ชื่อของ เจมี แคมป์เบลล์ โบเวอร์ หวนกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังจากซีรีส์ Stranger Things 4, volume 1 ออกฉายสตรีมมิงทางเน็ตฟลิกซ์ไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในบทของ ปีเตอร์ บัลลาร์ด ชายหนุ่มชุดขาวประจำแล็บวิจัยในเมืองฮอว์กินส์ ซึ่งการปรากฏตัวอันแสนตราตรึงของโบเวอร์ทำให้ชื่อเขากลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกค้นหามากที่สุดบนอินเทอร์เน็ต ด้วยเวลาเพียงข้ามวันหลังซีรีส์ออกฉาย

“ทุกครั้งที่แสดงแต่ละฉากจบลง ผมพบว่าตัวเองเหนื่อยใจแทบขาดทุกที” เขาบอก “ไม่ใช่แค่เพราะว่าถ่ายซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบหรือลากยาวหลายชั่วโมงเท่านั้นนะครับ – ซึ่งนี่ไม่ได้บ่นอะไรนะ ผมเป็นคนประเภทที่หลับปุ๋ยในกองถ่ายได้สบายมาก แต่การแสดงที่ต้องเปิดรับอารมณ์มหาศาลขนาดนี้มันทำให้เราหมดแรงเอาได้ง่ายๆ”

“จำได้ว่าถ่ายฉากแรก ผมกลับมาที่ลอสแอนเจลิส ช่วงนั้นอยู่ราวๆ เดือนพฤศจิกายนได้ เพื่อนผมที่ชื่อเกเบรียลมารับผมซึ่งอยู่ในสภาพเหลวเป๋วเป็นเยลลี่เลย”

หากใครเป็นแฟนหนังทริลเลอร์หรือหนังโทนหม่นมืด น่าจะคุ้นหน้าค่าตาโบเวอร์อยู่พอสมควร ค่าที่ว่าเขาแจ้งเกิดจากการแสดงหนังยาวเรื่องแรกจากบทเด็กหนุ่มใน Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street (2007) หนังโดยราชาหนังโทนหลอน ทิม เบอร์ตัน ว่าด้วยช่างตัดผมชาวอังกฤษ ท็อดด์ (จอห์นนี เด็ปป์) ที่ฆาตกรรมลูกค้าของตัวเองและส่งศพให้ เลิฟเวตต์ (เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) เอาไปทำเป็นพายเนื้อ โดยระหว่างนี้มีเจ้าหนุ่ม แอนโธนี (โบเวอร์) ตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลของทั้งสอง ก่อนจะรับไม้ต่อด้วยการปรากฏตัวในแฟรนไชส์แวมไพร์ดังแห่งยุคอย่าง The Twilight Saga: New Moon (2009) ในบท ไกอัส แวมไพร์รสนิยมหรูที่ไม่แยแสกฎเกณฑ์ใดๆ หากแต่บทที่น่าจะส่งให้โบเวอร์กลายเป็นที่รู้จักในระดับสากลโดยแท้คือ เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์ วัยหนุ่มจากมหากาพย์ผู้วิเศษ Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1 (2010) และหวนมารับบทเดิมซ้ำกันนี้ใน Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald (2018)

(ภาพประกอบ โบเวอร์ในบทกรินเดลวัลด์วัยหนุ่ม)

โบเวอร์รับบทเป็นกรินเดลวัลด์วัยเยาว์ครั้งแรกในวัย 21 ปีและต้องสลับบทบาทเพื่อไปถ่ายทำบทแวมไพร์ใน New Moon ต่อ “ผมว่าเขาเป็นตัวละครที่เหมือนนกนะ อย่างในหนังสือก็บรรยายว่าเขามีลักษณะเหมือนอีกาหรืออะไรประมาณนั้นใช่ไหม แล้วเราพยายามปั้นตัวละครให้ออกมาใกล้เคียงกับสิ่งนั้นให้มากที่สุด แถมในหนังผมยังมีแจ็กเก็ตที่ใส่แล้วโคตรจะเจ๋งด้วยนะ”

อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2015-2020 โบเวอร์วุ่นอยู่กับการทำวงดนตรี Counterfeit กับเพื่อนและแทบไม่ได้รับงานแสดงอื่นใดเพิ่มเลยนอกจากงานซีรีส์เล็กๆ และเคยไปโผล่รับเชิญในซีรีส์ (2016-2020) ด้วยการรับบทเป็น มิค แจ็กเกอร์ ฟรอนต์แมนของยอดวงร็อกสัญชาติอังกฤษ The Rolling Stones และหวนกลับมาสร้างปรากฏการณ์อีกทีก็จากบทชายหนุ่มชุดขาวหน้าตาใจดีจาก Stranger Things season 4 ที่เก็บงำความลับไว้มากมายมหาศาล

“ผมเป็นคนหมกมุ่นนะ ว่าไปแล้ว” เขาบอก “แม่ผมคงเห็นด้วยแหละถ้าได้ยินผมพูดแบบนี้ เพราะผมเป็นพวกถ้าทำอะไรแล้วต้องทำให้สุดเท่าที่จะไปได้ และตัวละครนี้ก็เปิดโอกาสให้ผมได้ทำเช่นนั้นเสียด้วย นั่นคือการดำดิ่งเข้าไปในตัวละคร ขุดให้ลึกลงไปในตัวเขาแล้วไหลลื่นไปกับมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมากในฐานะศิลปิน

“ตอนเรียนการแสดง ผมก็เรียนจากศาสตร์ที่บอกว่าให้เราโอบรับตัวละครอย่างเต็มที่แล้วปล่อยมวลเหล่านั้นออกไปเมื่องานจบ แต่ก็ไม่ได้เป็นประเภทแบบ ‘เอาล่ะ ปิดงาน หมดหน้าที่ตรงนี้แล้ว’ เพราะสำหรับผม มันหมายถึงการทุ่มหมดหน้าตักในทุกชั่วขณะของการเป็นตัวละคร ซึ่งถึงที่สุดมันจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ดีๆ ออกมาจนได้ หลังจากถ่ายทำแต่ละฉากใน Stranger Things จบ ผมมักอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่คุยกับใครสัก 24-48 ชั่วโมงก่อน แล้วค่อยเริ่มคุยกับคนอื่นนอกกองถ่าย เพราะไม่อยากให้เขามารับพลังงานบางอย่างจากตัวละครที่ยังตกค้างอยู่ในตัวผมน่ะ”

ด้านหนึ่ง ตัวละครปีเตอร์ บัลลาร์ดของโบเวอร์นั้นก็เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยการต้องเป็น ‘ที่รัก’ ของคนดูก่อนจะค่อยๆ กลายไป ‘เป็นอื่น’ ที่ชวนสะพรึงและชวนขนลุกขนชัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการตีความและการแสดงอันแม่นยำ อันหมายรวมถึงการดึงเสน่ห์เฉพาะตัวของตัวเองออกมาได้อย่างพอเหมาะของโบเวอร์ 

“ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่า ‘มองจากภายนอก หมอนี่ก็ดูเป็นคนใจดีเหมือนกันนะ แต่มันเหมือนมีอะไรไม่ชอบมาพากลอยู่’ เพราะว่ามันมีสิ่งไม่ชอบมาพากลอยู่จริงๆ ไงล่ะ” เขาสาธยาย และเพื่อจะรับบทนี้ เขาปรับแต่งออฟฟิศของตัวเองด้วยโปสเตอร์, กระดาษโพสต์อิต และของกระจุกกระจิกที่แสดงถึงตัวตนของปีเตอร์ บัลลาร์ดและร่างที่แท้จริงของตัวละครนี้ให้ตัวเองเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน ตลอดจนโปสเตอร์หนังเฮอร์เรอร์จากยุค 80s เพื่อสร้างบรรยากาศหลอนระทึก ไม่ว่าจะ A Nightmare on Elm Street (1984), Hellraiser (1987) และหมกมุ่นอยู่กับการอ่านสคริปต์ซีรีส์หลายต่อหลายชั่วโมง (เขาถึงขั้นพยายามหา ‘เสียง’ ที่ถูกต้องของตัวตนที่แท้จริงของปีเตอร์ บัลลาร์ดและใช้อุปกรณ์แปลงเสียงต่างๆ ที่มีในออฟฟิศ – เนื่องจากเขาเป็นนักดนตรี – เพื่อสังเคราะห์เสียงใหม่ขึ้นมา “เพื่อจะพบว่ามันไม่ช่วยอะไรเลย” เขาบอกอย่างอ่อนใจ “มันกลายเป็นว่าผมใส่ใจแต่เรื่องเสียงจนลืมถ่ายทอดอารมณ์ผ่านการออกเสียงไปเสียฉิบ!”)

“ผมพยายามสืบสาวราวเรื่องเข้าไปยังอดีตของตัวละครตัวนี้ ว่าอะไรที่ส่งผลกระทบต่อห้วงอารมณ์เขา มองหาสิ่งที่สอดคล้องกันในอดีตของตัวละคร ย้อนกลับไปยังเรื่องที่เก่ากว่า ย้อนกลับไปยังเรื่องในอดีตที่เก่ากว่าอีก จนกระทั่งไปถึงจุดตั้งต้นของตัวละครในที่สุด”

“ระหว่างที่ถ่ายทำ ผมจะใช้เวลาสี่วันสำหรับเตรียมตัว สองวันสำหรับการตัดขาดตัวเองจากคนอื่นๆ เว้นแต่ทีมงานในหนังเรื่องนี้ แล้วปล่อยชีวิตไปเช่นนั้น โอบรับทุกสิ่ง และอีกสองวันที่เหลือคือการปั้นตัวละครขึ้นมา ใช้ทุกสิ่งที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการสวมตัวตนเป็นตัวละครนี้ รวมทั้งความเคียดแค้น โกรธขึ้งของเขาด้วย” 

โบเวอร์เล่าว่า ประตูทางเข้าไปสู่ตัวละครและความลับอันดำมืดนี้ก็จากการพาตัวเองไปนั่งในสวนมืดๆ ทำสมาธิ และฟังเสียงที่คลื่นความถี่ต่ำมากๆ โดยเฉพาะเพลงจากวง Carpathian Forest, Darkthrone และ Mayhem ตลอดจนเพลงแบล็กเมทัลสารพัด รวมทั้งออกเดินไปในยามราตรีเพื่อสนทนากับตัวเอง “เพื่อจะรับบทนี้ ผมมักทำอะไรสุดกู่อยู่เป็นระยะๆ อย่างถ้ามีคนเห็นผมเดินดุ่มๆ อยู่คนเดียวตอนตีสองในแอตแลนตา คุยกับตัวเองไปด้วย พวกเขาก็คงเข้าใจผมเอง”

“ผมพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคุณพ่อ (แมตธิว โมดีน) เจ้าของแล็บในฮอว์กินส์นั้นออกจะโหดกับเขาไม่น้อย บางครั้งผมก็หลั่งน้ำตาคนเดียวเงียบๆ และพูดกับตัวเองว่า ‘พ่อครับ อย่าทำแบบนี้เลยนะ พ่อครับ อย่าทำอีกเลย’ และพยายามเข้าอกเข้าใจความเป็นเขาที่ต้องอยู่ท่ามกลางโลกอันแสนร้ายกาจและเต็มไปด้วยคำโป้ปด อันนี้ช่วยผมได้มากทีเดียว กระบวนการทำความเข้าใจตัวละครก็ประมาณนี้ และอีกเช่นกันว่า นี่แหละคือศิลปะ เป็นห้วงขณะเช่นนี้ ห้วงที่เราแค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับมัน งานของเราในฐานะศิลปินคือการเปิดรับและโอบกอดเอาอะไรก็ตามที่พุ่งเข้ามาหาน่ะ”

ทั้งนี้ แม้จะโปรดปรานเพลงเมทัลมากแค่ไหน แต่เขาก็บอกว่าหากอยู่ในเรื่อง Stranger Things เพลงเดียวที่จะช่วยชีวิตเขาได้คือเพลงป็อปสุดชิกของ ไมลีย์ ไซรัส อย่างเพลง Party in the U.S.A.

Tags: ,