ในอุดมคติ พ่อ+แม่+ลูก เป็นสูตรสำเร็จของครอบครัวที่อบอุ่น แต่ในความเป็นจริง สมการนี้ดูจะถูกตั้งคำถามไม่น้อย ในวงอภิปรายหนึ่งของการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุย โดยตั้งคำถามไปที่สถานะของ ‘ลูกผู้ชาย’ ในความเป็นแฟน เป็นผัว เป็นพ่อ กับคำถามว่าผู้ชายหายไปไหนในการทำงานเรื่องท้องวัยรุ่น

‘เบียร์’ ศิริพงษ์ เหล่านุกูล เป็นหนึ่งในตัวแปรนอกสมการข้างต้น เขานิยามตัวเองว่าเป็น ‘คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ จากการรับเลี้ยงลูกของน้องสาวซึ่งตั้งครรภ์ในวัยเรียน

“น้องสาวของผมแต่งงานมีลูก ต่อมาน้องหย่ากับสามี ตอนนั้น ผมเรียนจบ มีงานทำแล้ว เป็นฟรีแลนซ์และมีธุรกิจเล็กๆ อยากให้น้องสาวกลับไปดูแลแม่ที่ต่างจังหวัด เลยรับปากว่าจะดูเด็กเอง”

เบียร์ยอมรับว่า ตอนนั้นเขาคิดง่ายๆ ว่า เด็กคงมีแค่กินกับนอน บวกกับอยากจะพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถรับผิดชอบได้ ก่อนจะพบว่า มันทั้งเหนื่อยและลำบาก จากที่ไม่สนิทกับแม่ ก็โทรปรึกษากันตลอด วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ทั้งไม่ดื่มเหล้า กลับบ้านเร็ว ขณะที่เพื่อนๆ ของเขาก็ช่วยกันเลี้ยงหลาน บางคนแอบไปถามแม่คนอื่นๆ ว่ามีเคล็ดลับในการเลี้ยงลูกอย่างไร

ต่อมา เขาแชร์ประสบการณ์เหล่านี้ลงในพันทิป ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีสื่อมาสัมภาษณ์ และถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ทางช่อง One

ด้านหนึ่ง เบียร์พบว่า ‘ผู้หญิง’ กลายเป็นฝ่ายถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่เลี้ยงลูก ให้ผู้ชายเลี้ยงจะทำได้หรือ ลามถึงครอบครัวว่า พ่อแม่ไปไหนทำไมไม่รับผิดชอบ

“ทำไมคนมองว่าผู้ชายเลี้ยงลูกไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่พ่อแม่เรา หรือผู้หญิง เราเลี้ยงให้ดีไม่ได้เหรอ?”

อีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงเด็กด้วยตัวเองของเขาก็กลายเป็นเรื่องโด่งดังและได้รับคำชื่นชม เบียร์ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา ทำไมคนถึงไม่ชื่นชมผู้หญิงที่เลี้ยงลูกว่าเก่งบ้าง พอเป็นผู้ชายกลับได้รับคำชม เพราะสังคมกำลังมองว่าคนทำหน้าที่เลี้ยงลูกคือผู้หญิงใช่หรือไม่

“ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นแค่ชื่อเรียก พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงลูกเท่ากัน มีค่าเท่ากัน ไม่ใช่ว่าต้องคลอดถึงจะเป็นคนเลี้ยง หรือถ้าไม่ได้คลอดก็ต้องหาเงิน สุดท้ายมันเป็นการประคับประคองกันมากกว่า”

ขณะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เลี้ยงลูก ‘ลูกผู้ชาย’ ก็ถูกคาดหวังให้เป็นหัวหน้าครอบครัว

‘ไท’ วชิร สถิตอัมพร วัย 21 ปี คุณพ่อของลูกวัยเก้าเดือน ออกตัวว่าเขาไม่ได้อยากเป็นช้างเท้าหน้า แล้วก็ไม่ได้อยากเป็นช้างเท้าหลัง

ไทเล่าว่า ปัจจุบันเขาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จากเหตุทะเลาะวิวาทเมื่อครั้งเรียนอยู่ ปวช. ปี 2 ที่ผ่านมา ได้สิทธิกลับบ้านทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหนึ่ง แฟนสาวที่คบกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย เกิดท้องขึ้นมา แม้ว่าจะมีการกินยาคุมกำเนิดและพวกเขาก็วางแผนกันไว้ว่าจะมีลูกกันสักช่วงอายุ 25-30 ปี

ตั้งแต่นั้น จากที่เคยเอาแต่นั่งๆ นอนๆ เมื่อกลับถึงบ้าน ไทก็เริ่มหางานทำ พอหลังแฟนคลอดต้องใช้เงินมากขึ้น เขาเลยขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปด้วย ตื่นตีสี่ มาขับวิน กลับเข้าบ้านสิบโมง ช่วยเลี้ยงลูก พอบ่ายก็กลับมาขับวินต่อ  เข้าบ้านอีกทีสามทุ่ม เพราะเขาไม่อยากให้ใครมาว่าได้ว่าไม่มีปัญญารับผิดชอบ

ถ้าถามว่าใครต้องเช็ดอึลูก ล้างขวดนม หรือซักผ้า ไทบอกว่าใครว่างก็ต้องทำ เขาไม่ได้อยากเป็นช้างเท้าหน้า หรือช้างเท้าหลัง เพียงแค่คุยกันด้วยเหตุผล และที่สำคัญต้องช่วยกันตัดสินใจ

“ยุคนี้มันต้องแฟร์ๆ ช่วยกันทั้งคู่ ร่วมกันตัดสินใจเพื่อการจัดการที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวเรา” ไทเล่าว่า แนวคิดเรื่องความแฟร์มาจากประสบการณ์ในครอบครัวของเขา

“แม่อยู่บ้านเลี้ยงพวกผม ป๊าออกไปทำงาน เรื่องเงินทุกอย่างจะเป็นป๊า ป๊ามักตัดสินใจอะไรคนเดียว ผมกับน้องๆ ไม่ได้อยากได้อย่างนั้น แม่ก็ไม่ต้องการ ผมคิดว่ามันควรจะหมดไปได้แล้ว ที่คนคนเดียวในครอบครัวต้องตัดสินใจ แม้กระทั่งลูกผมเอง ถ้าเขาโตพอที่จะคุยกันรู้เรื่องแล้ว เขาก็ต้องมีส่วนช่วยคิดว่าแบบนี้เขาโอเคไหม ถ้าผมจะเลือกแบบนี้”

ทีแรก แฟนของไทตั้งคำถามว่าทำไมเขาตัดสินใจเองไม่ได้ นำก็ไม่ได้ ให้ตามก็ไม่เอา แต่พอเขาแกล้งด้วยการตัดสินใจในเรื่องที่เธอไม่ชอบ เธอเลยเริ่มเห็นความสำคัญของการตัดสินใจร่วมกัน

จากตัวอย่างในประเทศ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อํานวยการสํานักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลของฝั่งสหรัฐอเมริกา ผ่านประเด็นเรื่องบริการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่ทำให้เห็นว่า ‘ผู้ชาย’ หายไปอย่างไร

ทพ.ศิริเกียรติ เล่าว่า ในสหรัฐอเมริกา เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การฝากครรภ์ ส่วนมากเป็นบริการให้ผู้หญิง เช่นเดียวกับในไทย และแม้จะมีคลินิกจำนวนมาก แต่ปัญหาท้องในวัยรุ่น เอชไอวี/เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งมีข้อค้นพบว่า ปัญหานี้ไม่สามารถหมด หรือลดลงได้เลย ถ้าไม่มีบทบาทผู้ชายเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้จัดบริการเหล่านี้ในสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องทำให้ผู้ชายสนับสนุนให้คู่ตัวเองวางแผนครอบครัว เคารพการตัดสินใจมีเซ็กส์ ให้ผู้ชายคุมกำเนิดมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ถุงยางเพื่อลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ รวมถึงทำให้ผู้ชายเข้าถึงบริการเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า มีผู้ชายเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มาใช้บริการ และแม้ว่าร้อยละ 90 ของวัยรุ่นชายระบุว่าปีที่แล้วใช้ถุงยางอนามัย แต่ก็มีเพียงครึ่งเดียวจากจำนวนนี้ที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่เมื่อให้ถามถึงเรื่องเพศ วัยรุ่นชายทั้งหมดจะบอกว่ารู้หมดแล้ว ไม่ถามอะไร และพร้อมจะมีเซ็กส์ แม้ว่าพวกเขาจะรู้แบบไม่ค่อยถูกต้องก็ตาม ไม่ต่างจากวัยรุ่นไทย ที่ส่วนหนึ่งจะอาศัยการดึงอวัยวะเพศออกก่อนเสร็จกิจ ซึ่งไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง และยังคงมีโอกาสตั้งครรภ์อยู่ดี

ทั้งนี้ มีการออกแบบแนวทางให้วัยรุ่นชายเข้าถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ โดยอาศัยการสมาคมในการเล่นกีฬา เข้าร่วมชมรมชายล้วน และฝึกอาชีพ ตลอดจนออกแบบหน่วยบริการสุขภาพในแบบที่ผู้ชายจะไปใช้บริการได้

“สสส. เองก็กำลังหาโมเดลทำงาน เพราะเรื่องนี้เป็นช่องว่าง ถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ตั้งแต่เพศศึกษา ในระดับประถม”

สำหรับบริบทประเทศไทย ทพ.ศิริเกียรติ มองว่า หลักสูตรของเราไม่ได้สอนเพศศึกษาเลย ถึงมีก็มีเฉพาะเรื่องอวัยวะ ไม่ได้สอนเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้สอนว่าทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะมีอะไรตามมา พร้อมหรือยัง ถ้าไม่พร้อมจะมีอะไรป้องกัน

“มีตัวอย่างที่เรากำลังพัฒนาหลักสูตรเพศศึกษา ตอนนี้มี 50 โรงเรียน ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดี  เพศศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจความหลากหลายด้วย ครูคนหนึ่งเล่าว่า พอสอนให้รู้ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนไม่ได้เกิดมาเหมือนกัน จากที่เด็กๆ ล้อเล่นกันแรงๆ เพราะว่าเพื่อนมีสีผิวหรือขนาดตัวไม่เหมือนตัวเอง ก็ลดลง” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

ขณะที่ ‘ฟิล์ม’ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ จากกลุ่มนิวกราวด์ มากับข้อเสนอเขย่าวาทกรรม ‘ลูกผู้ชาย’ โดยเริ่มด้วยการชวนคิดว่า เวลาที่พูดถึง ‘ลูกผู้ชาย’ จะนึกถึงครูประเภทไหนในโรงเรียน …

ครูพละ ครูฝ่ายปกครอง ครูลูกเสือ

แน่นอนว่า ครูทุกคนคงไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพในหัวของหลายคนคงออกมาแบบนี้

เขาชวนคิดต่อว่า แล้วครูเหล่านี้มีลักษณะอะไรร่วมกันบ้าง

คำตอบที่ได้คือ ความดุดัน ความเป็นแมน กล้ามใหญ่ ชอบเล่นมุกตลก หรือมุกทางเพศ ซึ่งฟิล์มตั้งข้อสังเกตว่า ในศตวรรษนี้ที่คนสื่อสารกันได้อย่างไม่มีลำดับชั้นขั้นตอน คงไม่มีใครกล้านิยามตัวเองเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ แบบนี้แล้ว เพราะมันกลายเป็นคำที่ไม่น่าชื่นชม และสื่อถึงความรุนแรง

“คุณสมบัติแบบนี้หมดอายุ แต่ก็ยังมีคนชื่นชมค่านิยมแบบนี้” ฟิล์มกล่าว พร้อมยกตัวอย่างสื่อบันเทิงในตะวันตกช่วงหลายสิบปีมานี้ อย่างการ์ตูน Adventure Time หรือซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ Sex Education ที่มักมีตัวเอกที่มีลักษณะเป็น softboy ตัวเล็กๆ เก็บตัว ไม่ลุกขึ้นมาโวยวายต่อยตีกับใคร ขณะที่ของไทยยังมีคาแรกเตอร์แบบในหนังบู๊แอคชั่น

“คำว่า ‘ลูกผู้ชาย’ โดยตัวมันเองไม่ใช่คำที่สวยงามอีกต่อไปแล้ว เราควรตั้งคำถามกับนิยามกันใหม่ ว่าเวลาที่พูดถึงลูกผู้ชายคืออะไรกันแน่”

อีกคำที่ฟิล์มสนใจ คือคำว่า ‘ลูก’ โดยยกกรณีของ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนุน เด็กสาวชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 18 ปี และนักเรียนหญิงวัย 14 ปีที่หนีจากครอบครัวที่เธอเกลียด แต่กฎหมายก็พยายามตัดสินให้เธอต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว

“ความเป็นลูกมันกดทับ” ฟิล์มชี้ว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยจริง มีสวัสดิการต่างๆ สำหรับเด็กที่เกิดมา พวกเขาก็ควรมีสิทธิตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตได้เอง ไม่ใช่ว่า อำนาจตัดสินใจอยู่กับพ่อแม่ กรณีประเทศไทย ถึงจะอายุ 18 ปีแล้วก็ยังไม่ถือว่าบรรลุนิติภาวะ ขณะที่ญี่ปุ่นมีการแก้กฎหมายลงมาจาก 20 ปีเป็น 18 ปีแล้ว

Fact Box

เนื้อหาจากการอภิปรายในหัวข้อ “ ‘ลูกผู้ชาย’ ในความเป็นแฟน เป็นผัว เป็นพ่อ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นนทบุรี

Tags: , , , ,