนิยายไปได้ 70-80% ก็เริ่มฟุ้งอีกแล้ว เกิดไอเดียทำฟอนท์ เพราะตอนเขียนรูปแรกๆ ก็จะเป็นฟอร์มคนสองคนชัดเจน ตอนหลังเริ่มรวมกันเป็นก้อนเดียว กลายเป็นฟอร์มประหลาด เราก็มองว่าฟอร์มเหล่านี้เป็นพยัญชนะได้ พอจะทำฟอนต์ก็คิดตั้งแต่ต้นว่าจะใช้ในนิยายด้วย ไม่คิดจะใช้ภาพ เราว่ามันเสียเปล่า ถ้าเป็นแค่ภาพประกอบ ถ้ามีอะไรอยู่ในหนังสือแล้วเข้าผสมรวมกันได้อย่างดี เราว่าฟอนต์ดีสุด

การทำงานศิลปะกับงานเขียนเหมือนกันหรือแตกต่างอย่างไร

เราเป็นคนทำงานไว รูปพวกนี้ใช้เวลา 20 นาทีถึงครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว เป็นวิธีเดียวกับตอนที่เราเขียนหนังสือ เรานั่งคิดนานมากก่อนจะพิมพ์คำ พิมพ์ประโยคลงไป แต่ถ้าพิมพ์แล้ว จะแก้น้อยมาก เพราะเป็นคำที่เลือกสรรแล้ว จะแก้ไขก็แค่เล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่มีการรื้อโครงสร้างใหม่ ถ้าลงดาบก็ต้องลงให้ขาด ทำงานศิลปะก็เหมือนกัน ลงมือแล้วก็ต้องไปเลย เราไม่ชอบอยู่กับงานนานๆ อยู่นานแล้วปวดหัว เป็นคนที่เหมาะกับการทำอะไรที่จบในทีเดียวมากกว่า

FACT BOX:

นิทรรศการ ร่างของปรารถนา จัดแสดงที่แกลเลอรี ARTIST+RUN ซอยนราธิวาส 22 ช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

Tags: , , , , , , ,