*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

นี่คือฤดูหนาวของครอบครัวที่ประกอบด้วยคุณย่า พ่อแม่ น้าสาวลูกชาย ทุกคนอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเล็กที่ซ่อนตัวอยู่หลังบ้านคนอื่น บ้านสกปรก ระเกะระกะด้วยข้าวของ เล็กแคบจนทุกคนต้องอยู่รวมกันในห้องรับแขก กินนอนอยู่ที่นั่น

พ่อเป็นกรรมกรก่อสร้าง ขณะที่ภรรยาเป็นสาวโรงงานซักรีด ลูกชายไม่ไปโรงเรียน เพราะมีแต่คนที่โง่จนเรียนที่บ้านไม่ได้เท่านั้นที่จะต้องไปโรงเรียน ส่ิงที่เขากับลูกชายทำร่วมกันคือการขโมยของในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะของที่ยังไม่ถูกซื้อน่ะก็ยังไม่มีเจ้าของหรอก พวกเขาหอบของพวกนั้น แชมพู บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม ของสด กลับมาบ้านแล้วแบ่งกันกิน

วันหนึ่งพ่อเจอเด็กหญิงตัวเล็กที่เล่นอยู่นอกระเบียงตลอดเวลาไม่ว่าจะหนาวเย็นขนาดไหน ดูเหมือนแม่ของเด็กหญิงไม่ใยดีเธอหรือไม่ก็ไม่อยากให้เธอเกิดมา เขาแบ่งโครเกตต์ให้เธอกิน พาเธอมากินบะหมี่ที่บ้านแต่พอจะเอาไปส่งคืนก็พบว่าบ้านไม่ใช่ที่ที่เธอจะเติบโตได้ เขาและภรรยาจึงลักตัวเธอมาเป็นลูกของพวกเขาเอง โดยที่แม่ของเด็กก็ดูเหมือนไม่สนใจจะตามหา

ทุกคนมาแบบนั้น ถูกทิ้งจากคนอื่นๆ และถูกเอามากองรวมกันก่อร่างขึ้นเป็นครอบครัวที่เพิ่งสร้างอยู่ในบ้านหลังนี้

โครีเอดะ (Koreeda) อาจจะโด่งดังในฐานะคนทำหนังครอบครัว หรือหนังเด็กที่ให้ความหมายของครอบครัวได้อย่างละเอียดลออลึกซึ้ง แม้เขาจะทำหนังแนวอื่นๆ ด้วย เริ่มต้นจากหนังสารคดีในยุค 90’s จนมาถึงหนังในยุคหลัง ที่อาจจะแบ่งได้เป็นสองสามกลุ่มด้วยกัน

หนึ่งคือหนังประหลาดๆ ที่พูดถึงปัจเจกและความแปลกแยกจากสังคม หนังอย่างหญิงม่ายสามีตายใน Maborosi ลัทธิประหลาดอย่าง Distance หรือตุ๊กตายางมีชีวิตอย่าง Air Doll หนังกลุ่มที่สองคือหนังในกลุ่ม ความแข็งแกร่งในความพังพินาศของครอบครัวดั้งเดิม หนังในกลุ่มนี้อย่างเช่น พี่น้องที่ถูกแม่ทิ้งให้ดูแลกันเองใน Nobody Knows ครอบครัวที่ต้องก้าวผ่านความสูญเสียใน Still Walking พ่อไม่เอาไหนกับลูกของเขาแม่ของเขาและเมียของเขาใน After the Storm และหนังกลุ่มสุดท้ายคือหนังในตระกูล ครอบครัวที่เพิ่งสร้างอย่างเช่น พ่อลูกสลับสายเลือดใน Like Father, Like Son พี่น้องที่เพิ่งรู้จักกันใน Our Little Sisters และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในหนังตระกูลดังกล่าว

ครอบครัวที่เพิ่งสร้างของโครีเอดะอาจดูเหมือนเป็นการเชิดชูค่านิยมของความเป็น ‘ครอบครัว’ แต่เมื่อพิจารณาดีๆ เรากลับพบว่านี่คือครอบครัวที่ท้าทายขนบความเป็นครอบครัวตามความหมายดั้งเดิม โดยเฉพาะในความหมายของสังคมญี่ปุ่น อย่างเช่น ครอบครัวที่พ่อแม่กับลูกต่างสายเลือดกัน ครอบครัวที่รับเอาลูกเมียน้อยมาเป็นพี่น้อง หรือหนักข้อที่สุดคือครอบครัวกำเนิดใหม่ที่เอาชิ้นส่วนแตกหักจากครอบครัวมาประกอบกันเข้าใอย่างในหนังเรื่องนี้

ผู้คนมักเปรียบเทียบหนังของโครีเอดะกับหนังของยาสุจิโระ โอสุ (Yasujiro Ozu) ในทำนองว่าโครีเอดะคือโอสุ ของยุคสมัย เนื่องจากทั้งคู่ทำหนังเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวคล้ายคลึงกัน หนังมีความละเอียดอ่อนคล้ายคลึงกัน ด้วยภาพที่ดูเหมือนไม่หวือหวาแต่กัดกินลึกลงไปในผู้คนอย่างทรงพลัง (แม้โครีเอดะเองบอกว่าเขาคล้ายคลึงกับมิกิโอะ นารุเสะ (Mikio Naruse) —คนทำหนังร่วมรุ่นกับโอสุ ที่มักทำหนังว่าด้วยการดิ้นรนของผู้หญิงในสังคมสมัยใหม่ได้งดงามเหลือใจมากกว่า)

อันที่จริงแล้วโครีเอดะและโอสุก็คล้ายกันมาก แต่ไม่ใช่ในฐานะคนทำหนังดราม่าครอบครัวอ่อนหวาน แต่ในฐานะคนที่ตั้งคำถามท้าทายแบบแผนของครอบครัว คนหนึ่งในยุคสมัยหลังสงครามที่ปัจเจกสมัยใหม่ถูกท้าทายและกดทับจากขนบดั้งเดิม ตัวละครของโอสุ ไม่ใช่มนุษย์ผู้อารีอารอบและใช้ชีวิตตามครรลองยืนหยัดอย่างทรนง แต่ตัวละครอย่างเช่น พ่อกับลูกสาวที่ต้องพรากจากกันเพราะลูกสาวต้องแต่งงานใน Late Spring พ่อแม่ของสามีกับลูกสะใภ้ที่สามีตายไปแล้วใน Tokyo Story หรือพี่น้องสองสาวที่ต้องเจอชะตากรรมโหดร้ายกับพ่อใน Tokyo Twilight ล้วนแต่เป็นตัวละครที่ต้องยอมจำนนให้กับขนบ หนังของโอสุมักพูดถึงความสัมพันธ์หมิ่นเหม่ที่ไม่ตรงตามขนบประเพณี ลูกสาว ลูกสะใภ้ที่ขอดูแลพ่อไปเรื่อยๆ แทนการแต่งงาน ความสัมพันธ์ที่ขนบธรรมเนียมต้องการให้ยุติลงและถูกทำให้ยุติในท้ายที่สุด ตัวละครจึงต้องจมอยู่ในทุกข์ของการยอมตามขนบแตกร้าว และโดดเดี่ยวในท้ายที่สุด

ในขณะที่โครีเอดะพูดถึงครอบครัวในสังคมปัจจุบันที่ประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดทางเศรษฐกิจและกำลังร่วงหล่น เขาพูดถึงครอบครัวตามขนบที่ในที่สุดไม่สามารถดำรงคงอยู่ได้อีกต่อไป พ่อที่ไม่เอาไหน ครอบครัวที่เคียดแค้น แม่ที่ทิ้งลูก ครอบครัวที่แตกแยก หนังของโครีเอดะมักจบลงด้วยการบอกว่าเราไม่สามารถประสานรอยร้าวในครอบครัวได้ แค่ยอมรับแล้วเดินต่อไปเท่าที่ได้ ในขณะที่อีกกลุ่มความสัมพันธ์กำเนิดใหม่ ครอบครัวพิลึกพิลั่นที่ดูแตกๆ หักๆ ความสัมพันธ์ที่เควียร์ สามารถให้นิยามครอบครัวในโลกร่วมสมัยได้ดีกว่าครอบครัวตามขนบ กล่าวให้ถูกต้องโครีเอดะวิพากษ์ต่อจากสิ่งที่โอสุทำทิ้งไว้ ในแง่นี้ทั้งคู่จึงเป็นคนทำหนังที่คล้ายคลึงกันแบบ Like Father, Like Son ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมาก่อนที่หนังกลุ่มที่สามของโครีเอดะ จะพูดเรื่องของคนชั้นล่าง หนังกลุ่มนี้ของเขามักจะมีคะแนนสงสารจากพระเจ้า (ซึ่งคือผู้เล่า) ด้วยการสร้างตัวละครแสนดีที่มาอยู่รวมกัน แม้พวกเขาจะไม่รู้จักกัน ควรที่จะโกรธกันแต่พวกเขาโอบอ้อมอารีพอจะรับเอาลูกเมียน้อย หรือลูกคนอื่น มาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้อย่างเต็มใจ มองในแง่นี้ Shoplifters จึงเป็นเหมือนการพบกันครึ่งทางของหนังกลุ่มที่สองและสาม ซึ่งแน่นอนที่สุดในทางหนึ่งมันจึงเป็น Koreeda Megahit ไปในคราวเดียว

หากเรื่องราวทั้งหมดในหนังเรื่องนี้เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ มันจะเป็นข่าวอาชญากรรม ว่าด้วยผัวเมียชั่วร้ายที่ฆ่าฝังยายแก่ไว้ในบ้านแล้วยึดบ้านมาเป็นของตัวเอง ขโมยเด็กจากลานจอดรถ หรือตามบ้านคนมาเลี้ยงเป็นลูก หากินด้วยการขโมยของตามห้าง เรื่องราวจะกลายเป็นเรื่องของพวกโรคจิต พวกอาชญกร แต่ในหนังเรื่องนี้ เรื่องราวทั้งหมดถูดคลี่ออกเพื่อฉายภาพน้ำเนื้อของมนุษย์ชำรุดจำนวนหนึ่งที่มีแต่ความสัมพันธ์แปลกประหลาดพรรค์นี้เท่านั้นที่ยึดโยงพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน ยายเฒ่าโดดเดี่ยวผัวทิ้งที่ไปรีดไถเงินเป็นครั้งคราวจากบ้านเมียน้อย แถมยังชวนลูกบ้านโน้นมาอยู่ด้วย มาเป็นสาวขายบริการ ผัวเมียที่ลักขโมยอย่างไม่รู้สึกผิด แต่ในขณะเดียวกันหลักการคือของที่คนอื่นทิ้งขว้างนั้นขอให้เขาได้ดูแลเองเถิด นำมาซึ่งถ้อยความที่ตั้งคำถามได้อย่างเจ็บปวดว่า แค่ให้กำเนิด ก็ถือว่าเป็นแม่แล้วงั้นหรือ สายเลือดจะทำให้อะไรๆ ชอบธรรมอย่างนั้นหรือ

คำถามหลักของหนังจึงเป็นคำถามที่ โครีเอดะถามมาตลอดว่าครอบครัวแบบดั้งเดิมนั้นคือครอบครัวที่ชอบธรรมทุกอย่างหรือไม่ การสร้างความสัมพันธ์นอกขนบครอบครัวเป็นอาชญากรรมหรือเปล่า หรืออันที่จริง ครอบครัวเป็นเพียงแขนขาอันหนึ่งของรัฐ ที่อาศัยสายเลือดในการกดทับผู้คน ครอบครัวที่ถูกต้องจึงต้องถูกรับรองโดยรัฐ ครอบครัวที่รัฐอนุญาตให้เป็น มนุษย์จึงไม่มีเสรีภาพจริงอย่างที่รัฐหลอกลวง เมื่อมีชีวิต เราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะอยู่กับใคร แม้เม่ือตาย เรายังจำเป็นต้องเป็นศพที่รัฐต้องรับรอง เราจะต้องจัดการกับศพตามแบบที่รัฐรับได้ ขนบและรัฐจะจัดสรรขอบเขตของทุกสิ่ง แน่นอนว่าเป็นไปเพื่อป้องกันอาชญากรรม แต่ทุกอาชญากรรมเป็นอาชญากรรมที่แท้หรือมันเป็นอาชญากรรมเพราะมันขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐรับรองเท่านั้น คำถามของแม่ในหนังจึงเป็นคำถามที่คมและเจ็บปวดมากๆ เมื่อเธอถามว่า นี่แค่ให้กำเนิดก็ถือว่ามีความเป็นแม่แล้วงั้นหรือ

ครอบครัวใน Shoplifters จึงเป็นครอบครัวไม่ได้ ไม่ใช่เพราะสมาชิกในครอบครัวไม่ผูกพันกันแต่เพราะมันไม่ตรงตามกำหนดกฎเกณฑ์ที่รัฐต้องการ ครอบครัวเช่นนี้จึงจำเป็นต้องเป็นอาชญากรรม การบอกลาพ่อลุกในช่วงท้าย ทำให้นึกถึงการเอาลูกสาวมาส่งในวันแต่งงานของหนังอย่าง Late Spring ของโอสุ ลูกสาว ลูกชาย พ่อ แม่ย่า ยาย สำหรับรัฐสมัยใหม่เป็นความสัมพันธ์ชั่วคราวที่สามารถยกเลิกได้ ขนบและกฎหมายพร้อมจะฉีกผู้คนให้ขาดออกจากกันได้เสมอ ฉันไม่ใช่พ่อเธอแล้วจึงเป็นทั้งการพูดความจริงและการยอมตาม

นั่นทำให้นึกถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน คราวนี้เป็นเรื่องของครอบครัวตามขนบ หากแต่ มันคือเรื่องของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ตัดสินใจออกจากสังคมนานแล้ว พวกเขาไปอยู่ในป่า กางผ้าใบคลุม ก่อไฟจากหินเหล็กไฟ หาอาหารตามมีตามเกิด นานๆ ทีจะเข้าเมืองไปซื้ออาหารกระป๋อง แก๊สกระป๋อง เร้นกายจากโลกไปอยู่ในป่า พ่อสอนวิธีพรางตัวให้ลูกสาว วิธีเดินทางไม่ให้ถูกสะกดรอย ใช้ชีวิตกับมีดพก เชือก ผ้าใบ เป้หลัง พอตกค่ำก็กางเตนท์นอนกัน ลูกสาวกำลังแตกเนื้อสาวแม้จะมีเลือดพ่อเข้มข้น ส่วนพ่อมีอดีตที่ลบล้างไม่ออกจนถ้าไม่ทำแบบนี้ก็อาจตายไปแล้ว ชีวิตของพวกเขาไปได้สวยแม้จะหมิ่นเหม่แต่ไม่มีใครยอมเข้าใจหรอกในเรื่องนี้

เดบรา กรานิค (Debra Granik) เป็นคนทำหนังที่บ้านเราเคยรู้จักเธอจากหนังแจ้งเกิดเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ใน Winter’s Bone หนังของกรานิค มักมุ่งสนใจไปในเรื่องของคนอเมริกันผิวขาวยากจน และโลกที่ทั้งยากแค้น ตึงเครียด จนแทบจะสั่นประสาทของผู้คนเหล่านั้น  และนี่คือ Leave No Trace หนังใหม่ของเธอ

หนังไม่ยอมให้ปูมหลังของพ่อ ซ้ำยังกีดกันผู้ชมออกจากความรู้สึกเอาใจช่วยพ่อหัวแข็งที่พาลูกมาลำบาก พ่อในหนังเรื่องนี้เป็นเช่นเดียวกับผัวเมียใน Shoplifters ขัดแย้งกับรัฐและกับครอบครัวตามขนบที่ต้องเลี้ยงลูกให้ดี เสียสละตัวเองในขอบเขตที่รัฐต้องการ (การเสียสละตัวเองคือสิ่งที่โอสุสำรวจมาตลอดเวลาการทำหนังของเขา) การที่พ่อพาลูกมาระหกระเหินกลางป่าจึงเป็นสิ่งที่รับไมไ่ด้ในทุกกรณี โดยไม่จำเป็นต้องถามต่อว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นอย่างไร

หนังค่อยๆ พาไปดูภาพการพึ่งพากันของพ่อกับลูกสาว พ่อที่สอนทุกอย่างที่สำคัญ ทั้งคู่ปกป้องกันและกัน พ่อที่การเข้าสังคมอาจทำให้เขาต้องฆ่าตัวตาย กับลูกสาวที่ไม่เคยรู้จักสังคมมาก่อน ความสัมพันธ์ของพวกเขาคือความสัมพันธ์สุดทางของโมเดลพ่อกับลูกสาวใน Late Spring ของโอสุ ครอบครัวของคนนอกแบบเดียวกับ Shoplifters ที่ในที่สุด การจัดการของรัฐต้องเข้ามาก้าวก่าย

รัฐใน Leave No Trace นั้นนุ่มนวลอ่อนโยน พวกเขาพยายามจะหาทางให้พ่อลูกได้กลับเข้าสู่สังคมให้ละมุนละม่อมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่สิ่งที่รัฐยอมไม่ได้คือการปฏิเสธสังคม เพราะมันอาจนำมาซึ่งอันตรายโดยตัวของมันเอง ทางเลือกของผู้คนนั้นมี แต่มีอยู่แค่เลือกในสิ่งที่รัฐปรารถนา การเตลิดในครึ่งหลังของพ่อลูกจึงเป็นทั้งการทดสอบเจตจำนงเสรีของปัจเจกกับการทดสอบขอบเขตของชีวิตไร้รัฐว่าเป็นไปได้หรือไม่ได้

อย่างที่กล่าว หนังไม่อธิบายปูมหลังของพ่อมากนัก พอๆ กับที่ไม่อธิบายว่าทั้งคู่มาลงเอยแบบนี้ได้อย่างไร แต่ดูเหมือนว่า หนังชี้ให้เห็นเพียงว่าพ่ออาจทุกข์ทรมานจากการไปรบในสงคราม ไม่สามารถทนอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อีกต่อไป หนังอาจทำให้ผู้ชมเกลียดความหัวแข็งไม่ยอมเสียสละของพ่อ แต่ในอีกทางหนึ่งความคาดหวังเช่นนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเด็กต้องได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการอุทิศตนของพ่อแม่ และคุณภาพชีวิตที่ดีคือคุณภาพชีวิตที่รัฐรับรอง นั่นตัดทอนความเป็นไปได้อื่นๆ ในการเติบโต (แน่นอนว่าบางทีความเป็นไปได้ที่ว่าก็ไม่ได้เป็นไปได้ในด้านที่ดี) การอุทิศตนของพ่อแม่เป็นผ้าห่มคลุมคุณค่าของอนุรักษ์นิยมด้วยการทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อระบบเมื่อเป็นพ่อเป็นแม่คน การอุทิศตนของพ่อแม่เพื่อให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าจึงเป็นเครื่องมือที่รัฐและสังคมให้ในการเข้ามาจัดการมนุษย์หัวแข็งใต้นามของรัฐเสมอมา

ในแง่นี้ Leave No Trace จึงเป็นเหมือนด้านกลับของ Late Spring เมื่อลูกสาวค้นพบเส้นทางของตัวเอง และเธอต้องไปจากพ่อ ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์แบบคนนอกของเธอกับพ่อเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะยังมีความเป็นไปได้แบบอื่นๆ อีกมาก การจากกันของพ่อลูกในหนังเรื่องนี้จึงเป็นการไม่ยอมจำนนถึงที่สุด ในขณะที่การจากกันของพ่อกับลูกชายใน Shoplifters เป็นความยอมจำนนแบบเดียวกันกับการส่งลูกสาวเข้าเรือนหอใน Late Spring ที่ขนบจะกดทับความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์แบบอื่นๆ เอาไว้

อย่างไรก็ดีส่วนที่กระทบจิตใจมากที่สุดในหนังทั้งสองเรื่องกลับไม่ใช่เรื่องของครอบครัวคนนอก แต่เป็นเรื่องของ เจ้าของร้านชำที่ไอติมกับสองพี่น้องปลอมๆ ใน Shoplifters และคุณป้าฮิปปี้ที่มีงานอดิเรกเป็นการแขวนข้าวของเครื่องใช้ไว้กับต้นไม้เพื่อให้พวกคนอยู่ป่า

ในโลกที่ต้องการความหลากหลาย เราอาจต้องการนักสิทธิมนุษยชนที่ออกไปต่อสู้เพื่อสิทธิผู้คน มากพอๆ กับคนธรรมดาที่มีชีวิตอยู่อย่างคนธรรมดา คนที่ไม่ได้เป็นคนนอกแต่ก็ไม่ได้เป็นคนใน คนที่ใช้ชีวิตไปเงียบๆ และคอยเป็นกำลังสนับสนุนให้กับคนที่อยู่ข้างนอก คนที่ไม่ยอมจำนน คนแขวนของหรือเจ้าของร้านชำ อาจไม่ใช่คนที่ถูกจดจำ เป็นเพียงคนขลาดเขลาที่อยูในพื้นที่ปลอดภัย แต่ก็ด้วยคนเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เหล่าคนนอกยังคงเดินต่อไปได้

เราไม่อาจบอกได้ว่าหนังทั้งสองเรื่องเป็นหนังต่อต้านรัฐ หลายเรื่องในหนังก็หมิ่นเหม่อยู่ระหว่างอาชญากรรมล้ำเส้นกับการตัดสินใจด้วยเจตจำนงเสรีแห่งความเป็นมนุษย์ หากสิ่งที่หนังทั้งสองเป็นคือการเปิดเผยแง่มุมอื่นขอความเป็นไปได้ในคดีที่อาจถูกลดรูปเป็นเพียงอาชญากรรม เมื่อสูบเอาน้ำเนื้อของความเป็นมนุษย์ออกไป ขณะเดียวกันมันเป็นสนามของการทดสอบทางอุดมการณ์ ท้าทายขอบเขตทางศีลธรรมทั้งของปัจเจกชนและรัฐอย่างน่าสนใจ

Tags: , ,