“การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ เพราะเมื่อไม่มีหนี้ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์  ไม่ต้องกดดันในการหาเงินมาผ่อนจ่ายในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคนมีหนี้จะต้องเป็นทุกข์เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีหนี้ประเภทไหน และมีการวางแผนจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2560 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศที่มี 21 ล้านครัวเรือนนั้น มีครัวเรือนที่มีหนี้สินประมาณ 10.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีหนี้เฉลี่ย 178,994 บาทต่อครัวเรือน

แล้วคนส่วนใหญ่เป็นหนี้กับเรื่องอะไร? พบคำตอบว่า แบ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค 39 เปอร์เซนต์ หนี้เพื่อการซื้อบ้านและที่ดินร้อยละ 36.3 เปอร์เซนต์ หนี้เพื่อการศึกษา 1.6 เปอร์เซนต์ หนี้เพื่อการลงทุนอื่นๆ เช่น ทำการเกษตร 14 เปอร์เซนต์ ทำธุรกิจ 8.5 เปอร์เซนต์ และหนี้อื่นๆ อีก 0.6 เปอร์เซนต์

หนี้สินเปรียบเสมือนไขมัน

จะว่าไป หนี้ก็คล้ายกับไขมัน ตรงที่หากคุณตรวจสุขภาพของคุณแล้วพบว่ามีค่าไขมันรวมสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีสุขภาพที่แย่เสมอไป แต่คุณต้องมาแจกแจงดูว่า ไขมันที่สูงนั้นเป็นไขมันดีหรือไขมันเลว หากมีไขมันดีสูงและไขมันเลวต่ำ ก็จะเป็นเกณฑ์หนึ่งที่บ่งบอกว่าคุณมีสุขภาพที่ไม่น่าเป็นห่วง

หนี้สินก็เช่นกัน หากคุณมีมูลค่าหนี้รวมสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ดี ก็จัดว่าสุขภาพทางการเงินของคุณอาจไม่ได้แย่จนเกินไปนัก

แล้วอะไรคือ ‘หนี้ที่ดี’ และ ‘หนี้ที่ไม่ดี’ กันล่ะ

1) หนี้ที่ดี คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น

  •     หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน หากกู้เงินซื้อบ้านที่มีมูลค่าไม่เกินตัว มีกำลังทรัพย์พอที่จะผ่อนจ่ายได้ตรงเวลาทุกเดือน หนี้จากการกู้ซื้อบ้านก็จัดว่าเป็นหนี้ที่เกิดประโยชน์ เพราะราคาบ้านและที่ดินมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จะทำให้เรามีมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
  •     หนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดเป็นหนี้ที่ดีอีกประเภทหนึ่ง เพราะโดยทั่วไป การลงทุนในการศึกษามักจะเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ระยะยาวจากการทำงาน
  •     หนี้จากการกู้เงินมาทำธุรกิจ เป็นหนี้ที่มีโอกาสก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี

2) หนี้ที่ไม่ดี คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้จากการผ่อนสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น หนี้เหล่านี้นอกจากไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว มักจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะดอกเบี้ยเงินกู้มักจะอยู่ในอัตราที่สูง

ลองเปรียบเทียบระหว่าง ‘นที’ และ ‘เมธา’  คุณคิดว่าใครมีสถานะการเงินที่ดีกว่ากัน?

‘นที’ ไม่มีหนี้ มีรถ 1 คัน อาศัยอยู่บ้านพ่อแม่

‘เมธา’ มีหนี้รวม 6.5 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ผ่อนรถ 5 แสนบาท หนี้ผ่อนบ้าน 4 ล้านบาท และหนี้จากการกู้เงินมาทำธุรกิจอีก 2 ล้านบาท

หากพิจารณาจากเพียงมูลค่าหนี้ บางคนอาจคิดว่า นทีมีสถานะการเงินที่ดีกว่า เพราะมีหนี้เป็น 0 ในขณะที่เมธา ดูจะมีสุขภาพการเงินที่น่าเป็นห่วง เพราะมีหนี้ที่สูงถึง 6.5 ล้านบาท

กรณีของเมธานั้น แม้จะมีหนี้สูงถึง 6.5 ล้านบาท แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ คือ หนี้จากกู้บ้านซึ่งจะแปลงเป็นสินทรัพย์ในอนาคต และหนี้ที่กู้มาทำธุรกิจ ซึ่งสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ รวมทั้งเมธาก็มีวินัยทางการเงินดี สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตรงเวลาทุกงวดไม่ขาดตกบกพร่อง

เมื่อมาดูกรณีของนทีซึ่งไม่มีหนี้เลย แต่ก็ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง แม้จะมีรถ 1 คัน แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าถดถอยลงตามกาลเวลา

ดังนั้นเราไม่อาจตัดสินได้ว่า เมธามีสุขภาพทางการเงินที่แย่กว่านที

แล้วเราจะตรวจสุขภาพทางการเงินได้อย่างไร มาลองทำความเข้าใจแบบง่าย ๆ กัน

จะเห็นได้ว่า การจะตรวจสอบสุขภาพทางการเงินไม่ได้พิจารณาจากมูลค่าหนี้เท่านั้น แต่ต้องดูจากมูลค่าสินทรัพย์ที่มีด้วย

สมการพื้นฐานในการตรวจสุขภาพทางการเงิน ก็คือ สินทรัพย์ – หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ

จากสมการนี้จะเห็นได้ว่า หากอยากเพิ่มความมั่งคั่ง เราจะต้องพยายามลดหนี้สิ้นให้น้อยลง โดยเฉพาะหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหาทางเพิ่มสินทรัพย์ให้มากขึ้น

จะเพิ่มสินทรัพย์ได้อย่างไร

   ก่อนอื่น มาลองแจกแจงดูก่อนว่า สินทรัพย์ หมายรวมถึงอะไรบ้าง

1) สินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด เงินฝากบัญชีธนาคาร เป็นต้น เป็นสินทรัพย์สำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน และมีความคล่องตัว สามารถนำมาใช้ได้ในเวลาฉุกเฉิน ควรจัดเก็บสินทรัพย์ส่วนนี้ในปริมาณที่พอเหมาะพอใช้ ไม่มากจนเกินไป เพราะเป็นส่วนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้น้อย

2) สินทรัพย์ลงทุน ได้แก่ การลงทุนในกองทุนรวม หุ้นสามัญ เป็นต้น จัดเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มาก

3) สินทรัพย์ส่วนตัว ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บ้าน เป็นต้น เป็นสินทรัพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายต่อตนเอง ควรมีพอเหมาะพอใช้ตามที่สามารถจ่ายได้ ไม่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะ

ตัวเร่งที่จะเพิ่มสินทรัพย์ได้เร็วที่สุดจะเป็นสินทรัพย์ลงทุน เพราะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูง เราจึงควรพยายามจัดเก็บเงินทุนมาลงในสินทรัพย์ส่วนนี้ให้ได้ 50% ของความมั่งคั่งสุทธิ

ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นสามัญนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะลงทุน

Fact Box

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีเว็บไซต์ Happy Money, Happy Retirement :  www.set.or.th/happymoney ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน พร้อมด้วยโปรแกรมช่วยคำนวณเงินออมแบบง่ายๆ และสื่อความรู้หลากหลายรูปแบบ เพียงคุณเริ่มต้น ออมสม่ำเสมอ ลงทุนถูกที่ เกษียณสุข เป็นจริงได้

Tags: , , , ,