‘ปารีสแห่งตะวันออก’ คือชื่อเล่นของเซี่ยงไฮ้ เมืองท่าฝั่งตะวันออกของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถูกยกให้เทียบบารมีกับ มหานครปารีส  วอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ก และลอนดอน หากใครยังไม่เคยมาเยือน คงคิดไปว่าฉายาที่ได้ อาจฟังดูโอ่เกินตัว แต่พอได้โฉบมาทักทายเซี่ยงไฮ้จริงๆ เราก็ขอยอมรับโดยปราศจากข้อกังขา เพราะความเจริญ (หรือความมีอารยะ) ทั้งเมืองและคน วิ่งชนะหลายเมืองใหญ่ๆ ในโลกแบบขาดลอย

จังหวะการเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้อาจแปลกสักหน่อย เพราะเกือบหนึ่งสัปดาห์ที่ได้สำรวจเมืองนี้ เหมือนเราได้เดินทางข้ามเวลาไป ๆมาๆ ด้วย ‘ไทม์แมชชีนของโดเรมอน’

เมื่อแลนดิ้งลงสนามบินผู่ตง รถไฟด่วนพาเราโผล่สถานีกลางเมืองที่เต็มไปด้วยกลุ่มตึกเก่า ย้อนเวลาไปกว่าร้อยปี ข้ามอุโมงค์แม่น้ำไปอีกฝั่ง ไม่กี่อึดใจเราจะโผล่มากลางกลุ่มตึกอนาคตอย่างในหนัง Sci-Fi

เพื่อไม่ให้คุณงงไปกับการท่องเที่ยว(ผ่านตัวอักษร) ในครั้งนี้ เราจึงขอถือวิสาสะพาเที่ยวแบบเรียงไทม์ไลน์กันสักหน่อย

พร้อมแล้ว ขอหมุนเวลาไปก่อนปี ค.ศ.1900    

 

กลุ่มอาคารอายุร่วมร้อยปีริมหาดไว่ทาน

#รอยเท้าอดีต จากหมู่บ้านชาวประมง ก้าวสู่หนึ่งในมหานคร

เมื่อนานมาแล้ว ชางไฮ่ หรือเซี่ยงไฮ้ เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเงียบสงบ ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยชาติตะวันตก หลังที่จีนพ่ายแพ้กองทัพของควีนวิคตอเรียในสงครามฝิ่น ส่งผลต่อสัญญา(ที่ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก) นามว่าสนธิสัญญา ‘นานกิง’ จีนต้องยอมเปิดเมืองท่า 5 เมือง ให้อังกฤษได้เช่าพื้นที่ (ตามด้วยพี่ๆ หัวทองอีกหลายประเทศ)  ครั้งนั้นทำให้เซี่ยงไฮ้คลาคล่ำไปด้วยชาวตะวันตกที่พร้อมเข้ามาขุด (โอกาส) ทอง ในเมืองปากแม่น้ำแยงซีแห่งนี้

เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ไม่เพียงแต่ยกทัพขึ้นบก แต่ชาติตะวันตกก็นำวิทยาการเข้ามา และวางรากฐาน ความเจริญในหลายๆ ด้าน ทำให้เมืองประมงกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่มีจำนวนเรือคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศจีน

  The Bund ยามค่ำคืน

เราเริ่มเดินสำรวจร่องรอยอารยธรรมในอดีตของเซี่ยงไฮ้ในจุดยกพลขึ้นบกที่ ‘หาดไว่ทัน’ หรือ ‘The Bund’ (เดอะบันด์/เดอะบุนน์ ตามฝรั่งเรียก)  กลุ่มอาคารในสไตล์ Art deco, Postmodernist, Neoclassical เรียงรายกันเสมือนฉากหนังในช่วงปี ค.ศ.1920 แปลกที่เป็นเมืองจีน ที่ไม่มีกลิ่นจีนแรง ประหนึ่งชาจีน ถูกปรุงกลิ่นอย่างฝรั่ง บนถนนหลักแห่งนี้เรียงรายด้วยสำนักงานใหญ่ของหลายบริษัทข้ามชาติ แม้ภายนอกตึกจะดูหลุดมาจากอดีตแต่ภายในได้รับการตกแต่งร่วมสมัย    

เดินลัดเลาะในตรกซอกซอย เขต The Bund

เมื่อลัดตามตรอกซอกซอยเดินไปไม่ไกลนัก เราจะพบสัญลักษณ์ของเมืองคือต้นเมเปิลที่มีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งปลูกในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเมือง (ในเขตเช่าชื่อว่า French Concession) ซึ่งในปัจจุบันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเมือง

มาเมืองจีน เราก็อยากจะชิมรสชาติจีนแบบดั้งเดิมที่ ‘สวนอวี้หยวน’ (Yuyuan Garden) ไม่ไกลจาก The Bund นับเป็นความงามรสเอเชียที่เราคุ้นเคย สวนนี้ถูกสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งยังคงรูปแบบอาคาร สถาปัตยกรรมแบบจีนดั้งเดิมไว้ ภายในสวนรายล้อมด้วยอาคารแสดงศิลปะต่างๆ รวมถึงร้านของฝาก และอาหารจีนรสถูกปาก (นักท่องเที่ยว) ก็มีให้ชิม หรือจะพักจิบชาจีนดีๆ จากอาคารโบราณกลางน้ำ ละเมียดชมสวนได้ในยามบ่ายก็นับเป็นกิจกรรมดีๆ ในสวนสวยแห่งนี้

เรือนชากลางน้ำในสวนอวี้หยวน

เคลิ้มไปกับความงามได้สักพัก ขอพาวาป กลับมาสู่โลกปัจจุบัน  

#ลมหายใจปัจจุบัน จังหวะสร้างสรรค์ของเซี่ยงไฮ้   

จุดฮิตในเซี่ยงไฮ้ที่ไม่ควรพลาดมาเช็คอินคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะนับร้อยที่กระจายอยู่ทั่วเมือง โดยเกือบจะทั้งหมดเป็นผลผลิตจากโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากช่วงต้นปี ค.ศ.2010 นครเซี่ยงไฮ้ ได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของสหประชาชาติ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงเร่งพัฒนา โครงการอันเกี่ยวเนื่องกับ ‘พื้นที่วัฒนธรรมสร้างสรรค์’ มูลค่าอุตสาหกรรมนี้มีีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองอย่างต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ได้มีเวทีแจ้งเกิด  

ย่านคูลๆ ที่เราแนะนำให้ไปสำรวจ เช่นที่ M50 Creative Space, อาณาเขต Art West Bund ที่มีพิพิธภัณฑ์รวมไปถึงพื้นที่ศิลปะเล็กๆ แต่น่าสนใจ รวมถึงการจัด Shanghai Art Biennale  อย่างต่อเนื่อง ในเขตนี้ได้ปลุกลมหายใจของความสร้างสรรค์ของคนจีนสมัยใหม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวอย่างเราด้วย

Shanghai Art Biennale  

หากจะจัดทริปเส้นทางไปชมงานศิลปะที่เซี่ยงไฮ้ เราอาจจะเลือกที่น่าสนใจ ตรงจริต และเกาะกลุ่มกัน เช่น แกลอรีเล็กๆ แต่ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นใหญ่มาแล้วที่ Yuz Museum ไปยืนให้ฝนตกใส่แต่ไม่เปียกกันที่ Rain Room แล้วไปที่ต่อ West bund สักครึ่งวัน ชมแกลอรีงานศิลปะที่ได้รับการปรับโฉมจากกลุ่มโรงงานเก่า เท่ๆ ดิบๆ ก็นับเป็นไอเดียที่ดี

Rain Room @ Yuz Museum

ตกดึกสำหรับสายเที่ยว ย่าน Xitianti นับเป็นคำตอบที่ดีที่สุด กลุ่มตึกแถวเก่าถูกเนตรมิตเป็นคลับเก๋ๆ นำเสนอทั้งอาหารตาและอาหารปากที่อร่อย

ปัจจุบันมีการไหลเข้ามาของโครงการร่วมทุนจากต่างชาติ ทำให้เซี่ยงไฮ้ยิ่งมีสีสันขึ้น และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก ทั้งโปรเจกต์สวนสนุกยักษ์ใหญ่อย่าง ​Disneyland และโปรเจกต์สุดว้าวอย่าง Intercontinental Shanghai Wonderland ที่สร้างลึกลงไปในเหมืองเก่าย่านชานเมือง นับเป็นจังหวะการเติบโตของเมืองใหญ่สู่อนาคตทีี่เกิดจากการร่วมทุนของจีนและนานาชาติ   


Shanghai Disneyland

#ภาพฝันอนาคต เทคโนโลยีในฝันที่สมจริง

หากเรายืนหันหลังให้ฝั่งตะวันตกท่ีมีอาคารเก่าในอดีตเป็นฉากหลัง และทอดสายตาข้ามแม่น้ำผู่ซี่ไปฝั่งตรงข้าม เราจะพบกับภาพอนาคตของเซี่ยงไฮ้

ภาพย่านผู่ตง (Pudong) หรือฝั่งตะวันออก เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมสูงเสียดฟ้า ล้ำสมัย ดู Modern ถึง Futuristic เมืองใหม่นี้เกิดขึ้นจากแนวคิดผลักดันให้เซี่ยงไฮ้้ก้าวเป็นศูนย์กลางโลก 4 ด้าน (เศรษฐกิจ การค้า การเงิน และการเดินเรือ) เทศบาลเมืองฯ จึงคลอดแบบแผน ‘สร้างอัตลักษณ์ของแต่ละย่าน’  ซึ่งผู่ตงได้เป็นตัวแทนการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่โลกอนาคต จากแผ่นดินที่เคยเป็นทุ่งนาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงกลายมาเป็นเขตเมืองใหม่ซึ่งที่ดินราคาสูงลิ่วแบบฉุดไม่อยู่

ภาพฝั่งเมืองใหม่ PUDONG ถ่ายย้อนจากเมืองเก่า

อาคารสูงที่สูงสุดของจีนแผ่นดินใหญ่นาม ‘Shanghai Tower’ นำกลุ่มเพื่อนอวดประชันโฉม ไม่เพียงแต่ความสูงที่สุดที่ได้รับการบันทึกเป็นสถิติ แต่การสร้างตึกนี้ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน  ทั้งใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นมิตรกับชุมชนรายล้อมตึก ที่ชั้นบนสุดของเป็นจุดชมวิว วันใหนอากาศดีๆ เราจะเห็นวิวเซี่ยงไฮ้ได้ 360 องศา แนะนำให้มาช่วงเย็น จะได้ชมความงามยามพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า และกลางคืนที่เต็มไปด้วยไฟระยิบระยับ

มาที่อาคารสูงหลังรอง ‘The Shanghai World Financial Center’ ความสูงประมาณ 500 เมตร ลักษณะเด่นของตึกนี้คือมียอดตึกเป็นช่องเปิดรูปสี่เหลี่ยม รูปทรงเหมือนที่เปิดขวด ซึ่งเกิดขึ้นโดยเปลี่ยนใจจากรูปวงกลม แรกเริ่มได้แรงบันดาลใจจากประตูวงเดือนแบบจีน แต่เกรงว่าจะซ้ำกับธงชาติประเทศเพื่อนบ้าน จึงเปลี่ยนเป็นเหลี่ยมๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็สวยแปลกตา  

อีกตึกที่ความสูงลดหลั่นลงมานามว่า ‘Jin Mao Tower’  หรืออาคารทองคำอันรุ่งเรืองนี้ มีตัวอาคารลักษณะเป็นแฉก 8 เหลี่ยม ที่เรียงต่อกันเป็นชั้นสูง 88 ชั้น ในรูปแบบโมเดิร์น ผสมผสานแบบจีนดั้งเดิม ความพีคคือที่ชั้นบนสุดเปิดโอกาสให้เราได้เดินท่ามกลามหมู่เมฆแบบไร้กระจกกั้น เหมาะสำหรับสายเอ็กซ์ตรีมไม่กลัวความสูง  

อีกหนึ่งอาคารสูงสุดคลาสสิก ที่ต้องพูดถึงเพราะเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของจีนสมัยใหม่ในยุคแรกๆ คือ ‘หอไข่มุกตะวันออก’ (Oriental Pearl Tower)  หอส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ทรงเป็นไข่มุก ภายในหอกลม เป็นภัตตาคาร โรงแรม และร้านค้า ชั้นล่างส่วนฐานหอนั้นจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองและจำลองโลกอนาคต

กลุ่มตึกแห่งอนาคตยามค่ำคืน

ไม่เพียงเมืองอนาคตที่เรามองเห็น ด้านการวางเครือข่ายโทรคมนาคมรองรับการเติบตของอนาคต เทศบาลของนครเซี่ยงไฮ้ ก็ประกาศแผนดำเนินงานส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี (Technological Transformation) และยกระดับเศรษฐกิจของเมือง ผลักดันการพัฒนาคุณภาพของเศรษฐกิจร่วมกับบริษัทเครือข่ายเทคโนโลยี ในประเทศริเริ่มทดลองใช้งาน 5G และยังมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ Made in Shanghai ลบภาพเดิมๆ ของสินค้า Made in China  

มองอนาคตจากมุมปัจจุบัน

เซี่ยงไฮ้นำพาตัวเองมาจากอดีต ติดสปีดให้เป็นเมืองแห่งอนาคตภายในไม่กี่ปี ถือว่าเป็นจังหวะที่เร็วและแรงเมืองหนึ่งในศตวรรษนี้  อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจได้เห็นหนึ่งในต้นแบบความไฮเทคและความสร้างสรรค์ของโลกยุคใหม่ที่ไม่ได้มาจากตะวันตก หากแต่มาจากบ้านพี่เมืองน้องอย่างเซี่ยงไฮ้ประเทศจีนก็เป็นไปได้   

Tags: , ,