ยุคไทยแลนด์ 4.0 แบบนี้ ผู้อ่านคงคุ้นหูกับคำว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy กันนะครับ เพราะแค่ป้อนคำนี้เข้าในกูเกิล ก็จะพบแต่บทความสรรเสริญเยินยอถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ ผ่านการแบ่งปันสินทรัพย์ที่เคยเป็นของส่วนบุคคลให้เข้าสู่ระบบตลาดซึ่งใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้เหล่าผู้ผลิตในโครงสร้างเก่าต่างอกสั่นขวัญหาย ไม่ว่าจะเป็นอู่แท็กซี่ หรือโรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นเรื่องล้าสมัยเพราะถูกทดแทนด้วยระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน
แม้ว่าผิวเผินการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะใหม่แสนใหม่ แต่ถ้าหากพินิจพิเคราะห์ก็จะพบว่าเหล่าออนไลน์แพลตฟอร์มที่ถูกยกย่องว่าเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจ ‘แบ่งปัน’ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ เรียกรถบริการอย่าง Uber หรือเว็บไซต์จองห้องพักอย่างแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ถ้าลองดูโมเดลธุรกิจดีๆ ก็ไม่ต่างจากพ่อค้าคนกลางในโลกยุคเก่าอย่างธนาคาร
สรุปสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่างก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ‘จับคู่’ เจ้าของสินทรัพย์ซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์กับความต้องการใช้สินทรัพย์นั้นในตลาด โดยตัวกลางจะทำหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย
หัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นได้คือเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศที่สะดวกรวดเร็ว ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกรรม (Transaction Cost) ที่เป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถใช้สินทรัพย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ลองจินตนาการดูก็ได้ครับว่าจะเป็นอย่างไรหากมีคนที่ทำธุรกิจรวมลิสต์ห้องว่างให้เช่ารายวันในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่าทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่างก็มีต้นทุนในการได้มาซึ่งข้อมูล อาจจะเป็นทางโทรศัพท์หรือทางจดหมาย ที่คุยไปคุยมาก็อาจตกลงกันไม่ได้ กระบวนการก็ยุ่งยาก แถมต้องเจอความเสี่ยงที่เมื่อไปถึงปลายทางอาจหาไม่เจอหรือไม่ได้ตามที่คาดหวัง จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต บริการโรงแรมหรือจัดโปรแกรมทัวร์จึงเฟื่องฟู เพราะแม้ราคาจะแพง แต่ต้นทุนในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งนั้นต่ำกว่ามาก
แพลตฟอร์มในยุคดิจิทัลเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะเป็นการนำสินทรัพย์ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้มาใช้อย่างเต็มศักยภาพ และอาจเป็นหน้าตาของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ที่เราต่างสามารถกำหนดราคาและปล่อยเช่าสินทรัพย์หรือแรงงานผ่านโลกออนไลน์ แต่นอกจากภาพสวยหรูของเศรษฐกิจยุคใหม่ เหล่าแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ยังมีด้านมืด ที่ดูจะตรงข้ามป้ายชื่อ ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ อย่างสิ้นเชิง
แบ่งปัน แต่ไม่ถึงผู้ให้บริการ
เศรษฐกิจแบ่งปันมักฉายภาพผู้ให้บริการ เช่น คนขับรถบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Uber, Lyft หรือ Grab ว่าการมาขับรถให้กับแพลตฟอร์มดังกล่าว จะทำให้คุณเป็นอิสระและบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้เพียงปลายนิ้ว แถมยังได้รับผลตอบแทนจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ปัญหาของแพลตฟอร์มที่เน้นขายแรงงานของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถ คนส่งของ หรือแม่บ้าน คือการลดทอนมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานภายใต้หน้ากากของเทคโนโลยีสมัยใหม่
แพลตฟอร์มแทบทั้งหมดไม่ได้มองผู้ให้บริการเป็น ‘พนักงาน’ แต่เป็นเพียง ‘คู่สัญญา’ ซึ่งทำให้บริษัทไม่ต้องดูแลเรื่องประกันสังคม สวัสดิการพนักงาน รวมถึงค่าตอบแทน นอกจากนี้ การไร้สถานะพนักงานทำให้ผู้ให้บริการขาดอำนาจในการต่อรองกับบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม แม้ว่าพวกเขาหรือเธอจะทำงานวันละ 10 ชั่วโมงเพื่อให้บริการลูกค้าของแพลตฟอร์มดังกล่าว และบริษัทก็ได้รับค่านายหน้าจำนวนมหาศาลจากแรงงานเหล่านี้ทุกวันก็ตาม
แพลตฟอร์มแทบทั้งหมดไม่ได้มองผู้ให้บริการเป็น ‘พนักงาน’ แต่เป็นเพียง ‘คู่สัญญา’
ซึ่งทำให้บริษัทไม่ต้องดูแลเรื่องประกันสังคม สวัสดิการพนักงาน รวมถึงค่าตอบแทน
เมื่อไม่มีภาระผูกพันในระยะยาว แพลตฟอร์มเหล่านี้จึงมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้ให้บริการให้เข้ามาใช้แอปฯ มากที่สุด ซึ่งอาจนำไปสู่เศรษฐกิจแบ่งเศษขนมปัง (share-the-crumbs economy) ที่แรงงานจำนวนมากต้องแย่งชิงงานซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอเพื่อหารายได้ประทังชีวิต โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอัลกอริธึมที่กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ได้งานนั้นทำงานอย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพอิสระส่วนใหญ่ เช่น การขับแท็กซี่ ก็มีความเสี่ยงทางรายได้ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน แถมยังไม่มีสวัสดิการจากใครมาช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่ความแตกต่างระหว่างอาชีพอิสระทั่วไปและอาชีพอิสระผ่านแอปพลิเคชันคือ อาชีพทั่วไปจะถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ภาครัฐที่ค่อนข้างเข้มงวด ในขณะที่กฎหมายยังพัฒนาไม่รวดเร็วพอที่จะจัดการกับธุรกรรมที่ทำการผ่านแพลตฟอร์ม และที่สำคัญ อาชีพทั่วไปไม่จำเป็นต้องหักส่วนแบ่งไปเข้ากระเป๋าใคร ส่วนผู้ใช้แอปฯ ต่างต้องเสียค่านายหน้าจำนวนมากไปเข้ากระเป๋าของเหล่าเศรษฐีในซิลิคอนแวลลีย์
แบ่งปัน แต่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ภาพโฆษณาของเหล่าบริษัทผู้ได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบ่งปัน มักนำเสนอว่าใครๆ ไม่ว่าเชื้อชาติ ภาษา หรือการศึกษาระดับไหน ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจได้ ทั้งในมุมผู้ให้และผู้รับบริการ อย่างไรก็ดี มีการศึกษาที่อยู่ในระหว่างการวิจัยพบว่า มีการกีดกันทางเชื้อชาติในตลาดแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) เช่น เจ้าบ้านที่เป็นคนผิวดำจะได้รับค่าห้องต่ำกว่าเจ้าบ้านที่ไม่ใช่คนผิวดำ 12 เปอร์เซ็นต์ และผู้เข้าพักที่เป็นคนผิวดำจะมีแนวโน้มโดนปฏิเสธจากเจ้าบ้านมากกว่าผู้เข้าพักรายอื่นๆ ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกรณีเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นหากเลือกที่จะพักในโรงแรม
นอกจากนี้ การศึกษาของบริษัท JPMorgan Chase เปรียบเทียบรายได้ต่อเดือนระหว่างผู้ใช้แพลตฟอร์มที่เน้นทุน (Capital Platform) เช่น Airbnb และแพลตฟอร์มที่เน้นแรงงาน (Labor Platform) เช่น Uber ผลปรากฏว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มเน้นทุนจะมีรายได้เฉลี่ยเยอะกว่า สะท้อนให้เห็นว่าแพลตฟอร์มอย่าง Airbnb เปิดโอกาสให้คนรวยซึ่งมีสินทรัพย์ล้นเหลืออยู่แล้ว มีรายได้มากขึ้นจากช่องทางใหม่ อีกทั้งผู้ใช้แพลตฟอร์มเน้นแรงงานยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มเพียงเล็กน้อยในเดือนที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม
งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งสะท้อนว่า ผู้ที่เข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีงานประจำอยู่แล้ว และมีการศึกษาในระดับหนึ่ง การที่คนกลุ่มนี้มาให้บริการงานของผู้มีรายได้ต่ำ เช่น การขับรถ หรือทำความสะอาดบ้าน ย่อมเป็นการแย่งงานที่ควรจะเป็นงานของคนยากจนที่มีโอกาสและการศึกษาที่ต่ำกว่า
อีกหนึ่งผลกระทบจากแพลตฟอร์มให้เช่าที่พักระยะสั้นคือการบิดเบือนราคาสินทรัพย์ในตลาด เพราะการปล่อยเช่าระยะสั้นรายวันจะสร้างกำไรให้มากกว่าการปล่อยเช่าระยะยาว เจ้าของสินทรัพย์จึงถูกจูงใจให้ลิสต์ห้องของตัวเองลงในแพลตฟอร์มแทนที่จะปล่อยเช่าให้กับคนท้องถิ่น
แพลตฟอร์มอย่าง Airbnb เปิดโอกาสให้คนรวยซึ่งมีสินทรัพย์ล้นเหลืออยู่แล้ว
มีรายได้มากขึ้นจากช่องทางใหม่
เจ้าของที่พักในเมืองใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวอย่างลอนดอน นิวยอร์ก หรืออัมสเตอร์ดัม ต่างก็มีห้องพักให้เช่าอยู่หลายแห่ง นั่นหมายความว่าห้องพักเหล่านั้นไม่ใช่ ‘บ้าน’ อย่างที่แพลตฟอร์มวาดฝัน แต่เป็นแค่การหารายได้จากนายทุนผู้มีสินทรัพย์จำนวนมาก แรงกดดันดังกล่าวทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และเร่งกระบวนการเบียดขับผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม (gentrification) ให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในบริเวณที่ค่าครองชีพต่ำกว่า
ขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านบริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้นะครับ แถมยังเป็นลูกค้าประจำเลยด้วยซ้ำเพราะขี้เกียจจะทนปัญหาแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และที่พักราคาแพงเมื่อท่องเที่ยวต่างประเทศ เพียงแต่อยากเสนอ ‘เหรียญอีกด้าน’ ของธุรกิจแพลตฟอร์มที่อาจไม่ได้แบ่งปันอย่างที่หลายคนคิด และทางออกของปัญหาข้างต้นย่อมไม่ใช่การไล่จับบริษัทเหล่านี้เพราะกระทำผิดกฎหมาย แต่คือการจัดการโดยรัฐเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากแพลตฟอร์มดังกล่าว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
The Sharing Economy: labor, inequality and sociability on for-profit platforms
Paychecks, Paydays, and the Online Platform Economy
The Myth Of ‘Sharing’ In A Sharing Economy
The “Sharing Economy” is the Problem
Airbnb and Uber are the next frontier in the struggle between capital and labor
Does the sharing economy increase inequality within the eighty percent?: findings from a qualitative study of platform providers
Airbnb, gentrification, and why the sharing economy isn’t so sharing.
ภาพประกอบโดย กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล
FACT BOX:
สำหรับผู้สนใจ สามารถเข้าไปค้นเว็บไซต์อย่าง Inside Airbnb ที่รวบรวมสถิติการลิสต์สินทรัพย์บนแพลตฟอร์มแอร์บีเอ็นบี โดยข้อมูลดังกล่าวยืนยันสถานการณ์การสร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น กรุงลอนดอนซึ่งเป็นเมืองที่ห้องพักราคาแพงอันดับต้นๆ ของโลก และเผชิญปัญหาที่คนท้องถิ่นต้องหาที่อยู่ใหม่เพราะแบกรับค่าครองชีพไม่ไหว กลับมีลิสต์ห้องพักบน Airbnb กว่า 49,348 ห้อง โดยเจ้าของห้องพัก 40 เปอร์เซ็นต์มีลิสต์ห้องพักมากกว่าหนึ่งแห่ง
DID YOU KNOW?
Tags: ธุรกิจ, เศรษฐกิจ, sharing economy, เศรษฐกิจแบ่งปัน, แพลตฟอร์ม, แรงงานบริษัทที่ปรึกษา PwC จัดแบ่งเศรษฐกิจแบ่งปันออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ บริการห้องพักแบบเพียร์-ทู-เพียร์ (peer-to-peer accommodation) บริการขนส่งแบบเพียร์-ทู-เพียร์ (peer-to-peer transportation) บริการงานบ้านตามความต้องการ (on-demand household services) บริการงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญตามความต้องการ (on-demand professional services) และการเงินแบบร่วมด้วยช่วยกัน (collaborative finance)