ทันทีที่ผลการนับคะแนนจากการเลือกตั้งแห่งชาติออสเตรียในวันที่ 15 ตุลาคม 2017 ปรากฏออกมา ดูเหมือนว่าชายหนุ่มวัย 31 ปีจะกลายเป็นที่กล่าวขานถึงไปทั่วยุโรป ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่อายุน้อยที่สุดของยุโรป แซงหน้า เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่เคยได้รับสมญานามคล้ายกันนี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

เซบาสเตียน คัวร์ซ (Sebastian Kurz) กับพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ÖVP (Österreichische Volkspartei = พรรคประชาชนออสเตรียน) ของเขา ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด และในฐานะผู้มีชัย พรรคของเขาจึงมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล และเมื่อคัวร์ซขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของออสเตรียแล้ว หลายคนคาดเดากันว่าเขาจะสนใจเรื่องบูรณาการการศึกษา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลักตามประสาคนรุ่นใหม่ แต่เปล่าเลย ประเด็นหลักและใหญ่ของเขามีเพียงเรื่องเดียว นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ประเทศออสเตรียปลอดจากผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

การหาเสียงของพรรค ÖVP แกนหลักไม่ได้อยู่ที่นโยบาย แต่อยู่ที่ เซบาสเตียน คัวร์ซ อย่างเดียว คนเดียว ทีมงานของพรรคพร้อมใจกันเชิดชูเขาเป็นความหวังใหม่ และเป็นพรรคการเมืองของประชาชนรุ่นใหม่

ชายหนุ่มวัย 31 ปีกลายเป็นที่กล่าวขานถึงไปทั่วยุโรป ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่อายุน้อยที่สุดของยุโรป

เซบาสเตียน คัวร์ซเป็นใคร ทำไมถึงกลายเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ เรามาทำความรู้จักเขาจาก 10 หัวข้อดังต่อไปนี้…

1. เขาเคยทำลายสถิติด้วย ‘ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุด’ มาแล้ว

ในวัย 24 ปี คัวร์ซเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐเพื่อการบูรณาการทางสังคม ไต่เต้าขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตอนอายุ 27 ปี และได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคในวัย 30 นับเป็นการก้าวกระโดดที่รวดเร็วในแวดวงการเมือง เขาต้องขอบคุณ มิคาเอล ชปินเดเลกเกอร์ (Michael Spindelegger) อดีตหัวหน้าพรรค ÖVP และรองนายกรัฐมนตรี ที่เลือกและสนับสนุนคัวร์ซเข้ามาในวงการการเมือง

ช่วงหาเสียง คัวร์ซจัดกิจกรรมปลุกกระแสความสนใจ ด้วยการขึ้นรถจี๊ป ติดป้ายชื่อ Geilo-Mobil (หนุ่มฮอตเคลื่อนที่) ขับตระเวนไปทั่วเมือง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรุ่นใหม่ พร้อมด้วยสาวๆ ในชุดนุ่งน้อยห่มน้อย

2. พ่อแม่ของเขาเคยรับอุปการะผู้ลี้ภัยชาวบอสเนียนมาก่อน

แม่ของเขา-เอลิซาเบ็ธ คัวร์ซ (Elisabeth Kurz) อาชีพครู ส่วนพ่อ-โยเซฟ คัวร์ซ (Josef Kurz) ช่างเทคนิค เคยให้การอุปถัมภ์ผู้ลี้ภัยจากบอสเนียเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990s เป็นความจริงข้อหนึ่งที่ฟังดูขัดแย้งกับสิ่งที่เขาพยายามจะทำ เรื่องการผลักดันผู้ลี้ภัยออกจากประเทศ

คัวร์ซกับแฟนของเขาพักอาศัยอยู่ในย่านไมด์ลิง ของกรุงเวียนนา ที่ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก และเป็นเขตเมืองหนึ่งที่มีวัฒนธรรมหลากหลายของชนหลายเชื้อชาติ อีกทั้งยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างติดดิน

3. เขาเพิ่งเปิดเผยตัวแฟนสาวต่อสาธารณชน

เธอชื่อ ซูซานเน เทียร์ อายุน้อยกว่าคัวร์ซ 1 ปี เป็นคนรักที่เขาคบหาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น และครองสถานะแฟนมานานกว่า 10 ปี เธอเรียนจบด้านธุรกิจ และเคยรับราชการในกระทรวงการคลัง ยามนี้เธอกำลังเป็นว่าที่ ‘เฟิร์สต์ เลดี้’ คนใหม่ของออสเตรีย

ทั้งแฟน และพ่อแม่ของเขาไม่ค่อยปรากฏตัวออกสื่อ คัวร์ซให้เหตุผลว่า เขาอยากเก็บเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ยิ่งเรื่องการแต่งงานด้วยแล้ว นักข่าวตั้งคำถามว่าเขาเข้าพิธีวิวาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ คัวร์ซให้คำตอบว่า เขายังไม่ได้วางแผนเรื่องดังกล่าว และหากว่าเขากับแฟนสาวจะจัดพิธีแต่งงานกันจริง ก็คงจะทำแบบเรียบง่ายและเงียบๆ ท่ามกลางหมู่ญาติและเพื่อนสนิท ส่วนแผนการจะมีลูกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เขาอยากพูดคุยกันเองภายในครอบครัว ไม่ใช่กับสื่อมวลชน

4. เขายังเรียนไม่จบ

เซบาสเตียน คัวร์ซเรียนจบชั้นมัธยมฯ ปลายเมื่อปี 2004 ก่อนเข้าศึกษาต่อวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเวียนนา แต่ยังเรียนไม่จบจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากเขาต้องทำงานในตำแหน่งเลขาธิการรัฐฯ จึงไม่มีเวลา ยิ่งเมื่อได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยแล้ว เขาคงมีเวลาน้อยลงไปอีก

5. การใช้โซเซียลมีเดียให้เป็นประโยชน์

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ปฏิเสธสื่อโซเซียล คัวร์ซใช้มันเป็นช่องทางสำหรับการหาเสียงด้วยเช่นกัน และเหมือนจะได้ผลดีเสียด้วย ในช่วงเดือนกันยายน ก่อนการเลือกตั้ง มีคนกดไลค์ในเว็บเพจของเขาเพิ่มขึ้น 1 หมื่นไลค์ ทุกวันนี้เพจ Sebastian Kurz มียอดไลค์และฟอลโลเวอร์เกินหลัก 7 แสนแล้ว ส่วนอินสตาแกรมมียอดฟอลโลเวอร์อยู่ 24K และผู้ติดตามทวิตเตอร์ของเขาจำนวน 257K

6. ประเด็นการบูรณาการทำให้เขากลายเป็น ‘เจ้าชายใจเหล็ก’

ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศใหม่ๆ เขายังเคยคิดอยากให้ออสเตรียเป็นประเทศเสรีสำหรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เขาเคยกล่าวว่า หากปราศจากสีสันของวัฒนธรรมที่หลากหลายเสียแล้ว ชีวิตของผู้คนก็จะปราศจาก ‘ทางเลือก’

แต่ยามนี้เขาประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการ ‘ปิดพรมแดน และห้ามสวมชุดบูร์กา’ จนนิตยสารข่าว Profil ของออสเตรียตั้งฉายานามให้ว่า ‘เจ้าชายใจเหล็ก’

7. เสียงวิจารณ์ที่ดังไปไกล

ในเดือนมีนาคม 2017 คัวร์ซวิจารณ์องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ‘เอ็นจีโอเสียสติ’ ที่มีส่วนทำให้ผู้ลี้ภัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเสียชีวิตมากขึ้นแทนที่จะลดจำนวนน้อยลง นอกจากนั้น เขายังเรียกร้องไม่ให้ผู้ลี้ภัยที่ได้รับความช่วยเหลือขึ้นฝั่งของอิตาลี แต่ให้มีการยับยั้งตามโมเดลของออสเตรเลีย และให้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนอกอาณาเขตประเทศประชาคมร่วมยุโรปแทน

8. เขาในสายตาสื่อมวลชน

สำนักข่าวเยอรมัน (DPA) ประเมิน เซบาสเตียน คัวร์ซ ไว้เมื่อปี 2014 ว่าเป็น ‘1 ใน 7 ผู้ชนะบนเวทีการเมืองระดับโลก’ ปีนี้ นิตยสาร Time ของอเมริกายกย่องคัวร์ซเป็น 1 ใน 10 ‘Next Generation Leaders’ จากบทบาท ‘ผู้บริหารประเทศแนวทางใหม่’ ที่ค้นพบทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัย จนกลายเป็นแบบอย่างให้นักการเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรปนำไปใช้

9. รัฐบาลใหม่ของออสเตรียจะมีขึ้นเมื่อไหร่

ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของออสเตรียระบุว่า ภายหลังการนับคะแนนเสียงแล้วเสร็จ พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วัน เวลานี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เซบาสเตียน คัวร์ซจากพรรค ÖVP จะครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งประธานาธิบดีจะมาจากโควตาของพรรค ÖVP เช่นกัน

10. เขานึกเห็นภาพ วันหนึ่งเขาอาจถึงจุดอิ่มตัวทางการเมือง

“ผมไม่คิดว่าจะใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่กับเรื่องการเมือง” เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อ คนรุ่นเขาไม่จดจ่ออยู่กับงานอาชีพใดอาชีพหนึ่งอย่างเดียว แต่จะมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างอื่น ดังนั้น เขาจะยังคงทำการเมือง “ตราบเท่าที่ผมได้ทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้”

เส้นทางสู่การเป็น The Populist ของเซบาสเตียน คัวร์ซ

ความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองของคัวร์ซ นอกเหนือจากเหตุผลของความสามารถ ความมุ่งมั่น และการวางแผนที่ดีแล้ว การใช้สื่อโซเซียลในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เขาบรรลุถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากภาพถ่ายที่เขาโพสต์ลงในอินสตาแกรม @sebastiankurz ของเขา

เซบาสเตียน คัวร์ซ

(1) งานอดิเรกของเขาคือการเดินป่าปีนเขา มีคำบรรยายภาพสั้นๆ ใต้ภาพว่า “ถ่ายที่ดักสไตน์” ระหว่างท่องเที่ยวบนเทือกเขาในออสเตรีย บ่งบอกถึงฮ็อบบีสไตล์นักการเมืองรุ่นหนุ่ม ที่ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว

คัวร์ซมักพบปะชาวบ้าน

(2) ชื่นชอบวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น คัวร์ซมักพบปะชาวบ้าน ร่วมงาน ฟังดนตรีพื้นถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของเขาที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอน

กินมื้อเช้ากับคนเหล็ก อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์

(3) กินมื้อเช้ากับคนเหล็ก อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) ภาพนี้ให้ข้อคิดสั้นๆ ว่า ถ้าคุณจะถ่ายรูปคู่กับดาราฮอลลีวูดละก็ ตัวคุณต้องเป็นจุดศูนย์กลางของภาพ ไม่ใช่ดาราฮอลลีวูด และคุณไม่ได้ไปพบอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ หากแต่เป็นอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ที่มาพบคุณ

คะแนนเสียงรุ่นใหม่

(4) หลังการอภิปรายก็ได้เวลาพบปะเจ้าของคะแนนเสียงรุ่นใหม่ คัวร์ซแสดงตัวเป็นคนต้นแบบให้รู้ว่า ถ้าเด็กหนุ่มอายุ 18 แต่งกายดี จ้องมองคุณราวกับคุณเป็นหญิงสาวคนแรกที่เขาสะดุดตาละก็ คุณทำสำเร็จแล้ว

ภาพคัวร์ซระหว่างคุยโทรศัพท์บนรถหาเสียง

(5) ภาพคัวร์ซระหว่างคุยโทรศัพท์บนรถหาเสียง พร้อมคำบรรยาย ‘ใช้เวลาบนรถไปกับการพูดคุยกับผู้สนับสนุนเรา’ ในภาพมีแล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต แสดงความเป็นคนสมัยใหม่ (แม้ว่าเครื่องแล็ปท็อปจะไม่เปิดก็ตาม แต่ไม่มีใครสังเกตหรอก) และใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงาน

ระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบิน

(6) ระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนั่งไปกับเครื่องบินโดยสารเหมือนผู้คนทั่วไป สำคัญตรงแค่ว่า ถ้าจะคุยเรื่องเอกสารกิจการต่างประเทศละก็ ควรเป็นที่นั่งหมายเลข 37B (ตามมาตรฐานอียู)

การพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

(7) การพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา-จอห์น เคอร์รี (John Kerry) ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่ภาพที่เขาเลือกโพสต์ลงเป็นภาพที่คัวร์ซกำลังแสดงอากัปกิริยา ต้องการจะสื่อว่า ‘ผม’ กำลังอธิบายให้ ‘สหรัฐอเมริกา’ ฟังว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร

รักและชื่นชมของเด็กๆ

(8) เป็นที่รักและชื่นชมของเด็กๆ ภาพเด็กน้อยโผเข้าสวมกอด แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ แต่มันเป็นการสวมกอดที่แม้กระทั่งช่างภาพคนสุดท้ายยังสามารถบันทึกภาพได้

พบปะกับทหาร

(9) พบปะกับทหาร ที่ไม่ใช่ทหารแก่หรือนายทหารประจำกรมกอง เพื่อพูดคุยเรื่องนโยบายหรืองบประมาณเดิมๆ แต่คัวร์ซเลือกที่จะเข้าพบกองพลร่มต่อต้านผู้ก่อการร้ายหน่วยพิเศษ ‘Cobra’ แทน

ใกล้ชิดคนเบื้องล่าง

(10) ใกล้ชิดคนเบื้องล่าง แต่คำบรรยายใต้ภาพบอกว่า “ขอขอบคุณคุณเปรดรัก (Predrag) ที่นำพาเซบาสเตียน คัวร์ซ และทีมงานเดินทางไปทั่วประเทศอย่างปลอดภัย” นักการเมืองส่วนใหญ่จำชื่อคนขับรถที่ตนเองนั่งไปหาเสียงไม่ค่อยได้ แต่คัวร์ซใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ และนำมาขยายความต่อ แล้วถ้านักข่าวจะพุ่งไปหาคนขับรถคนนี้หลังจากนั้น คุณเปรดรักก็จะพูดเล่าถึงความสุดยอดของเจ้านาย

อ้างอิง:
sz-magazin.sueddeutsche.de
www.bunte.de
kurier.at
Wikipedia

Tags: , , , , , ,