การเคลื่อนไหวที่กระฉับกระเฉงหรือการออกกำลังกายของใครหลายคนถูกจำกัดด้วยมาตรการการควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางกายภาพที่จะต้องเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร ทำให้ไม่มีเพื่อนออกกำลังกาย หรือไม่สามารถเล่นกีฬาเป็นทีมได้ อีกทั้งรัฐบาลยังสั่งปิดสถานที่ออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนสหรือสนามกีฬา ทำให้ต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือบอดี้เวทอยู่ที่บ้าน หรือเดิน-วิ่งตามทางในหมู่บ้านแทน (ในกระทรวงสาธารณสุขยังสามารถวิ่งข้างถนนหรือตรงทางปั่นจักรยานได้อยู่) เพราะสวนสาธารณะก็ถูกปิดเช่นกัน

ทั้งที่การออกกำลังกายน่าจะเป็นการป้องกันโควิด-19 ได้วิธีหนึ่ง เพราะสร้างความแข็งแรงให้กับระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่มีอาการรุนแรงมักมีโรคประจำตัวที่สามารถป้องกันหรือควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ด้วยการออกกำลังกาย เช่น เบาหวาน ภาวะอ้วน (ใครน้ำหนักเพิ่มขึ้นบ้าง ยกมือขึ้น! แต่ถ้ากดเครื่องคิดเลขคำนวณ BMI แล้วยังไม่เกิน 35 ก็ยังถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนะครับ) นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้คลายความเครียดลงได้

การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ

ผมสังเกตว่าสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่ถูกปิดหลังสุดในประกาศสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 5) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 ในขณะที่ฟิตเนสหรือสนามกีฬาถูกปิดพร้อมกับสนามมวยและสถานบันเทิงตั้งแต่ประกาศฉบับแรก เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 63 ซึ่งข้อกำหนดที่ออกตามความใน พ.ร.ก. การบริหารราชการฉุกเฉิน เกี่ยวกับการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคก็ไม่ได้ระบุถึง “สวนสาธารณะ” แต่อย่างใด ยิ่งในต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น ก็เพิ่งออกประกาศปิดสวนสาธารณะทุกแห่งในวันที่ 12 เม.ย. 63 และเจตนาเดิมน่าจะปิดแค่ช่วงสงกรานต์เท่านั้น (13-17 เม.ย. 63)

ในต่างประเทศการออกกำลังกายตามสถานที่สาธารณะไม่ใช่ข้อห้ามในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของประเทศอังกฤษแนะนำให้อยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่มีเหตุผลในการออกจากบ้านได้ 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเว้นระยะห่าง 2 เมตร คือให้ออกกำลังกายคนเดียวและอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งแนวทางการเปิดเมืองล่าสุดจะอนุญาตให้ออกกำลังกายร่วมกับสมาชิกในบ้านได้อีก 1 คน แต่ยังคงปิดสนามกีฬากลางแจ้งอยู่ 

ส่วนสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ไม่ได้ออกคำแนะนำให้ปิดสวนสาธารณะ โดยประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการสวนสาธารณะใกล้บ้านได้ (ลดการสัมผัสกับเชื้อระหว่างเดินทาง) โดยต้องเว้นระยะห่างระหว่างตนเองและผู้อื่น 2 เมตร และสามารถว่ายน้ำในสระว่ายน้ำได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงสวนสาธารณะที่แออัด ไม่ให้ร่วมกลุ่มกันเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เพราะสมาชิกมักไม่ใช่สมาชิกในบ้านเดียวกันและมีการสัมผัสใกล้ชิด งดใช้สนามเด็กเล่น รวมถึงไม่ควรเข้าสวนสาธารณะหากมีอาการป่วยหรือเพิ่งหายป่วยจากโควิด-19

ปัจจุบันกีฬาและสันทนาการส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้รับการผ่อนปรนแล้ว โดยกิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู กอล์ฟ และสนามซ้อมได้รับการอนุญาตในระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 63 ส่วนสนามกีฬาในร่มที่ไม่มีการปะทะกันระหว่างผู้เล่นและต้องไม่มีผู้ชมการแข่งขัน ได้แก่ แบดมินตัน ตะกร้อ เทเบิลเทนนิส สควอช ยิมนาสติก ฟันดาบ และปืนผา รวมถึงสระว่ายน้ำได้รับการอนุญาตในระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา

ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและต่อสุขภาพ

การผ่อนปรนก็มาพร้อมกับมาตรการควบคุมโรคด้วย โดยมาตรการควบคุมหลักในแต่ละกิจการหรือกิจกรรมมีหลักการเหมือนกัน 5 ข้อ คือ 1. การทำความสะอาด 2. การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ 3. การตั้งจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 4. การเว้นระยะการทำกิจกรรม 1-2 เมตร และ 5. การควบคุมไม่ให้แออัด แต่เมื่อนำมาตรการนี้มาบังคับกับสวนธารณะก็พบปัญหาว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่สวมหน้ากากอนามัย จับกลุ่มพูดคุยกัน จน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของ กทม. ต้องออกมาเตือนพร้อมขู่ว่าจะปิดสวนสาธารณะหากมีผู้ไม่ปฏิบัติตาม เมื่อ 12 พ.ค. 63

ทว่าถ้าใครเคยวิ่งพร้อมกับสวมหน้ากากฯ ไปด้วยจะรู้สึกอึดอัด เพราะขณะวิ่งต้องหายใจถี่ขึ้น แต่เมื่อมีหน้ากากฯ ก็ต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เหนื่อยเพิ่มขึ้นหรือวิ่งช้าลงจากเดิม นอกจากนี้เมื่อเดิน-วิ่งเป็นเวลานานก็จะมีเหงื่อออกมาตามใบหน้าและเปียกหน้ากากฯ ทำให้รู้สึกชื้น ซึ่งเมื่อหน้ากากฯ เปียกชื้นจะไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้และต้องเปลี่ยนหน้ากากฯ ชิ้นใหม่ ดังนั้นจึงมีความลำบากในการใช้และทำให้ไม่มีผู้สวมหน้ากากฯ ในสวนสาธารณะอย่างที่รัฐบาลกำหนดมาตรการออกมาได้ และมีข้อสงสัยว่าจำเป็นต้องใส่หน้ากากฯ หรือไม่?

เมื่อหน้ากากฯ เปียกชื้นจะไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้และต้องเปลี่ยนหน้ากากฯ ชิ้นใหม่ 

หากประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ สวนสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เพราะลักษณะของสถานที่ที่มีพื้นที่ว่างทำให้ประชาชนไม่ได้สัมผัสกันในระยะใกล้ชิด หรือสามารถเลี่ยงเดิน-วิ่งเพื่อเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เว้นระยะ 5-10 เมตรอย่างที่มีงานวิจัยแบบจำลองการกระจายของละอองสารคัดหลั่งในต่างประเทศ แต่ด้วยความเป็นสถานที่เปิด อากาศถ่ายเทสะดวก ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจึงถือว่าต่ำอยู่ และที่ผ่านมาการระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในบ้านเดียวกัน (สัมผัสใกล้ชิด) หรือสถานที่ปิดมากกว่า 

ส่วนความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสวมหน้ากากฯ ระหว่างออกกำลังกายก็มีเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และอาจทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมาสะสมอยู่ในหน้ากากฯ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย จึงแนะนำว่าประชาชนไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย หากออกกำลังกายระดับปานกลางถึงหนัก (สามารถประเมินอย่างง่ายด้วย Talk test คือระดับปานกลางจะเริ่มร้องเพลงไม่ได้ แต่พูดเป็นประโยคได้อยู่) แต่ควรป้องกันตนเองด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การเลือกเส้นทางการออกกำลังกาย การไม่ตะโกนคุยกัน เป็นต้น

เมื่อไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากฯ ระหว่างออกกำลังกาย

ดังนั้นการสวมหรือไม่สวมหน้ากากฯ ในสวนสาธารณะ หรือสถานที่ออกกำลังกายจึงไม่ควรนำมาเป็นเกณฑ์ในการให้ความร่วมมือของประชาชนจนนำไปสู่การเปิด-ปิดสถานที่ แต่เจ้าหน้าที่ควรเข้มงวดกับมาตรการอื่นแทน เช่น การคัดกรองอาการป่วยของผู้มาใช้บริการ การเว้นระยะห่างทางกาย โดยการตักเตือนไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม (แต่อย่างการรำไทเก๊กซึ่งมีการเว้นระยะห่างกันอยู่แล้วก็ไม่ควรห้ามจัดกิจกรรม ส่วนกีฬาที่เล่นเป็นทีมแต่ไม่มีการปะทะกันสามารถเล่นได้ทีมละไม่เกิน 3 คน) การควบคุมไม่ให้แออัดด้วยการจำกัดจำนวนคนในการเข้าใช้พื้นที่ 

อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากอนามัย/ผ้ายังจำเป็น เมื่อต้องเดินทางผ่านสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านระหว่างเดินทางไป-กลับสวนสาธารณะและสนามกีฬา

Tags: , ,