ผ่านมากี่ปีกี่ชาติ การขาดแคลน ‘ความหลากหลาย’ (diversity) ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ของฮอลลีวูด ครั้นจะให้หานักแสดงหลากเชื้อชาติมาเติมให้ครบๆ ทีมอย่างหนังฮีโร่บางเรื่องก็ใช่ที่ จะเล่าลงไปในเนื้อหาเลยอย่าง The Shape of Water ก็ดูจะไม่ได้แก้ปัญหาสักเท่าไหร่

ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราก็ต้องติดตามไปในอนาคต ว่ายักษ์ใหญ่แห่งโลกภาพยนตร์จะมีพื้นที่ให้คนแบบอื่นๆ อีกมากน้อยแค่ไหน หรือก็จะยังต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะหากจะมองพวกเขาในฐานะคนทำหนังซึ่งเป็นปัจเจกและมีรสนิยมส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจไม่ใช่เรื่องผิดเสียทีเดียว ที่พวกเขาจะไม่ได้คำนึงถึงพันธกิจในการแจกจ่ายพื้นที่ให้คนหลากหลายแบบเป็นหลัก ขณะที่คนทำหนังเชื้อชาติอื่น เพศสภาพอื่น หรือรสนิยมแบบอื่นๆ เอง ก็ยังคงไม่ได้พื้นที่ในตลาดหนังแมสมากนัก

และก่อนจะไปถึงฟ้าสีทองผ่องอำไพ เราอยากชวนไปย้อนอดีตถึงครั้งแรกๆ ที่นักแสดงจากบ้านเมืองอื่น เข้าไปบุกโลกของฮอลลีวูด รวมถึงที่ทางของเขา ณ เวลานั้น ซึ่งไม่ได้วนเวียนขึ้นลงด้วยอำนาจแสงสีอย่างเดียว แต่ยังถูกพัดพาโดยสภาวะการเมืองโลกด้วย

เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ (Sessue Hayakawa) คือดาราเอเชียนคนแรกที่ได้รับบทนำในหนังตะวันตก เขาคือหนุ่มญี่ปุ่นจากตระกูลร่ำรวยที่ผันตัวเองมาเป็นดาวในวงการบันเทิงอเมริกา และกลายเป็นตัวละครไทป์แคสต์สุดเนื้อหอมในยุคของหนังเงียบ (1910s-1920s) เขาผู้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เซ็กซ์ซิมโบล’ ก่อนมาริลิน มอนโร จะเกิด หรือกระทั่งก่อนที่รูดอล์ฟ วาเลนติโน (Rudolph Valentino) จะถูกชูป้ายไฟเสียอีก

เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ 

(ที่มาภาพ: http://www.zanda.com/items/people/15081860000077/sessue-hayakawa)

ภาพยนตร์ The Cheat (1915)

(ที่มาภาพ: http://www.virtual-history.com/movie/person/7601/sessue-hayakawa)

The Cheat (1915) คือหนังแจ้งเกิดของเซ็ซซึเอะ ในบทพ่อค้างาช้างชาวญี่ปุ่นที่ดูสุภาพเรียบร้อย โดยในช่วงแรกของหนัง เขาดูเหมือนจะเป็นเซ็กซ์พาร์ทเนอร์ชวนฝันสำหรับแม่บ้านอเมริกันที่สามีไม่ค่อยอยู่บ้านแถมติดอยู่ในสังคมชั้นสูงอันน่าเบื่อ แต่ไม่นานหลังจากนั้น หนุ่มเอเชียนคนนี้ก็เผยธาตุแท้ออกมาเป็นนักข่มขืนจอมซาดิสต์ ถึงขั้นใช้เหล็กร้อนตีตราตัวนางเอกว่านี่คือผู้หญิงของเขา

หนังเรื่องนี้ทำให้คาแรกเตอร์ตัวร้ายสุดฮ็อตของฮายากาวะเป็นที่จดจำ สาวๆ อเมริกันต่างหลงเสน่ห์ชายจากแดนไกลผู้นี้ ถึงกับมีแฟนคลับโยนเฟอร์ของตัวเองไปที่พื้นเพื่อกันไม่ให้เขาเดินตกหลุมบ่อบนถนน และไม่เพียงแต่แฟนๆ ที่กรี๊ดกร๊าดพร้อมรับเหล็กร้อน เขายังเป็นที่ยอมรับของนักวิจารณ์และศิลปิน นักเขียนชาวฝรั่งเศสอย่างโคเล็ต (Colette) หรือผู้กำกับชาวโปแลนด์อย่างฌอน เอปสไตน์ (Jean Epstein) ก็นับถือคาริสม่าบนหน้าจอที่ว่ากันว่า ‘broodingly handsome’ หรือหล่อแบบหม่นเศร้าลึกลับ และด้วยลุคแบบนั้น เมื่อไหร่ที่หนังว่าด้วยตัวละครจากโลกตะวันออก (Oriantal) อันไกลโพ้นและสมควรแก่การค้นหา เขาคนนี้จะเป็นตัวเลือกแรกทันที

ในสายตาของชาวญี่ปุ่นบางส่วน เซ็ซซึเอะคือความภาคภูมิใจ โดยมิยาตาเกะ โทโยะ (Miyatake Toyo) ช่างภาพชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้บันทึกภาพชีวิตชาวญี่ปุ่น-อเมริกันในช่วงสงครามโลก ก็ยกให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ซีนแฟนคลับโยนเฟอร์ก็มาจากบทความของโทโยะนี่เอง แต่ถึงอย่างนั้นยังมีชาวญี่ปุ่นบางส่วนอีกเช่นกัน ที่มองว่าเขาคือความน่าอับอายระดับชาติ! แต่ก่อนจะไปว่ากันเรื่องนั้น เรามารู้จักเส้นทางบันเทิงของเซ็ซซึเอะกันก่อน

 

เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะคือใคร?

หนุ่มฮ็อตเซ็ซซึเอะมีชื่อจริงว่า คินทาโร ฮายากาวะ เกิดเมื่อปี 1890 ในตระกูลนักธุรกิจการประมง พ่อแม่ของเขาส่งมาเรียนเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โดยหวังให้ลูกชายกลับมารับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน ซึ่งอาจจะเป็นอย่างนั้น ถ้าหลังเรียนจบ เขาไม่ต้องไปขึ้นเรือที่ลอสแองเจลิสและพบใครบางคนที่นั่น

ย้อนไปก่อนหน้านั้นที่ญี่ปุ่น เขาเคยเข้าโรงเรียนทหารเรือเพื่อเป็นเกียรติกับวงค์ตระกูล แต่แล้วก็ถูกส่งกลับบ้านเพราะสภาพร่างกายไม่พร้อม นั่นทำให้คินทาโรรู้สึกผิดกับตัวเองจนถึงขั้นพยายามฮาราคีรีจบชีวิตอันน่าอดสู แต่โชคดีที่พ่อของเขาเข้ามาช่วยไว้ทัน ก่อนจะส่งเขาเข้ารับการเยียวยาจิตใจที่วัดเซ็นแห่งหนึ่ง เมื่อดีขึ้นจึงส่งไปเรียนที่อเมริกา

ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของเขาในเวลานั้น ตั๋วเรือกลับบ้านจึงถูกโยนทิ้งไป คินทาโรตัดสินใจปักหลักที่ลอสแองเจลิส ซึ่งมีทั้งฮอลลีวูดและทสึรุ อาโอกิ (Tsuru Aoki) หญิงสาวที่เขาหลงรัก (ภายหลังก็ได้แต่งงานและอยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า)

เขาเริ่มทำงานแสดงในโรงละครเล็กๆ ย่านลิตเติลโตเกียว เปลี่ยนมาใช้ชื่อในวงการว่าเซ็ซซึเอะ สลับกับเซ็ซซู (Sesshu) และที่โรงละคร เขาก็ได้เจอกับโปรดิวเซอร์นามว่า โธมัส เอช. อินซ์ (Thomas H. Ince) ที่ชวนเขาไปแคสต์หนังเรื่อง The Typhoon (1914) ร่วมกับอาโอกิ แม้หนังเรื่องแรกของพวกเขาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ทั้งคู่ก็เลือกอยู่ในวงการหนังต่อ จนกระทั่งเซ็ซซึเอะได้มีโอกาสเล่น The Cheat นั่นเอง เขากลายเป็นนักแสดงที่ได้รับค่าตัวมากที่สุดแซงหน้านักแสดงอเมริกันแท้ๆ นั่นคือ 5,000 เหรียญต่อสัปดาห์ ขณะที่อาโอกิก็มีงานแสดงอยู่ประปราย และโด่งดังในฐานะคนรักของเซ็ซซึเอะด้วย

เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ จากภาพยนตร์ The Typhoon (1914)

(ที่มาภาพ: http://www.classicmoviehub.com/blog/classic-movie-legend-tribute-sessue-hayakawa/)

ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์อันดึงดูด แต่ฝีมือทางการแสดงของเขาก็เป็นที่พูดถึง ทำให้หลังความสำเร็จของ The Cheat เซ็ซซึเอะกลายเป็นดาวค้างฟ้าสำหรับบทเอเชียนไม่จำกัดเชื้อชาติ ตั้งแต่มาเฟียจีน หนุ่มเวียดนามนักสูบฝิ่น จนถึงหมอชาวอินเดีย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ฮายากาวะถ่ายทอดออกไปได้กลายเป็นภาพสเตอริโอไทป์ที่ส่งผลต่อความรับรู้ของชาวอเมริกันและชาวโลกที่บริโภคหนังอเมริกัน ภาพจำของเขากลายเป็น ‘หนุ่มต่างด้าวที่มีไฟปรารถนารุนแรงลุกโชนอยู่ภายใต้ความสุขภาพเรียบร้อย และพร้อมจะคุกคามสาวอเมริกันผู้ผุดผ่องไร้เดียงสา’ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่เซ็ซซึเอะประทับใจนัก

ภาพจำนี้ยังได้ตอกย้ำวาทกรรม Yellow Peril หรือ Yellow Spectre ที่มองว่าชาวเอเชียตะวันออกเป็นพิษภัยอย่างยิ่งต่อโลกตะวันตก และด้วยความอึดอัดแต่ก็ไม่อาจละทิ้งเส้นทางนี้ ในปี 1918 เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ จึงตั้งโปรดักชันเฮาส์ร่วมกับเพื่อนชาวอเมริกัน วิลเลียม เวอร์ธิงตัน (Willaim Worthington) ในชื่อว่า ฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ส (Haworth Pictures) พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า “บทของผมใน The Cheat ไม่ใช่ความจริงเลย ธรรมชาติของเราชาวญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขา (ทีมหนัง) บิดเบือนแล้วก็ให้ชุดความคิดผิดๆ เกี่ยวกับพวกเรา”

หนังเรื่องแรกของฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ส คือ His Birthright ซึ่งมีเค้าโครงต้นเรื่องมาจาก Madame Butterfly หนังเล่าเรื่องยูคิโอะ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นผู้กำพร้าที่โตมากับความเชื่อว่าพ่อชาวอเมริกันของเขามีส่วนทำให้แม่ชาวญี่ปุ่นต้องฆ่าตัวตาย เขาจึงเดินทางมายังอเมริกาเพื่อทวงแค้นให้แม่ หนังมีความเป็นคอเมดี้จากการอยู่ผิดที่ผิดทาง (fish-out-of-water comedy) บวกกับการสืบหาความจริง จนถึงคัมมิงออฟเอจของหนุ่มยูคิโอะ แต่นักวิจารณ์กลับมองว่าส่วนที่แข็งแรงที่สุดของหนังคือน้ำเสียง pro-American อันแรงกล้า ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นความตั้งใจของผู้สร้างหรือไม่

เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ ในภาพยนตร์เรื่อง His Birthright (1919)

(ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/punalippu/3535268679)

The Dragon Painter (1919) อีกหนึ่งผลงานของฮาเวิร์ธฯ ที่เซ็ซซึเอะแสดงร่วมกับอาโอกิผู้เป็นภรรยา

(ที่มาภาพ: http://moviessilently.com/2014/05/25/the-dragon-painter-1919-a-silent-film-review/)

บทความจาก atlasobscura.com กล่าวว่าหนังของฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ส ไม่ได้พาตัวละครเอเชียนหนีออกจากภาพสเตอริโอไทป์เท่าใดนัก แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นความพยายามของเซ็ซซึเอะที่จะบอกเล่าเรื่องในแบบฉบับของตัวเองท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของอุตสาหกรรมหนัง แต่ในที่สุด หลังจากทำหนังไป 19 เรื่องถ้วน ฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ส ก็ต้องจบลง เมื่อผู้ร่วมก่อตั้งเห็นไม่ตรงกัน แถมนายวิลเลียมยังเรียกเซ็ซซึเอะออกสื่อว่า ‘Chink’ ซึ่งนับเป็นคำเหยียดแสบร้อนสำหรับชาวเอเชียนที่ร้ายแรงพอๆ กับ N word สำหรับคนแอฟริกัน

ก็เป็นอันต้องแยกทาง นี่จึงเป็นอีกครั้งที่วูบความหวังแม้เพียงเล็กๆ ได้ถูกฝังกลบไปในจักรวาลฮอลลีวูด

 

กระแสชังญี่ปุ่น และพายุ Yellowface

ผ่านยุคของการต่อสู้เรื่องภาพจำ พายุอีกลูกก็พัดมา

ในช่วงปี 1920s หลังปิดฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ส เซ็ซซึเอะตัดสินใจย้ายไปรับงานในยุโรป เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นเหยื่อของกระแสชังญี่ปุ่น (anti-Japanese Sentimental) ในอเมริกา ที่เริ่มปะทุขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงวาทกรรม Yellow Peril ที่เขาก็เคยตกกระไดพลอยโจนไปร่วมตอกหมุดด้วย แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

เมื่อกระแสชังญี่ปุ่นในวงการบันเทิงทุเลาลง เขาจึงย้ายกลับมาที่อเมริกาอีกครั้งในปี 1931 ซึ่งเป็นยุคของหนังพูด เพื่อประกบคู่กับแอนนา เมย์ หว่อง (Anna May Wong—นักแสดงสาวชาวจีนที่โด่งดังในฮอลลีวูดขณะนั้น) ในหนังเรื่อง Daugther of the Dragon หนังดังก็จริง แต่สถานการณ์ของทั้งคู่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้ดีนัก เพราะฮอลลีวูดเริ่มเลือกใช้นักแสดงฝรั่งในทุกบทบาท อย่างโนแคร์โนสน แม้บทนั้นจะเป็นบทคนเอเชียนเห็นๆ ก็ตาม (นักแสดงฝรั่งที่มารับบทชาวเอเชียนนี้ถูกเรียกว่า Yellowface ซึ่งมาถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่)

เซ็ซซึยะ กับ แอนนา เมย์ หว่อง ใน Daugther of the Dragon (1931)

(ที่มาภาพ: https://78.media.tumblr.com/062c79ec50f70c52e94650486ca93cea/tumblr_o22rhvJcKr1uhbcvmo1_500.jpg)

แม้แต่แอนนา เมย์ หว่องเองที่เกิดและโตในอเมริกา พูดอังกฤษคล่องปร๋อ เรียกได้ว่าไร้ข้อจำกัดทางภาษา ก็ยังได้รับผลกระทบจากนักแสดง yellowface หนำซ้ำยังมีเรื่องให้เจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อหลุยส์ เรเนอร์ (Luise Rainer) นักแสดงสาวชาวเยอรมัน ที่ได้รับบทสาวชาวจีนแทนแอนนา เมย์ หว่องใน The Good Earth ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ด้วยใบหน้าที่ดูยังไงก็ไม่จีนเลย

เซ็ซซึเอะก็ไม่พ้นวังวนนี้ เขาถูกแทนที่ด้วยรูดอล์ฟ วาเลนติโน่ นักแสดงชาวอิตาเลียนผู้มาแรงแซงทางโค้ง และถึงแม้ความโด่งดังของเซ็ซซึเอะจะยังคงมี เขาได้รับงานอยู่บ้าง แต่บทบาทที่ได้รับก็น่าอึดอัดอยู่เช่นเคย

เอมี ซึเอะโยชิ (Amy Sueyoshi) แห่งมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก ศึกษาเกี่ยวกับภาพจำของตัวละครชาวเอเชียนในช่วงปี 1930s และพบว่าจากที่ก่อนหน้าเคยชวนค้นหาแบบแบดๆ ในภายหลังได้เปลี่ยนไป โดยขณะที่หญิงเอเชียนถูกเพิ่มพูนความเป็นหญิงและมีภาพลักษณ์ทางเพศเด่นชัด ชายเอเชียน ในที่นี้รวมถึงเซ็ซซึเอะ ได้ถูกผลักให้เป็นชายขอบและลดความเป็นชายในตัวลง (emasculated) โดยในข้อนี้ซึเอะโยชิระบุว่า เป็นเพราะในช่วงเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นเริ่มเรืองอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่น่าหวั่นเกรงสำหรับอเมริกา ผลคือภาพของชาวญี่ปุ่นในป๊อปคัลเจอร์จึงต้องถูดลดทอนความน่าหลงใหล

—นั่นเองทำให้เซ็ซซึเอะรู้สึกเป็นเหยื่อ จนต้องหนีไป (แต่ก็ไม่วายกลับมาอีกอยู่ดี) และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เซ็ซซึเอะ ฮายากาวะยังคงสนุกกับงานในวงการบันเทิง ตลอดชีวิตการทำงานเขาเล่นหนังไปทั้งหมด 106 เรื่อง ทั้งในฮอลลีวูด ในค่ายตัวเอง รวมถึงในยุโรป และในญี่ปุ่นเองด้วย

 

เซ็ซซึเอะ ในสายตาเพื่อนร่วมชาติ

คนญี่ปุ่นเรียกหนังนอกประเทศที่มีตัวละครญี่ปุ่นว่า ‘Kukojoku Eiga’ โดย Eiga แปลว่าภาพยนตร์ ส่วน Kukojoku นั้นหมายถึงการดูหมิ่นเชื้อชาติ เพียงดูจากนิยามก็เห็นได้ชัดว่าคนญี่ปุ่น (อย่างน้อยก็ผู้ให้นิยามคำนี้เป็นคนแรกๆ) คิดเห็นกับประเด็นนี้อย่างไร

บทความจาก japantimes.co.jp ระบุชัดเจนว่าเซ็ซซึเอะถูกตั้งแง่ว่าทำให้ประเทศชาติต้องอับอายและหนังเรื่องแรกที่ถูกเรียกว่าเป็น Kukojoku Eiga ก็คือ The Cheat ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศญี่ปุ่น ต่อมา ผู้กำกับเซซิล บี. เดอมิลล์ จึงใช้วิธีเปลี่ยนสัญชาติตัวเอกที่ฮาซากาวะเล่น จากญี่ปุ่นเป็นพม่าแทน (เอ๊า!) เพราะไหนๆ ก็ไม่ต้องมีบทพูดเป็นภาษาใดๆ และยังไงถ้ามองจากแว่นของฝั่งโน้นสมัยโน้น คนเอเชียนชาติไหนๆ ก็หน้าเหมือนกันทั้งนั้น

น่าเศร้า แต่ก็ต้องยอมรับ เมื่อการเลือกทางชีวิตของใครสักคนในฐานะปัจเจก หากเป็นวงการบันเทิงแล้ว ก็คงต้องแบกรับภาระยิ่งใหญ่อย่างการเป็นตัวแทนของชนชาติหรือกระทั่งภาคพื้นทวีปเข้าไปด้วยอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะในกรณีของเซ็ซซึเอะเอง จุดขายของเขาก็คือความเป็นญี่ปุ่นแหละพันธุกรรมเอเชียนบนใบหน้า จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะกระอักกระอ่วนและพยายามรับผิดชอบด้วยฮาเวิร์ธพิกเจอร์ส

และหลังจากที่ภรรยาสุดที่รักอาโอกิได้ตายจากไป เซ็ซซึเอะก็ตัดสินใจย้ายกลับญี่ปุ่นถาวร เขาบวชเป็นพระในนิกายเซ็น เสียชีวิตลงอย่างเงียบๆ ในปี 1973 ขณะที่ชื่อของเขายังถูกจารึกอยู่บนฮอลล์ ออฟ เฟม ในฮอลลีวูด โดยไม่รู้ว่ามีชาวญี่ปุ่นไปเยี่ยมๆ มองๆ ด้วยความรู้สึกแบบไหนกันบ้าง

ถ้าจะบอกว่าเซ็ซซึเอะ ฮายากาวะ เป็นผู้กรุยทางสำหรับนักแสดงชนชาติอื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายในอุตสาหกรรมหนังก็อาจจะพูดได้ ทุกวันนี้เราก็เห็นนักแสดงเอเชียนได้รับบทเด่นในหนังฮอลลีวูด อยู่บ่อยครั้ง แถมเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนในประเทศอย่างเช่นเฉิน หลง, บรู๊ซ ลี หรือริละ ฟุกุชิมะ ใน The Wolverine (2013) และ Ghost in the Shell (2017) หรือที่ใกล้ตัวอย่างหญิง รฐา โพธิ์งาม หรือปู วิทยา ปานศรีงาม ใน Only God Forgives (2013) หลายตัวละครเป็นคนคูลทีเดียว แต่ถามว่าทำให้คนดูหนังรู้จักหรือเข้าใจเอเชียนมากขึ้นไหม—ไม่มากเท่าหนังที่ทำขึ้นโดยคนเอเชียนเองแน่ๆ

เราเห็นพวกเขาบ่อยขึ้นในหนังตะวันตก แต่ก็ยังไม่มากพอ ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนครั้งที่บ่อยขึ้นแล้ว ก็แทบจะไม่มีสักครั้งที่พวกเขาหลุดออกไปจากภาพจำอย่างที่เซ็ซซึเอะเคยประสบพบเจอมาตั้งแต่ศตวรรษก่อน แล้วอย่างนี้ มันควรเป็นพันธกิจของใครดี?

 

 

อ้างอิง

Fact Box

หลังยุคของเซ็ซซึเอะ หรือเมื่อผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพของหญิงญี่ปุ่นในหนังอเมริกัน ผูกติดอยู่กับความเป็นเกอิชา อันสืบเนื่องมาจากทรงจำของเหล่าทหารอเมริกันที่ไปประจำการในญี่ปุ่น ขณะที่ภาพของชายญี่ปุ่นผูกติดกับความเป็นนินจาหรือซามูไร โดย japantoday.com ระบุว่า 70 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ยังคงต้องต่อสู้กับภาพจำทำนองนี้อยู่เสมอ

Tags: , , , , ,