Shazam! เป็นเรื่องของบิลลี แบ็ทสัน เด็กกำพร้าที่ได้รับพลังจากนักเวทย์ชื่อ ชาแซม ทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่และมีพลังแบบยอดมนุษย์ ทั้งควบคุมไฟฟ้า บินได้ ยิงไม่เข้า และมีพละกำลังมหาศาล แม้หนังจะโฟกัสที่ตัวบิลลีที่กลายเป็นชาแซมและการทดสอบพลังของเขา แต่ตอนเริ่มเรื่อง หนังกลับเล่าเรื่องของเด็กอีกคนที่ชื่อแธดเดียส ซีวาน่า ผู้ซึ่งได้รับคำเชิญจากชาแซมให้เข้าไปในมิติลับเช่นเดียวกับบิลลี ในตอนนั้นชาแซมบอกว่าเขากำลังหาเด็กที่มีจิตใจบริสุทธิ์ (pure at heart) เพื่อจะมาเป็นผู้ชนะ (champion) ของเขา หลังจากที่ผู้ชนะคนเดิมตกเป็นเครื่องมือของอสุรกายบาปทั้งเจ็ดและปลดปล่อยพวกมันมาสู่โลก แธดเดียสถูกเหล่าอสูรกายหลอกล่อ เขาจึงถูกส่งกลับสู่โลกมนุษย์พร้อมคำปรามาสว่าเป็นผู้ไม่ควรค่าแก่การเป็นผู้ชนะ

สิ่งที่น่าสนใจในตัวแธดเดียสก็คือ หลังจากที่เขาออกมาจากมิติลับ เขาพยายามโน้มน้าวให้พ่อกับพี่ชายเชื่อว่าชาแซมมีอยู่จริง จนทำให้รถที่ขับอยู่เสียหลัก และทำให้พ่อของเขาขาเป็นอัมพาต แม้จะเป็นเช่นนั้น เขาก็ไม่หยุดค้นหาเกี่ยวกับประตูที่จะนำเขาไปสู่ชาแซมอีกครั้ง เขาลงทุนกับการวิจัยปรากฎการณ์ที่คนทั่วโลกหลุดเข้าไปอยู่ในมิติลับเช่นเดียวกับเขา และค้นพบประตูวิเศษที่ทำให้เขาพบกับชาแซม แต่ในครั้งนี้ เขาถูกโน้มน้าวด้วยอสูรกายบาปทั้งเจ็ดจนสำเร็จ และยอมให้พวกมันใช้ร่าง

ความเลวร้ายของแธดเดียสมีที่มาที่ไปมากพอๆ กับความดีของบิลลี จากเด็กที่ถูกรังแกโดยพ่อและพี่ชายเสมอ เขาพยายามพิสูจน์ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จนในวันหนึ่งทำได้สำเร็จจริงๆ สิ่งที่เขาทำต่อไปก็คือไปแก้แค้นพ่อและพี่ชายที่เคยดูถูกเขา ซึ่งหนังก็ทำให้เราเห็นความโกรธแค้นของแธดเดียสที่ถึงกับสังหารพ่อและพี่ชายของตัวเองอย่างเลือดเย็น ตัวร้ายที่มีอดีตลักษณะนี้อาจทำให้เราเห็นอกเห็นใจได้อยู่บ้าง และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากหนังปูให้เห็นว่าเขาเติบโตมาในครอบครัวที่เย็นชาอย่างไร

ในอีกทางหนึ่ง บิลลีเป็นเด็กกำพร้าที่ค้นหาครอบครัวที่แท้จริงของตนเอง แต่เขากลับได้ครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีพี่น้องหลายคนมาทดแทน เขาไม่เปิดใจยอมรับครอบครัวนี้ในทีแรก แต่ก็มีเหตุการณ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ครอบครัวไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทางสายเลือด พี่ชายของเขา เฟรดดี้ เป็นเด็กพิการที่อยู่ข้างเขาตลอดเวลา ส่วนน้องสาวของเขา ดาร์ลา ก็คอยปกป้องเขาแม้ตัวจะเล็กกว่า เหตุการณ์ตอนท้ายเรื่องยิ่งทำให้เห็นว่าความร่วมมือร่วมใจของครอบครัวทำให้พวกเขาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ และสุดท้าย บิลลีก็ยอมรับครอบครัวอุปถัมภ์เป็นครอบครัวจริงๆ ของเขา

ทั้งในมุมของตัวเอกและตัวร้าย หนังได้พยายามให้ความสำคัญกับนิยามของครอบครัว ในฉากที่บิลลีตามไปจนพบแม่แท้ๆ ของตนเองและค้นพบความจริงเกี่ยวกับเธอนั้น บิลลีได้รู้ว่าครอบครัวที่แท้จริงของเขาไม่ใช่แม่ทางสายเลือด แต่คือผู้คนที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมาย มันเป็นเรื่องของการถูกมองเห็น การเป็นคนสำคัญ และเมื่อมีเหตุการณ์ที่เขาต่อสู้ร่วมกับพี่น้องของเขาตอนท้ายเรื่อง มันก็เป็นเรื่องของการพิสูจน์ตัวเองไปพร้อมๆ กัน  และคงกล่าวได้ว่า ครอบครัวคือสถานที่ใดก็ตามที่ทำให้ใครสักคนรู้สึกว่ามีตัวตน

ย้อนกลับไปที่แธดเดียส หนังทำให้เรารู้ว่าพี่ชายและพ่อไม่ได้ยอมรับเขาตั้งแต่เริ่มเรื่องจากการที่เขาถูกดุในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อเขากลับมาจากมิติลับ พ่อและพี่ชายก็รุมด่าว่าเขา หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เขาถูกทำให้กลายเป็นจำเลยของครอบครัว ว่าเขาเป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น ครอบครัวของแธดเดียสเป็นครอบครัวร่ำรวยที่มองไม่เห็นความสำคัญของเขา ในบาปทั้งเจ็ดประการนั้น ตัวที่แทนเขาได้ดีที่สุดก็คือ ความริษยา (Envy) เพราะเขาถูกเลี้ยงให้โตขึ้นมาแบบไม่มีใครมองเห็นและยอมรับในการมีอยู่ของเขา เขาจึงแสวงหาการเป็นคนสำคัญและอำนาจอยู่ตลอดเวลา

อันที่จริง ตัวร้ายประเภทนี้มีจิตใจเปราะบางมาก และไม่น่าแปลกใจที่แธดเดียสได้รับคำเชิญจากชาแซมในตอนแรก เพราะเขาก็คงเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีจิตใจบริสุทธิ์อย่างแท้จริง หากจะโทษว่าใครทำให้เขาเสียผู้เสียคน คงต้องโทษทั้งครอบครัวของเขาและตัวผู้วิเศษ (ซาแชม) เอง ที่ให้ความหวังกับเขา และทำลายมันลง

ตัวร้ายประเภทนี้เอง ทำให้ผู้เขียนนึกถึงตัวร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสองคนของโลกภาพยนตร์ นั่นก็คือ ลอร์ดโวลเดอมอร์ และโจ๊กเกอร์

โวลเดอมอร์นั้นมีชีวิตวัยเด็กที่อาภัพ เขาเกิดจากยาสเน่ห์ของแม่ที่เป็นผู้วิเศษแต่ไร้เวทมนตร์ เมื่อมนต์ดำนั้นคลายลง พ่อก็ได้ทิ้งเขาไป แม่ของเขาอดอยากมากจนไปเสียชีวิตที่หน้าสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทำให้โวลเดอร์มอร์มีความหลังฝังใจกับพวกที่ไร้เวทมนตร์ และรวบรวมแต่เหล่าสมุนเลือดบริสุทธิ์ เขากลายเป็นคนกระหายอำนาจ และต้องการให้โลกเวทมนตร์ตกอยู่ในความกลัว หากจะแทนตัวเขาด้วยบาปเจ็ดประการ ก็คงสามารถแทนได้ด้วยความเย่อหยิ่ง (Pride)

ส่วนโจ๊กเกอร์นั้น ในเรื่อง The Dark Knight เขาได้เล่าถึงอดีตของตัวเองว่า เขาถูกพ่อที่เมาอาละวาดทำร้ายแม่และตัวเขาแทบทุกวัน และเมื่อเขาโตขึ้น เขามีภรรยาที่สวยมาก วันหนึ่งภรรยาเขาใบหน้าเสียโฉมจากอุบัติเหตุ เธอเสียใจและอับอายมากจนทำให้เขาเอามีดมากรีดปากตัวเองเพื่อที่จะได้มีใบหน้าอัปลักษณ์เหมือนกับเธอ แต่ผลก็คือเธอทิ้งเขาไป หากจะแทนโจ๊กเกอร์ด้วยบาปประการใดประการหนึ่ง คงจะแทนได้ด้วย โทสะ (Wrath)

แม้ในทุกวันนี้ก็ตาม บ่อยครั้งในโลกของหนังฮอลลีวูด ตัวร้ายและตัวเอกมักถูกแบ่งเป็นสีดำกับขาว ตัวร้ายหลายคนแทบจะไร้ที่มาที่ไป อย่างในหนังตระกูลมาร์เวล เช่น Red Skull หรือ Hela ซึ่งเป็นตัวละครที่มีลักษณะแบนราบ (แม้จะเข้าใจได้ในแง่เวลาที่กระชับของหนัง ที่ทำให้ไม่มีเวลาปูที่มาที่ไปหรือเหตุผลของตัวร้ายมากนัก) การออกแบบตัวละครเช่นนี้มีข้อดีตรงที่ทำให้คนดูตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะเลือกเอาใจช่วยตัวเอก หรือมีความรู้สึกร่วมกับตัวเอกในการเอาชนะตัวร้าย ซึ่งทำให้หนังเรื่องหนึ่งๆดู ‘สนุก’ ในความรู้สึกของคนดู แต่ข้อเสียก็คือ มันสร้างภาพของมนุษย์ที่บิดเบี้ยวไปจากความจริงเป็นอันมาก สะท้อนคติของการแบ่งขั้วแยกข้างแบบทวินิยม (dualism) ที่เป็นการกีดกันผู้อื่นออกจากพื้นที่ทางศีลธรรมอย่างสุดโต่ง ทำให้เกิดการตัดสินผู้อื่นในแง่ลบอย่างง่ายดายทั้งที่รู้พื้นเพของเขาเพียงเล็กน้อย ปรากฏการณ์เช่นนี้แพร่ระบาดในโซเชียลมีเดียอย่างมากมายในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการแบ่งแยกและตีตราผู้ที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกับตนเองว่าเป็นปีศาจหรือตัวร้าย ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่าปรากฏการณ์ในโลกภาพยนตร์ได้สะท้อนความเป็นไปในชีวิตจริงด้วย

Tags: ,