เขาคือนายตำรวจหนุ่มที่เดินเตร่อยู่ตามซอกซอยของเมืองใหญ่ในฮ่องกง, เกย์พลัดถิ่นในอาร์เจนตินาที่ต้องรับมือกับความสัมพันธ์ทั้งรักและชังของชายอีกคน, ชายที่กลบซ่อนความเจ็บปวดเปราะบางระหว่างตัวเองกับเมียรักไว้ภายใต้ควันบุหรี่ แสงตะเกียง และการสนทนากับเพื่อนบ้านสาวซึ่งเขาสานสัมพันธ์ด้วยช้าๆ, สายลับที่หวังเฉือนคมปลิดชีวิตฝ่ายตรงข้าม พร้อมกันกับที่ตั้งคำถามถึงบทบาทของตัวเองภายใต้ระบบยุติธรรม ฯลฯ

กว่าสี่ทศวรรษ ตัวตนของ ‘เหลียงเฉาเหว่ย’ หรือ ‘โทนี่ เหลียง’ กลืนกันแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกง ช่วงปี 90s เรื่อยมาอีกนับสิบปีเขาได้กลายเป็นใบหน้าแรกๆ ที่คนดูหนังทั่วโลกมักจะนึกถึงเมื่อพูดถึงหนังฮ่องกง ปรากฏคู่กันกับผู้กำกับคู่บุญอย่าง หว่องกาไว และภายหลังจากออกเดินทางในยุทธภพของภาพยนตร์ฮ่องกงมานานหลายสิบปี เหลียงเฉาเหว่ยก็ขยับมาสู่อุตสาหกรรมฮอลลีวูดเป็นครั้งแรกในปี 2021 ในฐานะหนึ่งในนักแสดงนำเรื่อง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings (2021) หนังซูเปอร์ฮีโร่ภายใต้ชายคามาร์เวล กำกับโดย ดัสติน แดเนียล เคร็ตตัน และทำให้ชื่อของเหลียงเฉาเหว่ยถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ทั้งแฟนหนังหน้าใหม่ที่ตกหลุมรักเขาจากบท แมนดาริน หนึ่งในตัวละครจอมโฉดของจักรวาลมาร์เวล ไปจนถึงแฟนหนังเก่าๆ ที่เคยติดตามเขามาตั้งแต่สามสิบปีก่อน สมัยที่เขาเป็นเจ้าตำรวจหนุ่มน้อยหรือชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยวในฮ่องกง

 

ก่อนหน้าจะเดินทางมาพบกับคนทำหนังคู่ใจอย่างหว่องกาไว และกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงแถวหน้าของฮ่องกง ชีวิตวัยเด็กของเหลียงเฉาเหว่ยไม่ได้เรียบง่ายนัก เขาเคยเล่าคร่าวๆ ว่าพ่อแท้ๆ ซึ่งเป็นผู้จัดการร้านไนต์คลับแห่งหนึ่งในฮ่องกงทิ้งเขากับแม่ไปตอนที่อายุได้เจ็ดขวบ เป็นการจากไปครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายของพ่อผู้ทำให้เขาหลีกเลี่ยงจะพูดถึงในอีกหลายปีนับจากนั้น ประกอบกับการเป็นเด็กที่โตมาโดยไม่มีพ่อหรือแม่ในฮ่องกงช่วงปลายยุค 60s นับเป็นเรื่องแปลกของคนในสังคม เขาจึงมักอึดอัด กลายเป็นเด็กเก็บตัว เงียบขรึมและติดแม่ (เหลียงบอกว่ามักคุยกับตัวเองในกระจกมากกว่าจะคุยกับเพื่อนคนอื่นๆ) 

“หลังจากพ่อทิ้งผมไป ผมก็ไม่รู้วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอีกเลย” เขาว่า “ตอนเรายังเด็ก เด็กทุกคนก็พูดถึงพ่อกับครอบครัวตัวเองทั้งนั้น ว่ามีความสุขอย่างไร มีพ่อที่เยี่ยมยอดแค่ไหน นับแต่นั้นแหละที่ผมหยุดพูดคุยกับคนอื่นๆ ไปเลย”

“ผมกลัวที่จะต้องคุยกับเพื่อนร่วมชั้น กลัวว่าถ้ามีใครสักคนพูดเรื่องครอบครัวตัวเองขึ้นมาแล้วจะรับมือไม่ถูก ดังนั้นผมจึงเริ่มโดดเดี่ยวตัวเองขึ้นเรื่อยๆ” (พร้อมกันนี้ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เหลียงไม่เคยรับแสดงบทที่ว่าด้วยการเป็นพ่อคนเลย)

การโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวและมีแม่หาเลี้ยงเพียงคนเดียวนั้นทำให้เหลียงใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียร ก่อนลงเอยด้วยการออกจากโรงเรียนกลางคันในวัย 15 ปี เนื่องจากปัญหาเรื่องการเงิน เขาทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพและหาเงินเข้าบ้านมานับแต่นั้น เวลาล่วงผ่านไปอีกหลายปีทีเดียวกว่าที่เหลีัยงจะได้ย่างกรายเข้ามาในอุตสาหกรรมการแสดง ภายหลังจากทำหน้าที่เป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า เขาก็ถูกชักชวนให้ลองไปเล่นละคร

แต่หนทางการประสบความสำเร็จของเหลียงก็ไม่ง่าย เขาใช้เวลาหลายปีเรียนการแสดงหกวันต่อสัปดาห์ รับบทเป็นนักแสดงสมทบในละครเรื่องเล็กๆ อีกหลายปี และเพิ่งมาถูกจดจำก็เมื่อย่างเข้ายุค 80s ที่เขาถูกจัดลำดับให้เป็น ‘ห้าเสือแห่งช่อง TVB’ (ช่องโทรทัศน์เจ้าดังในฮ่องกง) ร่วมกันกับ หลิวเต๋อหัว, หวง เย่อหัว, เหมียว เฉียวเหว่ย และทัง เจิ้นเยี่ย 

หลายปีหลังจากนั้น เหลียงพูดถึงความมหัศจรรย์ของงานแสดงที่เป็นประตูให้ตัวตนในวัยเด็กของเขา – ที่อ่อนไหว เก็บตัว และหลีกหนีจากผู้คน ได้คลี่คลายกับเงื่อนปมบางอย่างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

“มันเหมือนได้เจอวิธีการระบายตัวตนของเราออกมา ได้ร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น ได้หัวเราะ ได้ระเบิดทุกความรู้สึกออกมาโดยไม่ต้องเขินอาย”

 

A City of Sadness (1989) คือหนังดราม่าความยาวสองชั่วโมงครึ่งของ โฮ่วเซียวเซียน ที่ส่งให้เหลียงเฉาเหว่ยกลายเป็นที่รู้จักของคนดูหนังนอกเกาะฮ่องกง จากบทช่างภาพหนุ่มใบ้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกงหลังญี่ปุ่นผลัดมือให้จีนเข้ามาปกครอง ตัวหนังคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิสที่อิตาลี ตัวเหลียงเองถูกจับตาในฐานะนักแสดงหนุ่มวัย 27 กับบทคนใบ้ที่ยืนกรานจะต่อสู้กับรัฐบาลก๊กมินตั๋งของจีนโดยปราศจากคำพูด 

ขณะที่คนดูหนังอีกหลายคนมองว่าหนังที่ส่งให้เหลียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่าคือ Bullet in the Head (1990) หนังแอ็กชั่นของ จอห์น วู ที่พูดถึงชายสามคนผู้หลบหนีออกจากมาฮ่องกงในช่วงสงครามและตั้งตัวเป็นอาชญากรเพื่อเอาชีวิตรอด แต่นั่นกลับกลายเป็นสัญญาณความบาดหมางของมิตรภาพ ตัวหนังประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ จนชื่อของเหลียงกระโจนขึ้นไปเป็นนักแสดงระดับต้นๆ ที่หลายคนรู้จักและจับตา เหลียงยังได้ร่วมงานกับวูอีกเรื่องคือ Hard Boiled (1992) เล่าเรื่องการปะทะกันระหว่างนายตำรวจกับแก๊งอาชญากรรม ซึ่งตามสไตล์วูคือหนังครึ่งเรื่องเต็มไปด้วยการสาดกระสุนกับระเบิดจนเหลียงออกปากว่า 

“การเข้าฉากแต่ละครั้งนี่น่ากลัวมากครับ มีแต่ระเบิดเต็มไปหมด แล้วเลือดยังเยอะมากจนเราลื่นหัวหกก้นขวิดกันบ่อยครั้ง” ฉากจำของหนังคือฉากที่ตัวละครควงปืนลูกซองเข้าไปยิงถล่มในโรงพยาบาล กล่าวกันว่าลำพังฉากนี้ก็ถ่ายทำไป 40 วันเต็มๆ ขณะที่เหลียงบอกอย่างอ่อนระโหยว่า “ผมรู้สึกว่ามันนานกว่านั้นนะ”

และในขวบปีไล่เลี่ยกันนั้น เหลียงได้ร่วมงานกับผู้กำกับซึ่งจะกลายมาเป็นทั้งเพื่อน ทั้งคู่หูในโลกการทำหนังของเขาอย่างหว่องกาไว Days of Being Wild (1990) คือหนังเรื่องแรกที่เหลียงได้ร่วมงานกับหว่อง แม้เรื่องราวทั้งหมดจะจับจ้องไปยัง ยกไจ๋ (เลสลี่ จาง) เพลย์บอยหนุ่มผู้ไม่ยอมสานสัมพันธ์กับใครในโลกแห่งความโดดเดี่ยว แต่เมื่อหนังเดินมาถึงองก์ท้ายของเรื่อง กล้องถ่ายหน้าของ ไหล่เจิน (จางม่านอวี้) ที่ค่อยๆ งับบานหน้าต่างปิดลง พร้อมกันนั้นในห้องเล็กแคบ ก็ปรากฏภาพชายไร้ชื่อ ทิ้งตัวนั่งลงบนเตียง สูบบุหรี่หนึ่งมวนไปพลางตะไบเล็บอย่างละเมียดละไม แล้วจึงลุกขึ้นคว้าสูทสีดำขึ้นสวมทับเสื้อเชิ้ตขาวที่ใส่อยู่ 

และนั่นกลายเป็นการแจ้งเกิดของ โจวโม่หวัน ผู้ที่จะมาเป็นตัวละครหลักในหนังรักโรแมนติกแสนเศร้าของหว่องในอีกสิบปีต่อมาอย่าง In the Mood for Love (2000)

 

หว่องกาไวนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่ละเมียดและไม่ค่อยมีแบบแผนตายตัวนัก ทีมงานของเขา ไม่ว่าจะผู้กำกับภาพ ทีมเสียงตลอดจนนักแสดง จึงมักเป็นคนหน้าเดิมๆ ที่เคยร่วมงานกับหว่องมาแล้ว รวมถึงตัวเหลียงเองก็เช่นกัน เพราะหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาก็เล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากหว่อง ชวนให้ไปเล่นหนังเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีบท ไม่มีเนื้อหาหรือโครงเรื่องเป็นแก่นแกนอะไร โดยอยากให้เหลียงมารับบทเป็นตำรวจเตร่ไปเตร่มาอยู่ในฮ่องกง ตามร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารเท่านั้น 

“ตอนนั้นผมง่วนอยู่กับการอัดเพลงทำอัลบั้มอยู่พอดี เลยบอกเขาไปว่ามีเวลาแค่สองสัปดาห์เท่านั้นนะครับ แล้วเขาบอกสองสัปดาห์ก็พอแล้วน่า” เหลียงเล่า 

Chungking Express (1994) กับชื่อไทยที่ตราตรึงสุดๆ อย่าง ‘ผู้หญิงผมทองฟัดหัวใจโลกตะลึง’ หนังที่พูดถึงคนหนุ่มสาวในฮ่องกงที่ใช้ชีวิตผูกโยงกับความสัมพันธ์และความโดดเดี่ยว เช่นเดียวกับตัวละครนายตำรวจของเหลียงที่เพิ่งอกหักจากคนรักและใช้เวลาที่เหลือปลอบใจข้าวของต่างๆ ในห้องนอนตัวเอง เพราะเชื่อว่าพวกมันก็คงเศร้าที่เธอจากไป 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เหลียงเล่าว่าหว่องถ่ายทำอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เขาเคยเจอ 

“และเป็นหนังเรื่องเดียวของหว่องด้วยครับที่ถ่ายได้เร็วขนาดนั้น เพราะมันไม่ใช่สไตล์หว่องเขาเลย เพราะปกติเขาไม่มีทางบอกคุณหรอกว่าหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร แล้วปล่อยให้เราได้ค้นหาคาแร็กเตอร์ของตัวละครเอง จากนั้นก็จะเจอว่าจริงๆ แล้วหนังมันเล่าถึงอะไรแน่” เหลียงบอก 

“เขาแทบไม่เคยให้เราอ่านสคริปต์เลยนะ คงเพราะไม่อยากให้เราได้เตรียมตัวอะไรมาก แต่อยากให้เราได้ไปสัมผัสถึงความเป็นตัวละครต่างๆ หน้าฉากตอนถ่ายทำเลยมากกว่า” 

(เรื่องชวนหัวของหนังคือ หว่องจนปัญญาจะอธิบายนายทุนว่าหนังเกี่ยวกับอะไร เขาเลยบอกไปว่าเรามีเหลียงเฉาเหว่ยกับทาเคชิ คาเนชิโระ มาแสดงในหนัง “แล้วผมก็อธิบายเพิ่มไปว่า ‘หนังพูดถึงผู้หญิงที่อันตรายสุดขีดแถวย่านจิมซาจุ่ย ซึ่งตำรวจสองคนนี้พยายามเข้าถึงตัวเธอให้ได้’ แล้วไงรู้มั้ย นายทุนชอบใจมาก บอกว่า ‘นี่มันเรื่องเกี่ยวกับตำรวจนี่หว่า!’ เพราะงั้น ที่ตัวละครของโทนีกับทาเคชิต้องเป็นตำรวจก็เพราะมันขายได้นี่แหละครับ”)

ภายหลังจากรับบทเป็นตำรวจที่คอยปลอบใจตุ๊กตุ่นตุ๊กตาในห้อง เหลียงรับบทเป็นอันธพาลหนุ่มกับคนถีบสามล้อที่พระเจ้าไม่รักใน Cyclo (1995) ของคนทำหนังชาวเวียดนามชื่อดัง ตรัน อานห์ ฮุง ซึ่งในเวลาต่อมากำกับ Norwegian Wood (2010) แล้วจากนั้นก็มาถึงการร่วมงานกับหว่องอีกครั้งใน Happy Together (1997) ซึ่งหว่องได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ The Buenos Aires Affair ของ มานูเอล ปุช นักเขียนชาวอาร์เจนตินา ก่อนนำมาดัดแปลงเป็นบทหนังอย่างหลวมๆ 

หนังเล่าถึงเกย์หนุ่ม (เหลียงเฉาเหว่ย) ที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาร์เจนตินากับความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังของคนรักเก่า (เลสลี่ จาง) ท่ามกลางความแปลกแยกทั้งด้านภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่ห้อมล้อมพวกเขา และก็อีกเช่นกันที่เหลียงรับแสดงเรื่องนี้โดยรู้เรื่องย่อคร่าวๆ ว่าเกี่ยวกับชายหนุ่มที่ออกเดินทางไปยังกรุงบัวโนสไอเรสและได้เจอกับเกย์ซึ่งเคยมีอดีตกับพ่อของเขา

 

“จริงๆ เดิมทีบทของผมไม่ได้ต้องเป็นเกย์นะ พ่อของตัวละครผมต่างหากที่เป็นเกย์และคบหาอยู่กับตัวละครที่เลสลี่แสดง ตามบทแล้วเมื่อพ่อตัวละครผมตาย ตัวละครเลยต้องออกเดินทางไปยังอาร์เจนตินาเพื่อจัดการเรื่องงานศพซึ่งทำให้เขาได้ไปเจอกับเลสลี่ -เกย์ที่พ่อคบหาด้วย” 

แต่ก็แน่นอนว่าอะไรก็ไม่เป็นไปตามแผนเดิม เมื่อเหลียงกับทีมงานไปถึงอาร์เจนตินาและถ่ายทำไปได้แค่สัปดาห์เดียว เขาก็พบว่าผู้กำกับเดินตรงมายังเขาแล้วบอกว่า 

“มันน่าจะดีกว่านะถ้าให้ตัวละครของนายเป็นเกย์ไปด้วยเสียเลย” 

อย่างไรก็ดี แม้จะเปลี่ยนแผนกันดื้อๆ ระหว่างถ่ายทำแต่หนังก็ประสบความสำเร็จสุดขีดด้วยการส่งหว่องคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และชิงรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย

ขณะที่ตัวหว่องกาไวพูดถึงเหลียงไว้สั้นๆ ว่า 

“โทนี่ไม่ใช่คนที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง จึงหมายความว่าเขาค่อนข้างยืดหยุ่นทีเดียว เราร่วมงานกันมาตั้งแต่ผมทำหนังเรื่องที่สองก็เลยรู้จักกันดีมากๆ ผมเองอธิบายไม่ได้ว่าทำไม แต่เรามักเข้าใจกันและกันอยู่แล้ว เขาไม่ค่อยช่างสงสัยนักว่าหนังเรื่องต่อไปเกี่ยวกับอะไร หรือหนังที่เขากำลังแสดงนี่พูดถึงอะไรด้วยซ้ำ เขาชอบบอกว่า ‘โอเค มาเริ่มถ่าย ลองเล่นกันเลยดีกว่า เพราะผมรู้ว่าเดี๋ยวยังไงคุณก็เปลี่ยนบทระหว่างถ่ายทำอยู่ดี เพราะงั้นมาเริ่มถ่ายกันเถอะ’”

 

ปลายยุค 90s น่าจะนับเป็นยุคทองของเหลียง เขาได้กลับมาร่วมงานกับโฮ่วเซียวเซียนอีกครั้งใน Flowers of Shanghai (1998) และส่งโฮ่วเซียวเซียนชิงรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ 

หนังเล่าถึงความสัมพันธ์และความขมขื่นในซ่องหรูหราแห่งหนึ่งของฮ่องกง ตัวเหลียงถูกกล่าวถึงอย่างมากจากการรับบทเป็น คุณหวาง ชายผู้เงียบขรึมและตกหลุมรักกับโสเภณีสาววัยเยาว์คนหนึ่ง และยืนกรานว่าจะทำทุกทางเพื่อให้เขาได้เป็นลูกค้าเพียงคนเดียวที่เธอรับรองได้ในซ่องแห่งนี้ 

อีกสองปีต่อมา เหลียงก็ไปปรากฏตัวอยู่ใน In the Mood for Love ในฐานะโจวโม่หวัน ตัวละครจากหนังเรื่องก่อนหน้าของหว่องอย่าง Days of Being Wild โดยหว่องได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นญี่ปุ่น เล่าถึงชายหนุ่มหญิงสาวที่มักเดินสวนกันที่บันไดแต่ไม่เคยได้เอ่ยปากสนทนาใดๆ ต่อกัน ก่อนที่เขาจะนำมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาวที่ต่างคนต่างประสบปัญหาชีวิตคู่ แต่ไม่ได้ลงเอยหรือก้าวล้ำไปสู่พรมแดนอื่นของความสัมพันธ์ต่อกัน (นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ อเลฆันโดร กอนซาเลส อีนาร์รีตู คนทำหนังชาวเม็กซิกันที่กำกับหนังเรื่อง The Revenant และ Birdman “หลังดูหนังจบ เรานิ่งอึ้งและรู้สึกว่าบางอย่างสั่นสะเทือนอยู่ลึกๆ ในใจ และเป็นช่วงเวลานั้นแหละที่ย้ำเตือนผมว่า นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้ผมอยากเป็นคนทำหนัง” อีนาร์รีตูบอก)

บทโจวโม่หวันนับเป็นหนึ่งในบทบาทที่เหลียงได้รับการจดจำมากที่สุด (และเป็นหนึ่งในหนังของหว่องที่คนรักมากที่สุดเช่นกัน) 

“ผมอยากลองแสดงอะไรที่มันต่างไปจากบทบาทก่อนๆ ที่ผมเคยได้รับ คืออยากลองแสดงอะไรที่มันน้อยๆ เช่นไม่แสดงความรู้สึกทางสีหน้าหรือมีบทพูดไม่เยอะนัก แต่ก็พบว่ามันยากเอาเรื่องทีเดียว มันเป็นความเจ็บปวดแบบที่เราไม่อาจแสดงห้วงอารมณ์ออกมาได้ เพราะตัวละครนี้เก็บงำทุกสิ่งไว้กับตัว ซ่อนความรู้สึกเก่ง ดังนั้นตัวละครของผมจึงไม่แสดงออกทางสีหน้าใดๆ ทั้งสิ้น” 

อย่างไรก็ตาม ความนิ่งและน้อยแบบนี้นี่เองที่ทำให้หลายคนยกให้โจวโม่หวันเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดของเหลียง เพราะแม้ปราศจากคำพูด แต่เขายังแสดงความเจ็บช้ำของตัวละครผ่านแววตาเศร้าสร้อยตลอดทั้งเรื่อง 

 

Hero (2002) คือหนังร่วมทุนสร้างจากประเทศจีนที่แม้ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ด้วยการทำเงินไป 177 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เควนติน ทารันติโน ยังไปโน้มน้าวให้สตูดิโอในสหรัฐฯ ซื้อหนังเรื่องนี้มาเข้าฉายจนโกยเงินในตลาดอเมริกาไป 53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่มันก็แลกมากับสายตาที่เปลี่ยนไปของชาวฮ่องกงที่มีต่อเหลียง อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างฮ่องกงกับจีนที่คุกรุ่นแทบตลอดเวลา และรู้สึกว่าการที่นักแสดงระดับแถวหน้าของฮ่องกงไปเล่นหนังของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเป็นการทรยศอย่างยิ่ง ถึงขั้นมีกระแสคว่ำบาตรตัวหนังจนเหลียงต้องออกแถลงว่านัยทางการเมืองต่างๆ นั้นล้วนมาจากการตีความของผู้อื่นทั้งสิ้น โดยที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ในปีเดียวกันนั้นเหลียงยังปรากฏตัวในหนังโคตรเฉือนคม Infernal Affairs (2002) ปะทะกันกับ หลิว เต๋อหัว มันได้กลายเป็นหนึ่งในหนังแอ็กชั่นฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ทั้งยังเป็นหนึ่งในหัวเรือสำคัญของหนังสกุลแอ็คชั่นธริลเลอร์ของฮ่องกงที่ในเวลาต่อมาผลิดอกออกผล ขยับขยายกลายเป็นหนังขายดีจนสร้างภาพจำให้คนทั้งโลก ขณะที่ตัวหนังเองประสบความสำเร็จสุดขีดจนมีภาคต่อตามมาอีกสองภาค มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับรุ่นเดอะชาวอเมริกันหยิบเอาไปดัดแปลงเป็น The Departed (2006) และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์มาครอง 

แม้ตัวหนังจะประสบความสำเร็จในระดับนั้น ตลอดจนตัวของเหลียงเองที่มีหนังเข้าฉายในสหรัฐฯ มาแล้ว แต่เหลียงก็ยังไม่กระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมฮอลลีวูด และวนเวียนอยู่ในหนังฮ่องกง บ้านเกิดของตัวเองเพื่อรอ ‘บทที่ใช่’ ซึ่งเมื่อยี่สิบปีก่อนมันยังเดินทางมาไม่ถึงเขา 

“ผมก็อยากทำงานในฮอลลีวูดเหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่เจอสคริปต์หรือตัวละครที่ใช่เท่านั้นเอง” เขาเคยบอกไว้เช่นนั้น 

“ในหนังฮ่องกง ตัวละครต่างๆ มันหลากหลายกว่ามาก ขณะที่ในฮอลลีวูดนั้นตัวละครที่เป็นชาวเอเชียมันถูกจำกัดอยู่พอสมควร อีกอย่างพวกเขาก็มีนักแสดงเก่งๆ มากมายอยู่แล้วด้วย คงไม่ต้องเขียนบทขึ้นมาใหม่เพื่อให้นักแสดงจีนสักคนได้ไปเล่นหรอกมั้ง”

 

แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการมาถึงของ Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings กับการรับบทเป็นตัวละครที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในวายร้ายตัวฉกาจแห่งจักรวาลมาร์เวล ซึ่งเหลียงมาพร้อมกับไอเดียอยากสำรวจตัวละครนี้ในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งมากกว่าจะเป็นชายชั่วร้ายที่มาพร้อมแผนการระห่ำ 

“ผมตั้งใจจะขุดให้ลึกลงไปในหัวใจเขา ว่าทำไมเขาจึงกลายมาเป็นคนเช่นนี้ คิดว่าคงเพราะเขาโตมาโดยปราศจากความมั่นใจในตัวเอง เป็นมวยรองบ่อนมาตั้งชีวิต โดนพ่อดูถูก เผชิญหน้ากับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ดังนั้นเมื่อเขาได้พลังมา เขาเลยพยายามใช้พลังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจและตัวตนบางอย่างด้วยความเข้าใจไปว่าเมื่อได้พลังมาก็เท่ากับว่าได้มีตัวตน… ซึ่งมีบางครั้งทีเดียว ที่ความมั่นใจมากล้นเกินไปนั้นก่อให้เกิดสภาวะหลงตัวเอง” เหลียงบอก 

สิ่งที่น่าจับตาก็คือตัวละครนี้ไม่เพียงแต่เป็นตัวละครในหนังฮอลลีวูดเรื่องแรกของเหลียง หากแต่มันยังเป็นตัวละครแรกๆ ที่จับจ้องไปยังสถานะความเป็นพ่อซึ่งเหลียงอ่อนไหวเป็นการส่วนตัวอยู่ก่อนแล้ว 

“ผมว่าเขาเหมือนคนที่ล้มเหลวในการเป็นพ่อคนมากกว่า ซึ่งก็แปลว่าเขาอยากจะรักลูกตัวเองเหลือเกิน แต่แค่ไม่รู้วิธีที่จะรัก… หรือไม่รู้กระทั่งวิธีจะรักตัวเองเสียด้วยซ้ำ ผมว่าผมอยากสำรวจตัวละครในแง่มุมนี้ มากกว่าจะมองแค่ว่าเขาเป็นตัวร้ายของหนังเรื่องนี้ครับ”

หากนับลำดับเวลาที่เราต่างได้รู้จักกับเหลียงเฉาเหว่ยในฐานะนักแสดง ก็คงกินเวลาร่วมหลายสิบปี และการได้เห็นเขาเข้ามาสู่อุตสาหกรรมฮอลลีวูดซึ่งเริ่มขยับขยายความหลากหลายทางเชื้อชาติทั้งในเชิงเนื้อเรื่องและนักแสดง ก็เป็นเรื่องน่าจับตาอย่างยิ่ง ว่าก้าวต่อๆ ไปของเหลียงจะเป็นอย่างไร และมีบทบาทแบบไหนอีกบ้างที่ยังท้าทายเขาอยู่

Tags: , , , , , ,