แพต ลี ชิปแมน (Pat Lee Shipman) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เคยเขียนไว้ว่า แม้เธอจะเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ แต่เธอก็ยังเคยเจอกับประสบการณ์แบบเหมารวมทางเพศมาหลายครั้ง
เธอเล่าถึงครั้งแรก สมัยจบปริญญาเอกใหม่ๆ ในปลายยุค ’70s ตอนนั้นเธอกำลังเขียนต้นฉบับหนังสือที่มาจากวิทยานิพนธ์ของตัวเอง เป็นงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ฟอสซิลของสัตว์ในเคนยา
ปรากฏว่าเขียนเสร็จแล้ว ส่งไปให้สำนักพิมพ์ทางวิชาการสำนักพิมพ์ใหญ่แห่งหนึ่งตีพิมพ์ งานของเธอกลับถูกปฏิเสธ โดยอธิบายการปฏิเสธว่า งานชิ้นนี้มัน ‘too controversial’ เมื่อรับรู้อย่างนั้น เธองง เพราะการวิเคราะห์ฟอสซิลมันจะ controversial ได้ขนาดไหนกัน ก็เลยพยายามกดดันเพื่อหาเหตุผลที่แท้จริง
ที่สุด เธอก็พบว่า ‘ผู้อ่าน’ (Reviewer) คนหนึ่งที่อ่านงานของเธอและมีอำนาจตัดสินใจว่าจะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ บอกกับสำนักพิมพ์ว่า งานของเธอไม่ได้เรื่อง โดยใช้ประโยคที่ว่า “ที่ได้ปริญญาเอกมาน่ะ คงเพราะไปนอนกับกรรมการวิทยานิพนธ์น่ะสิ”
ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คือ แอน-มารี ทอมแชก (Anne-Marie Tomchak) เขียนบทความเล่าว่า ผู้หญิงในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ จะถูก ‘เหยียด’ ได้อย่างไรบ้าง
เธอบอกว่าการ ‘เหยียด’ ผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้เป็นไปแบบตั้งใจทั้งหมดนะครับ แต่เพราะว่าวงการวิชาการและวิทยาศาสตร์นั้น มีลักษณะ ‘ชายเป็นใหญ่’ (Male Dominance) มานานเป็นร้อยๆ พันๆ ปี จึงช่วยไม่ได้ที่วิธีคิดเหล่านี้จะทำให้วงการวิชาการหรือวิทยาศาสตร์มองภาพผู้หญิงเอาไว้ในแบบที่เป็นอยู่
ทอมแชกเล่าถึงหนังสือ ‘Inferior’ ของนักเขียนหญิงชาวอังกฤษชื่อ แองเจลา ซายนี (Angela Saini) ว่าหนังสือเล่มนี้บอกว่า วิทยาศาสตร์มองผู้หญิง ‘ผิด’ อย่างไรบ้าง ซึ่งหลายเรื่องน่าสนใจมาก เพราะเป็นมายาคติพื้นๆ ที่ใครๆ ก็มอง และใครๆ ก็เห็นว่ามันเป็นมายาคติที่ไม่ได้เป็นจริง แต่เมื่อฝังลึกอยู่ในแวดวงผู้มีความรู้แล้ว กลับเป็นเรื่องที่ยากจะพูดถึง
วงการวิชาการและวิทยาศาสตร์นั้น มีลักษณะ ‘ชายเป็นใหญ่’ (Male Dominance) มานานเป็นร้อยๆ พันๆ ปี
ซายนีบอกว่า อย่างแรกสุด ผู้หญิงจะถูกมองว่าด้อยกว่าผู้ชายในเรื่องสติปัญญา ซึ่งเธอไม่ได้แค่พูดลอยๆ หรือไปสอบถามผู้คนเท่านั้นนะครับ แต่เธอย้อนรอยกลับไปสำรวจจดหมายของชาลส์ ดาร์วิน ซึ่งเขาเขียนเอาไว้ในช่วงก่อนเสียชีวิตในปี 1881
ตอนนั้น มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีคนหนึ่ง ชื่อ แคโรลีน เคนนาร์ด (Caroline Kennard) เขียนไปหาดาร์วิน เพื่อขอให้เขาอธิบายให้ชัดๆ ในเรื่องผู้หญิงด้อยสติปัญญากว่าผู้ชาย เพราะในงานเล่มสำคัญที่สุดของดาร์วิน คือ On the Origin of Species กับอีกเล่มหนึ่งคือ The Descent of Man ในยุคนั้นถูกคนอื่นนำมาใช้กล่าวอ้างว่า ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ผู้หญิงด้อยสติปัญญากว่าผู้ชาย
ซายนีบอกว่า ในจดหมายนั้น เคนนาร์ดคิดว่า อัจฉริยะอย่างดาร์วินต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่าผู้หญิงด้อยสติปัญญา (เอาเป็นว่า ขอใช้คำว่า ‘โง่’ ก็แล้วกันนะครับ) กว่าผู้ชาย เธอเชื่อว่าต้องมีคนเอางานของดาร์วินไปตีความผิดๆ แน่ๆ
แต่ปรากฏว่า ดาร์วินตอบจดหมายมาว่า
“I certainly think that women though generally superior the men in moral qualities are inferior intellectually.”
นั่นคือเขาคิดว่า แม้ผู้หญิงจะเหนือกว่าผู้ชายในด้านศีลธรรม แต่ผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชายในเรื่องสติปัญญา
นี่คือคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง (ที่เป็นผู้ชาย) ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่า ในเวลาเดียวกับที่ดาร์วินสร้างความรู้ใหม่ให้สังคมในด้านวิทยาศาสตร์ ตัวสังคมเองก็ยังคงยื่นมือเข้าไป ‘ขึ้นรูป’ ความคิดความเชื่อในเรื่องเพศให้ในหัวของดาร์วิน ทัศนคติของดาร์วินในเรื่องนี้ ย้อนกลับไปได้ถึงยุคกลาง แต่เมื่อเขาได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ สังคมก็พลอยยอมรับแนวคิดนี้ คล้ายว่ามันตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย
ที่เขียนมานี่ ไม่ได้อยากให้คุณตั้งแง่กับดาร์วินนะครับ เพราะเขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เป็นผลผลิตของยุคสมัยตัวเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่ทอมแชกตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ คนมักจะมองว่า ผู้หญิงทำงานทางวิชาการน้อยกว่าผู้ชาย คือไม่ได้ผลิตงานให้กับวงการวิชาการ (โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์) มากเท่าผู้ชาย
แต่เรื่องนี้ก็ต้องมองย้อนกลับไปในช่วงเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมาด้วย เพราะในอดีต ผู้หญิงแทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย ผู้หญิงในอังกฤษเพิ่งได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 1918 ส่วนในอเมริกา ผู้หญิงเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งในปี 1920 คือยังไม่ถึงร้อยปีดีเลย ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 เราจะเห็นได้เลยว่าผู้หญิงแทบไม่มีส่วนร่วมกับอะไรที่ ‘เป็นทางการ’ เลย
ที่สำคัญก็คือ เพิ่งจะในศตวรรษที่ 20 นี้เอง ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเพิ่งเริ่มยอมให้ผู้หญิงเข้าเรียนและได้รับปริญญาทัดเทียมกับผู้ชาย
ขนาด มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ ชาลส์ ดาร์วิน เธอได้รับรางวัลโนเบลถึงสองสาขา คือทั้งฟิสิกส์ (ในปี 1903 ร่วมกับสามี) และเคมี (ในปี 1911) แต่กระนั้น เธอก็ยังไม่มีสิทธิมีเสียงในสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (French Academy of Sciences)
หรืองานของนักเขียนหญิงด้านวิทยาศาสตร์ อย่างหนังสือเรื่อง The Evolution of Woman ของ อีไลซา เบิร์ต กัมเบิล (Eliza Burt Gamble) ที่วิพากษ์ความไม่สม่ำเสมอและสองมาตรฐานของชาลส์ ดาร์วิน ในเรื่องเพศสภาพ โดยวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ – ก็กลับเป็นหนังสือที่ไม่โด่งดัง เพราะคนรู้สึกเหมือนเธอไป ‘โจมตี’ เทพในวงการวิทยาศาสตร์ แต่เพราะเธออยู่ในโลกที่อำนาจของสองเพศไม่ทัดเทียมกัน เลยถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
เพิ่งจะในศตวรรษที่ 20 นี้เอง ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเพิ่งเริ่มยอมให้ผู้หญิงเข้าเรียนและได้รับปริญญาทัดเทียมกับผู้ชาย
คนมักจะมองคล้ายๆ กับที่ดาร์วินว่า คือผู้หญิงเหนือกว่าในแง่ศีลธรรม แต่ผู้ชายเหนือกว่าในแง่สติปัญญา หลายคนเลยบอกว่า ผู้หญิงเป็น empathizers ส่วนผู้ชายเป็น systemizers คือผู้หญิงจะเก่งเรื่องเข้าอกเข้าใจคนอื่น แต่ผู้ชายเก่งเรื่องวางระบบ
แม้กระทั่งในปี 2003 ก็เคยมีงานเขียนทางวิชาการของนักจิตวิทยาอย่าง ไซมอน บารอน-โคเฮน (Simon Baron-Cohen) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่าสมองของผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันอย่างไร โดยดูจาก ‘ตรีเอกานุภาพทางปัญญา’ (เขาใช้คำว่า The Holy Trinity) คือ ความสามารถเชิงพื้นที่ (Spatial Ability) ความสามารถทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Ability) และ ความสามารถทางวาจา (Verbal Ability) แล้วสรุปว่า ผู้ชายมีความสามารถสองอย่างแรกสูงกว่า ในขณะที่ผู้หญิงมีความสามารถอย่างหลังสูงกว่า โดยสองอย่างแรกเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดหรือสร้างระบบ ส่วนอย่างหลังคือการพูด
แต่งานชิ้นนี้ก็ถูกโต้แย้งครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นงานของ อลิสัน แนช (Alison Nash) และ จอร์ดานา กรอสซี (Giordana Grossi) ซึ่งเป็นงานที่ ‘เปิดโปง’ (Debunk) ตรงๆ เลยว่า งานของบารอน-โคเฮน มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง
ในแวดวงวิชาการและวิทยาศาสตร์ ยังมีความเชื่อผิดๆ หรือมายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงอีกหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็น่าประหลาดมากที่คนเหล่านี้เชื่อแบบนี้อยู่ เช่น เชื่อว่าผู้ชายมีสมองที่หนักกว่าผู้หญิง ผู้ชายเลยต้องฉลาดกว่าผู้หญิง หรือผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า เป็นต้น
ที่แย่กว่านั้นก็คือ เขาพบว่ามีงานทางวิชาการที่ศึกษา ‘จู๋’ มากกว่า ‘จิ๋ม’ มากๆ รวมถึงเวลามีการทดสอบทางคลินิกอะไรต่างๆ ก็มักทดสอบกับคนที่เป็นชายมากกว่าหญิง ซึ่ง สตีเฟน ออสตาด (Steven Austad) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอลาบามาในเบอร์มิงแฮม เคยบอกไว้ว่า ในการศึกษาชีววิทยาทางการแพทย์นั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแบ่งว่าจะศึกษาในชายหรือหญิง เพราะอวัยวะไม่เหมือนกัน และโดยปกติ คนก็จะศึกษาเรื่องผู้ชายมากกว่า ประมาณกันว่า ผู้หญิงจะได้รับผลข้างเคียงทางยามากกว่าผู้ชาย 1.5 เท่า เพราะการศึกษาไม่ได้เน้นไปที่ผู้หญิงตั้งแต่ต้นนี่แหละครับ
แพต ลี ชิปแมน (คนแรกที่เราพูดถึงในบทความนี้) ยังค้นพบอีกว่า ในแวดวงวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์หญิงมีรายได้น้อยกว่านักวิทยาศาสตร์ชายทั่วทั้งโลก ยิ่งเป็นสหรัฐอเมริกาแล้ว ยิ่งเหลื่อมล้ำมากกว่าในประเทศอื่นๆ (ดูในกราฟ)
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า แม้กระทั่งในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ควรจะมีความเป็นภววิสัยต่อเรื่องเพศ ก็ยังมีมายาคติและอคติทางเพศแทรกซอนเข้าไปอย่างแนบเนียนจนหลายคนมองไม่เห็น
และทั้งการ ‘มองไม่เห็น’ และการ ‘มองให้ไม่เห็น’ นี่แหละครับ ที่เป็นปัญหาสำคัญ!
ภาพประกอบบทความโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
Tags: Darwin, evolution, genderless, วิทยาศาสตร์, เพศ, Sexism